ตะลุมพุก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตะลุมพุก งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตะลุมพุก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะคังขาว, กระลุมพุก, ลุมพุก (ภาคกลาง), มะข้าว, มะน้ำข้าว (ภาคเหนือ), ลมปุ๊ก (ภาคอีสาน), มะคัง (อุตรดิตก์), หนามแท่ง (ตาก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng & Sastre
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Randia uliginosa (Retz) Poir. Catunaregam uliginosa (Retz) Sivarg Gardenia uliginosa Retz., Solena uliginosa (Retz) D.Dietr.
วงศ์ RUBIACEAE
ถิ่นกำเนิดตะลุมพุก
ตะลุมพุก จัดเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณป่าเบญจพรรณตามป่าเต็งรังที่ขึ้นริมน้ำ ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณตะลุมพุก
- ใช้แก้ท้องเสีย
- แก้บิดมูกเลือด
- แก้อติสาร
- ช่วยบำรุงกำลัง
- ช่วยบำรุงเลือด
- แก้เมื่อย
- ใช้แก้โรคบิด
- ใช้รักษาฝี
- รักษาแผลพุพอง
- รักษาบาดแผลอักเสบ
- รักษาโรคผิวหนัง
- ขับปัสสาวะ
- ขับขับน้ำดี
ในอดีตมีการนำผลของตะลุมพุก มาทุบให้แหลก แล้วนำไปผสมของสีย้อมผ้า จะทำให้สีติดทนนาน ส่วนเนื้อไม้มีสีขาวปนสีน้ำตาลอ่อน มีความละเอียด สม่ำเสมอ นิยมนำมาใช้งานแกะสลัก ทำเครื่องใช้สอย หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือต่างๆ ส่วนในปัจจุบันนิยมนำต้นตะลุมพุกมาปลูกไว้เป็นไม้ประดับ เพราะมีดอกสีขาวสวยแปลกตา มีกลิ่นหอม สามารถตัดแต่งได้ง่าย และยังสามารถปลูก เลี้ยงดูแลได้ง่าย อีกทั้งมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ตะลุมพุก
ใช้แก้ท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด แก้อติสาร ขับปัสสาวะและขับน้ำดี โดยใช้ผลหรือรากแห้งมาต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย โดยใช้แก่นตะลุมพุก กับแก่นมะคังแดงมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงเลือดโดยใช้รากและแก่นต้มกับน้ำดื่ม ผลสุกใช้รักษาฝี แผลพุพอง บาดแผลอักเสบ และโรคผิวหนัง
ลักษณะทั่วไปของตะลุมพุก
ตะลุมพุก จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก สูง 5-10 เมตร ทรงพุ่งโปร่งลำต้นและตามปลายกิ่งก้านมีหนามแหลมยาว ออกตรงกันเป็นคู่ๆ เป็นปมขรุขระ ซึ่งหนามนี้จะพัฒนาเป็นกิ่งต่อไป กิ่งอ่อนมีเหลี่ยมมน เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อไม้สีขาวปนน้ำตาลอ่อนละเอียด สม่ำเสมอ
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม มีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ โคนใบสอบแหลม ปลายใบเรียบมน ส่วนขอบใบ ขนาดใบกว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 8-14 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน หลังใบเรียบรื่นเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบมีขนประปรายปกคลุม ผิวใบเรียบเนื้อใบบางและฉีกขาดง่าย มีก้านใบยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร และมีหูขนาดเล็กอยู่ระหว่างก้านใบ
ดอก เป็นดอกเดี่ยวออกบริเวณซอกใบบริเวณปลายยอด ดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปทรงกลมใหญ่ มีขนาด 3-5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5-6 กลีบ กลีบดอกค่อนข้างหนา โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายกลีบกลมมนแยกออกจากกัน มีเกสรเพศผู้จำนวน 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน
ผล เป็นผลสด รูปไข่ กลมรี ยาว 4-6 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลดิบสีเขียว เมื่อสุกสีเหลือง เนื้อแข็ง แน่น ปลายผลมีกลีบเลียงติดอยู่ ภายในผลมีเมล็ดรูปทรงกลมจำนวนมาก แต่โคนส่วนมากเมล็ดมักฝ่อ
การขยายพันธุ์ตะลุมพุก
ตะลุมพุกสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบันคือการเพาะเมล็ดเนื่องจากการตอนกิ่งทำได้ยากเพราะตามลำต้นของตะลุมพุก มีหนามยาว สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดและการกิ่งไม้ยืนต้นทั่วไปตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตะลุมพุก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารสกัดจากรากพบ Diffusoside A, mussaenoside, scopoletin เป็นต้น ส่วนสารสกัดจากรากผลของตะลุมพุกบสารต่างๆ เช่น Quercrtin, Myricetin, Luteolin, Apigenin, Keampferol, Hyperoside, Isorhamnetin, Caffeic acid, Ferulic acid, Nonacosane, Vitexin, Rutin, Leuteolin-7-Glycoside เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตะลุมพุก
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตะลุมพุกระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆดังนี้
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบเฉียบพลันของสารสกัดจากผลโดยใช้วิธีเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูอักเสบโดยใช้คาราจีแนน จากนั้นแยกหนูทดลองโดยสัตว์กลุ่มแรกทำหน้าที่เป็นกลุ่มควบคุมเชิงลบและให้ 0.75% CMC (5 มล./กก.) สัตว์กลุ่มที่สองมีผลเป็นบวกควบคุมซึ่งได้รับยาไดโคลฟีแนคโซเดียม (5 มก./กก.) ในขณะที่กลุ่ม 3,4,5 ให้สารสกัดผลตะลุมพุก หนึ่งชั่วโมงก่อนเริ่มการทดลองให้ผลขนาด 100 มก. (กลุ่มที่ 3) 200 มก. (กลุ่มที่ 4) และ 400 มก. (กลุ่มที่ 5) พบว่าสารสกัดทุกขนาดสามารถยับยั้งกี่อักเสบได้โดยหนูทดลองกลุ่มที่ได้สารสกัด 400 มก./กก. มีอัตราการอักเสบต่ำที่สุด นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ อีกหลายฉบับระบุว่าสารสกัดส่วนราก ของตะลุมพุก มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเซลล์มะเร็ง และต้านแบคทีเรียได้อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของตะลุมพุก
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ตะลุมพุกเป็นสมุนไพร ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ตะลุมพุก เป็นสมุนไพรเพราะยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ หากจะต้องใช้ตะลุมพุกเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง ตะลุมพุก
- เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และกาญจนา ดีวิเศษ. ผักพื้นบ้านภาคเหนือ พิมพ์ครั้งที่ 2. มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา ศูนย์พัฒนาการแพทย์แผนไทย จำกัด กรุงเทพฯ.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี ธวัชชัย มังคละคุปต์. ตะลุมพุก. หนังสือสมุนไพรเล่ม 1. หน้า 127.
- สมพร ภูติยานันท์. การตรวจสอบเอกลักษณ์พืชสมุนไพร พฤกษอนุกรมวิธาน. หจก. ตุลย์สตูดิโอกราฟฟิก 120 เชียงใหม่.
- ตะลุมพุก . ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage=48.
- Winter, C.A., Risely, E.A., Nuss, G.W., 1962. Carrageenan induced oedema in hind--paw rats-an oedema of the assay for anti- inflammatory drugs. Proc. Soc. Exp. Biol. 3,544-547.
- Agrawal S S, and Singh V K. Immunomodulators -A review of studies on Indian medicinal plants and synthetic peptides, Part-1, medicinal plants, Proc. Acad., 1999; 65: 179-204.
- Deepthy Mol MJ and Radhamony PM , 2012. Phytochemical and proximate studies of Tamilnadia and Sastre, fruits. Triveng uliginosa (Retz.), Journal of Pharmcy research,4(7): 3530-3532.
- Goldenberg,M.M,, Iise, A.C., 1977. Anti- inflammatory activity of EU-2972. Arch. Int. Pharmacodyn. 22 (, 153-161.
- Neerugatti, D., Battu, G. R., Jangiti, R.K., 2014. Anti-inflammatory effect of methanolic extract of Tamilnadia uliginosa (Retz.) roots. Int. J. Phytopharmacol.5(1), 34-37.
- Nadkarni A K and Nadkarni K Mat Popular Bombay. 1976; 1047-1048.