สนุ่น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สนุ่น งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สนุ่น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะนุ่น, ตะหนุ่น (ภาคกลาง), ไค้นุ่น, ไค้บก (ภาคเหนือ), ไก๋นุ่น (ภาคอีสาน), ไคร้ใหญ่ (ยะลา), สนุ่นน้ำ (โคราช), คล้าย (ปัตตานี), กระดึยเดะ (กะเหรี่ยง), งาลู (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Salix tetrasperma Roxb. 
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pleiarina tetrasperma (Roxb.) N.Chao&G.T.Gong.
ชื่อสามัญ Willow, White willow, Indian willow
วงศ์ SALICACEAE


ถิ่นกำเนิดสนุ่น

สนุ่น เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมเป็นวงกว้าง ได้แก่ ในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น อินเดีย ปากีสถาน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงทางตอนใต้ของจีน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค ของประเทศบริเวณที่ลุ่มชื้น ตามริมแม่น้ำลำคลอง หรือ ตามป่าชายน้ำ หรือ ภูเขาที่มีความชื้นสูงในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,900 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณสนุ่น

  • บำรุงหัวใจ
  • ทำให้หัวใจเต้นแรง
  • ขับชีพจร
  • แก้หวัดคัดจมูก
  • แก้ตัวร้อน
  • ช่วยดับพิษร้อน
  • แก้ตับพิการ
  • แก้ริดสีดวงจมูก
  • ใช้แก้เริม
  • รักษางูสวัด
  • แก้แผลเปื่อย
  • แก้ไข้
  • แก้เบาหวาน
  • ช่วยเจริญอาหาร

           ชาวกะเหรี่ยงมีการนำเปลือกต้นของสนุ่น มาใช้ย้อมผ้าโดยจะให้สีน้ำตาลแดง เนื้อไม้ของสนุ่นมีน้ำหนักเบาแต่ค่อนข้างแข็งแรง จึงมีการนำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนรวมถึงเครื่องมือทางการเกษตรบางชนิดอีกด้วย ส่วนกิ่งก้านของสนุ่นมีการนำมาใช้เป็นฟืนหุงต้มในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการนำต้นสนุ่นมาปลูกตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองเพื่อป้องกันการพังทลายของดินตามตลิ่งอีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้สนุ่น

ช่วยทำให้เจริญอาหาร ดับพิษร้อนทั้งปวง แก้ตับพิการ โดยการนำรากสนุ่น มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยทำให้หัวใจเต้นแรง ชูเส้นชีพจร ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้หวัดคัดจมูก ยารักษาโรคเบาหวาน โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้เด็กตัวร้อน แก้หวัดคัดจมูกในเด็ก โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำอาบ และใช้รดศีรษะด้วย ใช้แก้เริมงูสวัด แผลเปื่อยโดยใช้ใบสดมาตำแล้วเอาน้ำที่ได้มาพอก หรือ ทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้หวัดคัดจมูก แก้ริดสีดวงจมูก โดยใช้ใบ หรือ เปลือกต้นมาต้ม กับน้ำแล้วสูดเอาไอน้ำเข้าไป


ลักษณะทั่วไปของสนุ่น

สนุ่น จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนขนาดกลาง เรือนยอดโปร่งเป็นพุ่มกลม สูง 6-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นหนาสีเทาเข้ม มีรอยแตกลึกตามยาวกิ่งก้านชูตั้งขึ้น ปลายลู่ลงเล็กน้อย แต่จะไม่ห้อยลงเป็นกิ่งยาวๆ ยอดอ่อนมีขนสีเงินหนาแน่น ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว โดยจะออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก กว้าง 2-3 เซนติเมตร และยาว 5-10 เซนติเมตร โคนใบมน เป็นรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นซี่ฟันเล็กๆ ใบแก่มักจะหนาผิวใบเกลี้ยง หรือ มีขนหนาแน่น หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีขาวนวล มีเส้นข้างใบประมาณ 12-24 คู่ ก้านใบเรียวเล็กสีแดง ยาว 1-3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายช่อมีใบอ่อน ยาว 5-15 เซนติเมตร ปลายของกิ่ง หรือ ที่ซอกใบ โดยจะออกเป็นช่อเล็กๆ สีขาว หรือ เหลืองอ่อน ทรงกระบอกห้อยลงแบบช่อหางกระรอก ดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้น ดอกย่อยจะมีก้านดอกเรียวเล็ก มีกาบรองดอกรูปไข่ ไม่มีกลีบเลี้ยง และกลีบดอก ดอกเพศผู้มีเกสร 4-10 อัน ยาว 4-6 มิลลิเมตร ดอกเพศเมียมีต่อมน้ำหวาน 1 ต่อม ที่ฐานก้านเกสรสั้น ปลายแยกเป็น 2 พู  รังไข่มีขนหนาแน่น มีก้านชูชัดเจน ผลเป็นแบบผลแห้ง และแตกได้ มีขนาดประมาณ 0.4 เซนติเมตร สีน้ำตาลอ่อน หรือ สีเทา เมื่อผลแก่จะแตกเป็น 2 พู ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กประมาณ 4-6 เมล็ด ซึ่งปลายด้านหนึ่งมีจะแผงขนสีขาวเป็นปุย เบาสามารถปลิวไปตามลมเพื่อกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ

สนุ่น

สนุ่น

การขยายพันธุ์สนุ่น

สนุ่นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดซึ่งส่วนมากแล้วการขยายพันธ์ของสนุ่น จะเป็นการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ไม่นิยมนำมาปลูกตามบ้านเรือน หรือ สวน ไร่ นา เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อนกิ่งค่อนข้างเปราะหักง่าย สำหรับการกระจายพันธุ์ในธรรมชาติจะเป็นการที่ผลแก่ของสนุ่นแตกออกทำให้เมล็ดที่มีขนปุยที่เบาสามารถโดยลมพักไปตกตามพื้นดินจากนั้นจึงงอกขึ้นเป็นต้นต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนของใบ และเปลือกต้นของสนุ่น ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น β-sitosterol glucoside, salicin,  3,4-dihydroxybenzoic acid , 2-(hydroxymethyl)phenol , 1,3-dihydroxyphenol , 3-(hydroxymethyl)phenol , 4-methylbenzaldehyde , 1,2-dihydroxybenzene และ 3',4',5,7-tetrahydroxyflavone เป็นต้น

โครงสร้างสนุ่น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสนุ่น

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนเปลือกลำต้น และใบของสนุ่น ระบุว่า มีการศึกษาวิจัยสารสกัดเอทิลอะซีเตตจากส่วนเปลือก และใบของสนุ่นโดยวิธี DPPH พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยพบว่านอกจากผลยังมีการศึกษาวิจัยอื่นๆ ระบุว่าสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของสนุ่นยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่นสารสกัดจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด โดยมีค่า IC 50 เท่ากับ 6.85 µg/mL


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสนุ่น

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้สนุ่นเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก และสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้สนุ่นเป็นสมุนไพร เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้สนุ่น เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ


เอกสารอ้างอิง สนุ่น
  1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สนุ่น Willow”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 182.
  2. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์ และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 271 หน้า
  3. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “สนุ่น ”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 140.
  4. สนุ่น.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=162
  5. J.  H.  Virupaksha,  R.  R.  Nadendla  and  M.  Satishkumar,  International  Journal  of  Pharma  and  Bio Sciences, 7(3), 89(2016)
  6. P.  J.  Masika,  N.  Sultana,  A.  J.  Afolayan  and  P.  J.  Houghton,  South African  Journal  of  Botany, 71(3&4), 441(2005), DOI:10.1016/S0254-6299(15)30117-4
  7. K. T. R. Prashith, K.  S.  Vinayaka and  K. S. K. Praveen, International Journal  of  Herbal Medicine, 5(5), 192(2017)
  8. A.  El-Shazly,  A. El-Sayed  and  E.  Fikrey,  Zeitschrift  Fur  Naturforschung Section  C-A  Journal  of Biosciences Verlag Z Naturforsc, 67, 353(2012), DOI:10.1515/znc-2012-7-801