ตะคร้อ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ตะคร้อ งานวิจัยและสรรพคุณ 34 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ตะคร้อ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะคร้อไข่, ค้อ (ภาคกลาง), มะโจ้ก, มะเคาะ (ภาคเหนือ), หมากค้อ, บักค้อ, เคาะ, กาซ้อง, คอส้ม (ภาคอีสาน), ตุ้ย, ซะอู่เส่ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Schleichera oleosa (Lour.) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pistacia oleosa Lour., Schleichera oleosa (Lour.) Oken.
ชื่อสามัญ Ceylon oak
วงศ์ SAPINDACEAE


ถิ่นกำเนิดตะคร้อ

ตะคร้อ จัดเป็นพันธุ์ไม้พื้นบ้านของไทย โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณประเทศ ไทย พม่า และลาว ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนของภูมิประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา รวมถึงในภูมิภาค อินโดจีน กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบได้ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกบริเวณ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,200 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณของตะคร้อ

  • เป็นยาระบาย
  • ช่วยฟอกโลหิต
  • แก้ไข้ทับระดู
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • บำรุงฟัน
  • บำรุงสายตา
  • บำรุงประสาท
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • แก้ไอ
  • แก้หวัด
  • ทำให้ชุ่มคอ
  • ใช้เป็นยาแก้กษัย
  • ช่วยถอนพิษ
  • ใช้ถ่ายเส้นเอ็น
  • แก้เส้นเอ็นหย่อน
  • ถ่ายฝีภายใน
  • ใช้รักษาฝี
  • แก้ไข้
  • ช่วยห้ามเลือด
  • ช่วยถ่ายพิษฝี
  • อถ่ายเส้นแก้กษัย
  • ใช้เป็นยาสมานท้อง
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ปวดประจำเดือน
  • แก้ฝีหนอง
  • แก้ฝีในกระดูก
  • แก้ริดสีดวงภายนอกและภายใน
  • แก้ฝีในกระดูก
  • แก้เบาหวาน
  • ใช้แก้อาการปวดไขข้อ (น้ำมันจากเมล็ด)
  • แก้ผมร่วง (น้ำมันจากเมล็ด)
  • รักษาอาการคัน (น้ำมันจากเมล็ด)
  • สิว (น้ำมันจากเมล็ด)
  • แผลไหม้ (น้ำมันจากเมล็ด)

           มีการนำส่วนต่างๆ ของตะคร้อมาใช้ประโยชน์หลายด้าน อาทิเช่น ผลสุก หรือ เนื้อหุ้มเมล็ด มีรสเปรี้ยวนิยมนำมาใช้รับประทานเป็นผลไม้ โดยนำมาจิ้มกับพริกเกลือ หรือ นำมาซั่วกิน และใบอ่อนตะคร้อ ก็สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักแกล้ม ส่วนเปลือกต้นมีการนำมาขูดตำใส่มดแกง นอกจากนี้ยังมีการนำเปลือกต้นใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าได้ โดยสีที่ได้ คือ สีน้ำตาล ส่วนเปลือกต้นตะคร้อ เมื่อนำมาผสมกับเปลือกต้น ก่อจะให้สีกากี และเนื้อไม้ตะคร้อมีลักษณะแข็งและเหนียวจึงสามารถนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมได้เช่น ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ในการก่อสร้างบ้านเรือน เครื่องมือ เครื่องใช้ทางการแพทย์ ทำเขียง ครก สาก ดุมล้อเกวียน และส่วนประกอบของล้อเกวียน เป็นต้น

            อีกทั้งในต่างประเทศ (อินเดีย) ยังมีการนำเมล็ดของตะคร้อมาสกัดเป็นน้ำมันที่เรียกว่า Kusum oil ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำมันที่ใช้ตกแต่งทรงผล และบำรุงเส้นผม ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร และใช้ในอุตสาหกรรมผ้าบาติก อีกด้วย

ตะคร้อ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้กษัย ถ่ายพิษเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นหย่อน ถ่ายฝีภายใน โดยใช้ราก และเปลือกรากต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาระบาย บำรุงฟัน บำรุงสายตา บำรุงประสาท ช่วยเจริญอาหาร ฟอกโลหิต แก้หวัด แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ แก้ไข้ทับระดู โดยนำเนื้อผลมาตะคร้อ รับประทานสด หรือ นำมาตากแห้งแล้วต้นกับน้ำดื่ม ใช้สมานท้อง แก้ท้องเสีย ท้องร่วง โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำกร่วมกับเปลือกต้นตะคร้อ และเปลือกต้นมะกอก แล้วใช้ดื่ม ใช้แก้ฝีหนอง แก้ฝีในกระดูก แก้ปวดประจำเดือน โดยนำเปลือกต้นมาต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ริดสีดวงทั้งภายนอก และภายใน ใช้แก้ฝีในกระดูก แก้เบาหวาน แก้กษัย ขับพิษ ขับปัสสาวะ โดยใช้ทั้งต้น (5 ส่วน) มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้โดยนำใบแก่มาขยี้แล้วนำมาเช็ดตัว ใช้ห้ามเลือด โดยนำใบสดมาตำพอกบริเวณบาดแผล


ลักษณะทั่วไปของตะคร้อ

ตะคร้อจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มแผ่กว้างมีความสูงของต้นประมาณ 10-25เมตร แตกกิ่งก้านต่ำ กิ่งก้านมักคดงอ ลำต้นกลมเป็นปุ่มปม และพูพอน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมดำ หรือ น้ำตาลแดงแตกเป็นสะเก็ดหนา เนื้อไม้แข็งและเหนียว ใบ เป็นใบประกอบขนนก ปลายคู่ออกเรียงสลับบริเวณปลายกิ่ง ช่อใบมีก้านยาว และมีใบย่อยออกเรียงตรงข้ามกัน 1-4 คู่ ใบมีลักษณะรูปรี หรือ รูปรีแกมขอบขนาน มีก้านใบย่อยสั้น ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กๆ ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแเดง ส่วนใบแก่มีสีเขียว ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายยอดหรือตามซอกใบ โดยช่อดอกเป็นพวงหางกระรอกมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยรูปทรงกลมมีขนาดเล็กไม่มีกลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีเกสรเพศผู้ 6-8 ก้าน ส่วนรังไข่มีลักษณะกลมและมี 3 ช่อง ส่วนเกสรเพศเมียส่วนปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉก และมีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก มีแฉกแหลม 5 แฉก ผล ออกเป็นพวงผลตะคร้อ มีลักษณะทรงกลม ขนาด 2-3 เซนติเมตร มีปลายจะงอยแหลมแข็ง ผิวเปลือกเกลี้ยงเรียบหนา เปลือกร่อน ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกมีสีเขียวอมน้ำตาล หรือสีน้ำตาล มีเนื้อสีเหลืองใส เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ หุ้มเมล็ดอยู่มีรสเปรี้ยว และมีเมล็ดแข็งทรงกลมสีน้ำตาลดำ อยู่ 1-2 เมล็ด

ตะคร้อ

ตะคร้อ 

การขยายพันธุ์ตะคร้อ

ตะคร้อ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยการนำเมล็ดจากผลแก่ มาเอาเนื้อออกแล้วนำมาเพาะใส่ลงในถุงพลาสติกเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่ม วางไว้ในที่แดดร่มๆ ซึ่งจะใช้เวลาเพาะประมาณ 6 เดือน จึงสามารถนำมาปลูกลงในแปลง ซึ่งการปลูกควรระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 4×6 เมตร ทั้งนี้ตะคร้อ สามารถปลูกได้ในดินทุกประเภทแต่จะชอบดินที่ชุ่มชื้น ระบายน้ำดี และต้องการน้ำเพียงพอ


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารออกฤทธิ์ และกรดอินทรีในเนื้อหุ้มเมล็ดตะคร้อ ระบุว่าพบสารต่างๆ ดังนี้ β-carotene, betulinic acid, stigmasterol, lupeol, 5,7-dihydrocy-4-methoxyflrone, tartaric acid, citric acid, formic acid และ lactic acid เป็นต้น นอกจากนี้น้ำคั้นจากเนื้อตะคร้อยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ โปรตีน 0.93 กรัม ไขมัน 1.14 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9.82 กรัม เส้นใย 0.16 กรัม วิตามิน B1 0.748 มิลลิกรัม วิตามิน B2 0.097 มิลลิกรัม วิตามิน E 0.19 มิลลิกรัม

โครงสร้างตะคร้อ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของตะคร้อ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของน้ำจากผลตะคร้อ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

          มีการศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของน้ำตะคร้อสด ระบุว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant activity) โดยมีปริมาณของแข็งที่ละลาย ได้ทั้หมด (Total soluble solid: TSS) ปริมาณกรดทั้งหมด (Total acidity: TA) ค่าฟิเอช (pH) น้ำตาลรีดิวซ์ (Reducing sugar) เบต้า-แคโรทีน วิตามินซี แคลเซียม และแมกนีเซียม มีค่าอยู่ในช่วงประมาณ 13-14 "Brix, 2.52-3.22%, 2.66-2.77, 6.37-7.93 mg/100 ml, 0.19-0.45 mg/100 ml, 0.48-5.23 mg/100 ml, 15.88-22.34 mg/100 ml และ 11.64-20.82 mg100/ml ตามลำดับอีกทั้งยังมีการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดต้นตะคร้อ จากเปลือกและลำต้นพบว่า สามารถช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของการตายของเซลล์มะเร็งได้ และยังมีฤทธิ์ในต้านการเจริญเติบโตของเชื้อรา และแบคทีเรียอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตะคร้อ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื้อหุ้มเมล็ดของตะคร้อ มีรสเปรี้ยว และมีฤทธิ์เป็นยาระบายจึงควรรับประทานแต่พอดี หากรับประทานมากอาจทำให้ท้องเสียได้ สำหรับการใช้ส่วนต่างๆ ของตะคร้อ เพื่อเป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ 


เอกสารอ้างอิง ตะคร้อ
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ตะคร้อ”. หน้า 97.
  2. ป่าแม่คำมี: ความหลากหลายทางชีวภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน. กทม. สำนักวิจัยและพัฒนาป่าไม้. 2556
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ตะคร้อ (Ta Khro)”. หน้า 121.
  4. สุกัญญา สายธิ. (2558). การอนุรักษ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตะคร้อ Thakraw (Schleichere oleosa (Lour.) Oken)) Conservation and Product development.. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
  5. ชลธิชา นิวาสประกฤติ. การวิเคราะห์ปริมาณกรดอินทรีย์ในผลตะคร้อ จากจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วยเทคนิคโครมาโตรกราฟีชนิดของเหลวประสิทธิภาพสูง. การประชุมวิชาการแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสน์วิทยาเขตกำแพงแสนครั้งที่ 9. 6-7 ธันวาคม 2555. หน้า 2354-2360
  6. Ghosh, P., P. Chakraborty, A. Mandal, M.G. Rasul, M. Chakraborty and A. Saha. 2011. Triterpenoids fromSchleichera oleosa of Darjeeling Foothills and Their Antimicrobial Activity. Indian J Pharm Sci. 73:231–233.
  7. Pettit, G.R., A. Numata, G.M. Cragg, D.L. Herald, T. Takada and C. Iwamoto. 2000. Isolation and Structures of Schleicherastatins 1-7 and Schleicheols 1 and 2 from the Teak Forest Medicinal tree chleichera oleosa. J Nat Prod.63: 72–75.
  8. Mahaptma, S.P. and H.P. Sahoo. 2008. An ethano medico botanical study of Bolangi, Orissa, India: Native plant remedies against Gynaecological diseases. Ethanobot Leafl.12: 846–854.
  9. Palanuvej, C. and N. Vipunngeun. 2008. Fatty acid constituents of Schleichera oleosa (Lour) Oken seed oil. J Health Res.22: 203–212.
  10. Thind, T.S., G. Rampal, S.K. Agrawal, A.K. Saxena and S. Arora. 2010. Diminution of free radical induced DNA damage by extracts/fractions from bark of Schleichera oleosa (Lour.) Oken. Drug Chem Toxicol. 33: 329-336