ซ้อ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ซ้อ งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ซ้อ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ไม้ซ้อ, เฝิง, แต้งขาว, เป้านก (ภาคเหนือ), ช้องแมว, สันปลาช่อน, ท้องแมว, ม้าเหล็ก (ภาคกลาง), แก้มอัน (ภาคอีสาน), เมา, เซาะแมว, ช้องแมว (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gmelina arborea Roxb.
ชื่อสามัญ Gamari
วงศ์ LABIATAE
ถิ่นกำเนิดซ้อ
ซ้อ จัดเป็นไม้ยืนต้นในวงศ์กะเพรา (LABIATAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ไปในอินเดีย บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และทางตอนใต้ของจีน ต่อมาจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนของแอฟริกา และอเมริกาใต้ สำหรับในประเทศไทยพบซ้อ กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักจะพบขึ้นตามป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,500 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณซ้อ
- ใช้บำรุงร่างกาย
- ใช้ฟอกเลือด
- แก้ปวดท้อง
- แก้พิษต่างๆ
- แก้ผื่นคัน
- แก้น้ำกัดเท้า
- แก้โรคผิวหนัง
- ใช้เป็นยาระบาย
- ใช้แก้อาการไอ
- แก้อาการหนองใน
- แก้โรคเรื้อน
- รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับเลือด
- รักษาอาการเนื้องอกในช่องท้อง
- ใช้แก้อาการปวดต่างๆ
- ช่วยขับน้ำนมในสตรี
- ช่วยลดอาการเจ็บกระเพาะ
- ช่วยลดความกระหาย
- บรรเทาอาการระคายเคือง ทางผิวหนัง
- รักษาอาการโลหิตจาง
- รักษาวัณโรค
- แก้ตกขาว
- รักษาหัวล้าน
- บำรุงเลือด หรือ อาการผิดปกติของเลือด
- ใช้รักษากรดไหลย้อน
- แก้ปวดท้อง
- รักษาริดสีดวงทวาร
- ขับพยาธิ
- แก้อาการคันตามง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้า
- ใช้รักษาโรคเท้าเปื่อย
ซ้อ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้านอาทิเช่น ผลสุกมีรสหวานมีการนำมาบีบเอาน้ำผสมมกับข้าวเหนียวแล้วนำมาหมกไฟใช้รับประทาน ส่วนดอกมีรสหวาน ชาวกะเหรี่ยง และชาวไทยใหญ่ ใช้ทำผสมกับแป้งแล้วนำไปทำขนม ซึ่งจะได้ขนมสีเหลืองที่มีกลิ่นหอม และในส่วนของเนื้อไม้ที่มีลักษณะเนื้อละเอียดเป็นเสี้ยนตรง มีสีขาวแกมสีเหลือง และจะเข้มขึ้นหากทิ้งไว้นาน สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง หรือ ใช้ทำโครงสร้างต่างๆ ของบ้าน เช่น เสาบ้าน ไม้กระดาน วงกบประตู หรือ ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เกวียน เรือ พาย ครก สาก ไหนึ่งข้าว กระเดื่อง โลงศพ หีบใส่ของ กังหันน้ำ หรือ เขียงไม้ เนื่องจากมีความทนทานไม่แตกหักง่าย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ฟอกเลือด แก้พิษต่างๆ แก้ปวดท้อง โดยนำราก หรือ ลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้รักษาแผลโดยนำใบมาคั้นเอานำราดบริเวณแผล และใช้ใบที่คั้นพอกแผล
- ใช้แก้อาการไอ แก้หนองในโดยนำน้ำคั้นจากใบสดมาดื่ม ใช้เป็นยาระบายโดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้โรคผิวหนังผดผื่น คัน โดยใช้เปลือกต้นซ้อนำมาต้มกับน้ำอาบ หรือ จะใช้เปลือกต้นนำมาขูดเป็นฝอยๆ บีบเอาแต่น้ำใช้ใส่ผื่นคัน
- ใช้แก้อาการคันตามง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้า โดยนำเปลือกต้นตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้รักษาโรคเท้าเปื่อย รักษาแผลที่เกิดจากน้ำกัดเท้า โดยนำเปลือกต้นต้มกับน้ำใช้แช่เท้า หรือ นำเปลือกต้นนำมาทุบแล้วบีบเอาแต่น้ำทาแผลที่เท้า
ส่วนในประเทศอินเดีย มีรายงานว่ามีการใช้รากต้นซ้อ เป็นสมุนไพรโดยนำมาต้มน้ำดื่มเพื่อใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย รักษาอาการเนื้องอกในช่องท้อง ใช้แก้อาการปวดต่างๆ ขับน้ำนม ลดอาการเจ็บกระเพาะ ช่วยลดความกระหาย และบรรเทาอาการระคายเคือง ทางผิวหนัง ผลของซ้อรักษาอาการ โลหิตจาง วัณโรค ตกขาว หัวล้าน ดอกซ้อ ใช้บำรุงเลือด หรือ อาการผิดปกติของเลือด และรักษาโรคเรื้อน ส่วนรากใช้รักษากรดไหลย้อน ปวดท้อง ริดสีดวงทวาร ขับพยาธิ และใช้เป็นยาระบาย เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของซ้อ
ซ้อ จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีความสูง 5-10 เมตร ผิวลำต้นเรียบ ลำต้นสีขาวอมเทาส่วนกิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม และมีขนละเอียดขึ้นปกคลุม
ใบซ้อ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง หรือ รูปหัวใจ มีขนาดกว้าง 10-15 เซนติเมตร และยาว 20-25 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปลิ่มหยักเข้าคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลมขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนท้องใบด้านล่างมีนวล มีขนสั้นนุ่มขึ้นปกคลุม และมีเส้นแขนงใบประมาณ 3-5 คู่ ส่วนก้านใบยาว 3-10 เซนติเมตร และมักจะเป็นร่องด้านบน
ดอกซ้อ ออกเป็นช่อกระจุกแบบแยกแขนงสั้นๆ บริเวณปลายกิ่ง ซึ่งจะมี 1 ช่อ หรือ หลายช่อ ช่อดอกยาว 7-15 เซนติเมตร และจะมีดอกย่อยจำนวนมาก สำหรับดอกย่อยจะมีใบประดับที่หลุดร่วงได้ง่าย และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นรูประฆังยาว 0.3-0.4 เซนติเมตร ปลายกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก มีขนติดส่วนกลีบดอกเป็นกลีบแบบสมมาตร ลักษณะเป็นรูปปากแตร ยาว 2-4 เซนติเมตร ส่วนปลายกลีบแยกเป็น 5 กลีบ มีขนาดไม่เท่ากัน แบ่งเป็นกลีบบน 2 กลีบ และกลีบล่าง 3 กลีบ ด้านนอกกลีบเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนด้านในหลอดกลีบเป็นสีครีมอ่อนๆ กลีบปากล่างด้านในมีสีเหลือง โดยดอกจะมีเกสรเพศผู้สั้น 2 ก้าน และยาว 2 ก้าน ยื่นไม่พ้นปากหลอด ส่วนยอดเกสรเพศเมียมีแฉก 2 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน
ผลซ้อ เป็นผลสด แบบเมล็ดเดียว ลักษณะของผลกลม หรือ รูปไข่กลับ ผิวผลเกลี้ยงเป็นมัน มีกลิ่นเฉพาะตัว ผลมีขนาด 1.5-2 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ด้านในผลมีเมล็ดเป็นรูปรีกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์ซ้อ
ซ้อสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้
นำผลซ้อ ที่แก่จัดมาทำความสะอาดแล้วแช่น้ำประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วจึงนำลงเพาะในกระบะเพาะให้เป็นแถว ห่างกันประมาณ 4 นิ้ว แบบ Line sowing เพื่อสะดวกแก่การย้ายชำ จากนั้นใช้ทรายละเอียดโรยทับให้กลบผิวพอมิด ไม่หนาจนเกินไป จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ให้แห้ง แต่ก็ไม่ให้เกิดน้ำขัง โดยทำการรดน้ำ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังจากเพาะประมาณ 15-16 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกไปเรื่อยๆ และจะงอกเต็มที่ประมาณ 30 วัน หลังจากเมล็ดงอกเป็นต้นกล้าประมาณ 4 อาทิตย์ หรือ มีใบแท้ 1 คู่ ก็สามารถเริ่มย้ายชำได้ หลังจากการย้ายชำแล้ว กล้าไม้ซ้อจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ภายในระยะ 2 เดือนแรก แต่ก็ควรรดน้ำ 2 เวลา เช้า-เย็น เมื่อครบ 3 เดือน จึงสามารถย้ายลงปลูกยังที่ต้องการได้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเมทานอลจากกิ่ง ลำต้น และเปลือกต้นซ้อ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น artanin, panitin G, decarine, leptodactylone, N-methylflindersine,5,7-dimethoxycoumarin, 7-geranyloxy-5-methoxycoumarin, γ-fagarine ส่วนสารสกัดจากแก่น ลำต้น ของซ้อพบสาร 4-hydroxysesamin, paulownin, gmelinol, β-sitosterol, gummadiol, 4-epigummadiol และสารสกัดจากรากยังพบสาร umbelliferone-7-apiosylglucoxide นอกจากนี้น้ำมันจากเมล็ดยังพบสาร 3-hexenol, 1-octen-3-ol, hexanol, heptacosane และ pentacosane เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของซ้อ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดซ้อ จากส่วนเปลือกลำต้น กิ่ง ใบ และน้ำมันจากเมล็ดของซ้อ ในต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ เช่น ต้านจุลชีพ ป้องกันโรคเบาหวาน ต้านอาการชัก มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ต้านอาการท้องร่วง ลดไข้ แก้ปวด ยาต้านแบคทีเรีย และเชื้อรา ต้านการเกิดแผลในทางเดินอาหาร ต้านอนุมูลอิสระ และต้านมะเร็ง ลดไขมันในเลือดและมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของซ้อ
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ซ้อ เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ซ้อ
- ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล. 2541. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวขมุ ชาวลัวะ และชาวถิ่นในบางพื้นที่ของจังหวัดน่านวิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 242 หน้า
- อาหารเพื่อสุขภาพ: ปีที่ 31 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2544. “คิวเท็น (Q10) กับสุขภาพ”. (เอกราช เกตวัลห์). สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Banu M, Gururaja GM, Deepak M, Roopashree T, Shashidhara S. An overview on Phytochemistry and Pharmacological properties of Gmelina arborea. J Nat Prod Plant Resour. 2013; 3; 62
- P. Deepthi et al.A review on Gambhari (Gmelina arborea Roxb.)J. Pharmacogn. Phytochem.(2015)
- Evans J. Plantation forestry in the tropics Clarendon press, Oxford, UK. 1982; 472.
- Moronkola DO, Ogunwande IA, Ba!er KHC, Ozek T, Ozek G. Essential Oil Composition of Gmelina arborea Roxb., Verbenaceae, From Nigeria. J Essent Oil Res. 2009; 21: 264.
- Lauridsen EB, Kjaer ED. Provenance research in Gmelina arborea Linn. Roxb. A summary of results from three decades of research and a discussion of how to use them, International For Rev. 2002; 4: 1.
- P. Deepthi et al.A review on Gambhari (Gmelina arborea Roxb.)J. Pharmacogn. Phytochem.(2015)
- . Syamsul F, Takeshi K, Toshisada S. Chemical constituents From Gmelina arborea bark and their antioxidant activity. J wood sci. 2008; 54: 483