สำโรง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สำโรง งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สำโรง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จำมะโฮง (ภาคเหนือ), ส้มโฮง (ภาคอีสาน), โหมโรง, มะโหรง, มะโรง (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sterculia foetida Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sterculia Mexicana var. guianonsis Sagot., Clompanus foetida (L.) Kuntze.
ชื่อสามัญ Java olive tree, Bastard poon tree, Pinare, Hazel sterculia, Skunk tree
วงศ์ MALVACEAE


ถิ่นกำเนิดสำโรง

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของสำโรงนั้น จากการศึกษาค้นคว้ายังไม่พบถิ่นกำเนิดที่แท้จริง พบแต่เพียงว่าสำโรง มีการกระจายพันธุ์ทั้งใน แอฟริกา อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยในอดีตสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าโปร่งทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 เมตร แต่ในปัจจุบันเริ่มพบเห็นได้น้อยลง


ประโยชน์และสรรพคุณสำโรง

 

  • ใช้แก้โลหิต และลดพิการ
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ช่วยกล่อมเสมหะ ละลายเสมหะ
  • ใช้ปิดธาตุ
  • แก้บิด
  • แก้บวมน้ำ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ไส้เลื่อน
  • แก้ปวดข้อ
  • รักษาลำไส้พิการ
  • แก้ไตพิการ
  • ใช้แก้ท้องร่วง
  • ช่วยสมานแผลในทางเดินอาหาร ในกระเพาะอาหาร และลำไส้
  • แก้ไตพิการ
  • ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • ใช้สมานท้อง
  • แก้ปัสสาวะพิการ
  • แก้โรคไต
  • ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
  • ใช้แก้ประดงเลือด ประดงลม
  • แก้โรคซางขี้
  • แก้โรคสะดวงเข้าข้อ
  • แก้โรคริดสีดวงทวาร
  • แก้โรคสะดวงเข้าข้อ

           เมล็ดสำโรง สามารถนำมากินได้ โดยนำเปลือกเมล็ดออกจะพบเนื้อเมล็ดคล้ายแมคคาเดเมีย นำมาทำให้สุกก็สามารถกินได้โดยมีเนื้อสัมผัสเหมือนกินถั่ว และมีรสชาติคล้ายโกโก้ ส่วน น้ำมันจากเนื้อไม้สำโรง สามารถนำมาใช้ปรุงอาหาร และจุดไฟ รวมถึงนำมาใช้ผสมกับดินขาวเป็นสีวาดภาพได้ และเนื้อไม้ สามารถ นำมาไสกบ และตกแต่งได้ง่าย จึงมีการนำมาใช้ทำเครื่องเรือน หูกทอผ้า หีบใส่ของ และไม้อัดได้ เปลือกต้น มีการนำมาทำเส้นใยสานกระเป๋า ทำเชือก สานเสื่อ และทำกระดาษ

สำโรง 

สำโรง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้โลหิต ปิดธาตุ แก้ลมพิการ ไตพิการ ลำไส้พิการ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ กล่อมเสมหะ และอาจม ละลายเสมหะ แก้ปวดข้อ ไส้เลื่อน สมานแผลในทางเดินอาหาร โดยนำเปลือกต้นสำโรง มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไตพิการ ลำไส้พิการ ปัสสาวะพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ สมานท้อง โดยนำเปลือกหุ้มเมล็ด มาฝนกินกับน้ำ หรือ ใช้ต้มน้ำดื่มก็ได้
  • ใช้แก้ท้องร่วง สมานแผลในทางเดินอาหาร แก้ไตพิการ โดยนำเปลือกผลแห้งมา ฝนกินกับน้ำ หรือ ใช้ต้มกับน้ำดื่มก็ได้ 
  • ใช้แก้ประดงเลือด ประดงลม โดยนำเปลือกต้นสำโรง 1 รากตาล 1 งวงตาล 1 อย่างละเท่าๆ กัน นำมาใส่หม้อดินกับน้ำพอสมควร ใช้น้ำยารับประทานด้วย ใช้อาบด้วย
  • ใช้แก้ริดสีดวงทวาร โดยนำรากส้มโฮงมาต้มกับน้ำดื่ม
  • แก้โรคสะดวงเข้าข้อ โดยนำแก่นสำโรง แก่นตับเต่าต้น แก่นกัดลิ้นต้ม 3 เอา 1 แล้วนำข้าวเย็นใต้ หนัก 2 ฮ้อย บดใส่กัน ปั้นเป็นลูกกลอน ขนาดนิ้วก้อย ตาก 7 หมอด 7 แดด กินเช้า-เย็นวันละ 2 เมล็ด

ลักษณะทั่วไปของสำโรง

สำโรง จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นรูปไข่ถึงทรงกระบอก ทรงพุ่มโปร่ง มีความสูงของต้นประมาณ 15-40 เมตร ลำต้นสูงชะลูดลักษณะเปลาตรงเปลือกลำต้นค่อนข้างหนา และเรียบ มีสีเทา หรือ สีน้ำตาลปนเทา กิ่งก้านมักจะแตกที่ความสูง 8-10 เมตรขึ้นไป ในลักษณะตั้งฉาก และแผ่กว้างออกไปรอบๆ ต้น โดยจะออกเป็นระยะๆ ทำให้ลักษณะทรงพุ่มเป็นชั้นๆ มีระยะห่างใกล้เคียงกัน คล้ายฉัตร ใบเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ ออกเรียงเวียนสลับ โดยจะแผ่ออกจากโคนก้านใบจากจุดเดียวกัน และใน 1 ก้าน ใบจะมีใบย่อยประมาณ 6-8 ใบ ใบย่อยมีลักษณะขนาดกว้าง 3.5-6 เซนติเมตร ยาว 10-30 เซนติเมตร มีก้านใบย่อยยาว 3-5 มิลลิเมตร เป็นรูปรี หรือ รีแกมรูปขอบขนาน โคนใบแหลมเป็นรูปลิ่ม ปลายใบเรียวแหลมมีติ่ง ขอบใบเรียบ แผ่นใบเกลี้ยงหนา หลังใบเรียบ ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบที่มองเห็นอย่างชัดเจนข้างละ 17-21 เส้น ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนง บริเวณปลายกิ่ง หรือ ตามซอกใบที่ใกล้กับปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยไม่มีกลีบดอกมีแต่กลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ สีแดงเข้ม ส่วนโคนของกลีบเลี้ยง กลีบติดกันเป็นรูปถ้วยสีแสด ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ ม้วนออก มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม และเมื่อดอกบานเต็มที่จะงอลงด้านล่าง ดอกย่อยขนาดกว้าง 2-2.5 เซนติเมตร และมีเกสรเพศผู้ประมาณ 12-14 อัน อยู่ติดกับรังไข่ ดอกมีกลิ่นเหม็น ผลออกเป็นฝักรูปทรงรี หรือ รูปไต กว้าง 6-9 เซนติเมตร และยาว 8-10 เซนติเมตร โดยจะออกเป็นกระจุกติดกัน 4-5 ผล เป็นพวงห้อยย้อยลงมา ผิวผลมีลักษณะเรียบแข็ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม หรือ สีแดงก่ำ เมื่อฝักแห้งจะแตกอ้าออกเป็น 2 ซีกตามร่องประสาน โดยเปลือกผลแห้งจะแข็งเหมือนไม้ ภายในฝักมีเมล็ดสีดำลักษณะกลมรี ขนาดกว้าง 1.3 เซนติเมตร และยาว 2.5 เซนติเมตร ประมาณ 10-13 เมล็ด ด้านเนื้อในเมล็ดเป็นสีขาว

สำโรง

สำโรง

สำโรง

การขยายพันธุ์สำโรง

สำโรงสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่า ถูกนำมาเพาะปลูกโดยมนุษย์ เนื่องจากสำโรงเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนที่มีความสูงมาก การนำมาปลูกใกล้บ้าน หากเกิดการหักโค่นลงมา อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวบ้านได้ และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ดอกของสำโรง มีความเหม็นมากจึงไม่เป็นที่นิยมในการนำมาปลูก แต่หากต้องการเพาะเมล็ดสำโรงควรเลือกเมล็ดจากต้นที่สมบูรณ์ จากต้นสำโรงที่อายุมากแล้ว นำเมล็ดมาแช่น้ำข้ามคืนไว้ จากนั้นเพาะเมล็ดในถุงเพาะกล้าขนาดเล็ก เริ่มจากใส่ดิน และหย่อยเมล็ดลงไปในถุงเพาะ เหมือนการเพาะเมล็ดต้นไม้ชนิดอื่น ต้นกล้างอก และโตพอแล้ว จึงสามารถนำลงปลูกได้ ทั้งนี้สำโรงเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบดินร่วนซุย และต้องการปริมาณแสงแดดค่อนข้างมาก ดังนั้นควรปลูกไว้กลางแจ้ง


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากใบและน้ำมันจากเมล็ดของสำโรง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากใบของสำโรงพบสาร puerarin, 5,7,8-tetrahydroxy-4-methoxy flavone-8-O-beta-D-glucoside, 5,7,8-tetrahydroxy-4-methoxyflavone-7-O-beta-D-glucoside และ 5,7,8-tetrahydroxy-4-methoxyflavone ส่วนน้ำมันจากเมล็ดพบสาร myristic acid, palmitic acid, Hexanedioic acid, oleic acid, linoleic acid, 1-Azuleneethanol, malvalic acid และ Sterculic acid เป็นต้น

โครงสร้างสำโรง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสำโรง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดสำโรง จากเปลือกต้น เมล็ด และใบ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในสารสกัดเมทานอลจากใบของสำโรง ในหนูขาว Wistar โดยใช้ยา Glibenclamide เป็นสารมาตรฐาน พบว่าสารสกัดช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ได้ใกล้เคียงกับสารมาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ

           ฤทธิ์ขยายหลอดลม มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นสำโรง พบว่ามีคุณสมบัติคลายกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลม และช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลม ยังมี ฤทธิ์ยับยั้งหลอดลมตีบตัน จากสารฮิสตามีน เป็นต้น

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยต่างๆ พบว่าส่วนสกัดเปลือกสำโรงมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียหลายสายพันธุ์ เช่น Bacillus subtilis, Salmonella Typhi, Streptococcus mitis, S. aureus, Shigella  flexneri และ K. pneumoniae ส่วนกรดไขมัน sterculic acid ที่พบในเมล็ดสำโรง มีฤทธิ์ช่วยลดการเกิดก้อนเนื้องอกในหนู (rat) ที่ปลูกเซลล์มะเร็ง และมีฤทธิ์ต้านอักเสบ สาร lectin ในสำโรง มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และป้องกันเม็ดเลือดแดงแตก ส่วนสารสกัดจากใบสำโรง พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และลดระดับน้ำตาลในเลือด


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสำโรง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับผู้ที่ใช้ยายับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย เช่น ampicillin และ tetracycline ควรระมัดระวัง ในการใช้สำโรคเป็นยาสมุนไพรเนื่องจากมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า เปลือกลำต้นสำโรง สามารถเสริมฤทธิ์กับยาแอมพิชิลลิน และเตตราชัยคลิน โดยพบว่าสามารถลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะทั้ง 2 ชนิด ลงได้ 1/32 ถึง ¼ เท่า เพื่อป้องกันผลกระทบในต่อร่างกาย


เอกสารอ้างอิง สำโรง
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “สำโรง”. หนังสือสมุนไพร ในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 183.
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “สำโรง (Sam Rong)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 303.
  3. ณัฐวดี ฟูเจริญไพบูลย์, วิสาตรี คงเจริญสุนทร. การเสริมฤทธิ์ของส่วนสกัดจากเปลือกลำต้นสำโรง (Sterculia foetida Linn.) กับยาปฏิชีวนะ ในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียฉวยโอกาส.วารสาร Thai journal of science an technology ปีที่ 9. ฉบับที่ 3.พฤษภาคม-มิถุนายน 2563. หน้า 310-323. 
  4. Huang,J.,Amaral,J.,Lee,J.W.,Larrayoz,I.Mand Rodriguez,  I.R., 2012, Sterculic acidantagonizes 7-ketocholesterol-mediated inflammation and inhibits choroidalneovascularization, Biochem.Biophys Acta 1821: 637-646.
  5. Khare CP, Indian Medicinal Plants an illustration Dictionary, ฉบับปรับปรุงปี 2007, หน้า 625
  6. El-Sherei, M.M., Ragheb, A.Y., Kassem, M.E.S., Marzouk, M.M., Mosharrafa, S.A. and Saleh,N.A.M., 2016, Phytochemistry, biological activities and economical uses of the genusSterculiaand the related genera: A review, Asian Pac.J.Trop. Dis.6: 492-501.
  7.  Kale SS, Vijaya Darade และ Thakur HA, การวิเคราะห์น้ำมันคงที่จากSterculia foetida Linn., IJPSR , 2(11), 2011, 2908-2914
  8. Raja, T.A.R., Reddy, R.V.R. and Rao,  K.U.M., 2014, Evaluation of anticonvulsant effect of Sterculia  foetida (pinari) in Pentylenetetrazole (PTZ) and mes induced convulsions inalbino rat, World J. Pharm.Pharm.Sci.3: 1898-1907
  9. Noamesi BK, Idigo JC, Adeoye AO, Fadiran EO, รายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณสมบัติการขยายหลอดลมของสารสกัดเปลือกต้นกำเนิดในน้ำของ Sterculia foetida, Planta Med, (6), 1986, 547
  10. Braga, A.A., Rodrigues, L.R., Medeiros, G.K., Gonçalves, G.F., Pessoa, H.L., Cardoso, J.D.,Gadelha, C.A., da  Silva, B.A. and Santi-Gadelha, T., 2015, Antibacterial and hemolyticactivity of a new lectin purified from the seeds of Sterculia foetidaL., Appl. Biochem. Biotechnol. 175:1689-1699
  11. Shazia Hussain S, Janarthaa M, Siva Anusha K, Ranjani M, พรีคลินิกของฤทธิ์ต้านเบาหวานและฤทธิ์ลด ไขมันในเลือดสูงของ สารสกัดเมทานอล ของ Sterculia foetida Linn.leaves โดยใช้ หนูขาว wistar, IJRPB , 2(6), 2014, 1430- 1438.
  12. Galla, N.R., 2012, In vitroantioxidant activity of Sterculia foetidaseed methanol extract, Am. J.Pharm.Res.2: 572-581.
  13. Xia P, Song S, Feng Z, Zhang P, องค์ประกอบทางเคมีจากใบของ Sterculia foetida Linn Z., Zhongguo zhong yao za zhi (บทความในภาษาจีน), 34(20), 2009, 2604-2606
  14. Khatoon, A., Mohapatra, A. and Satapathy, K.B., 2016, Studies on in vitroevaluation of antibacterial and antioxidant activities of Sterculia foetidaL. bark, Int.J. Pham. Sci. Res.7: 2990-2995.