หญ้าแพรก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้าแพรก งานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หญ้าแพรก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าเป็ด (ภาคเหนือ), หน่อเกเด่ (กะเหรี่ยง), ทิซัวเช่า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyrodon dactylon (L.)Pers.
ขื่อสามัญ Bermu da grass, bermuda grasses, Creeping cynodon, Lawn grass, Scutch grass, Dog’s tooth grass
วงศ์ POACEAE


ถิ่นกำเนิดหญ้าแพรก

หญ้าแพรก จัดเป็นพันธุ์พืชในวงศ์ หญ้า (POACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นของโลกบริเวณยุโรปตอนใต้ รวมไปถึงตอนเหนือของทวีปแอฟริกา และบางส่วนของเอเชียตะวันออก จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อน และเขตอบอุ่นทั่วโลกจนกลายเป็นวัชพืชในบางประเทศ เช่น ในเบอร์มิวด้า (สหรัฐอเมริกา) เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบหญ้าแพรก ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าตามพื้นที่แห้งแล้ง ที่ว่างริมถนน ตามเรือกสวนไร่นา หรือ บริเวณสนามหญ้าความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 40-400 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าแพรก

  • แก้ไข้หวัด
  • รักษาโรคแผลหนองเรื้อรัง
  • แก้พิษฝีดาษ
  • รักษาริดสีดวงทวาร
  • แก้บวมน้ำ
  • รักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ซิฟิลิส
  • แก้ผื่นคัน
  • รักษาฟกบวม
  • แก้พิษอักเสบ
  • ช่วยขับน้ำคาวปลา
  • แก้เลือกออกตามไรฟัน
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้พิษไข้
  • แก้ไข้หัว ไข้กาฬ
  • รักษาอีสุกอีใส
  • แก้หัด
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้ตกโลหิตระดู
  • แก้เบาหวาน
  • รักษาปวดเมื่อยตามกระดูก แก้ปวดข้อ
  • แก้ลมชัก
  • เป็นยาขับลมและแก้มวนท้อง ท้องเดิน
  • รักษาบาดแผลสด ห้ามเลือด สมานแผล
  • แก้ไข้

           หญ้าแพรก ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลากหลายชนิดอาทิเช่น ใช้เป็นแหล่งของอาหารสัตว์ตามธรรมชาติ สำหรับสัตว์กินพืชจำพวกแทะเล็ม เช่น วัว ควาย แกะ และ แพะ เป็นต้นหญ้าแพรก ยังเป็น 1ใน 3 พืชมงคล (หญ้าแพรก ดอกเข็ม ดอกมะเขือ) ที่ใช้ในพิธีไหว้ครู เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ศิษย์มีปัญญาแตกฉานได้รวดเร็วคล้ายหญ้าแพรกที่แตกทอดไปตามพื้นดินอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีการนำหญ้าแพรกมาใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินได้อีกด้วย

หญ้าแพรก

หญ้าแพรก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาแก้ลมัก แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัว แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อาเจียนเป็นเลือด ขับลม แก้หัด อีสุกอีใส ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ท้องเสีย ขับลม ปวดเมื่อยตามกระดูก แก้ตกโลหิตระดู แก้ริดสีดวงทวาร แก้ลมชัก แก้ปวดมวนท้อง โดยใช้ลำต้นหญ้าแพรก สดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ไข้หวัด ริดสีดวงทวาร นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แก้ซิฟิลิส โรคหนองเรื้อรัง โดยนำราก 60 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้ขับปัสสาวะ โดยนำเหง้ามาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้โดยนำดอกตากให้แก้งนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม
  • ใช้ขับน้ำคาวปลาใช้ผลมาทุบให้แตกชงกับน้ำร้อนดื่ม แต่หากใช้แก้เลือดออกตามไรฟันให้อมกลั้วปาก
  • ใช้ห้ามเลือด สมานแผล แก้หัด อีสุกอีใส แก้ปวดข้อ โดยใช้ลำต้นสด 15-30 กรัม นำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้พิษอักเสบ ปวดบวม โดยนำทั้งต้น 15-30 กรัม มาตำกับเหล้าพอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของหญ้าแพรก

หญ้าแพรก จัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกจำพวกหญ้ามีระบบรากฝอยลำต้นมีขนาดเล็ก อายุหลายปี ลักษณะของลำต้นเป็นข้อ และมีรากงอกออกมาตามข้อปล้อง โดยลำต้นมักจะแตกกิ่งก้านสาขาปกคลุมดิน แบบแผ่ราบปกคลุมไปตามพื้นดินไปได้ยาวประมาณ 1 เมตร และส่วนยอดมักจะชูตั้งขึ้นสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ส่วนระบบรากของหญ้าแพรก เป็นแบบฝอยมีเส้นผ่านศูนย์กลางของรากประมาณ 0.1-0.3 เซนติเมตร และมีความลึกรากประมาณ 4 เซนติเมตร ใบออกเป็นกระจุกตามข้อลำต้น โดยจะออกตรงข้ามกัน และจะมีกาบใบหุ้มลำต้นไว้ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกเรียวยาว ปลายใบแหลมยาว มีขนาดกว้าง 1-3 มิลลิเมตร และยาวว 1-6 เซนติเมตร ผิวใบมีสีเขียวนวลมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อกระจะ มีก้านช่อดอกร่วมยาว 1.5-5 เซนติเมตร โดยในหนึ่งช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 3-6 ช่อย่อย ช่อดอกย่อยมีลักษระเป็นเส้นสีเขียวเทาถึงสีม่วง ยาว 2-5 เซนติเมตร มีดอกย่อยเรียงกันเป็นแถว อัดกันแน่นอยู่บนด้านหนึ่งของก้านดอกย่อย ซึ่งในแต่ละดอกย่อยจะมีขนาดยาว 1.5-3 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 3 อัน มีอับเรณูสีม่วงยาว 1.1-5 มิลลิเมตร และมีก้านเกสรเพศเมีย 2 เส้น ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดเล็กมาก โดยมีความยาวประมาณ 11.5 มิลลิเมตร ซึ่งผลจะมีสีน้ำตาลไปจนสีแดง

หญ้าแพรก

หญ้าแพรก

การขยายพันธุ์หญ้าแพรก

หญ้าแพรกเป็นพืชในวงศ์หญ้าที่ขยายพันธุ์ได้ รวดเร็วมากชนิดหนึ่ง และยังสามารถขึ้นได้เองในสภาพแวดล้อมที่เลวร้านหลายรูปแบบเช่น พื้นที่แห้งแล้ง พื้นที่น้ำท่วมขัง พื้นที่ดินเค็ม จนถูกจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ดังนั้นในปัจจุบันจึงไม่พบว่าหญ้าแพรก ถูกนำมาปลูก หรือ ขยายพันธุ์แต่อย่างใด สำหรับการขยายพันธุ์ของหญ้าแพรกนั้น สามารถทำได้หลายวิธีเช่น การใช้เมล็ด การปักชำ หรือ การใช้ไหล หรือ ข้อปล้องมาปลูก ส่วนในธรรมชาตินั้น การขยายพันธุ์ของหญ้าแพรกจะอาศัยเมล็ดที่ร่วงหล่นถูกน้ำพัดพา หรือ ลมพัดปลิวไปงอกเป็นต้นใหม่ หรือ ใช้รากที่ข้อปล้องเจริญเป็นต้นใหม่ต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดไฮโดรแอลกอฮอลล์จากส่วนเหง้าและใบของหญ้าแพรก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Ethyl palmitate, Ethyl linoleate, Palmitic acid, Linoleic acid, Diacetin, Furfural, Phytol, Dihydroxyacetone, 1,4-Butanediol, Ethyl oleate, Maltol, 2,3-Dihydrobenzonfuran, Retinol, Diomo-ƴ-linoleic acid, Ethyl stearate, Tricyclopenyadeca-3,7-dien ส่วนสารสกัดจากใบของหญ้าแพรกพบสาร ferulicacid, syringic acid, paracoumaric acid, vanillic acid, para hydroxyl benzoic and orthohydroxy phenyl acetic acid นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีการตรวจพบสาร hydrocyanic acid ในหญ้าแพรกอีกด้วย

โครงสร้างหญ้าแพรก

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหญ้าแพรก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดหญ้าแพร จากส่วนต่างๆ กระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ฤทธิ์สมานแผล มีรายงานการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าขี้ผึ้งที่เตรียมจากสารสกัดน้ำของหญ้าแพรกมีฤทธิ์สมานแผลในหนูแรทมีแผลแบบถูกเจาะ (punch wound) โดยสามารถลดขนาดแผล ลดระยะเวลาที่แผลหาย และเพิ่มความยืดหยุ่นของแผล รวมทั้งกระตุ้นการสร้างเซลล์เยื่อยุผิว การสร้างคอลลาเจนบริเวณแผล กระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่บริเวณแผลได้ใกล้เคียงกับการใช้ยาฟรามัยเซติน (framytecin sulfate 1%) และดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อให้อาสาสมัคร 12 คน ที่มีแผลเรื้อรังบริเวณบริเวณฝ่าเท้า ขนาด 15-25 มม. ทายาขี้ผึ้งหญ้าแพรก วันละ 1 ครั้ง สามารถรักษาแผล กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อแกรนูเลชัน (granulation) และเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณแผลเพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกับการใช้ยาฟรามัยเซติน การศึกษานี้จึงแสดงให้เห็นว่าสารประกอบฟีโนลิก และฟลาโวนอยด์จากหญ้าแพรกมีฤทธิ์สมานแผล โดยเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และกระตุ้นกระบวนการสร้างคอลลาเจนบริเวณบาดแผล

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ของสารสกัดน้ำจากต้นหญ้าแพรก โดยป้อนสารสกัดน้ำต้นหญ้าแพรก ขนาด 250, 500 และ 1,000 มก./กก. นน.ตัว ครั้งเดียวให้กับหนูปกติ พบว่าสารสกัดน้ำต้นหญ้าแพรก ขนาด 500 มก./กก.นน.ตัว ให้ผลดีที่สุด คือ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังป้อนสารสกัดน้ำต้นหญ้าแพรก 4 ชม. ได้ 31% ในหนูปกติ และสารสกัดน้ำของต้นหญ้าแพรกในขนาดเดียวกัน (500 มก./กก.นน.ตัว) สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดปานกลางด้วย streptozotocin (Fasting blood glucose (FBG):120-250 มก./ดล.) ได้ 23% เมื่อทดสอบด้วยวิธี Glucose tolerance test ที่ 1 ชม. ซึ่งสารสกัดน้ำต้นหญ้าแพรก ขนาด 500 มก./กก.นน.ตัว มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่ากับยามาตรฐาน tolbutamide 250 มก./กก.นน.ตัว ในขณะที่การป้อนสารสกัดน้ำต้นหญ้าแพรกขนาด 500 มก./กก.นน.ตัว วันละ 1 ครั้ง นาน 14 วัน ให้กับหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานอย่างรุนแรงด้วย streptozotocin (FBG > 250 มก./ดล.) พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด (FBG) ได้ 59% และยังมีผลระดับน้ำตาลในปัสสาวะด้วย นอกจากนี้ระดับคอเลสเตอรอลรวม low density lipoprotein (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ลดลง 35, 77 และ 29% ตามลำดับ ในขณะที่ high density lipoprotein (HDL) สูงขึ้น 18% ซึ่งจากผลการทดลองสรุปได้ว่า สารสกัดน้ำต้นหญ้าแพรกมีศักยภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดทั้งหนูปกติ และหนูที่เป็นเบาหวาน

           ฤทธิ์ปกป้องตับ มีรายงานการศึกาวิจัยฤทธิ์ป้องกันตับของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของหญ้าแพรก ต่อพิษต่อตับที่เกดจาก CC1 ในหนูวิสตาร์โดยให้สารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดินของหญ้าแพรก 100, 250 และ 500 มก./กก. แก่สัตว์ทดลองจากนั้นประเมินระดับบิลิรูบิน คอเลสเตอรอล SGPT SGOT และ ALP ในซีรั่ม พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ช่วยลดการเพิ่มขึ้นของระดับบิลิรูบิน และคอเลสเตอรอลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังป้องกันการหลั่งกรดแอสคอร์บิกในปัสสาวะลดลงในกลุ่มที่เป็นพิษ จากคาร์บอนเดตราคลอไรด์ และความเสียหายของตับในสัตว์ที่ได้รับสารสกัดเอธานอลมีน้อยมาก จึงทำให้ไม่เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเซลล์ตับ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหญ้าแพรก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอลของหญ้าแพรก ระบุว่ามีรายงานผลการศึกษาองค์ประกอบของสารสกัดน้ำจากหญ้าแพรก (Cynodon dactylon L.) ระบุว่าพบสารสำคัญเป็นสารประกอบฟีนอลลิก และสารฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง และเมื่อทำการทดลองความเป็นพิษเฉียบพลันและพิษกึ่งเรื้อรังพบว่า ไม่พบความเป็นพิษทั้งแบบเฉียบพลัน และกึ่งเรื้อรังเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 2 ก./กก. น้ำหนักตัวแบบครั้งเดียว และป้อนที่ขนาด 2.5 ก./กก. น้ำหนักตัว ติดต่อกัน 21 วัน นอกจากนี้ยังไม่พบความเป็นพิษต่อผิวหนังเมื่อทาขี้ผึ้งที่เตรียมจากสารสกัดน้ำของหญ้าแพรกที่ความเข้มข้นความเข้มข้น 15% โดยน้ำหนัก (w/w) ติดต่อกัน 14 วัน และมีการทดสอบความเป็นพิษต่อหนูถีบจักร โดยฉีดสารสกัดจากพืชทั้งต้นด้วยเอทานอลและน้ำอัตราส่วน 1: 1 เข้าช่องท้องหนูถีบจีกร พบว่าความเข้มข้นที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง คือ มากกว่า 1 ก./กก. น้ำยาสกัดจากใบแห้งด้วยน้ำฉีดเข้าช่องท้องในอัตรา 708 มก./กก. ทำให้หนูถีบจักรตาย 50% นอกจากนี้หากฉีดเข้าช่องท้องยังพิษต่อกระต่ายทำให้ใจสั่น ชักและตายได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้หญ้าแพรก เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆโดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง หญ้าแพรก
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “หญ้าแพรก”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 809-810.
  2. ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหญ้าแพรกในหนูขาว, ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ฤทธิ์สมานแผลของหญ้าแพรก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. สรรพคุณของหญ้าแพรก. กระดานถาม-ตอบ (ออนไลน์). สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. Singh SK, Rai PK, Jaiswal D, Watal G. Evidence based critical evaluation of C. dactylon. J Evid Based Complement Alternat Med 2008;5:415-20.
  6. Surendra V, Prakash T, Sharma UR, Goli D, Dayalal S, Kotresha F. Hepatoprotective activity of aerial plants of C. dactylon against CC14-induced hepatotoxicity in rats. J Pharmacogn Mag 2008;4:195-201
  7. The Ayurvedic Pharmacopoeia of India, Ministry of Health and Family Welfare, Department of Ayush. Gov. of India. 2001;4:33- 35.