ส้มเขียวหวาน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ส้มเขียวหวาน งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ส้มเขียวหวาน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ส้มแมนดาริน, ส้มแก้ว, ส้มแป้นกระดาน, ส้มตรังกานู, ส้มแสงทอง, ส้มเหม็น (ภาคกลาง), มะเขียว, มะขุน, มะบาง, ส้มจุก, ส้มเชียงตุง (ภาคเหนือ), ส้มแป้นเกลี้ยง, ส้มแป้นหัวจุก, ลีมากุและลอเก๊าะ (ภาคใต้), เฉินผีจวี๋, จวี๋ชิงผี (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus reticulata Blanco
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ C. chrysocarpa Lushington., C. nobilis Lour. var. genuina Tanaka, C. papillaris Blanco, C. crenatifolia Lushington var. lycopersicaeformis Lushington, C. deliciosa Tenore, C. nobilis Lour. var papaillaris Wester, C. crenatifolia Lushington., C. papillaris
ชื่อสามัญ Mandarine, Mandarine orange, Tangerine
วงศ์ RUTACEAE


ถิ่นกำเนิดส้มเขียวหวาน

มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ส้มเขียวหวานมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยมีบันทึกในประวัติศาสตร์สมัยเซียแบะยวี่ (ประมาณ 2 พันปีก่อนคริสตศักราช) ระบุว่าส้มเขียวหวานเป็นผลไม้ที่นำไปถวายกษัตริย์ในสมัยนั้น และได้แพร่ไปยังต่างประเทศครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ก่อน ค.ศ.206 ปี-ค.ศ.220) ก็ได้แพร่ไปยังอินเดีย และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ จนกระทั่งสมัยถัง (ค.ศ.618-907)  ก็ได้แพร่ไปยังญี่ปุ่นและเกาหลี โดยมีพระชาวญี่ปุ่นเป็นผู้นำไปปลูกยังญี่ปุ่น และในสมัยซ้ง (ค.ศ.1127-1279) จีนได้เปิดการค้าทางเรือกับต่างประเทศ ส้มเขียวหวาน จีนได้ถูกส่งไปขายยังโปรติเกส หลังจากนั้นก็แพร่ไปยังยุโรป แอฟริกา และลาตินอเมริกา สำหรับในประเทศไทยมีการนำส้มเขียวกวานเข้ามาปลูกโดยชาวจีนอพยพเพื่อรับประทานในครัวเรือนมากกว่า 100 ปีมาแล้ว ซึ่งแหล่งปลูกแรก คือ ที่ตำบลบางมด และเมื่อมีผู้นิยมมากขึ้นจึงมีการขยายการปลูกออกเป็นส่วนเพื่อจำหน่าย โดยคนไทยรู้จักดีในนาม “ส้มบางมด” และในปัจจุบันได้มีส้มเขียวหวานมากกว่า 40 สายพันธุ์ กระจายตามแหล่งปลูกในจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ สระบุรี จันทบุรี นครปฐม และนครนายก เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณส้มเขียวหวาน

  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้จุกแน่นหน้าอก
  • แก้ปวดชายโครง
  • ช่วยขับลม
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยกล่อมตับ
  • แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  • รักษาโรคผมร่วง
  • แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย
  • แก้เสมหะโลหะ
  • แก้ลมกองละเอียด กองหยาบ
  • แก้ทางลม
  • รักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม)
  • แก้อาการหน้ามือ ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน
  • แก้ลมจุกแน่นในท้อง
  • บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้หวัด
  • แก้ท้องผูก
  • แก้เจ็บคอ
  • แก้ปวดเต้านม
  • แก้ปวดอัณฑะ
  • แก้ปวดกษัยลม
  • ทำให้ชุ่มคอ
  • แก้ไอ ไอเรื้อรัง 
  • แก้ฤทธิ์เหล้า
  • ขับปัสสาวะ
  • แก้พิษไข้
  • แก้ปัสสาวะเหลือง
  • ใช้บำรุงน้ำนมในสตรีหลังคลอด
  • ใช้ไล่ยุง

           ส้มเขียวหวาน จัดเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ ทั่วโลก โดยสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผลไม้สด หรือ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ได้หลายชนิด เช่น น้ำส้มคั้น แยมส้ม ผลไม้กระป๋อง น้ำสลัด หรือ นำมาส้มเขียวหวาน สกัดเป็นอาหารเสริมสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้สกัดทำผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนต่างๆ เช่น แชมพู สบู่ ครีมทาผิว ครีมทาหน้า เจลแต้มสิว เป็นต้น

ส้มเขียวหวาน

ส้มเขียวหวาน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยย่อยอาหาร แก้หวัด แก้เจ็บคอ แก้ท้องผูก โดยการนำผลสุกของส้มเขียวหวานมารับประทานสด
  • ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ขับลม กล่อมตับ แก้ปวดท้อง แก้ผมร่วง แก้จุกแน่นหน้าอก แก้ปวดชายโครง โดยนำเปลือกผลแห้ง 3-10 กรัม มาชงกับน้ำร้อนดื่ม
  • ใช้แก้ไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก โดยใช้ส้ม 1 ผล (ทั้งเปลือก) น้ำตาลกรวด 1 กรัม ขิง สด 2 แว่นหั่นบางๆ เอาไปตุ๋นนาน 1 ชั่วโมง แล้วกินทั้งเปลือก
  • ใช้ฟื้นไข้แก้ อาการร้อนใน คอแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะเหลือง ให้กินส้มครั้งแรก 3-4 ผล หลังจากนั้น 1-2 ผลวันละ 3 ครั้ง
  • ใช้แก้ฤทธิ์สุรา โดยคั้นน้ำจากส้ม 2 ผล เติมน้ำจนได้ 1 แก้ ใช้ดื่ม
  • ใช้บำรุงน้ำนมในสตรีหลังคลอด โดยใช้เมล็ดส้ม 15 กรัม ทุบให้แหลกต้มกับน้ำแล้วเติมน้ำส้มสายชู 30 กรัม ลงไป กินวันละ 2 ครั้ง เช้าและค่ำเป็นเวลา 3-5 วัน
  • ใช้แก้เจ็บคอ โดยนำเปลือกส้มต้มน้ำ ดื่มต่างน้ำ
  • ใช้แก้อาการจุกแน่นบริเวณท้อง และหน้าอก เนื่องจากอาหารไม่ย่อยโดยใช้ส้ม 1 ผล ล้างให้สะอาดเอาเฉพาะเปลือกเคี้ยวกิน หรือ นำไปตากแห้งแล้วบดเป็นผงกินครั้งละ 1.5 กรัม
  • ใช้ไล่ยุง โดยนำส้มตากแห้ง จุดไฟ ปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้สักครู่
  • ใช้ปรุงยาหอมแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย

           ในตำรายาไทยยังจัดให้ผิวส้มเขียวหวานจัดอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ที่ประกอบด้วย ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มจีน ผิวส้มตรังกาน ผิวส้มซ่า ผิวส้มโอ ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว หรือ ผิวส้มโอมือ และผิวมะกรูด มีสรรพคุณ แก้เสมหะโลหะ แก้ลมกองละเอียด กองหยาบ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม และตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติต้านยา (ฉบับที่ 5) ยังปรากฏการใช้ผิวส้มเขียวหวาน ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ในตำรับ ยาหอมเทพจิตร ที่มีส่วนประกอบของผิวส้มเขียวหวาน ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ โดยมีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามือ ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่นอีกด้วย ส่วนเนื้อผลมีสรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยย่อยอาหาร แก้หวัด แก้ท้องผูก แก้เจ็บคอ เมล็ดมีสรรพคุณ แก้ปวดท้อง ปวดเต้านม ปวดอัณฑะ แก้ปวดกษัยลม ส่วนในตำรายาจีนระบุว่า ส้มมีรสเปรี้ยวหวาน คุณสมบัติเป็นหยินเย็นเล็กน้อย เนื้อส้มมีสรรพคุณทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ แก้กระหายน้ำ แก้ฤทธิ์เหล้า ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน แก้ไอเรื้อรัง แก้พิษไข้


ลักษณะทั่วไปของส้มเขียวหวาน

ส้มเขียวหวาน จัดเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม ลำต้น ไม่มีหนาม สูงได้ 3-5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก กิ่งแก่มีสีเขียวเข้ม ไม่มีขน แต่กิ่งอ่อนมีหนามเป็นเหลี่ยมเรียว บริเวณกิ่งมีรอยแผลเป็นตรงบริเวณที่ใบหลุด และมีต่อมน้ำมันจะกระจายอยู่ทั่วไป ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปโล่ หรือ รูปไข่มนรี มีขนาดกว้าง 2.5-4 เซนติเมตร และยาว 5.5-8 เซนติเมตร โคนใบสอบแหลมเล็กน้อยปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ หรือ มีฟันเลื่อยเล็กน้อย แผ่นใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน เนื้อใบแข็งท้องใบสีเขียวอมเหลืองมีต่อมน้ำมันอยู่ตามแผ่นใบ และใบมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยว มีขนาดเล็ก โดยจะออกบริเวณปลายยอด และง่ามใบ ขนาดของดอกเมื่อยังตูมมมีความยาว 0.5-0.7 เซนติเมตร เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาวเรียว และมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ในแต่ละดอกมีจำนวนเกสรเพศผู้อยู่ในลักษณะแยกกัน 18-23 อัน และมีเกสรเพศเมีย 3-5 อัน ผล เป็นผลสดมีลักษณะค่อนข้างกลม เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร เปลือกนอกเป็นสีเขียวเปลือกค่อนข้างอ่อนนิ่ม ผิวบางประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร และมีน้ำมันที่เปลือก เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง หรือ สีเหลืองแดงแล้วแต่สายพันธุ์ ผิวผลเรียบเกลี้ยงและเป็นมัน ผิวด้านในมีสีเหลืองอ่อน ภายในมีเนื้อลักษณะฉ่ำน้ำรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีสีส้ม ซึ่งในแต่ละกลีบจะมีเมล็ดสีขาวอยู่ภายใน เมล็ด สีขาวนวล รูปร่างรูปไข่หัวกลับ ปลายเมล็ดแหลม เปลือกเมล็ดแข็งเล็กน้อย ด้านในมีเนื้อเยื่อส่วนสะสมอาหาร สีเขียวอ่อน หรือ เขียวอมเหลือง จำนวนเมล็ดมีมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละกลีบ

ส้มเขียวหวาน

ส้มเขียวหวาน

การขยายพันธุ์ส้มเขียวหวาน

ส้มเขียวหวาน สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การตอนกิ่ง โดยมีวิธีการเช่นเดียวกันกับการตอนกิ่งไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ แต่ทั้งนี้ ส้มเขียวหวาน จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี ได้แก่ ดินร่วน ดินร่วนปนทราย และเป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอ สำหรับการปลูกในที่ปลูกในพื้นที่ลุ่มควรเว้น ระยะระหว่างต้น 3-4 เมตร ส่วนส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ดอน ควรใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 4 เมตร และระหว่างแถว 6 เมตร เมื่อเริ่มติดผลควรทำการค้ำกิ่งด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของส้มเขียวหวาน ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น β-carotene, citric acid, ascorbic acid, naringin, apigenin, hesperidin, caryophyllene, nerol, geraniol, naringenin, limonene, linalool, anthranilic acid, myrcene, nobiletin, nomilin, phellandrene, pinene, sabinene, sinensetin, ocimene, tangeretin

           นอกจากนี้ในผลส้มยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของส้มเขียวหวาน (100 กรัม)

  • พลังงาน                          53                    กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต                13.34               กรัม
  • น้ำตาล                            10.58               กรัม
  • ใยอาหาร                        1.8                   กรัม
  • ไขมัน                             0.31                 กรัม
  • โปรตีน                           0.81                 กรัม
  • เบต้าแคโรทีน              155                  ไมโครกรัม
  • โซเดียม                         2                      มิลลิกรัม
  • วิตามิน A                       34                    ไมโครกรัม
  • วิตามิน B1                    0.058               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2                     0.036               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3                     0.376               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B5                    0.216               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B6                     0.078               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B9                     16                    ไมโครกรัม
  • วิตามิน C                       6.7                  มิลลิกรัม
  • วิตามิน E                        0.2                   มิลลิกรัม
  • โคลีน                             10.2                 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม                     37                    มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                       0.15                 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม                    12                    มิลลิกรัม
  • แมงกานีส                     0.039               มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                     20                    มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม                 166                  มิลลิกรัม
  • สังกะสี                          0.07                 มิลลิกรัม

โครงสร้างส้มเขียวหวาน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของส้มเขียวหวาน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา ของสารสกัดจากเปลือกส้มเขียวหวาน และน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวานระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการเกิดพังผืดที่ปอดมีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านการเกิดพังผืดที่ปอดของสารอัลคาไลน์ในเปลือกส้มเขียวหวานโดยได้ทำการศึกษาทั้งในหลอดทดลอง และในหนูแรท โดยที่สารกลุ่มอัลคาไลน์ที่ได้จากการสกัดเปลือกผลส้มเขียวหวานด้วยเอทานอล (CAE : citrus alkaline extract) เมื่อนำไปทดสอบกับเซลล์ไฟโบบลาสต์ของปอด (MRC-5 cell) และทดสอบในหนูแรท 36 ตัว โดยแบ่งหนูเป็น 6 กลุ่มๆ ละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มหนูปกติให้กินน้ำ กลุ่มที่ 2 เป็นหนูกลุ่มควบคุมให้ bleomycin (เป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบและพังผืดที่ปอด) ร่วมกับน้ำ กลุ่มที่ 3 ได้รับ bleomycin ร่วมกับ prednisolone กลุ่มที่ 4, 5 และ 6 เป็นกลุ่มที่ได้รับ bleomycin ร่วมกับสาร CAE ในขนาด 8, 16 และ 32 มก./กก./วัน ตามลำดับ พบว่าสาร CAE สามารถยับยั้งการอักเสบ และการเกิดพังผืดที่เซลล์ MRC-5 cell ได้ โดยไม่ได้ไปทำลายเซลล์ แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้เซลล์ไฟโบบลาสต์ที่ถุงลม และปอดมีการอักเสบน้อยลงและดีขึ้น พบว่าหนูแรทที่ได้รับสาร CAE จะทำให้ระดับโปรตีนที่ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อปอด (MMP : matrix metalloproteinase) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ระดับของโปรตีนที่ทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื้อเยื่อปอด (TIMP-1 : tissue inhibitor of metalloproteinase-1, TNF-α : tumornecrosis factor-α) ลดน้อยลง จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารกลุ่มอัลคาไลน์ที่ได้จากการสกัดเปลือกผลส้มเขียวหวานด้วยเอทานอลสามารถยับยั้งการถูกทำลายของเซลล์ไฟโบบลาสต์ที่ปอด (MRC-5 cell) และป้องกันการเกิดการอักเสบและพังผืดที่ปอดที่ถูกกระตุ้นด้วย bleomycin โดยมีกลไกไปเพิ่มโปรตีน MMP : matrix metalloproteinase และลด TIMP-1 : tissue inhibitor of metalloproteinase-1 และ tumornecrosis factor-α : TNF-α

           ฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ respiratory syncytial virus และลดการอักเสบของปอดมีการทดสอบฤทธิ์ของสาร tangeretin จากส้มเขียวหวาน (Citrus reticulate) ในหนูเม้าส์ โดยป้อนสารดังกล่าวในขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก./วัน เป็นเวลา 3 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส RSV (respiaatory syrcytial virus) พบว่าสาร tangeretin มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส RSV ในปอดหนู และลดการอักเสบของปอด โดยลดการหลั่ง interleukin (IL)-1β ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ และเมื่อศึกษากลไกในการลดการอักเสบของสาร tangeretin ในเซลล์ macrophage ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส RSV พบว่าสาร tangeretin มีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยยับยั้งการทำงานของ nuclear factor-κB (NF-κB) ซึ่งมีผลให้ลดการหลั่ง IL-1β สรุปได้ว่า สาร tangeretin มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส RSV และลดการอักเสบของปอดได้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสมานแผล มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์องค์ประกอบทางเคมีในน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวาน (Citrus reticulata) ด้วย Gas Chromatography-Mass Spectroscopy (GC-MS) พบว่า สารสำคัญที่พบมากที่สุดในมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวาน คือ D-limonene (89.31%) เมื่อทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยการวิเคราะห์หาปริมาณสารประกอบฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวานมีปริมาณสารฟีนอลิก 17.03±3.24 มก. เทียบเท่ากับ gallic acid/ก. ของน้ำมันหอมระเหย และมีปริมาณสารฟลาโวนอยด์ 14.63±0.95 มก. เทียบเท่ากับ catechin/ก. ของน้ำมันหอมระเหย และมีความสามารถในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) radical scavenging assay เท่ากับ 73.32% และทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli และ Staphylococcus aureus ด้วยวิธี disc diffusion method พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวาน 100 มคล. มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด โดยมีค่าเส้นผ่าศูนย์กลางของพื้นที่ยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition diameter) เท่ากับ 0.6±0.50 และ 0.8±0.25 ซม. ตามลำดับ ในขณะที่ยาต้านเชื้อมาตรฐาน gentamicin มีค่าท่ากับ 1.0±0.31 และ 1.3±0.42 ซม. ตามลำดับ และทำการทดสอบฤทธิ์สมานแผลด้วยการโกนขนบริเวณหลังของกระต่าย และใช้มีดกรีดทำให้เกิดแผลบนหลังกระต่ายขนาด 1.5 ซม. แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ไม่ได้รับสารทดสอบใดๆ (negative control) กลุ่มที่ 2 ทาแผลด้วยยารักษาแผลมาตรฐาน pyodine (positive control) กลุ่มที่ 3 ทาแผลด้วยน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้ม 0.5 มล. และปิดแผลด้วยแผ่นฟิล์ม (occlusive dressing) กลุ่มที่ 4 ทาแผลด้วยน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้ม 0.5 มล. เพียงอย่างเดียว ทำการทดสอบนาน 8 วัน พบว่า ขนาดของแผลบนผิวหนังของกระต่ายที่ทาน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มมีขนาดเล็กลงมากกว่ากระต่ายในกลุ่มควบคุมทั้ง 2 กลุ่ม และการรักษาแผลด้วยการใช้น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเพียงอย่างเดียวให้ผลดีกว่าการใช้มันหอมระเหยจากเปลือกส้มร่วมกับการปิดด้วยแผ่นฟิล์ม นอกจากนี้ เมื่อทดสอบฤทธิ์ก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังกระต่ายด้วยการโกนขนบริเวณหลัง และทาน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวานและสังเกตการเกิดผื่นแดง (erythema) เมื่อเวลาผ่านไป 2, 4 และ 6 ชม. พบว่า ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังกระต่าย ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวานมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรีย ช่วยสมานแผล และไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆ ได้ระบุว่า สารสกัดจากส่วนอื่นๆ ของส้มเขียวหวานยังมีฤทธิ์ต้านไวรัส ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของเชื้อไวรัส ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ ต้านอะมีบา ต้านยีสต์ ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ต้านอาการตัวเหลือง เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง และมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของส้มเขียวหวาน

มีรายงานการทดสอบความเป็นพิษของน้ำมันหอมระเหยให้หนู หรือ กระต่าย ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่ง (LD50) หนึ่ง คือ มากกว่า 5 ก./กก. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน้ำมันหอมระเหยของเปลือกส้มเขียวหวาน มีความเป็นพิษต่ำมาก


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในตำราแพทย์แผนจีนระบุว่า ส้มมีคุณสมบัติเย็น ดังนั้นผู้ที่ม้ามพร่อง คือ มีอาการท้องอืด ท้องแน่น อาหารไม่ค่อยย่อย และมีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป ซึ่งมีจุดสังเกต คือ หากรับประทานส้มไปแล้วทำเกิดเสมหะในลำคอมากขึ้น ก็ไม่ควรกินส้มเขียวหวาน มากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการพร่องหยางได้


เอกสารอ้างอิง ส้มเขียวหวาน
  1. วิฑิต วัฒนาวิบูล. ส้ม-แมนดาริน-คอลัมน์อาหารสมุนไพร. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 62.มิถุนายน 2527.
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ส้มเขียวหวาน”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 528.
  3. มงคล แซ่หลิม, 2536. การผลิตส้ม.สงขลา. ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  4. พินิจนคร, รายการ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ สายน้ำพระราชทานในรัชกาลที่ 5 เมืองข้าว เมืองนาแห่งราชอาณาจักรสยาม:
  5. นันทวัน บุณยุประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ), 2542. สมุนไพรพื้นบ้าน 3. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร. บริษัทประชาชื่นจำกัด.
  6. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสมานแผลของน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวาน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ฤทธิ์ต้านการเกิดพังผืดที่ปวดของสารอัลคาไลน์ในเปลือกส้มเขียวหวาน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. ฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ respiratory syncytialvirus และลดการอักเสบของปอดของสาร. tangeretin ในส้มเขียวหวาน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. L.P.A. Oyen and Nguyen Xuan Dung (บรรณาธิการ) 2544. Prosea ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พืชที่ให้น้ำมันหอม ลำดับที่ 19.พิมพ์ครั้งที่ 1.นนทบุรี. สหมิตรพริ้นติ้ง.
  10. ส้มเขียวหวาน. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thoicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=127.
  11. Haag.J.D.Lindstrom,M.J.and Gould, M.N.1992 Limonene-induced regression of mammary carcinomas Cancer Res., 52, 4021-4026.
  12. Zheng, G., Kenney, P.M., and Lam, L.K.T. 1992. Anethofuran, carvone, and limonene : Potential cancer chemopreventive agents from dill weed oil and caraway oil Planta Medica., 58,338-341.