กานพลู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กานพลู งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กานพลู
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จันจี่, ดอกจันทร์ (ภาคเหนือ), กามพลู (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (L.) Merr.et. LM. Perry
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Caryophyllus aromaticus L., Caryophyllus silvestris Teijsm. ex Hassk., Caryophyllus hortensis NoronhaEugenia caryophyllata Thunb., Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & S.G.Harrison, Myrtus caryophyllus, Jambosa caryophyllus (Thunb.) Nied.
ชื่อสามัญ Clove, Clove tree, Caryophyllum
วงศ์ MYRTACEAE


ถิ่นกำเนิดกานพลู

กานพลู จัดเป็นพืชพื้นเมืองของหมู่เกาะโมลุกกะ (Molucca) หรือ ที่เรียกกันในอดีตว่า “หมู่เกาะเครื่องเทศ” ตั้งอยู่แถบตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย ต่อมามีการนำไปปลูกในเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก และยังพบประวัติการใช้กานพลูครั้งแรงในจีน โดยพบบันทึกประวัติการใช้ดอกตูมของกานพลูในประเทศจีนมาตั้งแต่ 207 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าจักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นใช้ดอกกานพลูอมไว้ในปากเพื่อดับกลิ่นปาก และถูกนำมาใช้ในการปรุงตำรับยาจีนหลายแขนง ในปัจจุบันมีการปลูกกานพลู กันมากในแถบเขตร้อนชื้น ของทวีปแอฟริกา ที่มาดากัสกา และแทนซาเนีย ในทวีปเอเชียที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และศรีลังกา เป็นต้น ส่วนประเทศส่งออก กานพลูเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ ประเทศมาดากัสกา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยก็มีการนำกานพลูมาปลูกแต่ไม่แพร่หลาย โดยพบพื้นที่ที่มีการปลูกมากที่จังหวัดจันทบุรี และชุมพร


ประโยชน์และสรรพคุณกานพลู

  1. ช่วยแก้พิษโลหิต
  2. แก้พิษน้ำเหลือง
  3. แก้กระจายเสมหะ
  4. แก้เสมหะเหนียว
  5. แก้ปวดฟัน
  6. แก้รำมะนาด
  7. แก้เลือดออกตามไรฟัน
  8. ช่วยดับกลิ่นปาก
  9. แก้หืด
  10. ช่วยทำให้ร้อนทำให้ชา
  11. ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ
  12. แก้ปวดท้อง
  13. แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  14. แก้มวนในลำไส้
  15. แก้ลม ขับผายลม
  16. แก้เหน็บชา
  17. ช่วยขับระดู
  18. ช่วยขับน้ำคาวปลา
  19. ช่วยทำอุจจาระให้ปกติ
  20. แก้คลื่นไส้อาเจียน
  21. แก้จุกเสียด
  22. แก้ท้องเสีย
  23. แก้สะอึก
  24. แก้ซางต่างๆ
  25. เป็นยาชาเฉพาะที่ (น้ำมันกานพลู)
  26. ระงับการกระตุก (น้ำมันกานพลู)
  27. แก้ตะคริว (น้ำมันกานพลู)

            ในตำรับยาไทยได้มีการใช้กานพลูในหลายตำรับ เช่น ใน "พิกัดตรีพิษจักร" ประกอบด้วยตัวยา 3 อย่าง มี ผลผักชีล้อม ผลจันทน์เทศ และกานพลู สรรพคุณแก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต แก้ลม แก้พิษเลือด "พิกัดตรีคันธวาต" ประกอบจัวตัวยาที่มีกลิ่นหอม 3 อย่าง มี ผลเร่วใหญ่ ผลจันทน์เทศ และกานพลู มีสรรพคุณ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้ธาตุพิการ แก้จุกเสียด

           กานพลูถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายประการมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยมีการนำมาใช้อย่างหลากหลายดังนี้

  • ด้านอาหาร มีการใช้ผล และดอกของกานพลูมาเป็นส่วนผสมของอาหารเพื่อแต่งกลิ่น และรสชาติ ช่วยถนอนอาหาร ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ประเภทหมักดอง และอาหารกระป๋อง เนื่องจากน้ำมันกานพลูมีฤทธิ์ในการฆ่า และยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
  • ด้านอุตสาหกรรม มีการนำน้ำมันหอมระเหย และสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของกานพลูมาใช้ในด้านอุตสาหกรรม เช่น การผลิตเครื่องสำอาง สบู่ โลชั่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ผสมในยาสูบ สังเคราะห์กลิ่นวนิลา ทำน้ำมันสำหรับล้างแผ่นสไลด์ กล้องจุลทรรศน์ เป็นต้น
  • ด้านการแพทย์และเภสัชกรรม มีการนำน้ำมันจากดอกกานพลูมาทำยาฆ่าเชื้อทางทันตกรรมและยาชาเฉพาะแห่ง ใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรค ต่างๆ เช่น ยาแก้ปวดฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน ยาแก้ไอ แก้สะอึก ยาขับลมและยาแก้ปวดท้อง

           นอกจากนี้ใน บัญชียาจากสมุนไพร ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ยังปรากฎว่ามีการใช้กานพลู ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ดังปรากฏในตำรับ "ยาหอมเทพจิตร" และตำรับ "ยาหอมนวโกฐ" โดยมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ซึ่งระบุสรรพคุณในการ แก้คลื่นเหียน อาเจียนได้ ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น แก้ลมจุกแน่นในท้อง และตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ซึ่งประกอบด้วย “ยาธาตุบรรจบ” โดยมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ตำรับ “ยาประสะกานพลู” ซึ่งมีกานพลูเป็นองค์ประกอบหลัก และมีสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของดอกกานพลู ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน แก้มุดกิต ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ

กานพลู

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้รักษาอาการปวดฟัน โดยนำดอกมากลั่นเอาเฉพาะส่วนน้ำมันกานพลู ใช้ใส่ฟัน หรือ ใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวด ตำกานดอกพลูพอแหลก ผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะ ใช้สำลีจิ้มอุดฟันที่ปวด และใช้แก้โรครำมะนาด หรือ นำดอกกานพลูแช่เหล้าหยอดฟันที่ปวดก็ได้
  • ใช้ระงับกลิ่นปาก โดยนำดอกกานพลู ตูม 2-3 ดอก อมไว้ในปาก
  • แก้อาการท้องอืดเพ้อ ขับลม ในผู้ใหญ่ ใช้ดอกตูม 4-6 ดอกใช้ทุบให้ช้ำ ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือ ใช้ดอกแห้ง 5-8 ดอก ต้มน้ำพอเดือด ดื่มแต่น้ำ ถ้าบดเป็นผง 0.12-0.6 กรัม ชงน้ำสุกดื่ม เด็กให้ใช้ดอกแห้ง 1 ดอก ทุบแช่น้ำไว้ในน้ำเดือด 1 กระติก (ความจุราวครึ่งลิตร) สำหรับชงนมใส่ขวดให้เด็กดูด แก้ท้องอืด


ลักษณะทั่วไปของกานพลู

กานพลู จัดเป็นไม้ต้นเรือนยอดทึบ รูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งก้านสาขามากในระดับต่ำ ต้นมีความสูง 5-20 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นเรียบสีเทาออกขาวจนถึงน้ำตาลอ่อน กิ่งก้านรูปทรงกระบอก

           ใบกานพลู เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอก หรือ รูปของขนานแกมรูปไข่กลับ มีขนาดกว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 6-13 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนมัน ด้านล่างของใบมีต่อมจำนวนมาก ใบมีเส้นใบ 15-20 เส้น และมีก้านใบเล็กเรียว ยาว 1-3 เซนติเมตร

           ดอกกานพลู ออกเป็นช่อสั้น แบบช่อกระจุกแยกแขนง โดยจะออกบริเวณปลายกิ่งส่วนช่อย่อยเป็นแบบช่อเชิงหลั่น 3 ช่อ โดยในแต่ละช่อจะมีดอกย่อย 6-20 ดอก ก้านช่อดอกสั้นมากมีใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยมยาว 2-3 มิลลิเมตร ฐานดอกรูปถ้วยทรงกระบอกแคบเป็นสัน มีกลีบเลี้ยงจำนวน 4 กลีบ สีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เมื่อดอกบาน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยก 4 แฉกรูปไข่แคบ และมีกลีบเลี้ยงจำนวน 4 กลีบ รูปขอบขนานหรือสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ มีสีขาวอมเขียว สีเหลืองอ่อน หรือ สีเหลืองอมเขียว มีต่อมน้ำมันมาก ดอกมักหลุดร่วงง่าย มีเกสรเพศผู้มีจำนวนมาก มีอับเรณูรูปไข่ หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ รังไข่มี 2 ช่อ โดยแต่ละช่องมีออวุลมาก

           ผลกานพลู เป็นผลเดี่ยว แบบมีเนื้อผล มีลักษณะเป็นรูปไข่กลับแกมรูปรี มีกลีบเลี้ยงติดที่ปลายผล 4 กลีบ ผลมีขนาด ยาว 2-2.5 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะมีสีแดงเข้มออกคล้ำ ด้านในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด รูปขอบขนานมีร่องด้านเดียว

กานพลู

กานพลู

การขยายพันธุ์กานพลู

กานพลูสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการเริ่มจากเลือกเมล็ดที่สุกซึ่งจะมีสีดำ นำไปแช่น้ำประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วลอกเอาเนื้อหุ้มเมล็ดออกตากแดดให้แห้ง นำไปเพาะในกระบะเพาะ รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 1-2 สัปดาห์ ต้นจะงอกขึ้นมา หลังจากต้นกล้าสูงประมาณ 5-7 เซนติเมตร ให้ทำการย้ายลงชำในถุงที่บรรจุดินผสม ได้แก่ ดิน:แกลบ:ปุ๋ยคอก ในอัตรา 3:2:1 ไปชำในเรือนเพาะชำที่มีแสงแดดส่องรำไรประมาณ 50% ของแสงแดดปกติ โดยใช้เวลาชำนานประมาณ 12 เดือน ต้นจะมีความสูงประมาณ 50 ซม. จึงนำไปปลูกในต้นฤดูฝน สำหรับการปลูกให้นำต้นกล้ากานพลู ปลูกในหลุม ที่ขุดเป็นหลุมกว้าง 60x60x60 เซนติเมตร และได้ทำการตากดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยอินทรีย์ลงก้นหลุม แล้วจึงนำต้นกล้าลงไปในหลุม กลบดินให้แน่น และพูนดินที่โคนให้สูง เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง ปักไม้ค้ำ และควรทำร่มให้ด้วย โดยควรเว้นระยะปลูก 6-8 เมตร ทั้งนี้กานพลูเป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุยต้องการน้ำมาก แต่ไม่ชอบน้ำขัง ควรรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ แต่หากฝนตกชุกควรงดการให้น้ำ


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนดอก และน้ำมันหอมระเหยจากดอกของกานพลู พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ส่วนดอกพบสารกลุ่ม flavonoids เช่น biflorin, eugeniin, rhamnocitrin, myricetin, kaempferol, rhamnetin, quercetin สารกลุ่ม tannins เช่น gallic acid, gallotannic acid, ellagic acid, protocatechulic acid สารกลุ่ม terpenoids เช่น sterols, sterol glycosides, crategolic acid, oleanolic acid และสารอื่นๆ เช่น polysaccharides, vanillin, eugenol, 5,7-dihydroxy-2-methylchromone 8-O-β-D-glucopyranoside ส่วนใบพบสาร Eugenol, β-canyophyllene, rhamnetin, methyl salicylate, methyl eugenol, methyl amyl ketone, penzaldehyde,3,4-dihydroxyphenethyl alcohol และ 3,4-dihydroxybenzoic acid สำหรับน้ำมันหอมระเหยจากดอกของกานพลูนั้นพบสาร eugenol, eugenin, eugeniin, eugenol acetate, alpha และ beta-caryophyllene, caryophyllene epoxide, benzyl alcohol, carvacrol, benzaldehyde, 1,8-cineol, humulene, humulene epoxide, thymol, trans-isoeugenol, kaempferol, eugenol, dehydrodieugenol, cinnamaldehyde, trans-coniferyl aldehyde, quercetin, biflorin, rhamnocitrin, vanillin, myricetin, rhamnetin, gallotannic acid, gallic acid, ellagic acid, protocatechuic acid, crategolic acid, oleanolic acid และ 5,7-dihydroxy-2-methylchromone 8-O- beta-D-glucopyranoside เป็นต้น

โครงสร้างกานพลู

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกานพลู

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากดอกการพลู และน้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลู หลายฉบับ ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์บรรเทาอาการปวดไมเกรน มีการทดสอบฤทธิ์บรรเทาอาการปวดไมเกรน ของน้ำมันที่ได้จากการกลั่นดอกกานพลูแห้ง และสารสกัดเอทานอลจากดอกกานพลู ในสัตว์ทดลอง โดยทดสอบฤทธิ์บรรเทาปวดทดสอบด้วยวิธี Tail flick test และ Hot plate test ฤทธิ์ในการทำให้นอนหลับ และผ่อนคลายทดสอบด้วยวิธี Sleeping time และ Muscle relaxant activity ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วยวิธีลดการบวมของใบหูหนู (EPP-induced rat ear edema) และการลดการบวมของอุ้งเท้าหนู ด้วยวิธี Carrageenan-induced rat paw edema ผลการทดลองพบว่าน้ำมันดอกกานพลูขนาด 5% w/wใน Gel base และสารสกัดดอกกานพลูขนาด 500 mg/kg มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ เมื่อทดสอบด้วยวิธี Tail flick test (นำหางหนูวางบนแผ่นรวมแสง แล้วจับเวลาเพื่อดูการยกหางหนีจากความร้อน) และ Hot plate (นำหนูใส่ในบีกเกอร์ แล้ววางลงใน water bath ที่มีความร้อน สังเกตการยกเท้าขึ้นจากความร้อนของหนู) โดยใช้สาร serotonin และ capsaicin ในการเหนี่ยวนำให้เกิดความเจ็บปวดจากความร้อนที่มากกว่าปกติ โดยให้ serotonin ในขนาดความเข้มข้น 0.1 nmol/µl ในการเหนี่ยวนำ พบว่าสารสกัดดอกกานพลูขนาด 500 mg/kg มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้เช่นเดียวกับยา sumatriptan (ยารักษาไมเกรนกลุ่ม 5-HT agonist) ขนาด 100 mg/kg และเมื่อนำเซรั่มของสัตว์ทดลองมาวิเคราะห์หาระดับของสารสื่อประสาท serotonin (สารที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและอักเสบ เกิดอาการไมเกรนตามมา) โดยวิธี ELISA พบว่าสารสกัดดอกกานพลู ขนาด 500 และ 750 mg/kg สามารถลดระดับของสารสื่อประสาท serotonin ที่บริเวณระบบประสาทส่วนปลายได้ เช่นเดียวกับยา sumatriptan ส่วนการใช้ capsaicin ในการเหนี่ยวนำ พบว่าสารสกัดดอกกานพลูขนาด 500 mg/kg สามารถออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้เช่นเดียวกับยา iIbuprofen ขนาด 100 mg/kg โดยที่ยา sumatriptan ไม่สามารถออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดที่เกิดจาก capsaicin ได้ ซึ่งอาจบอกได้ว่ากลไกของ sumatriptan และ capsaicin ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน น้ำมันดอกกานพลูทุกความเข้มข้น (1%, 7.5% และ 15% v/v) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยสามารถลดการบวมของใบหูของหนูได้ เมื่อทดสอบด้วยวิธี EPP-induced rat ear edema ในขณะที่สารสกัดจากดอกกานพลูขนาด 250, 500 และ 750 mg/kg มีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยสามารถลดการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ เมื่อทดสอบด้วยวิธี carrageenan-induced rat paw edema นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วง หลับ และคลายกล้ามเนื้อ เมื่อทำการทดสอบด้วยวิธี Sleeping time และ Muscle relaxant activity โดยสรุปน้ำมันหอมระเหย และสารสกัดจากดอกกานพลูมีฤทธิ์ลดปวด ลดการอักเสบ และลดสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดไมเกรน และอาการข้างเคียง ซึ่งมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้ในการรักษาในทางคลินิกได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของกานพลู โดยการสกัดดอกกานพลูด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด ได้แก่ น้ำ, petroleum ether และ diethyl ether ศึกษาผลการต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรค 4 ชนิด คือ Escherichia coli, Staphylococcus aureus, Pseudomonas aeruginosa และ Proteus vulgaris ซึ่งทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แผลฝีหนอง และโรคติดเชื้อหลายระบบในร่างกาย ทดสอบด้วยวิธี agar diffusion โดยใช้ paper disk และใช้ trypticase soy agar เป็นอาหาร จากการทดลองพบว่า สารสกัดน้ำ ไม่มีผลในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียทั้ง 4 ชนิด ที่นำมาทดสอบ สารสกัด petroleum ether สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียทุกชนิด สารสกัด diethyl ether สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียได้ทั้ง 4 ชนิด เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัด diethyl ether จากกานพลู เมื่อใช้เป็นตัวทำละลายมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียสูงกว่า เมื่อใช้ตัวทำละลายอื่นๆ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลจากดอกตูมแห้งของกานพลู (Eugenia caryophyllata  Thunb.) โดยนำมาแยกด้วยเทคนิคทางโครมาโตรกราฟฟีจะได้สารกลุ่มแทนนิน 4 ชนิด ซึ่งให้ผลยับยั้งกระบวน การเกิด giant cell หรือ syncytia ของเชื้อเอช ไอ วี สารที่มีฤทธิ์แรงที่สุด คือ tellimagrandin ขนาดของสารที่ยับยั้งการเจริญของเซลล์ได้ 50 % (IC50) = 16.12 ไมโครกรัม/มล. ส่วน dextran sulfate ซึ่งใช้เป็นสารเปรียบเทียบมีค่า IC50 = 21.45 ไมโครกรัม/มล. การเกิด giant cell หรือ syncytia เป็นขบวนการขยายพันธุ์ของไวรัสเอช ไอ วี แบบหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นจากกลัยโคโปรตีน gp120 ที่ผิวของไวรัสรวมตัวกับโปรตีน CD4 ที่ผิวของเซลล์ เม็ดเลือดขาว เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อจะแสดงโปรตีน gp120 ที่ผิวเซลล์ และเชื่อมกับโปรตีน CD4 ที่ผิวเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติอื่นต่อไปเกิดเป็น giant cell หรือ syncytia

           ฤทธิ์ระงับปวด มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ระงับอาการปวดของสารสกัดเอทานอลจากดอกกานพลู โดยฉีดสารสกัดเอทาในขนาดความเข้มข้น 50, 100 และ 200 mg/kg เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร สายพันธุ์ Swiss albino ทั้งเพศผู้และเพศเมีย หลังจากนั้น 30 นาที จึงทำการฉีดกรดอะซิติกเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณช่องท้อง ซึ่งแสดงถึงอาการเจ็บปวด ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากดอกกานพลู สามารถระงับอาการปวดได้ร้อยละ 75, 66 และ 65 ตามลำดับ (p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) สารมาตรฐาน piroxicam เมื่อฉีดให้หนูในขนาด 20 mg/kg ระงับอาการปวดได้ ร้อยละ 74 จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลของดอกกานพลูในขนาดความเข้มข้น 50 mg/kg มีฤทธิ์ระงับอาการปวดได้ดีที่สุด

          ส่วนอีกหนึ่งการศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของ eugenol ในดอกกานพลู ทำการทดลองโดยให้ eugenol ขนาด 50, 75, 100 มก./กก. แก่หนูถีบจักร ที่ถูกเหนี่ยวนำให้ปวดด้วยกรดอะซีติก พบว่าสามารถลดอาการปวด (writhing) ของหนูได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ระงับปวดโดยป้อน eugenol ที่ความเข้มขัน 1-10 มก./กก. แก่หนู พบว่าการระงับปวดจะขึ้นอยู่กับขนาดยาที่ได้รับ และมีฤทธิ์ระงับปวดอย่างน้อย 30 นาที และการศึกษาพบว่าฤทธิ์ระงับปวดที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องมาจาก eugenol มีฤทธิ์ในการยับยั้ง transient receptor potential vanilloid 1 (TRPV1) receptors และ voltage-activated Na+ and Ca2+channels ซึ่งทั้งสองชนิดเกี่ยวข้องกับอาการปวดที่เกิดขึ้น

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของน้ำมันกานพลูในหนูแรท 5 กลุ่ม (กลุ่มละ 4 ตัว) โดยในกลุ่มที่ 1 ให้ทาครีมมาตรฐานจากบริเวณปลายหางขึ้นมา 3 ซม. กลุ่มที่ 2 ทายาด้วยแก้ปวด indomethacin 5% โดยมวล กลุ่มที่ 3-5 ทาด้วยครีมมาตรฐานที่ผสมน้ำมันดอกกานพลูอยู่ 1%, 5% และ 10% โดยมวล ตามลำดับ ก่อนนำหนูทุกกลุ่มไปทดสอบด้วยวิธี tail-flick ผลจากการทดลองพบว่า หนูแรทกลุ่มที่ทาครีมมาตรฐานที่ผสมน้ำมันดอกกานพลู 5% แสดงฤทธิ์ระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ที่เวลา 90 และ 120 นาที โดยมีเปอร์เซ็นต์สูงสุดที่หนูทนต่อความเจ็บปวดได้ (The percent maximum possible effect, %MPE) ที่นาที 120 เท่ากับ 18.62% ในขณะที่หนูแรทกลุ่มที่ทาด้วยยา indomethacin 5% จะแสดงฤทธิ์ระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ที่เวลา 120 และ 180 นาที และมี %MPE ที่นาที 180 เท่ากับ 36.76% แสดงให้เห็นว่า น้ำมันกานพลูมีฤทธิ์ระงับปวด แต่ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน

           ฤทธิ์ต้านการบีบตัวของลำไส้ มีรายงานการทดสอบฤทธิ์ต้านการบีบตัวของลำไส้สัตว์ทดลองของน้ำมันกานพลู ทำในหลอดทดลอง ลำไส้ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการบีบตัวโดยใช้สารหลายชนิด ได้แก่ acetylcholine (ใช้ลำไส้หนูแรทส่วน duodenum), barium chloride, histamine (ใช้ลำไส้ส่วน ileum ของหนูตะเภา) และ nicotine (ใช้ลำไส้กระต่ายส่วน jejunum) ซึ่งพบว่าสามารถยับยั้งการบีบตัวของสำไส้ได้  20-40%, 40-60%, >60% และ >60% ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากดอกกานพลู โดยฉีดสารสกัดเอทาในขนาดความเข้มข้น 50, 100 และ 200 mg/kg เข้าทางช่องท้องของหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ ทั้งเพศผู้และเพศเมีย หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดฟอร์มาลีน เพื่อเหนี่ยวนำอาการบวมที่อุ้งเท้าหนู ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากดอกกานพลู สามารถยับยั้งการบวมที่อุ้งเท้าหนูได้ร้อยละ 42, 45 และ 52 ตามลำดับ (p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) สารมาตรฐาน diclofenac ขนาด 25 mg/kg ลดการบวมได้ร้อยละ 11 จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลของดอกกานพลูในขนาดความเข้มข้น 200 mg/kg มีฤทธิ์ต้านการอักเสบดีที่สุด

           ฤทธิ์ทำให้ผิวหนังชา มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทำให้ผิวหนังชาของสารสกัดของกานพลูเทียบกับยาชา benzocaine ในอาสาสมัคร 73 คน โดยอาสาสมัครกลุ่มที่ 1 ได้รับเจลที่มีส่วนผสมของสารสกัดกานพลู ปริมาณ 2 กรัม (40% ผงกานพลูผสมกับ 60% glycerine) กลุ่มที่ 2 ได้รับเจลที่มีส่วนผสมของ 20% benzocaine ปริมาณ 2 กรัม ทาบนเยื่อบุกระพุ้งแก้ม กลุ่มที่ 3 ได้รับยาหลอก เมื่อเวลาผ่านไป 5 นาที จึงทำการทดสอบฤทธิ์ โดยการแทงเข็มบริเวณที่ทา แล้ววัดระดับความปวด (pain score) ผลการเปรียบเทียบระหว่างสารสกัดกานพลู และ benzocaine พบว่าสามารถลดการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ (p=0.005) และให้ผลไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้พบว่า สารสกัดกานพลูสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกได้ ขณะใช้ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด และอาจเพิ่มระดับของยากันชัก phenytoin ในเลือดได้


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกานพลู

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากดอกของกานพลู และน้ำมันจากส่วนใบของกานพลู ระบุว่า มีการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดดอกกานพลูด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 16,667 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) พบว่าไม่พบอาการเป็นพิษ แต่อย่างใดแต่เมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 6.184 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 

           และมีการศึกษาการเกิดพิษเฉียบพลันของสาร eugenol จากดอกกานพลู โดยทำการศึกษาในหนูแรท สายพันธุ์ Sprague-Dawley ซึ่งได้แบ่งหนูทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่ม 1, 2, 3 ได้รับสาร eugenol ความเข้มข้น 2.58, 1.37, 0.77 มก./ล. ตามลำดับ กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มควบคุม ทำการทดลองโดยการพ่นสารทดสอบให้หนูทดลองสูดดมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วติดตามอาการของหนูเป็นเวลา 14 วัน ผลการทดสอบไม่พบการตายของหนู ส่วนอาการ และพฤติกรรม พบว่าหนูทดลองมีน้ำลายไหลระดับปานกลาง มีอาการกระวนกระวาย และหายใจลำบาก แต่อาการเหล่านี้หายเองได้ภายในเวลา 1 วัน แต่เมื่อให้สารนี้ทางหลอดเลือดดำแก่หนูแรท ในขนาดเข้มข้น 6.25 โมล/ลิตร พบว่าหนูทดลองมีอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน น้ำท่วมปอด และเลือดออกที่ปอด 

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยโดยเมื่อป้อนน้ำมันจากส่วนใบกานพลูให้กับหนูแรทเพศเมีย ที่ตั้งท้อง 1-10 วัน ขนาด 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อน 20%


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  • ห้ามใช้ดอกกานพลูในผู้ที่มีประวัติแพ้กานพลูหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก ผู้ป่วยโรคตับไต และผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
  • ห้ามใช้กานพลูในคนที่แพ้พืชวงศ์ MYRTACEAE และไม่ควรใช้กานพลูร่วมกับขมิ้นชัน เนื่องจากอาจมีการเสริมฤทธิ์กัน

           สารบางชนิดในการพลู จะทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ดังนั้นจึงต้องระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น aspirin, warfarin, dipyridamole, ticlopidine, heparin, clopidpogrel เป็นต้น รวมถึงยาในกลุ่ม NSAIDs (ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช้สเตียรอยด์) เช่น Ibuprofen เป็นต้น สมุนไพรหรือยาที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ และยาลดน้ำตาลในเลือด เช่น Insulin และ metformin เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง กานพลู
  1. ก. กุลฑล. ตำรายาพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: ปรีชาการพิมพ์, 2524:56. 
  2. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.
  3. กานพลู. ฐานข้อมูลสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยามหิดล.
  4. หมอชีวกโกมารทัจจ์. ตำรายาวิเศษ. กรุงเทพฯ : ชัยมงคลการพิมพ์, 2517:27. 
  5. กานพลู. คู่มือการกำหนดพื้นที่การปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข.กันยายน 2558.หน้า 50-52
  6. กองวิจัยทางการแพทย์. สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1. กรุงเทพฯ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2526:17.  
  7. อาจินต์ ปัญจพรรค์. เมืองไทย 16 ค่ำ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กิจเจริญ, 2517:77. 
  8. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์.สมุนไพรในตำรับยาหอม:กานพลู. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 27. ฉบับที่ 3 เมษายน 2553.หน้า 16-20.
  9. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  10. ฤทธิ์ระงับปวดของกานพลู.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. กันยารัตน์ ศึกษากิจ. ฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันและสารสกัดจากดอกกานพลูในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนและอาการข้างเคียงในสัตว์ทดลอง [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. ปทุมธานี. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี. 2557.
  12. ไชยวุฒิ มนตรีรักษ์. การศึกษาผลของเครื่องเทศบางอย่างต่อการเจริญของแบคทีเรียบางชนิด. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาการสอนชีววิทยามหาวิทยาลัยเชียงใหม่.1981.
  13. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. วารสารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2514;13(1):36-66. 
  14. สารสำคัญในกานพลูแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อเอชไอวี.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  15. กานพลู. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=18
  16. กานพลูประโยชน์และสรรพคุณกานพลู. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  17. World Health Organization. WHO Monographs on Selected Medicinal Plants. Vol.2. Geneva: World Health Organization,2002.
  18. Tanko Y, Mohammed A, Okasha MA, Umah A, Magaji RA. Anti-nociceptive and anti-inflammatory activities of ethanol extract of Syzygium aromaticum flower bud in wistar rats and mice. Afr JTrad CAM. 2008;5(2):209-212.
  19. Ulbricht CE, Basch EM (eds). Natural Standard Herb & Supplement Reference Evidence-bases Clinical Reviews. Missouri:Elsevier Mosby,2005.
  20. Kamatou GP, Vermaak I, Viljoen AM. Eugenol-From the Remote Maluku Islands to the International Market Place: A Review of a Remarkable and Versatile Molecule. Molecules 2012:17;6953-6981.
  21. Bisset NG. Herbal Drugs and Phytopharmaceuticals London: CRC Press, 1994.
  22. Kim HM, Lee EH, Hong SH, Song HJ, Shin MK, Kim SH, Shin TY. Effect of Syzygium aromaticum extract on immediate hypersensitivity in rats. J Ethnopharmacol 1998;60:125-31
  23. Cai L. Wu CD. Compounds from Syzygium aromaticum possessing growth inhibitory activity against oral pathogens. J Nat Prod 1996;59(10):987-90.
  24. Perry LM. Assessment report on Syzygium aromaticum (L.). European Medicines Agency;London. 2011.
  25. Dhar SK, Nigam MO, Anand KK, Kaul U. Anti-implantation studies of some essential oils and trans-anethole. Indian Drugs 1990;27(10):551.