นางแย้ม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
นางแย้ม งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ
ชื่อสมุนไพร นางแย้ม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปิ้งซ้อน, ปิ้งสมุทร, ปิงชะมด (ภาคเหนือ), ปิ้งหอม (ภาคกลาง), ส้วนใหญ่ (ภาคอีสาน), กะอุมเปง (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum chinense (osbeck) Mebb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum philippinum Schauer, Clerodendrum fragrans (Vent.) R.Br., Clerodendrum fragrans Wild., Volkameria fragrans Vent.
ชื่อสามัญ Glory bower, Lady nugant’s rose, Rose clerodendrum
วงศ์ Labiatae
ถิ่นกำเนิดนางแย้ม
นางแย้มจัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยจัดเป็นพืชท้องพืชในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศเช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของนางแย้มอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย คือ เกาะชวาและเกาะสุมาตรา ส่วนนางแย้มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยนั้น คือ นางแย้มป่า สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามธรรมชาติซึ่งจะขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ตามที่ชุ่มชื้นเช่น ริมหนองน้ำ ลำห้วย ที่มีแสงแดดรำไรที่มีความสูงในระดับน้ำทะเลจนถึงความสูง 1500 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณนางแย้ม
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้ผื่นคัน
- แก้ไขข้ออักเสบ
- ใช้บำรุงประสาท
- แก้ไข้
- แก้ปวดข้อ
- แก้เหน็บชา ที่มีอาการบวมช้ำ
- ช่วยขับระดูขาวในสตรี
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ปัสสาวะขุ่นเหลืองแดง
- แก้ลำไส้อักเสบ
- แก้หลอดลมอักเสบ
- รักษาริดสีดวงทวาร
- รักษาเริม
- รักษางูสวัด
- แก้ไตพิการ
- แก้โรคความดันโลหิต
- แก้กระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง
- แก้ปวดเอว
- แก้พิษฝี
- แก้ท้องเสีย
- บรรเทาอาการไอ
- แก้อาการเจ็บคอ
นางแย้มถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ หลายด้าน อาทิเช่น คนไทยในอดีตและปัจจุบันนิยมปลูกนางแย้ม เป็นไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อความสวยงามเนื่องจากดอกเป็นช่อกระจุกใหญ่สีขาวสวยงามอีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมทั้งกลางวัน และกลางคืน อีกทั้งยังสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ยังมีการนำดอกนางแย้มช่อที่บานทั้งหมดมาใช้บูชาพระ หรือ ทำน้ำหอมทรงพระและยังนิยมนำมาวางในห้องน้ำ ห้องนอน ห้องรับแขก ช่วยให้กลิ่นห้องหอม และช่วยขับกลิ่นอื่นๆได้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ปวดเอว ปวดข้อ เหน็บชาที่มีอาการบวมช้ำ โดยใช้รากแห้ง 30-60 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใช้ขับระดูขาว แก้ความดันโลหิตสูง แก้หลอดลมอักเสบ โดยใช้รากและใบแห้ง 15-30 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใช้แก้เหน็บชา ปวดขา โดยใช้รากนางแย้ม 15-30 กรัม ตุ๋นกับไก่ รับประทานติดต่อกัน 2-3 วัน ใช้รักษาลำไส้อักเสบ บำรุงประสาท แก้ไข้ แก้ไตพิการ แก้ฝีภายใน ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขุ่นเหลืองแดง แก้ปวดข้อ โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้รากแห้งพอสมควรต้มกับน้ำแล้วนั่งแช่ในน้ำที่ต้ม ใช้รักษาเริม และงูสวัดโดยใช้รากใช้ฝนกันน้ำปูนใสทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน โดยใช้ใบสด จำนวนพอสมควร ต้มน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของนางแย้ม
นางแย้ม จัดเป็นไม้พุ่มเนื้ออ่อน ขนาดเล็กอายุ 3-5 ปี ลำต้นค่อนข้างตรง ต้นเตี้ย ลำต้นมีสีน้ำตาลดำ มีขนปกคลุมเล็กน้อย มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร แตกกิ่งปานกลางถึงมาก กิ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมเปราะหักง่าย
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับตรงข้าม ตั้งฉากกันบนกิ่ง ใบรูปใบโพธิ์ หรือ รูปหัวใจ มีโคนใบเว้าปลายใบแหลม ใบกว้างประมาณ 8-14 ซม. ยาว 12-16 ซม. มีก้านใบยาว 5-10 ซม. แผ่นใบเรียบมีขนปกคลุมทั้งด้านบน และด้านล่างขอบใบหยังมนรบใบมีเส้นใบหลัก 5-7 คู่ และมองเห็นเส้นแขนงใบย่อยเป็นร่างแหชัดเจน
ดอก ออกเป็นช่อตามยอด และปลายกิ่งโดยจะออกเบียดเสียดติดกันเป็นช่อแน่นซึ่งในหนึ่งช่อดอกจะกว้างประมาณ 10-12 ซม. ส่วนดอกย่อยมีลักษณะคล้ายดอกมะลิ ซ้อน กลีบดอกมีสีขาวเมื่อบานแล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู สีม่วงแดงสลับขาว และในแต่ละดอกเมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 2-3 ซม. ดอกย่อยจะมีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดงเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 5-6 แฉก ทั้งนี้ดอกย่อยจะบานไม่พร้อมกัน โดยดอกด้านบนจะบานก่อนด้านล่างแต่จะบานอยู่นานหลายวัน และดอกจะมีกลิ่นหอมมากทั้งกลางคืน และกลางวัน
ผล เป็นผลแห้งเมื่อแก่จะมีสีน้ำเงินดำ มีกลีบเลี้ยงหุ้มมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1 ซม. และจะแตกออกเป็นสี่กลีบ
การขยายพันธุ์นางแย้ม
นางแย้มสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การใช้เมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ เป็นต้น แต่การปลูกด้วยเมล็ดมักไม่นิยมเพราะนางแย้ม ไม่ค่อยติดเมล็ดจึงทำให้หาเมล็ดมาเพาะได้ยาก ส่วนวิธีการที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ การปักชำ ซึ่งมีวิธีการปักชำเช่นเดียวกับการปักชำไม้พุ่มชนิดอื่นๆ โดยต้นนางแย้มที่ตัดชำกิ่งจะแทงหน่อจากดินหลังจากปักชำประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นอีกประมาณ 3 เดือนก็จะเริ่มแทงช่อดอก เมื่อแทงช่อดอกออกมาแล้วจำใช้เวลานานประมาณ 1 เดือน ดอกจึงบานครบหมด
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของนางแย้ม ระบุว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ เช่น Beta-sitosterol, clerosterol, furfural, daucosterol, caffeic acid, linalool, Kaempferol 5,4-dihydroxy-kaempferol-7-o-beta-rutinoside, cyclohexanone, acteoside, leucoseceptoside A ส่วนสารสัดจากส่วนเหนือดินพบสาร verbascoside, isoverbascoside, decaffeoylverbascoside, hispidulin, lupeol, icariside, cornoside, rengyolne เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของนางแย้ม
มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของนางแย้มระบุว่า จากการวิจัยการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของนางแย้ม สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อสเต็ปโต คอคคัส ออเรียส เชื้อสูโดโมแนส แอรูจิโนสา และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ส่วนงานวิจัยอีกฉบับหนึ่งพบว่ามีฤทธิ์การยับยั้งการอักเสบ ขับปัสสาวะและลดความดันโลหิตได้ ส่วนงานวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่าสารสกัดจากรากนางแย้ม มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียขับปัสสาวะต้านอาการปวดท้องจากโรคเกี่ยวกับลำไส้ช่วยในการทำงานของไต และมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่าสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของนางแย้มมีฤทธิ์ ต้านเบาหวาน ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ ระงับปวดลดไข้ และมีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของนางแย้ม
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการเก็บใบของนางแย้มมาใช้เป็นสมุนไพร อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังได้ในบางรายเนื่องจากผิวใบของนางแย้มทั้งสองด้านมีขนละเอียดที่มีความสากคันขึ้นปกคลุมอยู่ และในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยใช้ในขนาดและปริมาณ ที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้นางแย้ม เป็นยาสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง นางแย้ม
- เดชา ศิริภัทร. ขวัญนางแย้ม: ความหอมคู่คนไทยนับหลายร้อยปี. คอลัมน์ต้มไม้บหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 304. สิงหาคม 2547.
- ปิยะ เฉลิมกลิ่น และคณะ. 2546. หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย. จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กเพรส จำกัด กรุงเทพฯ. 336 หน้า.
- สมหมาย เปรมจิตต์ เอกสารแปล ตำรายาสมุนไพรล้านนาจากวัดขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่. ไม่ปรากฏปี พ.ศ. สถาบันวิจัยสังคม.
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น 2546. 1, 488 หน้า.
- ปิยะ เฉลิมกลิ่น. 2540. ไม้ดอกหอม เล่ม 1. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. พิมพ์ครั้งที่ 5. 160 หน้า
- นางแย้ม. กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โดยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02_4.htm.
- นางแย้ม สรรพคุณและการปลูกนางแย้ม.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.pueckaset.com
- Chemical and biological investigation of some clerodendrum species cultivated in Egypt./Haytham m wahba sameh F Abouzid Amany A Sleem, Sandra Apers, luc pieters and Abdelaaty A Shahat/journal of pharmaceutical biology 2011, 49.
- Valkenbrug Van jlch, bunyapraphatsara N. Medicinal and poisonous plants. Plant resources of South-east Asia no. Back publishers, leiden, the Netherlands. 2001.
- Studies on chemical constituents in leafs of Cleodendrum fragrans/ Gao LM, Wei XM, He YQ./Zhongguo Zhong Tao Za Zhi. 2003: 948-51.
- Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001. 810 p.
- 24 beta-methylchilesta-5, 22E, 25-trien-3beta-ol and 24-α-ethyl-5α-cholest-22E-en-3beta-ol from cleodendrum fragrans/ Toshihiro Akihisab, parthasarathi Ghpsha, Swapnadip Thakura et al/phytochemistry, Volume 27, issue 1, 1988, pages 241-244.
- Van Duong N. Medicinal plant of Vietnam, Cambodia and laos. Publisher; Mekhong printing; Vietnam 1993.