ประดู่บ้าน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ประดู่บ้าน งานวิจัยและสรรพคุณ 16ข้อ
ชื่อสมุนไพร ประดู่บ้าน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ประดู่กิ่งอ่อน , ประดู่ , ประดู่ลาย , อังสนา (ภาคกลาง),ดู่บ้าน (ภาคเหนือ) ,ปะดู่ (ภาคอีสาน), สะโน (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus indicus Willd.
ชื่อสามัญ Angsana Norra, Malay Padauk, Indian rosewood, Andaman Redwood.
วงศ์ PAPILIONOIDEAE
ถิ่นกำเนิดประดู่บ้าน
และในประเทศมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยประดู่บ้านน่าจะมีการแพร่กระจายพันธุ์เข้ามานานมากแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานการใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรมาตั้งแต่อดีตแล้ว ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถได้ทุกภาคของประเทศแต่จะพบมากในป่าเบญจพรรณทางภาคใต้
ประโยชน์และสรรพคุณประดู่บ้าน
- แก้อาการไอ
- ใช้สระผม
- ใช้พอก ฝี พอกแผล
- แก้ผดผื่นคัน
- ใช้สมานบาดแผล
- แก้ท้องเสีย
- แก้บิด
- ช่วยบำรุงร่างกาย
- แก้ปากเปื่อย
- แก้คุดทะราด
- แก้เสมหะ
- แก้เลือดกำเดาไหล
- แก้ไข้
- ใช้บำรุงเลือด
- ช่วยบำรุงกำลัง
- ช่วยขับปัสสาวะ
ลักษณะทั่วไปประดู่บ้าน
ประดู่บ้านจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มกว้าง (กว้างกว่าประดู่ป่า) ปลายกิ่งห้อยลง ส่วนเปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเทา เป็นร่องลึกแต่ไม่มีน้ำยางสีแดงไหลออกมาเหมือนประดู่ป่า ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ แต่ละช่อจะมีใบย่อยประมาณ 7-11ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี หรือรูปไข่ค่อนข้างมน ปลายใบแหลม โคนใบมนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-12เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย โคนก้านใบมีหูใบ 2 อัน เป็นเส้นยาว ดอกออกเป็นแบบช่อกระจะ โดยจะออกบริเวณซอกใบใกล้กับที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองแกมแสด มี 5 กลีบ ลักษณะคล้ายรูปผีเสื้อแต่จะออกดอกยากกว่าประดู่ป่า และ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอมแรง จะบานและร่วงพร้อมกันทั้งต้น ส่วนโคนก้านมีใบประดับ 1-2 อัน เป็นรูปรี กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วยสีเขียว ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก ผลเป็นผลแห้งลักษณะของผลเป็นรูปกลมหรือรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-7 เซนติเมตร ที่ขอบมีปีกบาง แผ่นปีกบิดและเป็นคลื่นเล็กน้อย นูนตรงกลางลาดไปยังปีก โดยบริเวณปีกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ตรงกลางนูนป่องเป็นที่อยู่ของเมล็ด โดยภายในจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์ประดู่บ้าน
ประดู่บ้านสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ การเพาะเมล็ด เพราะสะดวกในการจัดหาเมล็ด และสามารถทำได้รวดเร็ว รวมถึงประหยัดกว่าวิธีอื่นโดยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้จากต้นแม่ที่เจริญเติบโตเต็ม ที่ ที่สามารถให้เมล็ดมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยการเลือกต้นแม่พันธุ์ที่เจริญเติบโตดี ไม่มีโรค ต้นตรง และควรเก็บในระยะที่ฝักแก่เต็มที่หรือล่นจากต้นแล้ว ส่วนการเตรียมแปลงสามารถเตรียมได้ทั้งแบบเพาะกลางแจ้ง และแบบแปลงในโรงเรือน ซึ่งควรเตรียมแปลงในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 0.70-1.0 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ แล้วทำการยกร่องสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ผสมในแปลงดินด้วย ก่อนเพาะให้นำเมล็ดไปแช่น้ำนาน 1-2 วัน ก่อนการเพาะ จากนั้นหว่านเมล็ดลงแปลงที่เตรียมไว้ ในอัตราส่วนเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม/ตารางเมตร จากนั้นทำการคราดหน้าดินไปมาหนึ่งถึงสองครั้งแล้วรดน้ำให้ชุ่ม พร้อมนำฟางข้าวหรือขี้เถ้า แกลบกลบเพื่อรักษาความชื้นให้แก่ดิน ซึ่งหลังจากหว่าน เมล็ดใช้เวลางอกประมาณ 7-20 วัน
และเมื่อต้นกล้าตั้งต้นได้ หรือหลังจากแตกใบคู่ที่2 สักประมาณหนึ่งอาทิตย์ ให้ทำการย้ายต้นกล้าจากแปลงเพาะเมล็ดใส่ในถุงเพาะกล้าไม้ขนาด 5×8 นิ้ว โดยใช้ดินผสมขี้เถ้าแกลบบรรจุถุง เมื่อทำการย้ายกล้าเสร็จให้ ทำการรดน้ำเพียงเล็กน้อย 2 ครั้ง เช้าเย็นในช่วงอาทิตย์แรก หลังจากนั้นอาจรดน้ำเพียงวันละครั้งหรือวันเว้นวันเมื่อกล้าโตแล้ว เมื่ออายุกล้าไม้ประมาณ 6 เดือนความสูงที่ 20 – 40 เซนติเมตร แล้วสามารถย้ายลงหลุมปลูกได้
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของประดู่บ้านพบว่าพบสาระสำคัญดังนี้ Narrin,Angiolensin Homopterocarpin, β-eudesmol,Prunetin, Formononetin,Santalin, Isoliquirtigenin, Pterostilben, Pterocarpin, Pterofuran, Pterocarpon, P-hydroxyhydratropic acid, ส่วนใบพบคลอโรฟิลล์ 3 ชนิด คือ Xanthophyll ,Chlorophyll A และ Chlorophyll b และเมื่อนำส่วนของเปลือก ราก และใบมาสกัดด้วยตัวทำละลาย พบว่าสารที่พบในทุกๆส่วนที่กล่าวมา คือ สารกลุ่ม Tannin, Flavonoid และ Saponin เป็นต้น
ที่มา :Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้อาการไอ ระคายคอ โดยใช้ใบตากแห้งแล้วนำมาบดชงแบบดื่ม ใช้แก้ท้องเสีย แก้บิด บำรุงร่างกาย แก้ปากเปื่อยปากเป็นแผล โดยใช้เปลือกต้นต้มกันน้ำดื่ม ใช้แก้เสมหะ ใช้พอกแผลฝี โดยใช้ใบหรือดอกสดมาตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาทางเภสัชวิทยาในสมุนไพรพื้นบ้านของประเทศอินเดียชนิดต่างๆ 30 ชนิดที่มีการใช้เพื่อลดน้ำตาลในเลือด ศึกษาโดยใช้สารสกัดเอทานอล 95% ทำให้แห้ง นำมาศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคเบา หวานด้วย alloxan เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยใช้สารสกัดขนาด 250 มก./กก. 1 ครั้ง, 2 ครั้ง และ 3 ครั้งต่อวันจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงจนถึงระดับปกติเมื่อสัตว์ทดลองอด อาหาร พบว่าสมุนไพร 24 ชนิดที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยประดู่บ้านเป็นสมุนไรที่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเป็นลำดับที่ 3 จาก 24 ชนิด
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ยังระบุว่าประดู่บ้านมีฤทธิ์ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ต้านมาลาเรีย ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว และต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีการศึกษาและทดสอบความเป็นพิษ ของประดู่บ้านโดยใช้สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินด้วยเอทานอล 50% ผลปรากฏว่าเมื่อนำมาฉีดเข้าท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายคือขนาดมากกว่า 1 กรัม/น้ำหนักตัว(กิโลกรัม)
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ประดู่บ้านเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคตามตำรับตำรายาต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากหรือใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ประดู่บ้านเป็นสมุนไพรรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- เดชา ศิรภัทร.ประดู่.ตำนานความหอมและบิดาแห่งราชนาวี.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่291.กรกฎาคม2546
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ประดู่”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 446.
- เต็ม สมิตินันทน์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ. 2549
- เปรียบเทียบสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือดในเลือดในหนูขาวที่เป็นเบาหวานจาก alloxan.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- การปลูกไม้ประดู่.พืชเกษตรดอมคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com