มะเขือดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะเขือดง งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะเขือดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฝ่าแป้ง, ผ่าแป้ง, ลำแป้ง, สะแป้ง, ฉับแป้ง (ภาคเหนือ), ดับยาง, สะแป้ง, ส้มแป้ง (ภาคกลาง), ส่างโมง (ภาคอีสาน), หูควาย, ขากะอ้าย, ขาตาย (ภาคใต้), เอื๋ยเอียงเฮี๊วะ, แหย่เยียนเยวี๊ยะ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum erianthum D.Don
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum mauritianum Blanco, Solanum Pubescens Roxb., Solanum verbascifolium Linn.
ชื่อสามัญ Wild tobacco, Turkey berry, Potato tree, Canary nightshade, Salvadora
วงศ์ SOLANACEAE


ถิ่นกำเนิดมะเขือดง

มะเขือดง จัดเป็นพืชในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE) ที่มีเขตการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้าง โดยพบการกระจายพันธุ์ได้ในเขตร้อน และเขตอบอุ่นของโลก บริเวณทางใต้ของทวีปอเมริกา แอฟริกา อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ส่วนถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะเขือดง นั้น เชื่อกันว่าอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ บริเวณทางตอนเหนือของอาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปตามชายป่า และที่รกร้างทั่วไป ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลจนถึง 1,000 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณมะเขือดง

  1. ใช้เป็นยาลดน้ำตาลในเลือด
  2. รักษาอาการท้องร่วง
  3. รักษาโรคบิด
  4. ช่วยขับระดูในสตรี
  5. แก้โรคมุตกิด ขับน้ำคาวปลา
  6. แก้อาหารเป็นพิษ
  7. แก้คลื่นไส้
  8. ใช้เป็นยารักษาอาการตัวบวม
  9. ใช้เป็นยาห้ามเลือด
  10. แก้ปวดศีรษะ
  11. แก้ปวดฟัน
  12. แก้โรคเก๊าท์
  13. แก้วัณโรคต่อมน้ำเหลือง
  14. ทำให้แท้งบุตร
  15. แก้ฟกช้ำ
  16. รักษาแผลเปื่อย
  17. แก้กลากเกลื้อน
  18. แก้ฝีหนอง
  19. แก้แผลอักเสบไฟไหม น้ำร้อนลวก
  20. ใช้แก้อาการท้องอืด
  21. ใช้แก้โรคผิวหนัง
  22. แก้โรคขี้ขาว (ในสัตว์)
  23. เพื่อช่วยป้องกันตัวไร (ในเล้าไก่)

           มะเขือดง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้ ในภาคเหนือมีการนำใบมะเขือดงมาใช้รองพื้นถั่วเน่าหมัก เพื่อป้องกันไม่ให้ถั่วเน่าติดกับแผงที่ใช้นำไปตากแดด และยังสามารถนำใบมะเขือดง มาใช้ล้างจาน โดยนำมาขยำใช้แทนฟองน้ำล้างจาน ส่วนเกษตรกรมีการใช้ผลมะเขือดงมาตำแล้วคั้นเอาน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน แก้โรคขี้ขาว ส่วนใบนำมาใช้ขยำใส่ในเล้าไก่ เพื่อช่วยป้องกันตัวไร นอกจากนี้ถ่านจากส่วนของลำต้นยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสในการทำดินปืนได้อีกด้วย

มะเขือดง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด ขับน้ำคาวปลา ขับระดู แก้มุตกิด โดยใช้รากมะเขือดง สดประมาณ 90-120 กรัม นำมาทุบให้แหลก ต้มกับน้ำ 3 แก้ว นาน 30 นาที แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้า และเย็น
  • ใช้รักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง บริเวณคอ โดยใช้ใบสด 15-20 กรัม มาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ใช้ที่เปลือกสีขาว 1 ฟอง น้ำละเหล้าอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง
  • ใช้รักษาแผลเปื่อย กลากเกลื้อน ฝี โดยใช้ใบสดมะเขือดง มาตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็น หรือ จะใช้ต้มกับน้ำ ใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษาโรคเกาต์ ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาคั่วกับเหล้า ใช้ทาถูนวดบริเวณที่เป็น
  • ส่วนเกษตรกรมีการใช้ผลมะเขือดง มาตำแล้วคั้นเอาน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน แก้โรคขี้ขาว ส่วนใบนำมาใช้ขยำใส่ในเล้าไก่ เพื่อช่วยป้องกันตัวไร 


ลักษณะทั่วไปของมะเขือดง

มะเขือดง จัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบ ลำต้นมีความสูง 1-4 เมตร แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ เปลือกต้นเป็นสีขาว มีนวลและมีขนขึ้นปกคลุม แต่เมื่อลำต้น หรือ กิ่งแก่จะมีสีเขียว ลำต้นและกิ่งเปราะหักง่าย

           ใบมะเขือดง เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ บนกิ่งและปลายกิ่ง ลักษณะขอบใบเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้าง 8-13 เซนติเมตร ยาว 10-25 เซนติเมตร โคนใบสอบแหลมปลายใบเรียวแหลมขอบใบเรียบ ผิวใบอ่อนนุ่ม สากมือเล็กน้อย เนื่องจากมีขนขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น หน้าใบเป็นสีขาวเขียวแซมนวล มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ส่วนท้องใบเป็นสีเทาดอกเลา และมีก้านใบยาว

           ดอกมะเขือดง เป็นดอกเดียว แต่จะออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง โดยมักจะแยกออกเป็น 2 ช่อ ลักษณะดอกคล้ายดอกมะเขือมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร มีกลีบดอกสีขาวมี 5 กลีบ และมีกลีบรองดอก 5 กลีบ เชื่อมกันที่ฐาน อับเรณูสีเหลือง เกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมียมี 1 อัน ส่วนก้านช่อดอกมีความยาว 5-10 เซนติเมตร

           ผลมะเขือดง เป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมคล้ายผลมะแว้งต้น มะแว้งเครือ หรือ  มะเขือพวง มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเมื่อผลดิบมีสีเขียว แต่เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีก้านผลยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลม จำนวนมากโดยผิวเมล็ดจะมีขีดประเล็กๆ

มะเขือดง

มะเขือดง

การขยายพันธุ์มะเขือดง

มะเขือดง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการ เพาะเมล็ด และการปักชำ แต่ทั้งนี้ไม่ค่อยมีการนำมะเขือมาขยายพันธุ์ เนื่องจากมะเขือดงเป็นพืชที่มีอัตราขยายพันธุ์ที่รวดเร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อมที่แล้งได้ดี จึงทำให้กลายเป็นวัชพืชรุกราน ในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สำหรับในประเทศไทยหากจะนำมาใช้ประโยชน์ก็จะเป็นการเก็บจากธรรมชาติมาใช้มากกว่าการนำมาปลูกใช้เอง สำหรับการขยายพันธุ์มะเขือดง นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับพืชตระกูลมะเขือ (Solanaceae) อื่นๆ เช่น มะเขือพวง  มะแข้งต้น และมะแข้งเครือ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ รวมถึงน้ำมันหอมระเหยของมะเขือดง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ทั้งต้นพบสาร diosgenin, solaverbascine, solamargine, solasodine, tomatidenol, solasonine และ solaverine ในใบพบสาร tomatidenol กิ่ง ใบ และผลพบสาร solasodine ส่วนใบและราก solamergine และ solasonine เป็นต้น

           สำหรับน้ำมันหอมระเหยจากส่วนผลมะเขือดง พบสาร α-terpinolene, α-phellandrene, p-cymene and β-pinene, α-humulene, humulene epoxide II, caryophyllene oxide, methyl salicylate และ β-caryophyllene  เป็นต้น

           ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบมะเขือดงพบสาร phytol, pentadecanal, pentadecane, α-humulene, β-caryophyllene, ethyl palmitate และ methyl salicylate อีกด้วย

โครงสร้างมะเขือดง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะเขือดง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะเขือดง จากส่วนต่างๆ ของมะเขือดง ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่า สารสกัดน้ำจากใบ และกิ่ง มีฤทธิ์ทำให้ลำไส้เล็กส่วนต้นของกระต่ายคลายตัวในช่วงเช้าแรก และจะเกิดอาการเกร็งในช่วงระยะเวลาต่อมา และมีฤทธิ์กระตุ้นอย่างอ่อนต่อกล้ามเนื้อลายหน้าท้องของคางคก และมดลูกของหนูขาวที่กำลังมีท้อง อีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าในกระต่ายจำนวน 27 ตัว โดยทดลองเปรียบเทียบกับยา toibutamide พบว่า สารสกัดจากมะเขือดดง สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ถึง 21.1% มากกว่ายา tolbutamide ที่ลดได้ 14.3%

           และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราของน้ำมันหอมระเหยน้ำมันหอมระเหยจากใบของมะเขือดง ถึงระบุว่ามีฤทธิ์ต้านจุลชีพในวงกว้าง โดยมีฤทธิ์อย่างมากต่อเชื้อ Aspergillus niger (19.5 µg/mL) และออกฤทธิ์น้อยที่สุดกับ Pseudomonas aeruginosa (625 µg/mL) และน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวยังมีฤทธิ์ยับยั้งต่อทั้ง Staphylococcus aureus และ A. niger (39 และ 19.5 µg/mL ตามลำดับ) 

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากส่วนเหนือดินของมะเขือดงยังมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์บีบตัวของหัวใจ และมีฤทธิ์ต้านมะเร็งอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะเขือดง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้มะเขือดง เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาคในระยะยาวได้ สำหรับผู้ที่แพ้พืชวงศมะเขือ (Solanaceae) ควรระมัดระวังในการใช้มะเขือดงอย่างเคร่งครัดเนื่องจากเป็นพืชวงศ์เดียวกัน


เอกสารอ้างอิง มะเขือดง
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ช้าแป้น”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 หน้า 265-267.
  2. มะเขือดง. พืชวิจัยใช้ได้จริง:พืชอาหาร พืชสมุนไพร.กลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืช สำนักคุ้มครองพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตร และสหกรณ์.
  3.  “ช้าแป้น”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 189.
  4. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ช้าแป้น”. หนังสือสมุนไพร บำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 72-73.
  5. Sahm DH, Washington JA. (1991). Antimicrobial susceptibilitytests dilution methods. In: Balows A, Hausher WJ, Herrmman KL, Isenberg HD, Shamody HJ, eds. Manual of Clinical Microbiology. American Society for Microbiology. WashingtonDC, USA.
  6. Burkill HM. (2000). The Useful Plants of West Tropical Africa. Vol. 5. Royal Botanic Gardens, Kew, 119, 125-126, 136.
  7. Gbile ZO, Adesina SK. (1988). Nigerian Solanum species of economic importance. Ann Missouri Bot Garden, 75, 862–865.