สารสกัดใบแปะก๊วย

สารสกัดใบแปะก๊วย

ชื่อสามัญ Ginkgo Biloba Leaf Extract

ประเภทและข้อแตกต่างของสารสกัดใบแปะก๊วย

สารสกัดใบแปะก๊วยเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันอย่างแพร่หลายโดยถูก นำมาใช้ในรูปแบบสารสกัดปรับมาตรฐาน (Egb 761) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นยาส่วนสารสกัดรูปแบบอื่นก็มีการนำมาใช้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมหาร เป็นต้น สำหรับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดใบแปะก๊วยนั้นสามารถ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ คือ terpene trilactones และ ginkgo glycosides ดังนี้

           สารกลุ่มเทอร์ปีนไตรแลคโตน (terpene trilactone, TT) เป็นสารจำพวกเทอร์ปีนอยด์ในใบแปะก๊วยประกอบด้วยสารเซสควิเทอร์ปีน ได้แก่ ไบโลบำไลด์ (Bilobalide) และไดเทอร์ปีนแลคโตน 5 ชนิด ซึ่งรวมเรียกว่า “กิงโกไลต์” (Ginkgolides) ได้แก่ Ginkgolides A, B, C, J และ M        

           สารกลุ่มกิงโกฟลาโวนไกลโคไซด์ (ginkgo flavone glycosides) ใบสารสกัดใบแปะก๊วยมี Flavonol glycosides ประมาณ 20  ชนิด เช่น Quercetin-3-rhamnoside, Kaempferol-3-rhamnoside, Quercitin-3-rutinoside, Kaempferol-3-rutinoside และ p-coumaricester ของ Quercitin และ Kaempferol glucorhamnosides เป็นต้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารสกัดใบแปะก๊วย

สารสกัดใบแปะก๊วย มีแหล่งที่มาตามชื่อของสารสกัดนั่นก็คือ ส่วนใบของต้นแปะก๊วย (Ginkgo biloba L.) ซึ่งเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและยามาเป็นเวลานาน ซึ่งในส่วนของใบแปะก๊วยจะมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ 2 กลุ่ม ดังได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ใบแปะก๊วยยังมีสารจำพวก Biflavonoids หลายชนิด เช่น Amentoflavone, Bilobetol และ 5-methoxybilobetol, Ginkgetin, Isoginkgetin และ Sciadopitysin ซึ่งเป็นสารที่พบเฉพาะในใบแปะก๊วยเท่านั้น

สารสกัดจากใบแปะก๊วย

ปริมาณที่ควรได้รับสารสกัดใบแปะก๊วย

สำหรับขนาดและปริมาณ ของสารสกัดใบแปะก๊วย ที่ควรได้รับนั้นจะขออ้างอิงถึง สารสกัดใบแปะก๊วยในรูปแบบสารสกัดมาตรฐาน (standard preparation) หรือ ที่รู้จักในชื่อ EGb  761 และ  LI1370 ซึ่งได้มีการกำหนดกรรมวิธีการผลิตสาระสำคัญที่ใช้ควบคุมคุณภาพ และประสิทธิภาพ ดังนี้

           สกัดด้วยน้ำ ให้มีอัตราส่วนการสกัด 50 ต่อ 1 โดยมีสารสำคัญฟลาโวนอยด์ไกลโคไซด์ (flavonoid glycosides) ร้อยละ 22-27 และเทอร์พีนแลคโตน (terpene lactones) ร้อยละ 5-7 และปริมาณกรดกิงโกลิก (Ginkgolic acid) น้อยกว่า 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm)

           สกัดด้วยน้ำและเอทานอล ให้มีอัตราส่วนการสกัด 50 ต่อ 1 โดยมีสารสำคัญฟลาโวนอยด์ไกลโคไซด์ (flavonoid glycosides) ร้อยละ 22-27 และ เทอร์พีนแลคโตน (terpene lactones) ร้อยละ 5-7 และปริมาณกรดกิงโกลิก (Ginkgolic acid) น้อยกว่า 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) โดยให้สารสกัดดังกล่างมีขนาดรับประทานวันละ 80-120 มิลลิกรัม (คำนวณเป็นใบแปะก๊วยแห้ง 4-6 กรัม)

ประโยชน์และโทษสารสกัดใบแปะก๊วย

สารสกัดใบแปะก๊วย ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยถูกนำมาใช้ในการบำรุงสมอง ช่วยเพิ่มความจำ ช่วยเสริมในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ ลดภาวะอาการหลงลืม เพิ่มอัตราการไหลเวียนของเลือดในสมอง โรคการฟังผิดปกติ อาการหูอื้อ และความผิดปกติในการมองเห็น อาการวิงเวียน ต้านอนุมูลอิสระ ลดความผิดปกติของหลอดเลือด รักษาโรคด่างขาว เป็นต้น ซึ่งสารประกอบสำคัญในสารสกัดใบแปะก๊วยที่ออกฤทธิ์ต่อหลอดเลือดและเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคหรือสภาวะต่างๆ คือ สารกลุ่ม flavonoids4 โดยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารสกัดใบแปะก๊วย พบว่า สามารถเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณสมองและหลอดเลือดส่วนปลาย ลดสภาวะการซึมผ่านของผนังหลอดเลือด (vascular permeability) ซึ่งเป็นสาเหตุของการหดตัวของหลอดเลือด ลดความตึงของหลอดเลือดดำ (improve venous tone), ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ phosphodiesterase type 4, ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบผ่านทางกลไกของ nitric oxide ได้อีกด้วย นอกจากนี้ตาม Monograph ของ Commission E ประเทศเยอรมัน ยังมีการใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วย รักษาอาการ 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม Demential syndromes ประกอบด้วยความจำเสื่อม ความสนใจสั้น ซึมเศร้าปวดศีรษะ กลุ่ม Intermittent claudication อาการชาที่ขา และปวดเมื่อยน่องเวลาเดิน เนื่องจากการไหลเวียนโลหิตไม่ดี กลุ่ม Vertigo และ Tinnitus เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน หูอื้อ ซึ่งการนำสารสกัดจากแปะก๊วย นำมาใช้ในภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากมีความเชื่อว่าสารสกัดที่ได้นั้น มีฤทธิ์ “nootropic effect” ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่เพิ่งการเรียนรู้และความจำอีกทั้งยังมีฤทธิ์ในการเป็น neuroprotective ด้วย และในปี ค.ศ.2000 WHO’s Anatomical Therapeutic Chemical Classifi cation ยังได้จัดให้สารสกัดจากใบแปะก๊วยเป็นยาต้านภาวะสมองเสื่อม (anti-dementia drugs) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับ Cholinesterase inhibitors และ memantine อีกด้วย สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ในการรักษาโรคของ Ginkgo เชื่อว่าเกิดจากสาร terpene ginkgolide B ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็น neuroprotective agent รวมไปถึงฤทธิ์ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและสามารถยับยั้ง platelet activating factor ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่บ่งบอกถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดแป๊ะก๊วยอื่นๆ ได้แก่ ทำ ให้เยื่อบุโพรงเกิดการคลายตัว (Endothelium relaxation) จากการยับยั้งเอนไซม์3,, 5,-cyclic GMP (guanosine monophosphate) phosphate diesterase, ฤทธิ์ยับยั้งการสลายของ muscarinergic cholinoceptors และ a-adrenoceptors รวมไปถึงกระตุ้นให้สมองในส่วน hippocampus มีการสร้างสาร choline เพิ่มขึ้นและยับยั้งการสะสมของ beta-amyliod ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเกิด Alzheimer’s disease ได้ เป็นต้น ส่วนโทษของสารสกัดใบแปะก๊วย นั้นมีการศึกษาความเป็นพิษพบว่ามีความเป็นพิษต่ำมากๆ และยังมีผลการศึกษาวิจัยถึงความเป็นพิษในด้านต่างๆ ดังนี้ มีการศึกษาความปลอดภัยของสารสกัดมาตรฐานของใบแปะก๊วย EGb761® ต่อการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์ของหนูเม้าส์ โดยป้อนสารสกัดมาตรฐานของใบแปะก๊วย EGb761® ขนาด 100, 350 และ 1,225 มก./กก./วัน ให้แก่หนูเม้าส์ในช่วงวันที่ 6-15 ของการตั้งครรภ์ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่ตัวอ่อนกำลังพัฒนาอวัยวะของร่างกาย ผลการศึกษาพบว่าไม่พบความเป็นพิษต่อตัวอ่อน ทั้งความผิดปกติภายนอกและจากการผ่าพิสูจน์ โครงสร้างกระดูก และเนื้อเยื่อ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากใบแปะก๊วยไม่มีผลเพิ่มการเกิดทารกวิรูป ความพิการของทารก หรือก่อให้เกิดพัฒนาการล่าช้า รวมถึงความผิดปกติอื่นๆ ในสัตว์ทดลอง และจากการศึกษานี้ยังแสดงให้เห็นว่าขนาดสูงสุดที่ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษหรือความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ (no-observed-effect level: NOEL) ของแปะก๊วยคือ 1,225 มก./กก./วัน

โครงสร้างสารสกัดใบแปะก๊วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของสารสกัดใบแปะก๊วย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเถสัชวิทยาของสารสกัดใบแปะก๊วยมากมายหลายฉบับทั้งในประเทศและต่างประเทศดังนี้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant activity) มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าฤทธิ์ในการต้านอนุมูลออกซิเจนอิสระของสารสกัดใบแปะก๊วย เป็นผลมาจากสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีอยู่กว่า 20 ชนิด ในใบแปะก๊วย จากการศึกษาผลฤทธิ์ของสารสกัดในรูปแบบต่างๆ เช่น สารสกัดแอลกอฮอล์ 100% สารสกัดอะซิโตน 90 % พบว่าสารสกัดเหล่านี้มีฤทธิ์ในการยับยั้ง Lipid peroxidation ซึ่งเหนี่ยวนำโดย H2O2 ลดปริมาณการผลิตอนุมูลอิสระ ป้องกัน LDL จาก Oxidative damage และป้องกันเม็ดเลือดแดงจาก EGB761 และยังสามารถป้องกันจอตา (Retina) จาก Lipoperoxidation ได้ และ สารสกัด Gingko biloba ยังสามารถทำลาย reactive oxygen species (ROS) เช่น  hydroxyl radicals (OH ̇), peroxyl radical (ROO ̇), superoxide anion radical (O2- ̇), nitric oxide radical (NO ̇), hydrogen peroxide (H2O2),  ferryl ion species  และเพิ่มการทำงานของ antioxidant enzymes เช่น superoxide distmutase (SOD),  glutathione peroxidase และ catalase ที่ทำหน้าที่เป็น antioxidant ได้ และยังมีการศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง (In vitro study) ที่สรุปว่า Ginkgo biloba สามารถลด oxidative stress ในเซลล์  macrophage ของสุนัข และยับยั้งกระบวนการ lipid  peroxidation ในเซลล์หลอดเลือดแดงที่ปอดได้ และเมื่อทดลองให้สารสกัดแปะก๊วย (Gingko biloba Linn.) ขนาด 25 และ 50 มก.ต่อกก. ในหนูขาวที่ถูกทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง นาน 21 วัน พบว่าสารสกัดแปะก๊วยมีผลลดอนุมูลอิสระของออกซิเจน (Oxygenated free radical) อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยสารสกัดในขนาด 50 มก.ต่อกก.ให้ผลมากกว่า สารสกัดแปะก๊วยไม่มีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่มีผลต่อต้านออกซิเดชั่นซึ่งแสดงว่าสารสกัดแปะก๊วยนั้นเองที่มีผลกำจัดอนุมูลอิสระของออกซิเจน (free radical scavenging action)

           ฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตไปยังสมอง (Cerebral blood flow increase) มีการศึกษาวิจัยระบุว่าการให้สารสกัดใบแปะก๊วย ด้วยเอทธานอล 30 % และ 100 % ในขนาด 120-300 มก./คน/วัน เป็นเวลา 4-12 สัปดาห์ มีผลในการเพิ่มปริมาณโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองทำให้อาการต่างๆ ที่เกิดจากโลหิตไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (Cerebral insufficiency) ดีขึ้นภายใน 4 สัปดาห์ และหลังจากให้สารเป็นเวลา 12 สัปดาห์ อาการของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกและจากศึกษาผลของสารสกัด Li 1370 ในผู้ป่วยที่มีอาการขาดโลหิตไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอจำนวน 90 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 62.7 ปี โดยให้สารสกัด 150 มก./วัน เป็นเวลา12 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความจำดีขึ้น ระยะเวลาของความตั้งใจ (Attention span) ในการททำงานเพิ่มขึ้น รวมถึงความสามารถในการทำงานต่างๆ ที่ต้องใช้การปรับตัว และการตัดสินใจที่รวดเร็วดีขึ้นแต่การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมบางอย่างจะเห็นพบใน สัปดาห์ที่ 6 ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าจากผลของสารสกัด EGb 761 จากแปะก๊วย (Gingko biloba) ในหนูแรทเพศผู้ โดยให้หนูได้รับ EGb 761 ใน ขนาด 100 มก./กก. ก่อนทำเกิดภาวะสมองขาดเลือดโดยการทำให้เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองส่วนกลางอุดตัน (middle cerebral artery occlusion) และหลังจากนั้นเป็นเวลา 24 ชม. จึงเก็บสมองในส่วน cerebral cortex มาทดสอบ ซึ่งก่อนหน้านี้พบว่า EGb 761 สามารถลดบริเวณของเนื้อตายและจำนวนของ TUNEL-positive cells (ตัวบ่งชี้ว่าเซลล์สมองถูกทำลาย) ใน cerebral cortex อันเนื่องมาจากการอุดตันของเส้นเลือดได้ และจากผลการทดลองครั้งนี้พบว่า สมองในบริเวณที่ขาดเลือดจะมี Akt up-stream target และ Phosphoinositide-Dependent Kinase-1 (PDK1) phosphorylation ลดลง ส่งผลให้ระดับของ phospho-mammalian target of rapamycin (mTOR), phospho-p70S6kinase และ phospho-S6 ลดลง ในขณะที่ EGb 761 สามารถป้องกันการลดระดับของโปรตีนดังกล่าวได้ ทำให้สามารถสรุปได้ว่า EGb 761 สามารถป้องกันเซลล์สมองถูกทำลาย จากภาวะขาดเลือดด้วยกลไกป้องกันการลดลงของ p70S6 kinase และ S6 phosphorylation

          ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานการศึกษาวิจัยสาร ginkgetin ซึ่งเป็นสารกลุ่ม biflavone จากใบแปะก๊วย พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง phospholipase A2 และเป็นยาต้านไขข้ออักเสบ และแก้ปวด การศึกษาครั้งนี้จึงได้ศึกษาผลต่อ cycloxygenase (COX)-1 and 2 และการยับยั้งการสังเคราะห์ prostaglandin E2 พบว่า ginkgetin และ gingetin ผสมกับ esoginketin ยับยั้งการสังเคราะห์ prostaglandin E2 ซึ่งทำให้อักเสบ และยับยั้งการหลั่ง COX-2 นอกจากนี้ยังได้ทดลองผลที่ผิวหนังซึ่งเหนี่ยวนำให้อักเสบโดย croton oil พบว่ายับยั้งการอักเสบได้ เช่นกัน

           ฤทธิ์ช่วยให้ความจำดีขึ้น (Memory enhancement effect) มีรายงานการศึกษาพบว่า สารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ จากใบแปะก๊วยในขนาด 40 มก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และความจำของสัตว์ทดลอง นอกจากนี้การให้สารสกัดเอทธานอลจากใบแปะก๊วย100% ในขนาด 120-240 มก./วัน แก่ผู้ป่วยทำให้การรับรู้ดีขึ้น เมื่อให้สารสกัดเอทธานอล 30% ในขนาด 320 มก./คนแก่ผู้ป่วยสูงอำยุ 18 คน ซึ่งมีอาการความจำเสื่อมเนื่องมาจากความชรา พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยให้ความจำของผู้ป่วยขึ้น และยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ สาร cardanol หรือ ginkgol ซึ่ง เป็นสารที่สกัดได้จากใบของแปะก๊วย (Ginkgo biloba  L.) และของเหลวที่ได้จากเปลือกหุ้มเมล็ด (nutshell liquid) ของมะม่วงหิมพานต์ (Anacardium occidentale  L.) ซึ่งมีผลในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท NSC-34 และพบว่าการให้หนูแรทเพศผู้ อายุ 5 สัปดาห์ กินสาร cardanol acetate ในขนาด 100 มก./กก./วัน เป็นเวลา 2 เดือน สามารถเพิ่มการทำงานของสมองที่เกี่ยวความจำในส่วนของการเรียนรู้ของหนูแรทได้ และเมื่อทดสอบด้วย eight-arm radial maze tasks ทำให้สามารถสรุปได้ว่า สาร cardanol ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่อยู่ในใบแปะก๊วย มีส่วนช่วยในเรื่องของความจำและการเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดปรับมาตรฐานจากสารสกัดใบแปะก๊วย ในภาวะสมองเสื่อม โดยทําการรวบรวมการศึกษา 9 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารสกัด EGb761 ซึ่งมีผู้อยู่ในการศึกษาทั้งหมด 2,372 คน พบว่าสารสกัด EGb761 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของ cognition score แตกต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ผลต่อ activities in daily living (ADLs) ไม่แตกต่างจากยาหลอก การศึกษานี้แสดงให้เห็นประโยชน์ของการใช้สารสกัดปรับมาตรฐานจากสารสกัดใบแปะก๊วยในภาวะสมองเสื่อม และสำหรับ meta-analysis เพื่อศึกษาผลของสารสกัดปรับมาตรฐานจาก Ginkgo biloba ต่อ cognitive symptom ในภาวะสมองเสื่อม พบว่าในสารสกัดจาก Ginkgo biloba มีผลช่วยด้านความจำในผู้ป่วยภาวะสมองเสท่อมได้เมื่อทำการวิเคราะห์โดยการนำความเสี่ยงที่ baseline มาประเมินร่วมด้วย ต่อมามีการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมโดย Grass-Kapanke และคณะในผู้ป่วยจำนวน 296 คน ที่มีภาวะ very mild cognitive impairment โดยเป็นผู้ป่วยที่มาด้วยปัญหาด้านความจำบกพร่องเป็นเวลา 3 เดือน ขึ้นไปโดยทำการสุ่มให้ได้รับสารสกัดปรับมาตรฐานจาก Ginkgo biloba (EGb 701) ขนาด 240 มิลลิกรัม ต่อวัน หรือ ยาหลอก โดยมีการวัดความใส่ใจ (attention) ความจำ (memory) และคุณภาพชีวิตเมื่อติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดปรับมาตรฐานจาก Ginkgi biloba สามารถเพิ่มความใส่ใจ ความจำ และมีผลทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

           ฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelet aggregating activity) กิงโกไลด์ บี (ginkgolide B) ที่พบในสารสกัดใบแปะก๊วยเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้ง PAF (Platelet aggregating factor) ซึ่งสาร PAF มี บทบาทสำคัญในการเกาะตัวของเกล็ดเลือด การเกิดลิ่มเลือดปฏิกิริยาเกิดอาการบวมและอาการแพ้ จากการศึกษาในคนจากการใช้สารกิงโกไลด์ บี (ginkgolide B) ซึ่งเป็นสารมีฤทธิ์แรงที่สุดในกลุ่มกิงโกไลด์พบว่าต้องให้ขนาด 120-240 มก./กก. ในแต่ละวัน จึงจะเห็นผลในการต้าน PAF แต่แปะก๊วยจะไม่มีผลต่อการจับตัวของเกล็ดเลือดที่เหนี่ยวนำด้วย ADP หรือสารอื่นๆ

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

สำหรับการใช้สารสกัดใบแปะก๊วยนั้นมีข้อห้ามใช้ข้อควรระวังและอาการข้างเคียงดังนี้ ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด รวมถึงห้ามใช้ในผู้ที่แพ้แปะก๊วย นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเหล่านี้ก็ควรระวังในการใช้เช่น ผู้ที่มีประวัติความผิด ปกติของการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีประวัติการชัก และสตรีมีครรรภ์ ส่วนในรายที่รับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานควรหยุดรับประทานก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย ½ -1 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเลือดแข็งตัวช้า ไม่ควรใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น aspirin, waffarin รวมทั้งยาลดความดัน เช่น atenolol, nifedipine และผู้ที่รับประทานยาที่มีกระบวนการเมทาบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ cytochrome P450 เช่น กลุ่มยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร (Proton pump inhibitors) ยาต้านไวรัส Efavirenz ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน อีกทั้งการใช้สารสกัดใบแปะก๊วย อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ แต่ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เกิดชั่วคราว และกลับเป็นซ้ำได้อีก ผลข้างเคียงทั่วไปที่สามารถพบได้ คือ รบกวนระบบทางเดิน อาหาร (gastrointestinal upset), ความผิดปกติของการย่อยอาหาร ปวดศีรษะ และอาการทางผิวหนัง (contact dermatitis) ซึ่งหากรับประทานในขนาดที่สูงมาก อาจเกิดอาการกระวนกระวาย ท้องร่วง และคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะต่อเนื่องเป็นเวลานาน สายตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อนกัน วิงเวียน ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ ต้องรีบหยุดยาและรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดจากอาการภาวะเลือดออกในสมอง

 

เอกสารอ้างอิง สารสกัดใบแปะก๊วย
  1. พนิดา ใหญ่ธรรมสาร. การดูแลตนเองของสตรีวัยทอง. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 32. ฉบับที่3 เมษายน 2558. หน้า 1-4
  2. สมภพ ประธานธุรารักษ์ พร้อมจิต ศรลัมภ์. สมุนไพรการพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน. กรุงเทพ : เฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง จำกัด 2547 : 163 หน้า
  3. การศึกษาความปลอดภัยของสารสกัดจากใบแปะก๊วยต่อทารกในครรภ์. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. ภก. ทวนธน บุญลือ. ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารสกัดปรับมาตรฐานจากแปะก๊วยในการป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม. วารสารสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีที่ 7. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2555. หน้า 85-90
  5. ผลของสารสกัดแปะก๊วยต่อการสร้างอนุมูลอิสระในหนูขาวภาวะขาดออกซิเจน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. วรัชญา เอื้อวัฒนะกุล. สารสกัดใบแปะก๊วย ในการรักษาโรคด่างขาวบนหลักฐานเชิงประจักษ์และแนวทางการนำไปใช้ทางคลินิก. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปีที่ 29. ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2562. หน้า 43-62
  7. ผลของสารสกัดจากแปะก๊วยต่อภาวะสมองขาดเลือด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. แปะก๊วย (Ginkgo) บทที่ 56. รายละเอียดข้อมูลทางชีวภาพ. รายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 3 (Progress Report 3) โดยการเพิ่มศักยภาพฐานข้อมูลอุตสาหกรรมยาทางชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวภาพ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. 11 หน้า
  9. ผลของ Ginkgetin จากใบแปะก๊วยต่อการอักเสบ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  10. Dziwenka M, Coppock RW. Ginkgo biloba. In: Gupta RC, ed. Nutraceuticals: efficacy, safety and toxicity. Academic Press/Elsevier, Amsterdam 2016. p 681-91.
  11. Joyeux M, Lobstien A, Anton R and Mortier F. Comparative antillipoperoxidant, antinecrotic and scavenging properties of terpenes and biflavones from Ginkgo and som flavonoids. Planta Med 1995:126-9.
  12. Weinmann S, Roll S, Schwarzbach C, Vauth C, Willich SN. Effects of Ginkgobiloba in dementia: systematic review and meta-analysis. BMC Geriatr 2010,10:14.
  13. Mahadevan  S,  Park  Y.  Multifaceted  therapeutic benefits of Ginkgo  biloba L.: Chemistry, efficacy, safety, and uses. J Food Sci 2008;73:R14-9.
  14. The China Food and Drug Administration. (2015). Ginkgo Folium. PHARMACOPOEIA OF THE PEOPLE’S REPUBLIC OF CHINA. Vol. 1, 215-216
  15. Grass-Kapanke B, Busmane A, Lasmanis A, Hoerr R, Kaschel R. Effects of Ginkgo biloba special extract EGb761 in very mild cognitive impairment(vMCI). Neuroscience & Medicine 2011;2, 48–56.
  16.   Gauthier S, Schlaefke S. Efficacy and tolerability of Ginkgo biloba extract EGb761® in dementia: a systematic review and meta-analysis of randomized placebo-controlled  trials.  Clin  Interv  Aging 2014;9:2065-77.
  17. Bruneton J. Pharmacognosy-phytochemistry-medicinal plants. New York : Lavoisier Publishing 1995:282-3.
  18. Laws KR, Sweetnam H, Kondel TK. Is Ginkgo biloba a cognitive enhancer in healthy individuals? A meta-analysis.Hum Psychopharmacol Clin Exp 2012 Sep 24. doi: 10.1002/hup.2259. PubMed PMID: 23001963
  19. Rong Y, Geng Z, Lau BH. Ginkgo biloba attennuate oxidative stress in macrophages and endothelial cells. Free Radi Biol Med 1996;20:121-7.
  20. Bone K., Simon Mills, M.C.P.P. & FNIMH, M. (2012). Principles and practice of phytotherapy : modern herbal medicine. Elsevier Health Sciences. (หน้า 576-627)
  21. Weinmann S, Poll S, Schwarzbach, et al.Effects of ginkgo biloba in dementia:systematic review and meta-analysis.BMC Geriatr 2010;10:14.
  22. Ude C, Schubert-Zsilavecz  M, Wurglics M. Ginkgo biloba extracts: A review of the pharmacokinetics of  the  active  ingredients.  Clin  Pharmacokinet 2013;52:727-49.
  23. World Health Organization. (1999). Folium Ginkgo. WHO Monographs on Selected Medicinal Plants. Vol. 1, 154-167
  24. Wang BS, Wang H, Song YY, Qi H, Rong ZX, Zhang L, Chen HZ. Effectiveness of standardized Ginkgo Biloba extract on cognitive symptoms of dementia with a six-month treatment: A bivariate random effect meta-analysis. Pharmacopsychiatry 2010; 43: 86 – 91.
  25. Steinegger E, Haensel R, Lehrbuch der Pharmakognosie and Phytopharmazie. Spronger Veriag 1988:586-88.