โรคอัมพฤกษ์อัมพาตโรคอัมพฤกษ์อัมพาต

โรคอัมพฤกษ์อัมพาต

 1. โรคอัมพฤกษ์อัมพาต คืออะไร โรคอัมพฤกษ์อัมพาตเป็นอาการของ โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีความสำคัญอย่างมาก ในแต่ละปีประชากรโลกประมาณ 15 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จำนวน 5.5 ล้านคนต่อปี และ พิการอีกหลายล้านคน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงชุมชนและสังคมที่ต้องรับภาระการดูแลรักษาทั้งคนดูแลและค่าใช้จ่าย ทำให้สูญเสียทั้งเศรษฐกิจเงินตราของประเทศชาติ ในประเทศไทยผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองมีจำนวนมากถึง 40,000 คนต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยอายุเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 55-65 ปี โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอาการของแขน ขาหรือหน้า ซีกใดซีกหนึ่งชา อ่อนแรงหรือเคลื่อนไหวลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้เลย อย่างทันทีทันใด  ซึ่งเกิดขึ้นจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองตีบตันหรือแตก ทำให้เนื้อสมองขาดอาหาร และออกซิเจนทำให้เนื้อสมองเกิดการเสียหาย ถ้าไม่รีบรักษาเนื้อสมองจะตาย เกิดความเสียหายถาวรในที่สุด และเนื่องจากสมองเป็นศูนย์รวมในการสั่งการของอวัยวะภายใต้การควบคุมของสมองส่วนนั้น เมื่อเนื้อสมองส่วนใดเสียหายหรือตาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะภายใต้การควบคุมของสมองส่วนนั้น

โรคอัมพาต ในความหมายทั่วไปจึงหมายถึงอาการแขนและ/หรือ ขาขยับเขยื้อนไม่ได้ ไม่มีแรง ใช้งานไม่ได้ ส่วนโรคอัมพฤกษ์ หมายถึงอาการแขนและ/หรือขาอ่อนแรงกว่าเดิม ยังพอใช้งานได้ แต่ใช้ได้น้อยกว่าปกติเช่น อาจชา หยิบจับของหนัก หรือเขียนหนังสือตามปกติไม่ได้ ซึ่งอัมพฤกษ์จะมีความรุนแรงน้อยกว่าอัมพาต

สำหรับในประเทศไทยสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2552 พบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตาย หรือพิการสูงเป็นอันดับ 3  ในเพศชาย รองจากโรคเอดส์และอุบัติเหตุ และสูงเป็นอันดับ 2 ในเพศหญิงรองจากโรคเอดส์  จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก

2.  สาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆขึ้นโดยความผิดปกติของโรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งออกได้เป็นชนิดต่างๆ ดังนี้คือ โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) เป็นชนิดของหลอดเลือดสมองที่พบได้กว่า 80%ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด เกิดจากอุดตันของหลอดเลือดจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ  เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง  การสูบบุหรี่   ภาวะหัวใจวายหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด การขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  โรคเลือดบางอย่าง เช่น ภาวะเลือดข้นผิดปกติ   เกร็ดเลือดสูง  เม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือดจนทำให้เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง โรคหลอดเลือดสมองชนิดนี้ยังแบ่งออกได้อีก 2 ชนิดย่อย ได้แก่  โรคหลอดเลือดขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบ (Thrombotic Stroke) เป็นผลมาจากหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังสมองได้โรคหลอดเลือดขาดเลือดจากการอุดตัน (Embolic Stroke) เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดจนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปที่สมองได้อย่างเพียงพอ โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) เกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองแตก เมื่อเกิดการแตกของหลอดเลือดสมอง ก้อนเลือดจะเบียดดันเนื้อสมองส่วนที่ดีทำให้เสียหน้าที่เซลล์สมองทำงานผิดปกติ เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตตามมา หรือฉีกขาด ทำให้เลือดรั่วไหลเข้าไปในเนื้อเยื่อสมองแต่พบได้น้อยกว่าชนิดแรก คือประมาณ 20%โดยภาวะนี้มักสัมพันธ์กับโรความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาลาภาวะเครียด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์รวมถึงยาบางนิดด้วย โรคหลอดเลือดสมองชนิดนี้ยัง สามารถแบ่งได้อีก 2ชนิดย่อย ๆ ได้แก่โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Aneurysm) เกิดจากความอ่อนแอของหลอดเลือดโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ(Arteriovenous Malformation) ที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมองตั้งแต่กำเนิด

3.  อาการของโรค อัมพฤกษ์ อัมพาต  อาการของโรคหลอดเลือดสมองสามารถพบอาการได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่เกิดการขาดเลือดหรือถูกทำลาย โดยอาการที่สามารถพบได้บ่อย ได้แก่ อาการอ่อนแรง หรือมีอาการอัมพฤกษ์ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยมากมักเกิดกับร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง เช่น ครึ่งซีกด้านซ้ายเป็นต้น อาการชา หรือสูญเสียความรู้สึกของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกันกับอาการอ่อนแรงที่มักเกิดกับร่างกายครึ่งซีกใดครึ่งซีกหนึ่ง มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด เช่น พูดไม่ได้พูดติด เสียงไม่ชัด หรือไม่เข้าใจคำพูด มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว เช่นเดินเซ หรือมีอาการเวียนศีรษะเฉียบพลัน การสูญเสียการมองเห็นบางส่วน หรือเห็นภาพซ้อน

อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันในบางกรณีอาจเกิดเป็นอาการเตือนเกิดขึ้นชั้วขณะหนึ่งแล้วหายไปเองหรือเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวรเรียกว่าภาวะมีสมองขาดเลือดชั่วคราว(transient ischemic attack) ซึ่งพบได้ประมาณ 15%

4.  ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจัยเสี่ยงมีหลายสาเหตุ โดยอาจแบ่งออกเป็น ปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้คือ

·     ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

อายุ : ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเนื่องจากอายุมากขึ้นหลอดเลือดจะมีการแข็งตัวมากขึ้น และมีไขมันเกาะหนาตัวทำให้เลือดไหลผ่านได้ลำบากมากขึ้น

เพศ : เพศชาย มีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง

ประวัติครอบครัว: เป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะในขณะที่มีอายุยังน้อย

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โรคความดันเลือดสูง ผู้ที่มีความดันเลือดสูงเป็นเวลานานๆ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว จะทำให้สมองทำงานผิดปกติ เกิดการตีบแตกของหลอดเลือดสมอง โอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนปกติสูงถึง ๓๑๗ เท่าเนื่องจากไปทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ จึงเกิดการแตกง่ายระดับความดันโลหิตที่ถือว่าสูง ต้องเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มม.ปรอทโรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็งทั่วร่างกาย หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้เกิดอัมพาตได้ซึ่งจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาต 3 เท่า ไขมันในเลือดสูง ไขมันไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็ง เกิดการอุดตัน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอัมพาตได้ซึ่งจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาตถึง 1.5 เท่า การสูบบุหรี่ เนื่องจากสารคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นตัวเร่งทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดการตีบตันขึ้นและบุหรี่จะลดปริมาณออกซิเจนในหลอดเลือด เพิ่มความหนืดของเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ โอกาสเป็นอัมพาตได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบ ๓ เท่าขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยเผาผลาญน้ำตาลและไขมัน ไม่ทำให้เกิดภาวะสารอาหารเกิน ช่วยเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิต ลดความเครียดและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจและกระดูกแข็งแรง นิสัยการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไป จนทำให้อ้วน (ปกติรอบเอว ชายไม่เกิน 90 ซม. หญิง ไม่เกิน 80 ซม.) อาหารที่มีเกลือ (ปกติ ไม่เกิน 1 ช้อนชา/วัน) และไขมันสูง (การทอด น้ำมันสัตว์ เครื่องในสัตว์ กุ้ง ปลาหมึก หนังไก่ ขาหมู ทานอาหารพวกผัก ผลไม้น้อยเกินไป (น้อยกว่า 5 ส่วนต่อวัน เช่นผักสดน้อยกว่า 5 ทัพพีต่อวัน/ผักสุกน้อยกว่า 9 ช้อนโต๊ะต่อวัน) ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำ (ปกติชาย ไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน หญิง ไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน) ทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูง ไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง

5.  แนวทางการรักษา โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองในการตรวจเพื่อยืนยันโรคหลอดเลือดสมอง มีขั้นตอนดังนี้  การซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์จะซักประวัติการรักษา อาการ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจร่างกายทางระบบประสาท  การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่การตรวจเลือดต่างๆการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) เพื่อดูว่าสมองมีลักษณะของการขาดเลือดหรือเกิดเลือดออกในสมองหรือไม่

            สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ที่เกิดจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดในระยะเฉียบพลันที่มีการศึกษายืนยันแล้วว่าได้ผลดีชัดเจน ได้แก่

1.  การให้ยาสลายลิ่มเลือด (Tissue plasminogen activator, tPA) ทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันภายในเวลา 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ  จะเพิ่มโอกาสของการฟื้นตัวจากความพิการให้อาการกลับมาใกล้เคียงปกติได้ถึง 1.5 – 3  เท่า  เมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับยา อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้มีความเสี่ยงของเลือดออกในสมองได้ประมาณ 6%

2. การให้ยาต้านเกล็ดเลือด เป็นยาที่ช่วยป้องกันการก่อตัวของเกล็ดเลือด ทำให้การอุดตันลดลง ยาในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้ได้แก่ยาแอสไพริน การให้รับประทานยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 mg ต่อวันภายใน  48  ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันซ้ำและเสียชีวิตลง

3. การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (acute stroke unit)

นับเป็นการรักษาที่ช่วยลดอัตราการตายหรือพิการอีกวิธีหนึ่ง

4.การผ่าตัดเปิดกะโหลก (Hemicraniectomy) จะพิจารณาทำเฉพาะกรณีที่มีอาการ

รุนแรงและมีการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแดงใหญ่ Middle cerebral atery ในสมองเท่านั้น โดยมีหลักฐานการศึกษาว่าการผ่าตัดดังกล่าวสามารถลดอัตราการตายของผู้ป่วยได้

6.  การติดต่อของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่เกี่ยวกับหลายเลือดสมอง จึงไม่มีการติดต่อระหว่าง คนสู่คน หรือสัตว์สู่คน

7.  การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต  อาการเตือนของอัมพาต แขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดลำบาก หรือไม่เข้าใจภาษา เวียนศีรษะ หัวหมุน อาเจียน เสียการทรงตัว ตามองไม่เห็นครึ่งซีก หรือสองซีก ประสาทตาอัมพาต กลอกตาไม่ได้ ตาเหล่ เห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้อ ใบหน้าเป็นอัมพาต ปากเบี้ยว ปิดตาไม่สนิท กลืนลำบาก พูดไม่ชัด เสียงแหบ ซึมหรือหมดสติ ถ้ามีหลอดเลือดแตกจะมีก้อนกดทับสมอง สมองบวม ความดันในกะโหลกเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการต่างๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน ต้นคอแข็งเกร็ง หมดความรู้สึก  เมื่อมีอาการเตือนของอัมพาตเกิดขึ้น คนใกล้ชิดหมั่นสังเกต หากมีอะไรผิดปกติรีบพบแพทย์ ทำการรักษาทันที บางรายถ้ามีการเปลี่ยนแปลงหมดสติไป อาจจะต้องรีบทำการผ่าตัดด่วน

ส่วนเมื่อได้รับการรักษาแล้วและแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน การดูแลตน เอง/การพบแพทย์ที่สำคัญคือปฏิบัติตัวตามแพทย์/พยาบาลแนะนำพยายามเคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ทำได้เสมอ เช่น ทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ นักกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ อย่าหมดกำลังใจ เพราะอาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้นช้าๆ กินยาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา เพื่อป้องกันโรคเกิดเป็นซ้ำและโรคแทรกซ้อนต่างๆ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน  เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ เข้าใจในธรรมชาติของโรค ยอมรับความจริง ปรับตัวให้เข้ากับสภาพ จัดบ้าน ห้องพัก และห้องน้ำเพื่อช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงพบแพทย์ตามนัดเสมอและรีบพบก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆเลวลง

8. การป้องกันตนเองจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือด ซึ่งการลดความเสี่ยงทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย ดังนี้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะส่งผลให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง รวมถึงอาหารที่มีรสเค็มจัด ที่เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง ควบคุมน้ำหนัก โรคอ้วนเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงต่าง ๆ รวมทั้งโรคหลอดเลือดสมอง การควบคุมน้ำหนักจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยระยะเวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ 2.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก งดสูบบุหรี่นอกจากนี้ควรรับการตรวจรักษาต่อเนื่องกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆโดยการใช้ยาร่วมกัน ได้แก่ การให้ยาควบคุมระดับคอเลสเตอรอล โดยควรได้รับการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดอย่างน้อยทุก 6-12เดือน หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง หรือมีภาวะคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการ- ควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยความดันโลหิตที่เหมาะสม คือ ต่ำกว่า 140/90 มม.ปรอท- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิต นอกจากนี้ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยควบคุมอาการได้และทำให้ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองลดลง กรณีเป็นโรคหัวใจ ควรรับการรักษาโรคหัวใจอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยกรณีเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะควรได้รับยาป้องกันเลือดแข็งตัว 

9. สมุนไพรที่สามารถช่วยป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

·         สมุนไพรที่สามารถช่วยป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต (หลอดเลือดสมอง) เช่น กระเทียม กระชาย ขมิ้น ข่า ตะไคร้ ขิง ใบกะเพรา ใบโหระพา ใบสะระแหน่ พริกไทยดำ โดยส่วนใหญ่แล้วในสมุนไพรที่ประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหยจะมีส่วนช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย บำรุงเลือด ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และทำให้หลอดเลือดแข็งแรง

·         สมุนไพรพื้นบ้านแก้เบาหวานลดความดันที่เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต  มะระขี้นก เป็นไม้เลื้อยและเป็นผักพื้นบ้านของไทย มีวิตามิน เอ และ ซี สูง มีสรรพคุณในการลดน้ำตาลในเลือด และชะลอการเกิดต้อกระจกได้กระเทียม มีคุณสมบัติช่วยลดความดันโลหิตลงได้ ควรรับประทานกระเทียมหัวแก่ หากรับประทานสดจะได้รับคุณประโยชน์มากกว่ากระเทียมที่ปรุงสุกแล้ว ตะไคร้ เป็นสมุนไพรแก้เบาหวานและความดันที่เรารู้จักกันดี เพราะนิยมนำมาประกอบอาหาร ซึ่งตะไคร้จะมีสรรพคุณในการขับปัสสาวะ ขับลม และยังช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย ใบชะพลู เป็นผักพื้นบ้านของไทยและเป็นสมุนไพรแก้เบาหวานและความดัน  นิยมนำมารับประทานสด ในตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านสามารถนำใบชะพลูมาต้มเพื่อลดเบาหวานได้ เนื่องจากใบชะพลูมีสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง 

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.  พญ.พรรณวลัย ผดุงวณิชย์กุล.โรคหลอดเลือดสมอง.สาขาวิชาประสาทวิทยา.ภาควิชาอายุรศาสตร์.คณะแพทย์ศาสตร์.มหาวิทยาลัยนเรศวร.

2.  อ.นพ.ยงชัย นิละนนท์.อัมพฤกษ์อัมพาต โรคเรื้อรังที่ต้องดูแล.สาขาวิชาประสาทวิทยา.ภาควิชาอายุรศาสตร์.คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล.

3.  ทำไมต้องรู้จัก”โรคหลอดเลือดสมอง”.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่350.คอลัมน์อื่นๆ.มิถุนายน 2551.

4.  โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke).(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://haamor.com/th

5.  อรุณี เจษฎาวิสุทธิ์.อัมพฤกษ์ อัมพาต มหันตภัยใกล้ตัว.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่320.คอลัมน์ บทความพิเศษ.ธันวาคม 2548

6.  Poungvarin, N. et al. (2011). Prevalence of stroke and stroke risk factors in Thailands: Thai Epidemiologic Stroke (TES) Study. J Med Assoc Thai. 94, 427-436.

7.  สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์. สถิติสธารณสุข พ.ศ. 2554 (Public Health Statistics A.D. 2011). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2554. 234 p.

8.  สมศักดิ์ เทียมเก่า,กาญจนศรี สิงห์ภู่,พัชรินทร์ อัวนไตร,และณัฐภรณ์ หาดี.(2557).คู่มือการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชน เรื่อง โรคหลอดเลือดสมอง.โรคพยาบาลศรีนครินทร์และภาควิชาอายุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์.

9.  Lambert, M. (2011).AHA/ASA guidelines on prevention of recurrent stroke. Am Fam Physician. 83, 993-1001.

10.  Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.