ค่าหด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ค่าหด งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ค่าหด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ข่าหด, พาว, ดูกนาว, มือ, แงะ (ภาคเหนือ), ข่าหด, เก็ดลิ้น, ฮ่อจันทร์ (ภาคตะวันออก), ปอแก่นเทก (ภาคอีสาน), ยมโดย (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Engelhaardtia spicata lechen. Ex Blume.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Engelhardtia aceriflora (Reinw.) Blume
ชื่อสามัญ Great malay bean.
วงศ์ JUGLANDACEAE
ถิ่นกำเนิดค่าหด
ค่าหด เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชียโดยมีถิ่นกำเนิดบริเวณ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน บังกลาเทศ พม่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนใกล้เคียง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบค่าหด ได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคอีสานโดยจะพบขึ้นบริเวณป่าดิบเขา ป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณและป่าก่อ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 500-1,500 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณค่าหด
- ใช้ขับเลือด
- ใช้บำรุงกำลัง
- ใช้แก้ผิดสำแดง
- แก้อาหารเป็นพิษ
- ใช้เป็นยาหลังคลอดช่วยให้มดลูกหดตัวเร็วขึ้น
- ช่วยทำให้มดลูกกระชับขึ้น
- ใช้เป็นยาคุมกำเนิด
- ใช้แก้ปวดฟัน
- แก้แผลอักเสบ
- แก้ตุ่มคันในเด็ก
- รักษาอาการอาหารไม่ย่อย
- ใช้ทาบาดแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
- ใช้แก้ท้องร่วง
- แก้โรคบิด
- แก้โรคไขข้ออักเสบ
- รักษาอาการท้องเสีย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- รักษากระดูกหัก
- ใช้รักษาอาการปวดท้อง
- ใช้รักษาโรคกลากที่เท้า
ในอดีตมีการนำเปลือกต้นและใบอ่อนของค่าหด มาใช้เป็นยาเบื่อปลา ส่วนเนื้อไม้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างสิ่งปลูกสร้างทำไม้กระดาน ฝาบ้าน พื้นบ้าน รวมถึงนำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ได้เช่นกัน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้ขับเลือด บำรุงกำลัง บำรุงเลือด โดยนำเปลือกต้นค่าหดมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำเปลือกต้นค่าหดตากให้แห้งนำมาบดแล้วกรองเอาน้ำชง ดื่มก็ได้
- ใช้แก้ผิดสำแดง อาหารเป็นพิษ โดยใช้ค่าหด 2-3 กีบ ต้มกิน กินครั้งละ 1 กลืน วันละ 3 เวลา
- ช่วยทำให้มดลูกกระชับขึ้น ช่วยรัดมดลูกในสตรีหลังคลอด โดยใช้ค่าหด 1-2 กีบ ว่านชักมดลูก 1 ฝาน ตะไคร้ 1-2 กีบ ข่าหัวแก่ 2-3 ท่อน ต้มน้ำดื่มกิน เช้า-เย็น
- ใช้เป็นยาคุมกำเนิด โดยนำลำต้นค่าหดนำมาฝนกับต้นมะขามป้อม ดื่มหลังคลอด
- ใช้ทำให้มดลูกหดตัวเร็ว โดยนำเปลือกต้นค่าหดมาต้มน้ำให้หญิงหลังคลอดบุตรอาบ
- ใช้สมานแผลอักเสบ แก้แผลสด โดยนำเปลือกต้นนำไปผิงไฟแล้วนำมาบดมาทาแผล
- ใช้เป็นยารักษาตุ่มคันในเด็ก โดยนำเปลือกต้นค่าหดนำมาต้มน้ำมาอาบ
- ใช้แก้ปวดฟัน โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำใช้อมกลั้วปาก
- ส่วนในต่างประเทศมีรายงานว่าในหลายประเทศภูมิภาคเอเชียใต้มีการใช้ค่าหด เป็นสมุนไพรดังนี้ มีการใช้น้ำยางค่าหดรักษาอาการอาหารไม่ย่อยและทาบาดแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น น้ำคั้นจากต้นใช้แก้ท้องร่วง โรคบิด และโรคไขข้ออักเสบ ส่วนน้ำยางจากต้นใช้เปลือกต้นรักษาอาการท้องเสียและขับปัสสาวะ รักษากระดูกหัก น้ำคั้นจากดอกใช้รักษาอาการปวดท้องและดอกตูมใช้รักษาโรคกลากที่เท้า เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของค่าหด
ค่าหดจัดเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ 7-20 เซนติเมตร เรือนยอดเป็นรูปทรงพุ่มกลม ลำต้นคดงอ เปลือกต้นมีสีเทาหนา มักจะแตกเป็นร่องลึก ตามกิ่งอ่อนมีขน และมองเห็นรอบแผลใบชัดเจน
ใบค่าหด ประกอบแบบขนนกปลายคู่กึ่งปลายคี่ ออกเรียงสลับโดยใน 1 ช่อใบจะมีใบย่อย 4-6 คู่ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานกว้าง 4-7 เซนติเมตร ยาว 7-16 เซนติเมตร โคนใบมนเบี้ยวเล็กน้อย ปลายใบมน หรือ แหลมเล็กน้อย ขอบใบเรียบแต่ใบอ่อนอาจมีขอบใบหยัก แผ่นใบมีสีเขียว ค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขน ด้านล่างมีขนขึ้นปกคลุม มีเส้นแขนงใบข้างละ 7-8 เส้น และมีก้านใบย่อยยาว 8 มิลลิเมตร
ดอกค่าหด ออกเป็นช่อแบบแตกแขนงหางกระรอก ไม่มีกลีบดอก โดยจะออกบริเวณซอกใบ ลักษณะห้อยลง ซึ่งจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยจะเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกันแต่จะอยู่กันคนละช่อ ดอกเพศผู้จะรวมกันเป็นช่อสั้นมีขนาดยาว 2-4 เซนติเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่รวมกันเป็นช่อยาว 3-7 เซนติเมตร ห้อยลงมาและในแต่ละดอกจะมีกาบบางๆ เป็นรูปแฉกสามเหลี่ยมสีเหลืองอ่อนรองรับ ซึ่งกาบนี้จะเจริญต่อไปเป็นผลต่อไป
ผลค่าหด เป็นผลแห้งเปลือกแข็งเมล็ดเดียวและมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนขึ้นปกคลุมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 มิลลิเมตร และจะมีโคนใบประดับหุ้มด้านหนึ่งของผล ใบประดับเป็นปีก 3 ปีก ยาว 3-6 เซนติเมตร ด้านในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์ค่าหด
ค่าหดเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการตอนกิ่งและใช้เมล็ด แต่ในปัจจุบันไม่พบความนิยมมนการขยายพันธุ์ค่าหด โดยในการขยายพันธุ์ค่าหดในปัจจุบันจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดในธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งจะอาศัยเมล็ดของค่าหด ร่วงลงจากต้น หรือ ปลิวไปตามลม ตกลงบนดินแล้วงอกเป็นต้นใหม่ขึ้นมา สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งค่าหดนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากเปลือกต้นค่าหด ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น gallic acid, astilbin, myricetrin, 5-hydroxy-4-hydroxymethyl-pyran-2-one, quercetin-3-O-α-L-ramnopyranoside, quercetin-3-O-β-glucopyranoside, 3, 30-di-O-methyl ellagic acid-4-O-β-D-xylopyranoside, 3, 30-di-O-methyl ellagic acid, oleanolic acid เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของค่าหด
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดค่าหด จากเปลือกต้นและทั้งต้นของค่าหดระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้
มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยแสดงค่า IC50 สำหรับฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระ ABTS ที่ 60.80 +- 4.31 µg/ml ส่วนการทดสอบ DPPH สารสกัดดังกล่าวแสดงค่า IC50 ที่ 192.59 +- 2.42 µg/ml นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นค่าหดยังช่วยลดการแสดงออกของ mRNA ของไซโตไคน์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบและเอนไซม์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบในแมคโครฟาจได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกด้วย อีกทั้งยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า สารสกัดแอลกาฮอล์จากต้นเปลือกแห้ง มีฤทธิ์ทำให้น้ำอสุจิรวมตัวตกตะกอนในหลอกทดลอง ส่วนสารสกัดแอลกอฮอลล์จากทั้งต้นของค่าหด มีฤทธิ์ต้านการเจริญของก้อนเนื้องอกได้เล็กน้อย
การศึกษาทางพิษวิทยาของค่าหด
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ค่าหดเป็นยาสมุนไพรโดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานเนื่องจากมีสรรพคุณในการขับเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ เช่นเดียวกันกับผู้ที่ต้องการมีบุตรก็ไม่ควรใช้ค่าหด เป็นยาสมุนไพรโดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานเนื่องจากมีสรรพคุณช่วยในการคุมกำเนิด และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่ามีฤทธิ์ทำให้อสุจิตกตะกอนในหลอดทดลอง อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง ค่าหด
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย.กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน); 2539.
- ค่าหด. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล หน้า 102.
- วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, พร้อมจิต ศรลัมพ์, วิชิต เปานิล, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, บรรณาธิการ. สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์; 2540.
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. ค่าหด. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 85.
- Wu Z, Raven PH, Hong D, editors. Flora of China. Beijing/St. Louis: Science Press/MissouriBotanical Garden Press; 1994-2013.
- Bhattarai KR, Maren IE, Chaudhary RP. Medicinal plant knowledge of the Panchase region in the middle hills of the Nepalese Himalayas. Banko Janakari. 2011;21:31-9.
- Kunwar RM, Shrestha K, Malla S, Acharya T, Sementelli A, Kutal D. Relation of medicinal plants, their use patterns and availability in the lower Kailash Sacred Landscape, Nepal. Ethnobot Res Appl.
- Polunin O, Stainton A. Flowers of the Himalaya. New Delhi: Oxford University Press; 2012.
- Tangjitman K, Wongsawad C, Kamwong K, Sukko T, Trisonthi C. Ethnomedicinal plants used digestive system disorders by the Karen of northern Thailand. J Ethnobiol Ethnomed.
- Sajan SL, Marasini S, Tamang T, Bajracharya GB, Adhikari A, Manandhar MD, Choudhary MI. Abstracts of the Seventh National Conference on Science and Technology, 29-31 Mar 2016. Kathmandu: Nepal Academy of Science and Technology; 2016.