พิโนสโตรบิน
พิโนสโตรบิน
ชื่อสามัญ Pinostrobin
ประเภทและข้อแตกต่างของพิโนสโตรบิน
พิโนสโตรบิน หรือ 5-hydroxy-7-methoxyflavanone เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยส์ (flaronoids) มีสูตรทางเคมี คือ C16 H14 O4 มีมวลโมเลกุล 270.28 g/mol และละลายน้ำได้ไม่ดีนัก ซึ่งพิโนสโตรบิน เป็นไบโอฟลาโวนอยด์ในอาหารที่มีการค้นพบครั้งแรกเมื่อกว่า 600 ปี มาแล้วโดยในครั้งนั้นพบในไม้สน (Pinus strobus) สำหรับประเภทของพิโนสโตรบินนั้นพบว่ามีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของพิโนสโตรบิน
พิโนสโตรบินเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่พบได้ในพืชสมุนไพรหลายชนิด โดยเฉพาะพืชในวงศ์ Zingiberaceae เช่น กระชายเหลือง, กระชายดำ, กระชายขาว ที่สามารถพบสาร พิโนสโตรบินได้มากกว่าสมุนไพรชนิดอื่นๆ ส่วนสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในวงศ์นี้ก็สามารถพบสารนี้ได้เล็กน้อย นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในพืชชนิดต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันสารชนิดนี้กำลังเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมากเนื่องจากมีรายงานการศึกษาวิจัยในห้องทดลองว่าสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส corona (covid-19) ได้
ปริมาณที่ควรได้รับจากพิโนสโตรบิน
สำหรับขนาดปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันของสารพิโนสโตรบินนั้น ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้ไว้อย่างตายตัว อีกทั้งในการใช้ในอดีตนั้นจะเป็นการใช้โดยการบริโภคในรูปแบบของการรับประทานพืชผักสมุนไพร ที่เป็นแหล่งของสารพิโนสโตรบินมากกว่าการจะสกัดเอาสารชนิดนี้ออกมาใช้บริโภคเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของพิโนสโตรบินพบว่าไม่มีความเป็นพิษแต่อย่างใด
ประโยชน์และโทษพิโนสโตรบิน
มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารพิโนสโตรบินมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายๆ ด้าน ที่จะสามารถช่วยป้องกันและรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง ลดการอักเสบ ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ (อาทิ สมอง ตับ ไต หัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น) ช่วยต้านเชื้อไวรัสต่างๆ ทั้งก่อนการติดเชื้อและหลังการติดเชื้อ และยังช่วยลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสอีกด้วย
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องพิโนสโตรบิน
สำหรับผลการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ของพิโนสโตรบินทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้นมีน้อยมาก ซึ่งจะขอนำมากล่าวถึงแค่เพียงที่ได้สืบค้นพบเท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาฤทธิ์ในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดเมทานอลจากเหง้ากระชายและสาร pinostrobin ที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอลในหนูแรท โดยป้อนสารสกัดเมทานอลจากกระชาย ขนาด 50, 100, 200, 400 มก./กก. และสาร pinostrobin ขนาด 20 และ 40 มก./กก. ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วยเอทานอล 1 ชม. เปรียบเทียบผลกับกลุ่มที่ป้อนยา omeprazole ขนาด 20 มก./กก. พบว่าสารสกัดเมทานอล สาร pinostrobin และยา omeprazole มีผลเพิ่มปริมาณของสารเมือก (gastric mucus) และค่า pH ในกระเพาะอาหาร และลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งสารสกัดเมทานอลขนาด 400 มก./กก. และสาร pinostrobin ทั้ง 2 ขนาด จะลดการเกิดแผลได้ดีกว่ายา omeprazole นอกจากนี้ยังลดอาการบวมของชั้นใต้เยื่อเมือก (submucosal edema) และทำให้การแทรกของเซลล์เม็ดเลือดขาว (leucocytes infiltration) ลดลงหรือหายไป สารสกัดเมทานอล สาร pinostrobin และยา omeprazole มีผลลดระดับของ malondialdehyde ได้ โดยสาร pinostrobin ให้ผลดีที่สุด เมื่อนำสาร pinostrobin มาทดสอบฤทธิ์ในการต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสาร pinostrobin ไม่มีผลในการยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ และการทำงานของเอนไซม์ COX-1 และ COX-2 เมื่อทดลองในเซลล์ RAW 264.7 ซึ่งถูกเหนี่ยวนำด้วย lipopolysaccharide/interferon-γ (LPS/IFN- γ) และสาร pinostrobin มีฤทธิ์อ่อนในการต้านอนูมูลอิสระเมื่อทดสอบวิธี Ferric reducing/antioxidant power (FRAP) แต่ไม่มีผลเมื่อทดสอบด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH)
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของกระชายที่สกัดด้วยเฮกเซน พบว่า สาร pinostrobin และสาร panduratinA แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย B.cereus, B.subtilis และ E.coli ที่ระดับความเข้มข้น 300 ไมโครกรัมต่อดิสด์
นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาอีกว่า สารพิโนสโตรบินมีฤทธิ์ต้านการลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส ฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งตับ และฤทธิ์ต้านการอักเสบอีกด้วย ส่วนการศึกษาทางด้านพิษวิทยานั้น มีการศึกษาความเป็นพิษของสารพิโนสโตรบิน (5-hydroxy-7-methoxy flavanone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาวาโนนที่ได้มาจากเหง้ากระชาย โดยทดสอบในหนูขาวโดยให้สารพิโนสโตรบิน แก่หนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ ในขนาดความเข้มข้น 500 mg/kg ผลการศึกษาพบว่าสารทั้งสองชนิดไม่ก่อให้เกิดการตายในหนู และจากการวิเคราะห์ความเป็นพิษต่ออวัยวะสำคัญ ได้แก่ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ ไต อัณฑะ ต่อมไทมัส และค่าทางชีวเคมีของเลือด ได้แก่ aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT), alkaline phosphatase (ALP), ปริมาณโปรตีนรวม, อัตราส่วนของ albuminกับ globulin, ปริมาณยูเรีย ตลอดจนน้ำหนักตัวของหนู ไม่พบความผิดปกติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม
นอกจากนี้ยังมีการศึกษา ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์โดยจากการทดสอบฤทธิ์ทำลายสารพันธุกรรม หรือการก่อกลายพันธุ์ ด้วยการให้สารพิโนสโตรบินซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาวาโนนที่ได้มาจากเหง้ากระชาย ในขนาด 1, 10 หรือ 100 mg/kg แก่หนูขาวเป็นระยะเวลา 7 วัน พบว่าสารดังกล่าว ไม่เหนี่ยวนำให้เกิดการแตกหักของโครโมโซม และไม่มีผลต่อดัชนีการแบ่งตัวของเซลล์ตับ (mitotic index) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสารพิโนสโตรบินไม่มีความเป็นพิษในหนูขาว และไม่มีความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรมในเซลล์ตับหนูขาวในช่วงความเข้มข้น 1-100 mg/kg
เอกสารอ้างอิง พิโนสโตรบิน
- จุรีพร อุปชิ, ไพวรรณ สุดวรรค์.การทดสอบความเป็นพิษของน้ำกระชายคั้นด้วยวิธี ไมโครนิจเคลียสในหนูขาวเพศผู้.วารสาร Thai Jo urnal of Gienetics ฉบับพิเศษ.กรกฏาคม 2556.หน้า 187-191
- ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของกระชาย.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Ashidi,J.S.,Houghton,P.J.,Hylande,P.J.,Sieber,S.,and Efferth,T.2007.Molecular mechanism of action of the flavohone pinostrobin from Cajanus cajan leaves in caner cell. Plantamedica 73:855
- Wu,D.,Nair,M.G.,and DeWitt,D.L.2002.Novel compaunds from Piper methysticum Forst (Kava Kava) root and their effect on eyclooxygenase enzyme.Journal of agricultural and food chemistry 50:701-705
- Charoensin S, Punvittayagul C, Pompimon W, Mevatee U, Wongpoomchai R. Toxicological and clastogenic evaluation of pinocembrin and pinostrobin isolated from Boesenbergia pandurata in wistar rats. Thai J Toxicology. 2010;25(1):29-40.
- Smolarz,H.D.,Mendyk,E.,Bogucka-Kocka.A.,and Koki,J.2006.Pinostrobin.an.antileakemic Aavenoid from polygonum lapothito lium L.ssp.nodosum(Pers.)Dans Zeitschrift fur naturfur naturforschung 61:64-68
- Trakoontivakorn G, Nakahara K, Shinmoto H, et al. Structural analysis of a novel antimutagenic compound, 4- hydroxypanduratin A, and the antimutagenic activity of flavonoids in a Thai spice, fingerroot (Boesenbergia pandurata Schult) against mutagenic heterocyclic amines. J Agric Food Chem. 2001;49(6),3046-50.
- Mongkdsuk,S.,and Dean, F.M.1964.Pinastrobin and alpinetin from Kaempferia pandurata.Journal of the chemical society 4654-4655
- Fahey, J.W., and Stephenson,K.K.2002.Pinostrobin from honey and thai ginger (Boesenbergia pandurata):a.potent flaronoid inducer of mammalian phase 2 Chemopotective and antioxidant enzyms. Journal of agricultural and food chemistry 50:7478-7476.