เอื้อหมายนา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
เอื้อหมายนา งานวิจัยและสรรพคุณ 22ข้อ
ชื่อสมุนไพร เอื้องหมายนา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เอื้องเพ็ดม้า (ภาคกลาง) , เอื้องใหญ่ , เอื้องดิน (ภาคใต้) , เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช) , เอื้อง (อุบลราชธานี) , เอื้องต้น (ยะลา) , ซูแลโบ , ซูไลบ้อง (กะเหรี่ยง) , จุยเจียวฮวย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Costus speciosus (Koen) Sm.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ costus speciosus smith , Cheilocostus speciosus(J.Koenig) C.D.Specht.
ชื่อสามัญ Wild ginger, Malay ginger, Spiral Flag, Crape ginger.
วงศ์ COSTACEAE
ถิ่นกำเนิดเอื้องหมายนา
เอื้องหมายนาจัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยสันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมไปถึงเกาะนิวกินี ซึ่งพบว่าเอื้องหมายนามีสายพันธุ์ต่างๆ ถึง 90 ชนิดเลยทีเดียว สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามบริเวณป่าดิบชื้นที่ราบเชิงเขา หรือบริเวณ ริมน้ำ ริมทาง ที่รกร้างว่างเปล่าที่มีความชุ่มชื้น
ประโยชน์และสรรพคุณเอื้องหมายนา
- ใช้ขับปัสสาวะ
- แก้บวมน้ำ
- แก้โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- แก้แผลหนอง
- แก้อักเสบ
- แก้บวม
- แก้ตกขาว
- ช่วยขับพยาธิ
- แก้ไอ
- ช่วยขับเสมหะ
- รักษาโรคผิวหนัง
- รักษาอาการปวดมวนในท้อง
- ใช้สมานมดลูก
- แก้ท้องผูก
- รักษาโรคกระเพาะอาหาร
- แก้ถ่ายเป็นเลือด
- ใช้เป็นยาระบาย
- แก้ไข้
- แก้ซางเด็ก
- ช่วยบำรุงมดลูก
- สมานแผลภายใน
- แก้หูน้ำหนวก (ย่างไฟคั้นเอาน้ำหยอด)
เอื้องหมายนาถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายๆด้านทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น เหง้าสดใช้ประกอบอาหาร โดยจะเลือกใช้เหง้ามีเมือกลิ่นรสฝาด และไม่มีกลิ่น ส่วนหน่ออ่อน นำมาต้มให้สุกเพื่อขจัดกลิ่นแล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงอาหาร และในมาเลเซีย รวมถึงอินเดีย และฟิลิปปินส์ก็ใช้หน่ออ่อนใส่แกง และเป็นผักเช่นเดียวกันกับประเทศไทย นอกจากใช้เป็นอาหารของคนแล้ว เอื้องหมายนายังถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังนิยมนำเอื้องหมายนามาปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ประดับ และตัดต้นที่มีช่อดอกไว้ ประดับแจกัน เนื่องจากทั้งต้นและกาบมีความสวยงามแปลกตาอีกด้วย
ลักษณะทั่วไปเอื้องหมายนา
เอื้องหมายนาจัดเป็นพืชล้มลุกมีเหง้าหรือลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นหัว และมีลำต้นเทียมสีแดง อวบน้ำโผล่พ้นดินขึ้นมา มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 9-15 เซนติเมตร มักขึ้นกันเป็นกอแน่น ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับมีกาบใบสีแดงหรือน้ำตาลแดงปิดโอบรอบลำต้น ส่วนใบเป็นรูปรีหรือหอกปลายใบแหลม โคนใบมน กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 12-25 เซนติเมตร ด้านท้องใบมีขนนุ่มสีเงินหลังใบเรียบมันมีสีเขียว เนื้อใบหนา ดอก ออกเป็นช่อรูปไข่ โดยจะออกที่ปลายลำต้นเหนือดิน หรือแทงออกจากดินโดยตรง ช่อดอกมีสีแดงยาว 8-12 เซนติเมตร ในหนึ่งช่อดอกจะมีดอกย่อย 19-42 ดอกซึ่งกลีบดอกย่อยสีขาวแกมสีชมพูหรือเหลือง อับเรณูสีเหลือง โดยดอกทยอยบานครั้งละ 1-2 ดอก ผลกลมรีรูปกระสวยหรือรูปขอบขนานแกมสามเหลี่ยม ส่วนปลายมีกลีบประดับติดอยู่มีกาบหุ้มผลเป็นสีแดง ส่วนเมล็ดเป็นรูปเหลี่ยมผิวมันแข็ง
การขยายพันธุ์เอื้องหมายนา
เอื้องหมายนาสามารถขยายพันธุ์ได้โดย การแยกหน่อและการใช้เมล็ด สำหรับวิธีการขยายพันธุ์เอื้องหมายนาทั้งการเพาะเมล็ดและการแยกหน่อปลูก สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการขยายพันธุ์พืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่ใช้วิธีการเดียวกันนี้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่ ทั้งนี้เอื้อยหมายนาเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ง่ายไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืช แต่จะชอบดินร่วนที่มีความชุ่มชื้อมีแสงแดดรำไร และยังจัดเป็นพืชที่ยังพบได้มากในธรรมชาติอีกด้วย
องค์ประกอบทางเคมี
จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากเหง้าของเอื้องหมายนาพบว่า เหง้าพบสาร Diosgenin , dioscin , beta-sitosterol , gracillin, tigogenin , cyanophoric substance, palmitic acid , saponins , dipsgenin, fatty acid.
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
แก้บวมน้ำ , ขับปัสสาวะ , แก้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ , แก้หนองแผลอักเสบ ใช้ถ่ายพยาธิ บำรุงมดลูก สมานแผลภายใน โดยการนำเหง้ามาต้มกับตะไคร้กับน้ำดื่ม แก้ไอ ขับเสมหะ โดยการนำรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้ไอ ใช้เป็นยาระบาย โดยการนำใบสดมาคั้นเอาน้ำดื่ม ใช้แก้โรคท้องมาน โดยการนำเหง้าสดมาตำพอกที่สะดือ แก้หูน้ำหนวก โดยการนำลำต้นมาย่างไฟแล้วคั้นเอาน้ำหยอดหู แก้แผลหนอง แก้แผลอักเสบ บวม โดยนำเหง้ามาต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็นหรือจะใช้เหง้าตำพอกบริเวณที่เป็น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ลดไขมันในเลือดมีผลการศึกษาฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของสารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของเอื้องหมายนา (Costus speciosus) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงด้วยยา propylthiouracil ขนาด 0.01% โดยผสมในน้ำดื่มเป็นเวลา 14 วัน จากนั้นให้สารสกัดเอื้องหมายนาในขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. เป็นเวลา 14 วัน เปรียบเทียบระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและจุลพยาธิวิทยาของตับกับหนูกลุ่มที่ได้รับยาลดไขมันในเลือด simvastatin ขนาด 7.2 มก./กก. หนูกลุ่มควบคุม และหนูปกติ (normal control) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดขนาด 50, 100 มก./กก. ไม่สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและไม่สามารถปกป้องตับ ซึ่งพบเซลล์บวมน้ำขนาดใหญ่และพบไขมันแทรกระหว่างเซลล์ตับในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 50 และ 100 มก./กก. ตามลำดับ ส่วนสารสกัดขนาด 200 มก./กก. สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้เทียบเท่ากับยา simvastatin 7.2 มก./กก. และเซลล์ตับไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยา โดยพบว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มหนูปกติ
ฤทธิ์ป้องกันการทำลายตับ มีการศึกษาทดลองฤทธิ์ต้านการก่อพิษในตับของสารสกัดน้ำและอัลกอฮอล์ของเหง้าเอื้องหมายนา โดยใช้ CCl4 และ Acetaminophen เหนี่ยวนำการทำลายตับในหนูขาว และใช้ silymarin ซึ่งเป็น สารที่สกัดได้จากพืชเป็นสารมาตรฐานเปรียบเทียบฤทธิ์ต้านพิษต่อตับ โดยเมื่อป้อนสารสกัดน้ำและอัลกอฮอล์ของเอื้องหมายนา ขนาด 300 และ 500 มก.ต่อ กก. ก่อนและหลังการให้ CCl4 1.5 มล.ต่อ กก. เข้าใต้ผิวหนัง และเมื่อป้อน Acetaminophen 3 กรัม ต่อ กก. สามารถยับยั้งพิษของ CCl4 ที่ทำให้ SGOT, SGPT, SALP, SSDH และ SGLDH เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การเปรียบเทียบจากเปอร์เซนต์การลดลงของเอนไซม์แต่ละตัว และ เอนไซม์ทั้งหมด พบว่า ความแรงของสารสกัดทั้งสองมีประสิทธิภาพดี (78.2 - 96.0%) เท่ากับ ขนาดของ silymarin และเมื่อนำชิ้นเนื้อเยื่อตับไปตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ พบว่าเซลล์ของ เนื้อเยื่อตับเกิดการคืนสภาพเป็นปกติ
ฤทธิ์ในการเป็น estrogenซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า เป็นผลจากสาร saponin ซึ่งพบมากในเหง้า โดยจะทำให้น้ำหนักมดลูกเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้น และเพิ่มการสะสมของไกลโคเจน กระตุ้นให้มีการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุมดลูกและช่องคลอด นอกจากนี้ ยังยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนเมื่อทำการป้อนสารสกัดให้แก่หนูที่ขนาด 5-500 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของเอื้องหมายนาอีกหลายฉบับ มีรายงานว่าสารสกัดเอื้องหมายนาจากเหง้าและเมล็ดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ในหนูและสุนัขทดลองได้ และสาร alkaloid ที่พบในเอื้องหมายนามีฤทธิ์คล้าย papaverine ซึ่งทำให้มดลูกคลายตัว มีฤทธิ์เป็น antispamodic, cardiotonic, hydrocholeretic, diuretic, central nervous system depressant แต่ไม่มีผลในเชิงเป็น inflammatory, antiarthritis, anticonvulsant, anagesic, antipyretic และ anti-snake venom
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีรายงานว่ามีการศึกษาวิจัยโดยให้สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ ของเอื้องหมายนาแก่สัตว์ทดลองในขนาดที่สูง พบว่าไม่มีพิษต่อตับแต่อย่างใด
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ไม่ควรรับประทานเหง้าสดของเอื้องหมายนาในปริมาณที่มากเพราะอาจทำให้มีอาการท้องร่วง อาเจียน
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ เพราะสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก และอาจไปรบกวนรอบเดือนอีกด้วย
- การใช้เอื้องหมายนาควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะ ที่ระบุไว้ในตำรับตำรายา ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากรวมถึงใช้ติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้เอื้องหมายนาเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
เอกสารอ้างอิง
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “เอื้องหมายนา”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 155.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด.2544.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “เอื้องหมายนา”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 845-847.
- ฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของสารสกัดน้ำจากเอื้อยหมายนา.ข่าวความเคลื่อนไหว.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “เอื้องหมายนา (Ueang Mai Na)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 345.
- ฤทธิ์ป้องกันการทำลายตับของ CCI 4 และ Acetaminophen จากสารสกัดเอื้องหมายนา.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- เอื้องหมายนา.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=138
- Gogoi JC, Sharma DK. 2001. Prevention of carbon-tetrachloride and acetaminophen induced hepatitic damage by an extract from Costus speciosus. International Congress and 49th Annual Meeting of the Society for Medicinal Plant Research, Sep 2-6, 2001, Erlangen, Germany
- Tewari PV, Chaturvedi C, Pandev VB. 1973. Antifertility activity of Costus speciosus. Indian J Pharm 35(4), 114-15
- Chandel KPS, Shukla G, Sharma N. 1996. Biodiversity in medicinal and aromatic plants in India. ICR: New Delhi.
- Singh S, Sanyal AK, Bhattacharya SK, Pandey VB. 1972. Estrogenic activity of saponins from Costus speciosus (Koen) Sm. Indian J Med Res 60(2), 287-90
- Bhattachaya SK, Parikh AK, Debnath PK, Pandey VB, Neogy NC. 1973. Pharmacological studies with the alkaloids of Costus speciosus. J Indian Med 8(1), 10-19
- Mosihuzzaman M, Nahar N, Ali L, Rokeya B, Khan AK, Nur-E-Alam M, Nandi RP. 1994. Hypoglycemia effects of three plants from eastern Himalayan belt. Diabetes Res 26(3), 127-38