ตะเคียนทอง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตะเคียนทอง งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตะเคียนทอง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะเคียน, ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง), จะเคียน, ตะเคียน (ภาคเหนือ), แคน (ภาคอีสาน), เคียน, จืองา (ภาคใต้), กะกี้, โกกี้, จูเค้, โซเก (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata Roxb.
ชื่อสามัญ Iron wood
วงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ถิ่นกำเนิดตะเคียนทอง
ตะเคียนทอง จัดเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE) ที่เป็นไม้พื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่งโดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณประเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามและมาเลเซีย ต่อมาจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบตะเคียนทอง ได้มากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นๆ พบได้ทั่วไป แต่พบได้ไม่มากเท่ากับ 2 ภาคข้างต้น โดยมักขึ้นเป็นหมู่กระจัดกระจายอยู่ตามป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง หรือ ตามที่ราบและในที่ค่อนข้างราบใกล้ฝั่งแม่น้ำ ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณตะเคียนทอง
- ช่วยคุมธาตุ
- แก้ท้องร่วง
- ใช้แก้อักเสบ
- ช่วยฆ่าเชื้อโรค
- ใช้ห้ามเลือด
- ใช้แก้บิดมูกเลือด
- แก้ลงแดง
- แก้เหงือกอักเสบ แก้เหงือกบวม
- แก้ฟันหลุด
- ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปาก
- ใช้สมานแผล
- แก้โลหิต
- แก้กำเดา
- แก้เลือดลม
- แก้กษัย
- แก้ท้องเสีย
- รักษาคุดทะราด
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้ไข้สัมประชวร ใช้ที่เกิดจากหลายสาเหตุ มักแสดงอาการที่ตา เช่น แดง เหลือง หรือ ขุ่นคล้ำ
- แก้ปวดฟัน
- ใช้ปิดธาตุ
- รักษาบาดแผลสด แผลเปื่อย
- แก้บาดแผลเรื้อรัง
- แก้แผลอักเสบ
- รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
ตะเคียนทอง จัดเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ เพราะเนื้อไม้มีความทนทาน เลื่อย ไสกบ ตกแต่งและชักเงาได้ดี จึงนิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนทำหน้าต่าง วงกบประตูและใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านเรือน รวมถึงใช้ต่อเรือ ทำกระโดงเรือ ทำเรือมาด เรือขุด หมอนรองรางรถไฟ เป็นต้น และมีการนำเปลือกต้นตะเคียนทอง ที่ให้น้ำฝาดมใช้ย้อมผ้าและฟอกหนัง ส่วนชัน (ยาง) จากไม้ตะเคียนก็มีการนำมาใช้ทำน้ำมันชักเงา เครื่องใช้ในร่ม หรือ ใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ยาแนวเรือ หรือ ทาเคลือบเรือเพื่อช่วยรักษาเนื้อไม้ และป้องกันเพรียงทำลาย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้คุมธาตุ แก้ท้องร่วง แก้อักเสบ ฆ่าเชื้อโรค โดยนำเนื้อไม้ตะเคียนทองมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาฝนกับน้ำกิน
- ใช้แก้บิดมูกเลือด แก้ลงแดง โดยนำเปลือกต้นตะเคียนทองสดมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้สมานแผล ช่วยห้ามเลือด แก้บาดแผลเรื้อรัง แก้แผลอักเสบ โดยนำเปลือกต้นตะเคียนทองต้มกับน้ำ ชะล้างบาดแผล
- ใช้แก้โลหิตและกำเดา ปิดธาตุ แก้กษัย แก้เลือดลม ขับเสมหะ แก้ท้องร่วง แก้คุดทะราด แก้ไข้สัมปะชวร โดยนำแก่นตะเคียนทอง มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้อาการปวดฟัน แก้เหงือกบวม เหงือกอักเสบ ฆ่าเชื้อโรคในปาก โดยนำเปลือกต้น หรือ แก่นตะเคียนทอง มาต้มกับน้ำอมกลั้วปาก
- ใช้รักษาบาดแผลสด แผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยนำยางตะเคียนทองไม้ที่แข็งตัวแล้วมาบดเป็นผง โรยบาดแผล หรือ ใช้บดผสมน้ำทา บริเวณที่เป็นแผล
ลักษณะทั่วไปของตะเคียนทอง
ตะเคียนทอง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ เรือนยอด เป็นพุ่มทึบกลม หรือ รูปเจดีย์ต่ำๆ มีความสูง 20-40 เมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลดำหนา แตกเป็นสะเก็ด หรือ เป็นร่องตามยาว เปลือกด้านในมีสีเหลืองขุ่น มีริ้วสีชมพู กระพี้ไม้มีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนแก่นสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลางเป็นสีเหลืองหม่น หรือ สีน้ำตาลอมสีเหลือง มักมีเส้นสีขาว หรือ เทาขาว เสี้ยนไม้สน เหนียว ทนทาน ไม่แข็งและเต้นตัวได้
ใบตะเคียนทอง เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปดาบมีขนาดกว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร โคนใบมนป้านเบี้ยวปลายใบเรียว แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบมีตุ่มหูดเกลี้ยงๆ อยู่ตามง่ามแขนงของใบ บนใบมีเส้นแขนงใบประมาณ 9-13 คู่ ปลายโค้งแต่ไม่จรดกัน เชื่อมใบย่อยเชื่อมกันเป็นขั้นบันได หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม
ดอกตะเคียนทอง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกมีความยาว 5-7 เซนติเมตร โดยในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยช่อละ 40-50 ดอก ดอกย่อยมีสีเหลืองแกมน้ำตาล กลิ่นหอมมีขนาด 0.8-1 เซนติเมตร กลีบดอกมีขนาดกลีบดอก 3-5 มิลลิเมตร มี 5 กลีบ มีขนนุ่มขึ้นปกคลุม เมื่อดอกตะเคียนทอง บานเต็มที่กลีบดอกจะบิดคล้ายกงจักร (ปลายกลีบหยักส่วนล่างบิด) และเชื่อมติดกัน มีเกสรตัวผู้ 15 อัน อับเรณูมียอดแหลม เกสรตัวเมียมีรังไข่เรียวเล็กเหนือวงกลีบและมีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 5 กลีบ
ผลตะเคียนทอง เป็นผลแห้งไม่แตกมีลักษณะกลม หรือ เป็นรูปไข่เกลี้ยง ปลายมนเป็นติ่งคล้ายหนามแหลม ผลเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อสุกเป็นสีน้ำตาลเข้มและผลจะมีปีกยาว 1 คู่ เป็นรูปใบพาย ยาว 4-6 เซนติเมตร ปลายปีกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และค่อยๆ เรียวสอบมาทางด้านโคนปีก จะมีเส้นปีกตามยาว 9-11 เส้น และยังมีปีกสั้นยาวน้อยกว่า 0.5 เซนติเมตรอีก 3 ปีกซ้อนกัน โดยในหนึ่งผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ส่วนของเมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมสีน้ำตาล
แหล่งที่มาของภาพ www.readawrite.com
การขยายพันธุ์ตะเคียนทอง
ตะเคียนทอง มีการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดตามธรรมชาติ โดยอาศัยลมพัดผลที่มีปีกให้ไปตกในพื้นที่ต่างๆ แต่การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ มักจะมีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างต่ำ โดยเมื่อกล้าไม้มีการเจริญเติบโตได้ 1-3 ปี มักจะถูกไฟคลอกตาย ดังนั้นในปัจจุบันจึงได้มีการขยายพันธุ์ตะเคียนทอง โดยวิธีผลิตกล้าจากการเพาะเมล็ด แต่ตะเคียนทองจัดเป็นพวกที่สูญเสียการงอกไว (Recalcitrant seed) ดังนั้นเมื่อผลตะเคียนทองตกลงมาจึงต้องรีบนำเมล็ดไปเพาะทันที สำหรับการเพาะเมล็ดตะเคียนทอง สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ และเมื่อได้ต้นกล้าที่แข็งแรงแล้ว ควรเลี้ยงต่อให้เป็นต้นกล้าค้างปี เพราะกล้าจะแกร่งและมีการรอดตายสูง ถ้าใช้กล้าไม้จากการเพาะอายุเพียง 3-4 เดือน กล้าจะอ่อนไปเมื่อนำไปปลูก จะทำให้เปอร์เซ็นต์การรอดตายต่ำ ส่วนวิธีการปลูกไม้ตะเคียนทองก็เหมือนกับไม้ป่าทั่วๆ ไป โดยกล้าที่ปลูกจะต้องทำให้แกร่งเสียก่อน โดยนำออกไปรับแสงเต็มที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นย้ายที่ปลูกหลังจากฝนตก และควรนำถังใส่น้ำเข้าไปในพื้นที่ปลูก นำกล้าตะเคียนทอง จุ่มลงถังน้ำ เพื่อให้รากดูดซับน้ำไว้จนอิ่มตัวแล้วจึงแกะถุงพลาสติกที่ห่อหุ้มรากออกนำลงหลุมปลูก ระยะปลูกที่ใช้กันทั่วไป คือ 4x44 เมตร เหมาะสมกับการปลูกร่วมกับไม้โตเร็วตระกูลถั่วอื่นๆ เพื่อให้ไม้โตเร็วเหล่านั้นสามารถ xed nitrogen ช่วยให้ไม้ตะเคียนทองเจริญเติบโตดีขึ้น
ทั้งนี้ตะเคียนทองเป็นไม้ที่ชอบดินร่วนปนทราย ที่มีความอุดมสมบูรณ์และระบายน้ำได้ดีและยังเป็นไม้ที่ชอบแสง แต่เมื่อเริ่มปลูกในระยะแรกควรจะมีไม้ใหญ่ให้ร่มเงาจนกว่าไม้ตั้งตัวได้ ไม้ตะเคียนจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเกินกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี และมีระยะความสูง 130-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของตะเคียนทองระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ยางจากต้น พบสารกลุ่ม sesquiterpene เช่น humulene, caryophyllene, copaene, a-gurjunene, calerene, Y-gurjunene, alloaromadendrene, cyperene, caryophyllene oxide, farnesane และ dehydrofarnesane สารกลุ่ม triterpene เช่น dammarenediol-H, dammaradienone, and ocotillone, together with asiatic acid และ 2,3-dihydroxyurs-12-en-28-oic acid. รวมถึงกรดไขมันของ sitosteryl, -amyrin acetate, B-amyrin, dipterocarpol, ursolic acetate, lupeol, sitosterol, ursolic acid, betulinic acid, hexamethyl-coruleoellagic acid, tetramethylellagic acid, chrysophanol และ scopoletin เป็นต้นเปลือกต้น พบสาร catechol และ pyrogallol ส่วนสารสกัดดอกเปลือกต้นพบสาร balanocarpol, heimiol A, vaticanol G, vaticanol B, hopeaphenol, ampelopsin H, and hemlesyanol C. ส่วนสารสกัดเฮกเซนจากส่วนใบของตะเคียนทอง พบสาร friedelin, epifriedelanol, β-amyrin, β-sitosterol, betulinic acid, betulonic acid, betulone, mcssagenic acid, mangiferonic acid นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเนื้อไม้ยังพบสาร hopeaphenol อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของตะเคียนทอง
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากเปลือกต้นของตะเคียนทองระบุว่า สาร Hopeaphenol ที่แยกได้จากสารสกัดตะเคียนทอง จากเปลือกต้น มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่า ascorbic acid ในขณะที่สาร vaticanol B และ ampelopsin H มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเยื่อบุผิวและเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ ส่วนสารกลุ่ม oligostilbene 3 ชนิด ได้แก่ Hopeaphenol และ Malibatol A ที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอลจากเปลือกลำต้น พบว่ามีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ โดยมี IC50=21 กรัม/มิลลิลิตร นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตะเคียนทอง ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อราและยังมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตะเคียนทอง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ตะเคียนทอง เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณของตำรายาต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ตะเคียนทอง
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพมหานคร. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สำนักงานหอพรรณไม้. พ.ศ.2549
- ดร.นิจศิริ เรืองรังสี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. ตะเคียนทอง (Ta Khian Tong). หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้าที่ 122.
- ตะเคียนทอง. หนังสือพันธุ์ไม้อุทยานหลวงราชพฤกษ์. หน้า 191
- ตะเคียนทอง. คู่มือการปลูกตะเคียนทอง. ส่วนการปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2556. 16 หน้า
- เจษฎา เหลืองแจ่ม, รัตน ไทยงาม 2526. ตะเคียนทอง การปลูกไม้ป่า. หนังสือคู่มือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามโครงการพัฒนาป่าชุมชน พ.ศ.2536. ส่วนวนวัฒนวิจัย สำนักวิชาการป่าไม้ ส่วนป่าชุมชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้, หน้า 82-97
- ฐานข้อมูลสมุนไพรไทยเขตอีสานได้ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. ตะเคียนทอง, (ออนไลน์) 2525, แหล่งที่มา https://phar.ubu.ac.th/herb-DetailPhargarden/179,[15มี.ค.2568].คัดลอก
- Atun, S., et al. (2008). “Resveratrol derivatives from stem bark of Hopea and their biological activity test.” Journal of Physical Science 19, 2: 7-21.
- Bandaranayake, W.M., et al. (1975). “Tepenes of Dipterocarpus and Doona species.” Phytochemistry 14: 2043-2048.
- Nguyen, Q.H., et al. (2007). “Oligostilbenes from stem bark of Hopea odorata Roxb.” Tap Chi Duoc Hoc 47, 4: 37-39
- Joshi, K., (2003). “Leaf flavonoid patterns in Dipterocarpus and Hopea (Dipterocarpaceae).” Botanical Journal of the Linnean Society 143,1: 43-46.
- Bisset, N.G., et al. (1966). “Etudes chimio-taxonomiques dans la famille des Dipterocarpaceaes-II. Constituants du genre Dipterocarpus Gaertn.F. Essai de classification chimio-taxonomique.” Phytochemistry 5: 865-880.