ผักกาดขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ผักกาดขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักกาดขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักกาดขาวปลี (ทั่วไป), แปะฉ่าย, แปะฉ่ายลุ่น (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica pekinnensis var.cylin drica Tsen&SH.Lee
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Brassica rapa L., Brassica chinensis L.,Brassica campestris var.pekinensis (Laur.) olsson
ชื่อสามัญ Chinese cabbage
วงศ์ BRASSICACEAE-CRUCIFERAE
ถิ่นกำเนิดผักกาดขาว
จากการศึกษาค้นคว้าผักกาดขาว จัดเป็นผักที่เก่าแก่ โดยชาวจีนรู้จักนำมาประกอบอาหาร เป็นเวลาประมาณ 6 พันกว่าปีล่วงมาแล้ว ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่าในหลุมศพ ที่หมู่บ้านป้านพอ ในมลฑลซีอาน มีเมล็ดผักกาดขาวอยู่ ด้วยและหลักฐานต่างๆ ภายในหลุ่มฝังศพสันนิษฐานว่าอยู่ในยุคหินใหม่ ซึ่งมีอายุ 6-7 พันปี และยังมีบันทึกว่าผักกาดขาวเป็นอาหารที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวจีนตั้งแต่สมัยฉิน (พ.ศ.298-338) และมีการเรียกผักกาดขาวว่าแปะฉ่าย ในสมัยซ้ง (พ.ศ.1506-1822)
ส่วนอีกหลักฐานหนึ่งระบุว่าผักกาดขาวเป็นผักพื้นเมืองในแถบเอเชียตะวันออก มีต้นกำเนิดมากจาพืชในสกุล B.campestris ซึ่งสันนิษฐานว่ามีแหล่งกำเนิดในเขตเมดิเตอร์เรเดียน ต่อมาถูกนำไปปลูกในแถบยุโรปตอนเหนือ และพัฒนาเป็นพืชน้ำมันต่อมา เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่ผ่านมา ถูกนำเข้าประเทศจีน นำมาใช้เป็นอาหาร โดยพืชชนิดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นหลาย subspecies ดังเช่นในปัจจุบัน และปัจจุบันผักกาดขาว ได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังหลายภูมิภาคทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยพบว่ามีการปลูกกันมากทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ
ประโยชน์และสรรพคุณผักกาดขาว
- ใช้แก้หวัด
- แก้ท้องผูก
- ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
- บำรุงร่างกาย
- บำรุงกำลัง
- ช่วยเจริญอาหาร
- แก้กระหาย
- ช่วยลดความดันโลหิต
- ช่วยเสริมสร้างหลอดเลือด
- ช่วยขับน้ำนม
- แก้โรคตาบอดกลางคืน
- ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย
- แก้เจ็บคอ
- ช่วยย่อยอาหาร
- แก้ท้องเสีย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้อาเจียนเป็นเลือด
- แก้วบวมน้ำ
- แก้แผลในปาก
- แก้ไอ
- ช่วยขับเสมหะ
- ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้
- ช่วยทำให้กากอาหารอ่อนนุ่ม
- แก้พิษจากการรับประทานมันสำปะหลังดิบ
- แก้ผิวหนังอักเสบจากการแพ้
- ช่วยระบายอุจจาระ ขับถ่ายสะดวก
- แก้แผลในปาก
- ช่วยลดอาการอึดอัด (ร้อนรุ่มบริเวณอก)
- แก้ฤทธิ์สุราขับปัสสาวะ
ผักกาดขาวอวบ รสหวานกรอบ เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นผักสด ผักต้มประกอบอาหารชนิดต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมแปรรูป นอกจากนนี้ผักกาดขาวยังเป็นผักที่มีเส้นใยสูงมาก โดยเส้นใยนี้เป็นเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำ แต่จะพองตัวเมื่อมีน้ำ จึงมีความสามารถในการอุ้มน้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งการอุ้มน้ำได้ดีนี้ยังช่วยเพิ่มปริมาตรของกากอาหาร ได้ดีอีกทั้งผักกาดขาว ยังเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเป็นพืชผักที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย ทั้งใช้เป็นอาหารประจำวันภายในประเทศ และส่งจำหน่ายต่างประเทศอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ผักกาดขาว
หากใช้เพื่อต้องการสรรพคุณตามตำรายาไทยที่ใช้ใบผักกาดขาวในการบำบัดรักษาอาการต่างๆ นั้น วิธีใช้สามารถใช้ใบผักกาดขาว ประกอบอาหารรับประทานได้ตามปกติ ส่วนในการใช้รากของผักกาดขาว เพื่อรักษาอาการหวัดและแก้ท้องผูกนั้น ให้ใช้รากผักกาดขาวประมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาอาการไออาการเสียงแหบเสียงแห้งไม่มีเสียง โดยใช้หัวของผักกาดขาวมาคั้นแล้วเติมขิงเล็กน้อยใช้จิบดื่มบ่อยๆ แก้แผลในปากโดยใช้น้ำที่คั้นได้จากหัวผักกาดขาวมาอมแล้วบ้วนปากบ่อยๆ ใช้แก้ลำไส้อักเสบ ใช้คั้นน้ำจากต้นสัก 100 มล. (ประมาณ 1 แก้ว) ตั้งบนเตาไฟให้อุ่น กินก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง ใช้แก้หวัดหรือหลอดลมอักเสบ โดยใช้ผักกาดขาว หอมใหญ่ และขิง สดต้ม รวมกัน กินน้ำ หรือจะทำเป็นน้ำแกงกินก็ได้ ใช้แก้ผิวหนังอักเสบเนื่องจากการแพ้ โดยใช้ผักกาดขาวสดๆ ตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของผักกาดขาว
ผักกาดขาว เป็นพืชผักที่มีอายุ 2 ปี แต่ระบบการปลูกในปัจจุบันเป็นการปลูกแบบพืชปีเดียว เป็นพืชที่มีระบบรากแก้ว และมีรากแขนงแผ่กระจายจำนวนมาก มีความสูงได้ 20-50 เซนติเมตร แต่เป็นพืชที่ไม่มีลำต้นแต่จะมีใบเรียงเวียนซ้อนกันเป็นชั้นๆ เป็นกระจุกแบบดอกกุหลาบ ใบมีขนาดยาว 20-90 เซนติเมตร กว้าง 15-35 เซนติเมตร ใบรอบนอกมีลักษะรูปไข่ หรือ รูปวงรีสีเขียวเข้ม มีก้านเป็นแผ่นปีกยื่นไปทางข้าง ส่วนใบที่ซ้อนกันเป็นปลีมีสีเขียวปนขาว แผ่นใบกว้างจนเกือบกลม ดอกออกเป็นช่อซึ่งจะประกอบด้วยช่อแขนงที่มีช่อดอกแบบกระจายเป็นจำนวนมาก ส่วนช่อดอกจะยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร ดอกมีสีเหลืองสด มี 4 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวปนเหลือง ผงเป็นลำ หรือ ผลแตกแบบผักกาดกว้าง 3-5 มิลลิเมตร ยาว 7 เซนติเมตร มีสีเขียวมีเมล็ดข้างใน 20-30 เมล็ด ซึ่งเมล็ดลักษณะกลมสีเทาหรือสีดำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์ของผักกาดขาว
ผักกาดขาว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ การปลูกลงบนแปลงปลูกโดยตรง และการปลูกโดยการเพาะกล้าก่อนแล้วย้ายไปปลูกในแปลงปลูก โดยมีระยะเวลาการปลูกที่ได้ผลดีที่สุดอยู่ในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่จะชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดินอยู่ในช่วงพอเหมาะประมาณ 6-6.8 ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอ และมีอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 15-22 องศาเซลเซียส
โดยการปลูกผักกาดขาวในประเทศไทยสามารถทำได้ 3 แบบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่นำมาปลูกและสภาพพื้นที่ ดังนี้
- แบบหว่านกระจายทั่วแปลงในการปลูกแบบนี้จะใช้ในกรณีที่ใช้พันธุ์ผสม ทั่วๆ ไปมาปลูก หรือ เมล็ดพันธุ์มีราคาไม่แพง พบมากในท้องที่ภาคกลาง โดยต้องเป็นสภาพพื้นที่ที่ยกแปลงกว้าง มีร่องน้ำ
- แบบแถวเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับการปลูกแบบโรยเป็นแถว หรือ ย้ายกล้า ส่วนมากใช้ในกรณีที่ใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่มีราคาแพง ในท้องที่ที่ปลูกผักแบบไร่
- แบบแถวคู่ ซึ่งเหมาะสำหรับการปลูกแบบหยอดเมล็ดหรือย้ายกล้า จะใช้ในกรณีใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่มีราคาแพง เช่น ในเขตท้องที่ภาคเหนือที่นิยมยกแปลงปลูกแคบ
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของผักกาดขาว พบว่ามีสาระสำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Quercetin, Kaempferol, Berteroin, Sulforaphane, Organosulffide, Isothiocyanate (ITC) และ Raphanin เป็นต้น ส่วนในเมล็ดพบสาร Glycerol sinapate, Erucic acid และ Linolenic acid เป็นต้น และยังพบน้ำมันหอมระเหย คือ Methyl mercaptan อีกด้วย
นอกจากนี้ผักกาดขาวยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดขาว 100 กรัม
น้ำ |
91.7 |
กรัม |
กรดอะมิโน |
0.6 |
กรัม |
โปรตีน |
0.6 |
กรัม |
คาร์โบไฮเดรต |
5.7 |
กรัม |
เส้นใย |
0.8 |
กรัม |
แคโรทีน |
0.02 |
มิลลิกรัม |
0.02 |
มิลลิกรัม |
|
วิตามินบี 2 |
0.04 |
มิลลิกรัม |
30 |
มิลลิกรัม |
|
ธาตุแคลเซียม |
49 |
มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส |
34 |
มิลลิกรัม |
0.5 |
มิลลิกรัม |
|
ธาตุโพแทสเซียม |
196 |
มิลลิกรัม |
ธาตุซิลิกอน |
0.024 |
มิลลิกรัม |
1.26 |
มิลลิกรัม |
|
ธาตุทองแดง |
0.21 |
มิลลิกรัม |
ธาตุสังกะสี |
3.21 |
มิลลิกรัม |
ธาตุโมลิบดีนัม |
0.125 |
มิลลิกรัม |
ธาตุโบรอน |
2.07 |
มิลลิกรัม |
กรดนิโคตินิค (Nicotinic acid) |
0.5 |
มิลลิกรัม |
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักกาดขาว
มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักกาดขาวระบุว่าผักกาดขาว มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาวิจัย โดยให้หนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวานบริโภคกิมจิที่ทำจากผักกาดขาวในปริมาณที่แตกต่างกันร่วมกับการบริโภคอาหารชนิดต่างๆ ทั้งที่มีไขมันสูงและมีไขมันต่ำเป็นเวลา 4 สัปดาห์ และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคกิมจิจากผักกาดขาวพบว่า หนูทดลองกลุ่มที่บริโภคกิมจิจากผักกาดขาวมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำลง และมีความทนทานต่อกลูโคสมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่บริโภคกิมจิในปริมาณมาก แม้ว่าจะบริโภคร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูงด้วยก็ตาม จึงคาดว่าผักกาดขาวอาจมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งอาจช่วยรักษาหรือต้านโรคเบาหวานได้
ฤทธิ์ป้องกันโรคมะเร็ง มีการศึกษาวิจัยที่ใช้สารสกัดจากผักกาดขาว ซึ่งมีสารประกอบซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ทดลองกับเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวตับของหนู พบว่าสารดังกล่าวอาจช่วยป้องกันกระบวนการเกี่ยวกับเซลล์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ และยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าการใส่ผงสกัดจากผักกาดขาวลงไปในน้ำดื่มสามารถช่วยยับยั้งการก่อตัวของสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) หรือ สารจากเชื้อราที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับ และยังช่วยลดการเกิดเนื้องอกในตับจากการกระตุ้นของสารอะฟลาทอกซินได้ มีการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งที่ใช้สารเบอร์เทโรอินที่สามารถพบได้ในผักกาดขาวทดลองกับเซลล์ผิวหนังอักเสบของหนูทดลอง พบว่าสารเบอร์เทโรอินมีประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า สารไอโซไทโอไซยาเนท (isothiocyanate; ITC) ซึ่งเป็นสารสำคัญในหัวผักกาดขาว (Raphanus sativus L.) มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งและยับยั้งการอักเสบ แต่มักจะสลายตัวได้ง่ายในสารละลายที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ จึงได้ทำการศึกษาโดยวัดสาร ITC ในน้ำคั้นจากหัวผักกาดขาวที่ผสมกับน้ำ น้ำมันข้าวโพด หรือ นม พบว่าน้ำมันข้าวโพด และนมจะช่วยป้องกันการสลายตัวของ ITC โดยพบว่าน้ำหัวผักกาดขาวที่ผสมในน้ำมันข้าวโพด และนมจะมีความเข้มข้นของ ITC มากกว่าน้ำหัวผักกาดที่ผสมในน้ำถึง 1.4 เท่า และจากการให้น้ำหัวผักกาดขาวผสมนมทางปากแก่หนูแรท พบว่านมช่วยเพิ่มการดูดซึมของ ITC ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการให้น้ำหัวผักกาดขาวผสมน้ำ ดังนั้นการบริโภคหัวผักกาดขาวดิบพร้อมน้ำมันข้าวโพดหรือนมจะทำให้ได้ประโยชน์จากสาร ITC มากกว่าการบริโภคหัวผักกาดขาวเพียงอย่างเดียว เนื่องจากน้ำมันข้าวโพดและนมช่วยป้องกันการสลายตัวของ ITC และนมยังช่วยเพิ่มการดูดซึม ITC ในร่างกายด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของผักกาดขาว
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สำหรับผู้ที่มีอาการกระเพาะอาหารเย็น ตามตำราแพทย์แผนจีน คือ มีอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย อาเจียน ไม่ควรกินผักกาดขาวมาก เพราะอาจจะทำให้อาเจียนมีน้ำลายเป็นฟอง
- ส่วนตำรายาไทยระบุว่าสำหรับผู้ที่มีอาการม้ามพร่อง คือ มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ ไม่ควรรับประทานผักกาดขาวในปริมาณมากเกินไป
- ส่วนการรับประทานหัวผักกาดขาว ดิบจะมีประโยชน์มากกว่ารับประทานแบบปรุงสุก เนื่องจากวิตามินซี และเอนไซม์ (Amylase) ในหัวผักกาดขาวจะไม่ทนต่อความร้อนมากนัก และจะถูกทำลายที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส
- นอกจากนี้ก่อนนำผักกาดขาวไปรับประทาน ควรล้างผักให้สะอาดโดยเปิดน้ำให้ไหลผ่านผักเพื่อชะล้างเศษดินหรือสิ่งปนเปื้อนให้ออกไปจนหมด และลดสารพิษตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในผักอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง ผักกาดขาว
- วิทิต วัณนาวิบูล.ผักกาดขาว ท่านอาวุโสแห่งผัก.คอลัมน์อาหารสมุนไพร.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่าที่ 59.มีนาคม 2527
- ประโยชน์ของนมและน้ำมันข้าวโพดในการช่วยรักษาสารไอโซไทโอไซยาเนทในหัวผักกาดขาว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยามหิดล.
- ผักกาดขาว.กลุ่มยาถ่าย.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_05_6.htm
- ผักกาดขาวกับหลากประโยชน์เพื่อสุขภาพ.พบแพทย์ดอทคอม(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
- Klein, Donna (4 December 2012). The Chinese Vegan Kitchen: More Than 225 Meat-free, Egg-free, Dairy-free Dishes from the Culinary Regions of China. Penguin Group US. p. 30. ISBN 978-1-101-61361-0.
- Lee, Cecilia Hae-Jin (22 May 2012). Frommer's South Korea. John Wiley & Sons. p. 326. ISBN 978-1-118-33363-1.