แมกนีเซียม
แมกนีเซียม
ชื่อสามัญ Magnesium
ประเภทและข้อแตกต่างธาตุแมกนีเซียม
แมกนีเซียมเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่เป็นธาตุในกลุ่มที่ 2 (alkaline earth) ในตารางธาตุ และมีมวลอะตอม 24.305 Da มีความถ่วงจำเพาะที่ 20 ๐C เป็น 1.738 และมีจุดหลอมเหลวที่ 648.8 ๐C จุดเดือดที่ 1090 ๐C และในสภาวะที่เป็นสารละลายแมกนีเซียมจะจับกับสารประกอบของน้ำได้หนาแน่นกว่าแคลเซียม โพแทสเซียม และโซเดียม สำหรับในด้านสุขภาพร่างกายนั้น แมกนีเซียมจัดเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อกระบวนการทางสรีระวิทยา และชีวเคมี ของร่างกายถึงแม้ว่าร่างกายต้องการปริมาณน้อย (trace elements) แต่ก็มีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ โดยแมกนีเซียมเป็นธาตุที่มีประจุไฟฟ้าบวก (cation) ที่มีมากเป็นอันดับที่สี่ในร่างกาย นอกจากนี้ยังพบมากเป็นอันดับสองของธาตุประจุไฟฟ้าในเซลล์ (intracellular electrolytes) รองจากแตสเซี่ยม และมีความสำคัญมากในการควบคุมขบวนการชีวเคมีในเซลล์ แมกนีเซียม ในปริมาณสูงยังไม่พบว่าก่อให้เกิดโรค หรือ อันตรายต่อร่างกาย แต่อาจท้าให้ร่างกายเกิดการสูญเสียน้ำได้เนื่องจากเกิดการจับกันระหว่างน้ำ และแมกนีเซียมที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ส่วนการรักษาสมดุลของแมกนีเซียมในเซลล์ หลังจากการดูดซึมแมกนีเซียมที่บริเวณลำไส้แล้ว แมกนีเซียมจะถูกส่งไปยังส่วนต่างๆ ที่มีการสูญเสียแมกนีเซียมในร่างกาย
สำหรับประเภทของแมกนีเซียมนั้น ส่วนมากจะมีการแบ่งประเภทแมกนีเซียมเฉพาะที่อยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเป็นส่วนใหญ่ โดยอาหารเสริมแมกนีเซียม มักอยู่ในรูปเกลือต่างๆ เช่น oxide, hydroxide, citrate, chloride, gluconate, lactate หรือ aspartate ซึ่งเกลือแมกนีเซียมประเภทต่างๆ เหล่านี้จะมีความแตกต่างด้านความสามารถในการละลายน้ำโดยมีการศึกษาพบว่า magnesium acetate และ magnesium citrate ละลายน้ำได้ดีในขณะที่ magnesium chloride ละลายน้ำ ได้น้อยกว่า magnesium acetate ส่วน magnesium oxide จะละลายน้ำได้ไม่ดี อีกทั้งอาหารเสริมแมกนีเซียมในรูป เกลือต่างชนิดกัน จะมีปริมาณธาตุแมกนีเซียมต่อเกลือของแมกนีเซียม แตกต่างกัน ดังในตาราง
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาธาตุแมกนีเซียม
ความจริงแล้วในร่างกายของมนุษย์ (ผู้ใหญ่) จะมีแมกนีเซียมในร่างกายประมาณ 25 กรัม โดย 99% ของแมกนีเซียม ในร่างกายอยู่ในเซลล์ และพบว่าประมาณ 50% อยู่ในเซลล์กระดูก (bone cell) และ 20% อยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อลาย ที่เหลือพบในตับ หัวใจ และเนื้อเยื่ออื่นๆ และจำนวนแมกนีเซียมในเซลล์มีทั้งหมดจะมีประมาณ 10-28 มิลลิโมลต่อลิตร สำหรับในส่วนประกอบของเซลล์ (organel) บางอันจะพบแมกนีเซียมมากเป็นพิเศษ ได้แก่ที่ nucleus, mitochondria และ microsomer อย่างไรก็ตามแมกนีเซียมในกระดูกประมาณหนึ่งในสามสามารถกระจายออกมาจากกระดูกได้ ทำหน้าที่เสมือนแหล่งสำรองแมกนีเซียมเพื่อรักษาระดับแมกนีเซียมในเซลล์ หรือ นอกเซลล์ (intracellular or extracellular) สัดส่วนของแมกนีเซียม (Mg2+ ) ที่อยู่นอกเซลล์ต่อในเซลล์ เท่ากับ 0.33 เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตามแหล่งของแมกนีเซียมที่ร่างกายต้องการนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ นั้นส่วนมากจะอยู่ในอาหารหลายประเภท ได้แก่ ในผักสีเขียวเข้ม เช่น ผักโขม, บร็อคโคลี่, ยอดฟักแม้ว, สะตอ, ใบยอ , ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแปบ, ถั่วฝักยาว, ถั่วเหลือง, ถั่วปากอ้า, เม็ดมะม่วงหิมพานต์, อัลมอนด์, พิสทาชิโอ, วอลนัท, แมคาเดเมีย, เมล็ดฟักทอง, ธัญพืชขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง, ข้าวสาลีกล้อง,งา ,งาดำ นอกจากนี้ยังพบได้ในเบอร์รี่, กล้วย สับปะรด นม และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม สาหร่ายเกลียวทอง, กุ้งแห้ง, หอมขม, สะเดา, เต้าหู้ขาว
ปริมาณแมกนีเซียมที่พบในอาหาร
อาหารชนิดต่างๆ ที่มีแมกนีเซียม ในปริมาณที่สูง
ประเภทอาหาร มิลลิกรัม/100 กรัม
สาหร่ายเกลียวทอง, แห้ง 422
ฟักทอง, เมล็ด, พันธุ์ต่างๆ, แกะเปลือก ต้มใส่เกลือ อบ 385
ฟักทอง, เมล็ด, พันธุ์ต่างๆ, แกะเปลือกคั่ว 380
กุ้ง, แห้ง, ไม่มีเปลือก 309
งาขาว, ดิบ 299
สมอพิเภก 263
กะปิกุ้ง, คุณภาพดี 256
มะม่วงหิมพานต์, เมล็ดแห้ง, ดิบ 245
ลูกไหน (เชอร์รี่เชียงใหม่) 240
ถั่วเหลืองผง, ชนิดสกัดไขมันออก 236
ถั่วเน่า, แห้ง 232
เต้าหู้พวง, ทอด 226
งาดำ, ดิบ 216
ถั่วลิสง, คั่ว, ไม่รวมเยื่อหุ้มเมล็ด 214
ลูกท้อ 207
ลูกหว้า 198
หอยขม, ต้ม 196
สมอไทย 122
สะเดา, ใบ และยอด, ดิบ 118
เต้าหู้ขาว, ชนิดแข็ง 115
น้ำสับปะรด, ต่อ 100 มล. 114
สะตอ, เมล็ด, ดิบ 111
ถั่วเขียว, เมล็ดแห้ง, ดิบ 108
ถั่วลิสง, เคลือบน้ำตาล (จาก 3 ตลาด) 103
นมผง, พร่องมันเนย 94
ยอ, ใบ, นึ่ง 93
ปลาร้า, ปลาช่อน 91
ถั่วเขียว, ปอกเปลือก ,ผ่าซีก ,ทอด 90
ปริมาณที่ควรได้รับจากธาตุแมกนีเซียม
สำหรับปริมาณของแมกนีเซียมที่ควรได้รับมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และสภาพร่างกาย ซึ่งปริมาณแมกนีเซียมที่ควรรับประจำวันของคนไทยอายุ 19 ปีขึ้นไป คือ 240-320 มิลลิกรัมต่อวัน รวมทั้งระดับ แมกนีเซียมในซีรั่มทั้งผู้ชาย และผู้หญิงควรมีค่าเฉลี่ย 0.73mmol/L หากระดับแมกนีเซียมในซีรั่มต่ำกว่า 0.7 mmol/L แสดงว่าอยู่ในภาวะขาดแมกนีเซียม
ส่วนสถาบัน The Food and Nutrition Board, National Academy ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดปริมาณแมกนีเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน โดยแนะนำว่าผู้ชายควรได้รับแมกนีเซียมวันละ 420 มิลลิกรัม ผู้หญิงควรได้รับวันละ 320 มิลลิกรัม หรือ คิดเป็นเท่ากับ 6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมในผู้ใหญ่ทั่วไป สำหรับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ควรได้รับเพิ่มอีกวันละ 40 มิลลิกรัม
ปริมาณแมกนีเซียม ที่ร่างกายควรได้รับต่อวันของสถาบัน The food and Nutrition Board, National Academy
อายุ (ปี) ชาย(มก./วัน) หญิง(มก./วัน) หญิงตั้งครรภ์(มก./วัน) หญิงให้นมบุตร(มก./วัน)
< 6 เดือน 30 mg
7-12 เดือน 75 mg
1-3 ปี 80 mg
4-8 ปี 130 mg
9-12 ปี 240 mg
14-18 ปี 410 mg 360 mg 400 mg 400 mg
19-30 ปี 400 mg 310 mg 350 mg 350 mg
>30 ปี 420 mg 320 mg 360 mg 320 mg
ประโยชน์และโทษธาตุแมกนีเซียม
แมกนีเซียมเป็น cofactor ร่วมกับ enzyme ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบหรือตัวเร่งปฏิกิริยาในร่างกาย มากกว่า 300 ชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการสร้างพลังงานจาก ATP ซึ่ง ATP มีความเกี่ยวข้องใน กระบวนการ metabolism ต่างๆ ภายในเซลล์ และในอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบกล้ามเนื้อ ระบบหลอดเลือดหัวใจ และยังมีบทบาทในการเป็น calcium channel blocker ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดดำ และแดง จึงสามารถลดความดันโลหิตได้
อีกทั้งยังมีผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และมีบทบาทต่อกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด นอกจากนี้แมกนีเซียม ยังมีบทบาทที่สำคัญใน กระบวนการทางชีววิทยาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การสร้างพลังงานของเซลล์ (cellular energy metabolism), การจำลองแบบของเซลล์ (cell replication), การสังเคราะห์โปรตีน (protein synthesis) และยังมีความเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์องค์ประกอบของเนื้อเยื่อ การเจริญเติบโต การสร้างอุณหภูมิ (thermogenesis) และการเผาผลาญของกลูโคสด้วยการทำงานของ tyrosine kinase อีกด้วย หรือ อาจจะสรุปหน้าที่หลักของแมกนีเซียมได้ดังนี้
⦁ ช่วยในการทำงานของหัวใจ ลดความดันโลหิต
⦁ ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวโดยทำงานร่วมกันกับแคลเซียมที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว
⦁ ทำงานร่วมกับแคลเซียมในการควบคุมการส่งต่อ หรือ การถ่ายทอดสัญญาณกระตุ้นประสาท
⦁ กระตุ้น หรือ เร่งการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ในกระบวนการ metabolism เช่น เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา oxidative phosphorylation ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน
⦁ ช่วยต้านการสลายแคลเซียมออกจากสาร enamel ที่เคลือบฟัน
⦁ สร้างพลังงานจาก ATP
สำหรับโทษของแมกนีเซียมนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ภาวะขาดแมกนีเซียม หรือ ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia) อาจเกิดจากการได้รับแมกนีเซียมจาก อาหารน้อย ภาวะอดอาหาร โรคพิษสุราเรื้อรัง ท้องเสียอย่างรุนแรง ภาวะตับอ่อนอักเสบ การดูดซึม แมกนีเซียมได้น้อยในผู้ที่มีการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ การสูญเสียแมกนีเซียมทางปัสสาวะจากภาวะ ความผิดปกติของไต รวมถึงการดูดซึมกลับผ่านไตลดลง ทำให้แมกนีเซียม ในเลือดลดลงได้ เมื่อร่างกายขาดแมกนีเซียมเป็นเวลานานจะทำให้เกิดภาวะ hypocalcaemia และ hypokalemia ตามมา ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ เกี่ยวกับระบบประสาท และหัวใจ รวมถึงก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรค กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน การทำงานผิดปกติของฮอร์โมน บางชนิด โรคไต โรคในระบบทางเดินอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อ และการทำงานของระบบประสาท บกพร่อง เป็นต้น
ส่วนอีกลักษณะหนึ่ง คือ ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง (Hypermagnesemia) สาเหตุหลักๆ ของการเกินของแมกนีเซียม คือ การรักษาโดยการทดแทนของแมกนีเซียมมากเกินไป, การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ และการใช้ยาแก้ท้องเฟ้อ หรือ ยาลดกรด และยาระบายมากเกินไป เช่น แมกนีเซียมซัลเฟต, แมกนีเซียมไฮดรอกไซต์ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ของภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง คือ การทำงาน ของไตที่ผิดปกติเท่านั้น สำหรับแมกนีเซียมของยาลดกรด และยาระบายเป็นแหล่งสำคัญของการ รับประทานในผู้ป่วยที่เป็นโรคไต รวมถึงการฉีดยาเข้าเส้นอย่างรวดเร็วซึ่งประกอบด้วยสารละลาย แมกนีเซียมจำนวนมาก เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction), ครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) และ status asthmaticus อาจส่งผลให้เกิดภาวะภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูงได้
ทั้งนี้ SCF (Scientific Committee for Food) 2001 ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของแมกนีเซียมที่รับได้ต่อวัน โดยไม่ทำให้เกิดพิษ (Upper Intake Level, UL) สำหรับผู้ใหญ่, หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร, เด็กอายุมากกว่า 4 ปี และผู้สูงอายุไว้ที่ 250 mg/day หากได้รับในขนาดที่สูงกว่า 350 mg/day โดยที่ร่างกายไม่ได้ขาด แมกนีเซียม อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง ได้แก่ หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ, ความดันโลหิตต่ำ, สับสน, หายใจช้า, โคม่า และเสียชีวิตได้
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องธาตุแมกนีเซียม
มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบเมแทบอลิซของแมกนีเซียมพบว่าการดูดซึม (absorption) แมกนีเซียม เกิดขึ้นในลำไส้เล็กส่วน ileum และ jejunum ซึ่งปริมาณ แมกนีเซียมที่ลำไส้เล็กดูดซึมได้จะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณของแมกนีเซียมที่ได้รับจากอาหาร กลไกในการดูดซึมเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ไม่ใช้พลังงานจากเซลล์ (passive transport) และใช้พลังงานจากเซลล์ (active transport) อย่างไรก็ตามสารอาหารบางชนิดอาจมีผลต่อการดูดซึมแมกนีเซียม เช่น อาหารที่มีใยอาหารสูงทำให้การดูดซึมแมกนีเซียมลดลง อันเป็นผลจากการจับกันของแมกนีเซียม และไฟเตท นอกจากนี้อาหารที่มีฟอสเฟตในปริมาณสูงจะส่งผลให้แมกนีเซียมถูกดูดซึมได้น้อยลงเช่นกัน การบริโภคอาหารที่มีแมกนีเซียมในปริมาณสูงยังไม่พบว่าก่อให้เกิดโรค หรือ อันตรายต่อร่างกาย แต่อาจทำให้ร่างกายเกิดการสูญเสียน้ำได้เนื่องจากเกิดการจับกันระหว่างน้ำ และแมกนีเซียมที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
ส่วนการรักษาสมดุลของแมกนีเซียมในเซลล์ หลังจากการดูดซึมแมกนีเซียมที่บริเวณลำไส้แล้ว แมกนีเซียมจะถูกส่งไปยังส่วนต่างๆ ที่มีการสูญเสียแมกนีเซียมในร่างกาย สำหรับการขับแมกนีเซียมที่เหลือจะถูกกำจัดได้หลายทาง ได้แก่ปัสสาวะ, อุจจาระ, เหงื่อ, ประจำเดือน และน้ำนม อวัยวะ สำคัญที่สุดในการควบคุมสมดุลของแมกนีเซียม คือ ไต โดยแมกนีเซียมร้อยละ 80 จะถูกกรองที่ glomerulus และจะถูกดูดซึมกลับที่ thick ascending loop of Henle ประมาณร้อยละ 60-70 ทำให้มีแมกนีเซียมขับออก ทางปัสสาวะประมาณร้อยละ 3 โดยหากร่างกายมีการขับโซเดียมมาก, แรงดันออสโมติกสูง, หรือ เกิดภาวะ metabolic acidosis ร่างกายก็จะขับแมกนีเซียม ออกมามากแต่หากร่างกายเกิดภาวะ metabolic alkalosis, หลั่ง parathyroid hormone หรือ calcitonin ร่างกายก็จะขับแมกนีเซียมลดลง
นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแมกนีเซียมกับโรคต่างๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) มีการศึกษาพบว่าคนที่มีอาการโรคอัลไซเมอร์จะมีปริมาณแมกนีเซียม และแมกนีเซียมไอออนในระดับต่ำกว่ากลุ่มคนปกติอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีการศึกษากับกลุ่มคนที่มีความจำเสื่อม (Dementia) ในชาวญี่ปุ่น จำนวน 303 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยติดตามเป็นเวลา 17 ปี พบว่าการได้รับโปแตสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม มีความสัมพันธ์กับอาการความจำเสื่อม ซึ่งการได้รับแร่ธาตุดังกล่าวทำให้อาการความจำเสื่อมดีขึ้น แต่ในผู้ที่มีอาการสมองเสื่อมไม่พบการเปลี่ยนแปลง โรคหัวใจ และหลอดเลือด (Cardiovascular disease) จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า การขาดแมกนีเซียมจะเร่งให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus) มีรายงานการศึกษามาก เกี่ยวกับโรคเบาหวานชนิดนี้ เพราะแมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญ หรือ เมแทบอลิสึมของกลูโคส และอินซูลิน เช่น การควบคุมการขนถ่ายกลูโคสเข้าในเซลล์ โดยจากการศึกษาทางคลินิกเปรียบเทียบกลุ่มที่มีเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) หรือ กลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด กับกลุ่มคนปกติที่มีอายุในระดับเดียวกัน พบว่าการได้รับแมกนีเซียมเสริมจะช่วยในการเสริมความไวของอินซูลิน (Insulin 190 sensitivity) ให้ดีขึ้น และระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดก็ดีขึ้นด้วย
โรคไมเกรน (migraine headache) มีจากงานวิจัยในมนุษย์บางฉบับพบว่าการใช้แมกนีเซียมจะช่วยลดจำนวนวัน หรือ จำนวนครั้งของการปวดศีรษะไมเกรนต่อเดือนลงได้ร้อยละ 22-43 ซึ่งมากกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ แต่งานวิจัยบางฉบับกลับไม่พบความแตกต่างระหว่างการได้รับแมกนีเซียม และยาหลอก โดยขนาดยาของแมกนีเซียมที่ใช้ในการศึกษาเหล่านี้อยู่ในช่วง 300–600 มิลลิกรัมต่อวัน และบางงานวิจัยเป็นการทดลองใช้แมกนีเซียมร่วมกับ co-enzyme Q10 และแร่ธาตุอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงสำคัญที่พบจากการศึกษาเหล่านี้ คือ ท้องเสีย ซึ่งพบได้ร้อยละ 5-45.7 ของผู้ที่เข้าร่วมการศึกษา
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
⦁ แมกนีเซียม มีจำหน่ายในประเทศไทยในรูปแบบยา (ยาเม็ดแข็ง และ ยาเม็ดฟู่) และรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยส่วนใหญ่ประกอบด้วยแมกนีเซียม ร่วมกับ แร่ธาตุอื่นๆ เช่น แคลเซียม สังกะสี ธาตุเหล็ก และ วิตามิน เช่น วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินเอ สำหรับการเลือกซื้อควรเลือกผลิตภัณฑ์ และยาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.)
⦁ แมกนีเซียมมีผลลดการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นการรับประทานเสริมแมกนีเซียม อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาการแข็งตัว
⦁ ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรรับประทานยาเสริมแมกนีเซียม เพราะโรคไตทำให้ร่างกายไม่สามารถกาจัดแมกนีเซียมในร่างกาย ได้ตามปกติ ดังนั้นการได้รับแมกนีเซียมปริมาณมากเกินไปจะทำให้มีระดับแมกนีเซียมในร่างกาย สูงผิดปกตจนเกิดอันตรายได้
เอกสารอ้างอิง แมกนีเซียม
⦁ รศ.ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์, ผศ.ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์. ไมเกรนกับแมกนีเซียม. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ณภัสนันท์ ปัญญาชู. การศึกษาระดับแมกนีเซียม และสังกะสีในซีรั่มของผู้ที่มีภาวะ metabolic syndrome ที่มี dyslipidemia. งานวิจัยทางทางเทคนิคการแพทย์. 2557.
⦁ ปัทมาภรณ์ อักษรชู,นันทยา จงใจเทศ, ปิยนันท์ อึ้งทรงธรรม, บรรณชนก บุญชู, ปริมาณแมกนีเซียม และสังกะสีในอาหาร.รายงานการศึกษาวิจัยปี 2553. กลุ่มวิจัยอาหารเพื่อโภชนาการ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
⦁ ภญ.วิชญาภา จงพล,ภญ.ดร.อรนิภา วงศ์สื่อโชติ. การเสริมแมกนีเซียม. บทความวิชาการ.ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์สภาเภสัชกรรม.10 หน้า
⦁ คณะกรรมการจัดท้าข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจ้าวันสำหรับคนไทย: ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2546. แก้ไขครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์, 2546.
⦁ Swaminathan R. Magnesium metabolism and its disorders. Clin Biochem Rev. 2003;24:47-66
⦁ Swaminathan R. Magnesium metabolism and its disorder. Clin Biochem Rev. 2003;24:47-66
⦁ Anderson JJW, Root MM, Garner SC. Human Nutrition: Healthy for Life. Jones & Bartlett Learning 2015; 216-217
⦁ A. Catharine Ross, Benjamin Caballero, Robert J. Cousins, Katherine L. Tucker, Thomas R. Ziegler. Modern nutrition in health and disease. 11th edition. USA. 2014;159-173
⦁ European Food Safety Authority (EFSA). Scientific Opinion on Dietary Reference Values for magnesium. Parma, Italy. 2015;13(7):4186
⦁ Lau A, Chan L-N. Chapter 6 - Electrolytes, other minerals, and trace elements. Basic skills in interpreting laboratory data. เข้าถึงเมื่อ ธ.ค. 2557. [119-60]. Available from: http:// ⦁ www.ashp.org/DocLibrary/Bookstore/P1800-Sample-Chapter.aspx
⦁ Amanda H. Corbett, et al. Drug Information Handbook. 23rd edition, Ohio, USA: Lexicomp-Comp Inc; 2014-2015:1272-78
⦁ Wilhelm JD, Ketteler M. Magnesium basics. Clin Kidney J. 2012;5 Suppl:i3-i14.
⦁ Paolisso G, Barbagallo M: Hypertension, diabetes mellitus and insulin resistance. The role of intracellular magnesium. Am J Hypertens 1997; 10(3): 346-355.
⦁ Sales CH, Pedrosa LdFC. Magnesium and diabetes mellitus: Their relation. Clin Nutr. 2006;25(4):554-62
⦁ Nielson FH in Berdanier CD, Dwyer JT and Heber. Handbook of Nutrition and Food 3rd 238 Ed. 239 CRC Press 2014; 201-201pp
⦁ Jahnen-Dechent W, Ketteler M. Magnesium basics. Clin Kidney J. 2012;5(Suppl 1):i3-i14.
⦁ Institute of Medicine (IOM). Food and Nutrition Board. Dietary Reference Intakes: Calcium, Phosphorus, Magnesium, Vitamin D and Fluoride . Washington, DC: National Academy Press, 1997
⦁ Vormann J: Magnesium: nutrition and metabolism. Mol Aspects Med 2003; 24: 27-37.
⦁ von Luckner A, Riederer F. Magnesium in migraine prophylaxis-Is there an evidence-based rationale? A systematic review. Headache. 2018;58(2):199-209.
⦁ . Sales CH, Pedrosa LFC: Magnesium and diabetes mellitus: their relation. Clin Nutr 2006; 25: 554-562.