แฝกหอม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย

แฝกหอม งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แฝกหอม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าแฝก, แฝก (ทั่วไป), หญ้าแฝกหอม, แฝกลุ่ม (ภาคกลาง), ตะไคร้จีน, แคมหอม, แกมหอม (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vetiveria zizanioides (L.) Nash
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Chrysopogon zizanioides (L.) Roberty, Rhaphis zizanioides (L.) Roberty., Phalaris zizanioides Linn., Aerticillata Lamk.,
ชื่อสามัญ Vetiver, vetiver grass, Sevendara grass
วงศ์ Gramineae

ถิ่นกำเนิดแฝกหอม 

แฝกหอมเป็นพันธุ์พืชที่มีการสันนิษฐานถึง ต้นกำเนิดดั้งเดิมว่าอยู่ในประเทศอินเดีย เพราะเป็นหญ้าที่ชาวพื้นบ้านของประเทศอินเดียรู้จักกันมานานหลายร้อยปีมาแล้ว โดยคำว่า Vetiver นั้น รากศัพท์เป็นคำที่แผลงมาจาก คำว่า Vetivern ซึ่งเป็นภาษาทมิล (ชาวทมิลเป็นชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ในตอนเหนือของประเทศอินเดีย) แปลว่ารากหอม ส่วนคำว่า zizanioides ในภาษาทมิลมีความหมายถึง ริมแม่น้ำ หรือ ริมตลิ่ง ซึ่งน่าจะหมายความว่าพืชนี้เดิมพบมากบริเวณริมแม่น้ำในประเทศอินเดีย

            หลังจากนั้นแฝกหอม จึงมีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติออกไปอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบันพบมากในภูมิภคเอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งที่ขึ้นตามธรรมชาติหรือที่มีการนำมาเพาะปลูก ทั้งนี้แฝกหอมจะขึ้นได้ดีในสภาพในดินต่างๆ จากความสูงที่ระดับน้ำทะเล จนถึงระดับประมาณ 800 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณแฝกหอม

  • ช่วยทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ
  • ช่วยกล่อมประสาท
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงหัวใจ 
  • แก้ท้องเดิน 
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ไข้พิษ 
  • แก้ไข้อภิญญาณ 
  • แก้ไข้คุดทะราด
  • แก้โรคประสาท
  • แก้ไข้หวัด
  • แก้ปวดเมื่อย
  • ช่วยทำให้นอนหลับ
  • ช่วยทำให้สงบ
  • ช่วยให้ผิวหนังร้อนแดงลด
  • แก้ลมกองละเอียด (อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย  ใจสั่น)
  • แก้ลมวิงเวียน
  • แก้คลื่นเหียน
  • แก้อาเจียน
  • แก้ลมปลายไข้
  • ช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • แก้พิษหัด
  • แก้พิษสุกใส
  • ช่วยลดไข้
  • แก้ปวดศีรษะ
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ช่วยขับระดู
  • ใช้ละลายนิ่ว
  • ใช้เป็นยาละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

           แฝกหอม มาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ โดยที่เราได้รู้จัก และคุ้นเคยกันดีก็คงเป็นการปลูกไว้เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน จากการถูกน้ำกัดเซาะ นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ อีกเช่น ใบใช้เย็บเป็นตับเพื่อใช้มุงกันแดด หรือ ทำเป็นผ้าใบกันแดด ก้านช่อดอกสามารถใช้ทำไม้กวาด และใช้ทอเสื่อ ส่วนขอรากที่มีความหอมยังสามารถนำมาใช้ทำบุหงา หรือ นำไปแขวนในตู้เสื้อผ้าเพื่อให้กลิ่นหอม และไล่แมลงกินผ้า หรือ จะนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอม และระเหยก็ได้ โดยในปัจจุบันมีการนำน้ำมันหอมระเหยของรากแฝกหอมไปแต่งกลิ่นของผลิตภัณฑ์ เสริมความงาม และเครื่องสำอางต่างๆ อีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ขับระดู แก้ปวดท้อง ท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ละลายนิ่ว โดยใช้รากแฝกหอม แห้งต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะใช้รากแห้งชงกับน้ำร้อนแบบชาก็ได้ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับลม แก้ร้อนใน แก้หวัด โดยการนำเหง้าแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม น้ำมันหอมระเหยมีกลิ่นหอมใช้สูดดมช่วยให้จิตใจสงบ ช่วยในการนอนหลับได้ดี


ลักษณะทั่วไปของแฝกหอม

แฝกหอมจัดเป็นพืชตระกูลหญ้า ที่เจริญเติบโตเป็นกอขนาดใหญ่ โดนกอเบียดแน่น เหง้าเป็นกระจุก แน่น มีกลิ่นหอม รากฝอยสามารถหยั่งลึกลงไปในดินได้ถึง 4 เมตร ลำต้นตั้งตรง สูง 1-1.5 เมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-8  มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยงใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แตกจากโคนกอ แผ่นใบแคบยาว ขอบใบขนาน เนื้อของแผ่นใบกร้าน สากใบมีความยาว 45-100 เซนติเมตร กว้าง 0.6-1.2 เซนติเมตร หลังใบโค้งปลายแบนสีเขียวเข้ม มีไขเคลือบมากทำให้ดูมัน ท้องใบออกขาวซีดกว่าด้านหลังใบ ดอกออกเป็นช่อตั้ง ซึ่งจะออกที่ปลายยอด ที่มีกานช่อดอกโผล่ยื่นออกจากลางลำต้น มีลักษณะเป็นรวง ก้านช่อดอก และรวงสูงได้ประมาณ 90-150 ซม. และแตกเป็นช่อดอกย่อย โดยช่อดอกย่อยของหญ้าแฝกหอม ส่วนใหญ่มีสีม่วงแต่ก็อาจจะมีสีเขียวปนอยู่บางดอก เมล็ดแฝกหอมเป็นเมล็ดแบบแห้งรูปกระสรวย ผิวเรียบ หัวท้ายมน ขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มม. ยาว 2-3 มม. เปลือกบาง

แฝกหอม

การขยายพันธุ์แฝกหอม

แฝกหอม สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกหน่อ (ซึ่งในธรรมชาติแฝกหอมก็จะมีการแตกหน่อเพื่อทดแทนต้นที่แก่อยู่เสมอ) โดยมีวิธีการดังนี้ เริ่มจากขุดกอแฝกหอมออกมาตัดรากออก ให้มีความยาว 5 เซนติเมตร ตัดใบให้มีความยาว 20 เซนติเมตร จากนั้นแยกหน่อออกจากกัน นำมาแช่น้ำจนกว่ารากใหม่จะแตกออกมาแล้วจึงนำลงปลูกในแปลงที่มีขนาดความกว้าง 1 เมตร โดยให้มีระยะห่างระหว่างต้น และระหว่างแถว 50x50 เซนติเมตร ความรดน้ำให้สม่ำเสมอในช่วงแรก หลังปลูก 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จากนั้นอีก 3-4 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้

แฝกหอม

องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาวิจัยพบว่าในรากแฝกหอม มีสาระสำคัญคือ น้ำมันหอมระเหย (Vertiveroil) โดยมีรายงานว่ารากแฝกหอมแห้งมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยอยู่ร้อยละ 0.2-1.8 ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ vetiverol, alpha-vetivone, beta-vetivone, beta-vetivenene, khusimol, isokhusimol, vetivenol, vetivenyl acetate, vetivenes, vetivenic acid. และมีคุณสมบัติทางเคมีดังนี้  

Specific gravity at 30 c                        0.9882-1.0219

Refractive index at 30 c                      1.514-1.519

Optical rotation                                   -53.4 to 101.8

Acid value                                            6.6-40.9

Ester value                                          10.1-24.1

Ester value after acetylation               162.1-185.7

Carbonyls                                            55.4-82.9%

 แฝกหอม

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแฝกหอม

ฤทธิ์ลดอาการปวด และต้านการอักเสบ มีการทดสอบฤทธิ์ลดอาการปวด และต้านการอักเสบในหนู โดยใช้การทดสอบ writhing test และ formalin test การทดลอง writhing test ทำโดยฉีดน้ำมันหอมระเหย (EO) เข้าทางช่องท้องหนูในขนาด 25, 50, และ 100 mg/kg หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีด 0.85% acetic acid (10 mL/kg) เข้าทางช่องท้องแล้วนับจำนวนครั้งที่หนูเกิดความเจ็บปวดจนเกิดอาการบิดงอลำตัว (writhing) ผลการทดลองพบว่า EO ในขนาด 50 และ 100 mg/kg สามารถลดจำนวนครั้งในการเกิด writhing  ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 51.9 และ 64.9% ตามลำดับส่วนการทดลอง formalin test ให้ EO ในขนาด 25, 50 และ 100 mg/kg และกลุ่มสุดท้ายให้ aspirin ขนาด 200 mg/kg หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีด 2.5% formalin เข้าทางใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้าหลังด้านขวา สังเกตพฤติกรรมใน 2 ช่วง คือ ในช่วง early phase (0-5 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงอาการปวดแบบเฉียบพลัน (acute pain) อีกช่วงหนึ่ง คือ late phase (15-30 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการอักเสบ inflammation phase ผลการทดลองพบว่าสารสกัด EO ในขนาด 50 และ 100 mg/kg สามารถลดเวลาที่หนูยกเท้าข้างที่ถูกฉีด formalin ขึ้นเลีย ลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติใน late phase (56.7 และ 86.2%, ตามลำดับ)

            ฤทธิ์ต้านอาการชัก มีกากรศึกษาทดลองสารสกัดจากแฝกหอม ในหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดการชักด้วยการช็อตไฟฟ้า พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเหง้าแฝกหอมในขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถยับยั้งการเกิดอาการชักที่เกิดจากการช็อตไฟฟ้าได้ (p<0.001) และสารสกัดขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทำให้ระยะเวลาก่อนเริ่มเกิดการชักยาวนานขึ้น เมื่อกระตุ้นการชักด้วยสารเคมี Pentylenetetrazole โดยทำให้สัตว์ทดลองรอดชีวิต 83% แต่ขนาดของยามาตรฐานต้านการชัก phenobarbital ที่ทำให้สัตว์ทดลองรอดชีวิตทั้งหมด คือ ขนาด 20mg/kg และสารสกัดเอทานอลจากเหง้าแฝกหอม ที่ทำให้สัตว์ทดลองรอดชีวิตทั้งหมด คือ ขนาด 200 และ 400 mg/kg

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเบาหวานของต้นแฝกหอม โดยทำการทดลองในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงด้วยการฉีด alloxan monohydrate ขนาด 150 มก./กก. เข้าทางเส้นเลือดดำ จากนั้น 48 ชั่วโมง จึงแบ่งหนูแรทออกเป็น 6 กลุ่ม (กลุ่มละ 6 ตัว) กลุ่มที่ 1 ป้อนด้วยน้ำเกลือ (ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ป้อนด้วยยาต้านเบาหวาน glibenclamide ขนาด 10 มล./กก./วัน กลุ่มที่ 3, 4, 5 และ 6 ป้อนสารสกัดเอทานอลรากแฝกหอมขนาด 100, 250, 500 และ 750 มก./กก./วัน ตามลำดับ หลังจากป้อนยา และสารสกัดทำการเก็บตัวอย่างเลือดหนูในชั่วโมงที่ 0, 2, 4, 6, 8 และ 24 เพื่อตรวจวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงในระยะเฉียบพลัน จากนั้นเลี้ยงหนูต่อไปจนครบ 28 วัน และทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือดในวันที่ 0, 2, 14, 16, 18 และ 24 ของการทดลอง ผลจากการทดลองพบว่าในระยะเฉียบพลัน การป้อนหนูด้วยสารสกัดเอทานอลรากแฝกหอมขนาด 750 มก./กก. มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดหนูลงในชั่วโมงที่ 2 และ 4 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และการป้อนสารสกัดเอทานอลรากแฝกหอม ทุกขนาดมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดในวันที่ 7, 14, 21 และ 28 ของการทดลองอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

            ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของน้ำมันหอมระเหยจากรากแฝกหอม ด้วยวิธี free radical scavenging (DPPH) และ lipid peroxidation inhibition (TBARs) ผลการทดสอบฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระ (free radical scavenging) ด้วยวิธี DPPH ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครลิตร/มิลลิลิตร พบว่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 90.18±0.84% คิดเป็นค่า IC5o เท่ากับ 0.635±0.036 mg/ml และแสดงผลการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) ด้วยวิธี TBARs ที่ความเข้มข้น 0.95 ไมโครลิตร/มิลลิลิตร มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 23.90±5.68% 

การศึกษาพิษวิทยาของแฝกหอม

มีการศึกษาวิจัยความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอลจากรากแฝกหอม โดยให้สารสกัดรากแฝกหอมในหนูเม้าส์เพศผู้สายพันธุ์ swiss albino จำนวน 6 ตัว ในขนาด 100, 200, 300, 400, 500  และ 600 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังจากนั้นสังเกตอาการของการเกิดพิษ และความผิดปกติของพฤติกรรม ทุกชั่วโมง จนครบ 48 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่าเมื่อให้สารสกัดในขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มีการตาย หรือ ความผิดปกติของพฤติกรรมของหนู และพบค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 600 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 

            นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาความเป็นพิษอีกฉบับหนึ่งระบุว่า ในการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดรากแฝกหอม ด้วยเอทานอล 50% โดยป้อนสารสกัดดังกล่าวแก่หนูในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผลปรากฏว่าตรวจไม่พบอาการเป็นพิษแต่อย่างใด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่ารายงานผลการศึกษาทางพิษวิทยาจะระบุว่าแฝกหอม ไม่มีพิษ แต่ถึงอย่างไรก็ตามในการใช้แฝกหอมเป็นสมุนไพรก็ควรระระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีตามตำรับยาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มาก หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนใช้แฝกหอมเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง แฝกหอม
  1. เต็ม สมิตตินันทน์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง) กรุงเทพมหานคร.ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, 2523 ซ 345.
  2. “แฝกหอม” หนังสือสมุนไพร สวนสิริรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า206.
  3. ภก.เย็นจิตร เตชะดำรงสิน, ดรุณ เพ็ชรพลาย, การศึกษาลักษณะทางเคมี และกระจายของรากแฝกหอมในท้องตลาด. วารสารการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 3. ฉบับที่ 3.กันยายน-ธันวาคม. 2548
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังสี. ธวัชชัย มังคละคุปต์”แฝก (Faek) หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 188.
  5. ดรุณ เพ็ชรพลาย.สมุนไพรรากแฝกหอม.ว.กรมวิทย.พ.2531;30(4):275-81.
  6.  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  7. ฤทธิ์ต้านเบาหวานของแฝกหอม. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. พีรศักดิ์  วรสุนทโรสถ,สุนทร ดุริยะประพันธ์,ทักษิณ อาชวาคม, สายันต์ ตันพานิช, ชลธิชา นิวาสประกฤติ,ปรียานันท์  ศรสูงเนิน. ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำดับที่ 19 พืชที่ให้น้ำมันหอม.นนทบุรี.สหมิตรพริ้นติ้ง,2544;236-44.
  9. วีระชัย ณ นคร.หญ้าแฝกหอม Vetiveria zizanioides Nash (2) เอกสารเผยแพร่หอพรรณไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้.กรุงเทพมหานคร:2535;1-22.
  10. แฝกหอม. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=89
  11.  Gupta R, Sharma KK, Afzal M, Damanhouri ZA, Ali B, Kaur R, et al. Anticonvulsant activity of ethanol extracts of Vetiveria zizanioides roots in experimental mice. Pharm Biol. 2013;51(12):1521-1524.
  12. Husain, A.et al.1988. Major essential Oil-Bearing Plants of lndia. Central Institute of Medicinal and Aromatic Plants, Indoa.p.223
  13. Fusao K, Hisashi U, Akira Y.Structure of zizanoic acid, a novel sesquiterpene in vetiver oil. Tetrahedro  Lett. 1967;29:2815-20
  14. Veerapan P, KhunkittiW.  In Vitro antioxidant activities of essential oils. IJPS, 2011; 7(3) : 30-38.
  15. Lima GM, Quintans-Júnior LJ, Thomazzi SM, Almeida EMSA, Melo MS, Serafini MR, et al. Phytochemical screening, antinociceptive and anti-inflammatory activities of Chrysopogon zizanioides essential oil. Brazilian Journal of Pharmacognosy. 2012;22(2):443-450.