โบตั๋น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โบตั๋น งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โบตั๋น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โบตั๋นจีน, นางพญานิรมล (ไทย), เป่ยเช่า, บ๊อต้น, หมู่ต้น (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Paeonia lactiflora Pall.
ชื่อสามัญ Peony, Common garden peony, Chinese peony
วงศ์ PAEONIACEAE


ถิ่นกำเนิดโบตั๋น

โบตั๋น จัดเป็นพืชในวงศ์ PAEONIACEAE ที่มีอยู่หลายชนิดและสายพันธุ์ โดยคาดกันว่ามีด้วยกันกว่า 30 ชนิด/สายพันธุ์ เช่น โบตั๋นยุโรป (Paeonia officinalis), โบตั๋นกรีม (Paeonia parnassica), โบตั๋นญี่ปุ่น (Paeoniajaponica), โบตั๋นแคลิฟอเนีย (Paeonia californica) เป็นต้น แต่โบตั๋นที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ คือ โบตั๋น ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paeonia lactiflora Pall. หรือ โบตั๋นจีน ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเมืองลั่วหยางประเทศจีน โดยมีความสำคัญขนาดที่นับว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของจีนชนิดหนึ่ง และยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของจีนอีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณโบตั๋น

  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยให้ผ่อนคลายอารมณ์
  • แก้โรคตับ
  • ช่วยปรับอารมณ์ปรับประสาท
  • แก้อาการไข้
  • ช่วยรักษาโรคหืด
  • ช่วยรักษาโรคไขข้อ
  • แก้โรคแพ้ภูมิตัวเอง
  • รักษาโรคตับอักเสบ
  • แก้อาการปวดประจำเดือน และประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • แก้อาการชักเป็นตะคริว และอาการกระตุก ของกล้ามเนื้อ
  • ช่วยบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นเปล่งปลั่ง
  • ช่วยลดรอยคล้ำรอบดวงตา

           โบตั๋นนั้นพบว่ามีการใช้รากโบตั๋นเป็นยาสุมไพรในประเทศจีนมานาน กว่า 1,200 ปีมาแล้ว โดยอีกทั้ง โบตั๋น ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ หลายประการมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยในปัจจุบัน โบตั๋นได้รับความนิยมอย่างมากในการนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ หรือ นำมาใช้จัดชื่อดอก หรือ นำมาตกแต่งตามงานต่างๆ เนื่องจากดอกโบตั๋น มีความสวยงามและมีกลิ่นหอม อีกทั้งยังมีหลากหลายตามสายพันธุ์อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำดอกโบตั๋น มาใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและความงาม โดยมักจะนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โลชั่นทาผิว ครีมทาหน้า แชมพู เจลอาบน้ำ ฯลฯ เพื่อทำความสะอาด และเพิ่มความชุ่มชื้นในกับผิว และยังมีการนำผลจากรากโบตั๋น มาใช้เป็นเครื่องปรุงในอาหารจีน โดยจะให้รสหวานอีกด้วย

โบตั๋น
โบตั๋น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ในการนำรากโบตั๋นมาทำเป็นยาสมุนไพรที่เรียกว่าเป่ยเช่านั้นจะมีวิธีการดังนี้

           ขุดรากของโบตั๋น ที่มีอายุ 4-5 ปี ขึ้นมาในฤดูร้อน หรือ ฤดูใบไม้ร่วง แล้วล้างทำความสะอาด จากนั้นลอกเปลือกออกแล้วนำมาต้มในน้ำ ตากแดดให้แห้งแล้วหั่นเป็นชิ้น จึงสามารถนำไปใช้เป็นยาได้ โดยมีวิธีการนำไปใช้ดังนี้ นำไปบดเป็นผงใช้ชงดื่ม หรือ รับประทานเป็นยาผง หรือ อาจนำเครื่องยาที่เตรียมได้มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาใช้ชงดื่มแบบชา ก็จะให้สรรพคุณตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่นเดียวกัน

 

ลักษณะทั่วไปของโบตั๋น

โบตั๋น จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ส่วนรากใต้ดินอวบน้ำมีขนาดใหญ่กว่าลำต้น ส่วนลำต้นมีความสูง 60-100 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวลักษณะกลมคล้ายต้นกุหลาบ แต่ไม่มีหนาม

           ใบโบตั๋น เป็นใบประกอบขนาดใหญ่ยาว 20-40 เซนติเมตร ใบเป็นรูปใบหอกมีสีเขียว โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักลึก 3 แฉก

           ดอกโบตั๋น เป็นดอกเดี่ยวมีขนาดใหญ่และกลม เมื่อดอกบานจะเปิดออกมีขนาดใหญ่ โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-16 เซนติเมตร และมีกลิ่นหอม กลีบดอกสีขาว ชมพู หรือ แดงเข้มแล้วแต่สายพันธุ์ กลีบดอกจะมี 5-10 กลีบ เรียงซ้อนนกันเป็นชั้นๆ มีเกสรตัวผู้สีเหลือง อยู่ตรงกลางดอกจำนวนมาก

           ผลโบตั๋น เป็นผลแห้งที่เรียกว่า follicle ซึ่งผลเมื่อแก่ หรือ สุกจะแตกออกตามแนวยาว ด้านในมีเมล็ด 1-3 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม สีดำผิวเรียบแข็ง

โบตั๋น
โบตั๋น 

การขยายพันธุ์โบตั๋น

โบตั๋น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้รากและการใช้เมล็ด แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือการแบ่งรากมาปลูก ทั้งนี้โบตั๋นเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดจ้า อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดม สมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี และเคล็ดลับการปลูกควรฝั่งรากโบตั๋น ให้ลึกลงไปจากดินไม่เกิน 2 นิ้ว


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของรากและสารสกัดจากส่วนรากของโบตั๋น ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น ส่วนรากพบสาร Paeoniflorin, paeoniflorigenone, paeonol, pyrethrin, palbinone, casuariin, pedunculagin, pentagalloylglucose, albiflorin, strictinin, casuarictin, benzoic acid, methyl gallate, glycoside oxypaeoniflorin, 1-O-galloyl-beta-d-glucose, 1,2,3-tri-O-galloyl-β-d-glucose, 1,2,3,4,6-pentagalloylglucose และ 1,2,6-tri-O-galloyl-β-d-glucose ส่วนสารสกัดน้ำและสารสกัดเอธานอลจากรากของโบตั๋น พบสารต่างๆ ได้แก่ paeoniflorin, albiflorin, oxypaeoniflorin, paeonol, oxybenzoyl-paeoniflorin, paeoniflorigenone, galloylpaeoniflorin, benzoylpaeoniflorin, paeonin, paeonolide และ lactiflorin

โครงสร้างโบตั๋น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของโบตั๋น

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนรากและสารสกัดโบตั๋น จากส่วนรากของระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Posttraumatic stress disorder; PTSD) จากสาร albiflorin ซึ่งแยกได้จากส่วนรากของเป่ยเช่า หรือ โบตั๋นจีน (Paeonia lactiflora Pall) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ PTSD ด้วยโมเดล single prolonged stress (SPS) โดยกรอกสาร albiflorin เข้าทางกระเพาะอาหารของหนูวันละครั้ง ในขนาด 3.5, 7 และ 14.0 มก./กก. หลังจากการทำให้เกิดภาวะเครียดด้วย SPS เป็นเวลานาน 12 วัน (วันที่ 2-13) ทำการประเมินพฤติกรรมของหนูเช่นความกลัว และวิตกกังวลด้วย contextual fear paradigm (CFP) ในวันที่ 8 และ 9, elevated plus-maze test (EPMT) ในวันที่ 11 และ open-field test (OFT) ในวันที่ 13 หลังจากจบการทดลองหนูจะถูกฆ่าและทำการวัดระดับของสาร allopregnanolone (สาร allopregnanolone มีผลลดความกังวลและลดอารมณ์ซึมเศร้า) ในสมองส่วน prefrontal cortex, hippocampus และ amygdala จากผลการทดลองพบว่าสาร albiflorin ที่ขนาด 7 และ 14.0 มก./กก. ทำให้พฤติกรรมที่ผิดปกติจากการเหนี่ยวนำด้วย SPS ลดลง และทำให้ระดับของสาร allopregnanolone ที่ลดลง กลับเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้สามารถสรุปได้ว่า สาร albiflorin มีฤทธิ์ต้านความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ ซึ่งคาดว่ากลไกน่าจะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มการสร้างสาร allopregnanolone ในสมอง

           ฤทธิ์ลดอาการปวด มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า สาร paeoniflorin ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในรากของโบตั๋นมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดท้องที่เกิดจากภาวะลำไส้ใหญ่บวม (colonectal distention, CRD) ในหนูทดลองที่มีอาการปวดที่ช่องท้อง นอกจากนี้ฤทธิ์ลดอาการปวดของ paeoniflorin ยังถูกควบคุมอย่างน้อยบางส่วนโดยตัวรับอะดีโนซีน A1

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานผลการศึกษาวิจัย ระบุว่าสาร paeoniflorin ซึ่งเป็นสารที่เป็นองค์ประกอบหลักของรากโบตั๋น มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการผลิต NO และ PGE2 จากเซลล์ไมโครฟาจ RAW 264.7 ที่กระตุ้นด้วย LPS

           ฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน มีรายงานผลการศึกษาวิจัย ในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดน้ำและเอธานอลจากส่วนรากของโบตั๋นมีผลสองประการต่อการแบ่งตัวของเซลล์ม้ามของหนูที่เกิดจากการใช้ concanavalin A (ConA) โดยจะช่วยเพิ่มการแบ่งตัวในความเข้มข้นที่ต่ำกว่า (0.05∼0.4 มก./ล.) แต่จะทำการยับยั้งการแบ่งตัวในความเข้มข้นที่สูงขึ้น (0.4∼1.6 มก./ล.) ในลักษณะที่ขึ้นกับขนาดยา นอกจากนี้สารสกัดดังกล่าว ยังเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์ T ทั้งเซลล์ T ตัวช่วย (Th) และเซลล์ T ตัวกด (Ts) และย้อนกลับผลการยับยั้งของ cyclosporine A ต่อการแบ่งตัว Th และผลการยับยั้งของ levamisole ต่อการแบ่งตัว Ts ซึ่งจะเพิ่มอัตราส่วนของ Th/Ts ที่ความเข้มข้นที่ต่ำกว่า (0.2 มก./ล.) แต่ลดอัตราส่วนของ Th/Ts ที่ความเข้มข้นที่สูงขึ้น

           นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าสาร Penta-O-galloyl-β-D-glucose (PGG) ที่เป็นสารที่พบปริมาณสูงในสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยังมีผลต่อการทำงานของนิวโทรฟิล (สาเหตุของการอักเสบส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของนิวโทรฟิล ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ ทำลายเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยกระตุ้นการหลั่ง proteolytic enzymes, pro-inflammatory mediators, adhesion molecules และการผลิตอนุมูลอิสระ (reactive oxygen species [ROS]) จึงทำให้เกิดการอักเสบตามมา) ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysacharide (LPS) และ angiotensin II (Ang II) และที่ไม่ถูกกระตุ้น โดยวัดระดับอนุมูลอิสระ[ROS], เอ็นไซม์ metalloproteinase-9 (MMP-9), ไซโตไคน์ interleukin-8 (IL-8) และวัดการแสดงออกของ adhesion molecules ได้แก่ β2 integrin (CD11b) และ L-selectin (CD62L) ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ นอกจากนี้ยังวัดการเกิด apoptosis ในการทำลายนิวโทรฟิล ผลการทดสอบพบว่า PGG ที่ความเข้มข้น 5 μM-20 μM มีผลยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ (ROS) การหลั่ง IL-8 ในนิวโทรฟิลที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS และ Ang II ได้ แต่ไม่มีผลต่อการปริมาณ MMP-9 สาร PGG ยังสามารถลดการแสดงออกของ β2 integrin และกระตุ้นการเกิด apoptosis ในนิวโทรฟิลที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS และลดการแสดงออกของ L-selectin ซึ่งเป็นโมเลกุลยึดเกาะที่ปรากฎบนผิวเซลล์ ส่งผลให้ป้องกันการเกาะติดของนิวโทรฟิลที่เซลล์เยื่อบุผิวของผนังหลอดเลือด ดังนั้นผลการทดลองจึงสรุปได้ว่าสาร PPG ที่พบได้สูงในโบตั๋น มีฤทธิ์ในการต้านการเกิดการอักเสบโดยการลดการทำงานของนิวโทรฟิล


การศึกษาทางพิษวิทยาของโบตั๋น

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของส่วนต่างๆ ของโบตั๋น ระบุว่าสาร paeonol ที่พบในทุกส่วนของโบตั๋น มีความเป็นพิษปานกลางต่อมนุษย์ หากรับประทานสดๆ โดยอาจก่อให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้ โดยเฉพาะอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย นอกจากนี้ยังอาจพบการระคายเคืองผิวหนัง หรือ เป็นผื่นได้อีกด้วย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สรรพคุณของโบตั๋น ในตำรับยาแผนโบราณของจีน มีสรรพคุณเป็นตัวทำให้เลือดแข็งตัว เพื่อรักษาอาการปวดประจำเดือน รักษาแผลเลือดออก และเลือดกำเดาไหล ซึ่งสรรพคุณทางยานี้อาจไม่เป็นผลดีต่อผู้ที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด หรือ ผู้หญิงที่มีปัญหาประจำเดือนมากระปริกระปรอย


เอกสารอ้างอิง โบตั๋น
  1. พจนานุกรม จีน-ไทย ฉบับใหม่ โดย เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: บริษัท รวมสาส์น (1977) จำกัด, 2537.
  2. สุภกร บุญยืน, ธนัทภัทร เพชรรัตน์, ละมัย พวงบุรี, อธิคุณ ศรีไพร. การต้านอนุมูลอิสระและการต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากโบตั๋น, วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1. มกราคม-เมษายน 2558. หน้า 37-45.
  3. ฤทธิ์ต้านความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใย (PTSD) จากสาระสำคัญของเป่ยเช่า. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ผลของสาร Penta-o-galloyl-β-D-glucose (PGG) ในการลดการแสดงออกของ L-selectin ที่มีผลต่อการทำงานของนิวโทรฟิล (neutrophils). ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. Wang X. W., Chen M. Z., Xu S. Y. (1992). The effects of total glucosides’ of paeony (TGP) on T lymphocyte subsets. Zhongguo Yao Li Xue Tong Bao 8, 340–343, 314 (in Chinese).
  6. Aiko, S., Tsukasa, S., Eiichi, S., Noriyuki, Y., Kazumi, Y. and Tadashi, T., 1991, Inhibitory effect of peony root extract on pentylenetetrazol-induced EEG power spectrum changes and extracellular calcium concentration changes in rat cerebral cortex, J. Ethnopharmacol. 33; 159-167.
  7. Tan J., Zhao Q., Yang L., Shang Z., Du Z., Yan M. (2010). Chemical constituents in roots of Paeonia lactiflora. Zhong Cao Yao 41, 1245–1248 (in Chinese).
  8. Sasaki, Sanmi. 2005. Chado: The Way of Tea: A Japanese Tea Master's Almanac. Translated from the Japanese by Shaun McCabe and Iwasaki Satoko. Boston: Tuttle. Page 247.
  9. Zhang X. J., Chen H. L., Li Z., Zhang H. Q., Xu H. X., Sung J., Bian Z. X. (2009). Analgesic effect of paeoniflorin in rats with neonatal maternal separation-induced visceral hyperalgesia is mediated through adenosine A1 receptor by inhibiting the extracellular signal-regulated protein kinase (ERK) pathway. Pharmacol. Biochem. Behav. 94, 88–97
  10. Elena, P.C., Rocio, J., Julio, E.P., Manuel, A. and Javier, V., 2009, Antioxidant activity of seed polyphenols in fifteen wild Lathyrus species from South Spain, LWT-Food Sci. Technol. 42: 705-709.
  11. Zhang X., Wang J., Li X. (2001). A study on the chemical constituents of Paeonia lactiflora Pall. Shengyang Yao Ke Da Xue Xue Bao 18, 30–2 (in Chinese). 
  12. Wang X. W., Cheng M. Z., Xu S. Y. (1991). Effects of total glucosides of paeony on immune system. Zhongguo Bing Li Sheng Li Za Zhi 7, 609–611 (in Chinese).