เลซิติน
เลซิติน
ชื่อสามัญ Lecithin
ประเภทและข้อแตกต่างสารเลซิติน
สารเลซิตินเป็นไขมันประเภทหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อเซลล์ทุกชนิดในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเลซิตินแยกได้ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1850 โดยนักเภสัชเคมีชาวฝรั่งเศสชื่อมอริส โกเบลย์ (Maurice Gobley) ที่สกัดแยกเลซิตินได้จากไข่แดง และตั้งชื่อเป็นภาษากรีกว่า เลกิธอส (Lekithos) ต่อมาในปี ค.ศ.1874 มีการพิสูจน์โครงสร้างของเลซิทินอย่างสมบูรณ์ พบว่าเลซิทินเป็นลิพิด หรือ ไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่ในรูปเอสเทอร์ที่เรียกว่า ฟอสโฟลิพิด (Phospholipids) ซึ่งฟอสโฟลิพิดสำคัญมีอยู่ 4 ชนิด โดยเฉพาะฟอสฟาทิดิลโคลีนสามารถให้วิตามินบีหายากที่เรียกว่าโคลีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทที่ชื่อ อะเซทิลโคลีน อีกทั้งเลซิติน ยังมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ เช่น กรดลิโนเลอิก กรดแอลฟาลิโนเลนิก และกรดอะราชิโดนิก
ทั้งนี้ในทางชีวเคมีเลซิตินจะหมายถึง ฟอสฟอทิดิลโคลีน (phosphatidylcholine) ที่เป็นเอสเทอร์ ของกรดฟอสฟาทิดิลกับโคลีน ซึ่งเป็นไขมันประเภทฟอสโฟไลปิด (phospholipid) ชนิดหนึ่ง (ฟอสโฟไลปิด คือ ไขมันที่มีกลุ่มของกรดฟอสโฟริค (phosphorie acid) จับอยู่กับคาร์บอนตำแหน่งที่ 3 ของ glycerol backbone ส่วนคาร์บอนตำแหน่งที่ 1 และ 2 จะจับกับกรดไขมัน) แต่ในการการค้าเลซิติน จะหมายถึง สารผสมของฟอสโฟไลปิดที่สกัดได้จากอาหารต่างๆ เช่น ไข่แดง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ฟอสโฟไลปิดชนิดต่างๆ เช่น phosphatidylcholine, phosphatidyl ethanol nine และ phosphatidyl inositol เป็นต้น โดยมีเลซิตินอยู่มากที่สุด และโมเลกุลของเลซิตินจะประกอบด้วย กลีเซอรอล (glycerol), กรดฟอสโฟริก (phosphoric acid), กรดไขมัน (fatty acid) และมี โคลีน (nitrogen-containing base choline) จับอยู่กับกรดฟอสโฟริค ส่วนกรดไขมันในโมเลกุลส่วนใหญ่จะเป็นหรดปาลมิติก (palmitic acid) เสตรียริก (stearie acid) โอเลอิก (oleic acid) และอะราชิโดนิก (arachidonic acid) สำหรับประเภทของเลซิตินนั้นอาจแบ่งตามแหล่งที่พบได้ 2 แหล่ง คือ ในร่างกายมนุษย์ที่สามารถผลิต “เลซิติน” ขึ้นได้เองโดยเป็นการสังเคราะห์โดยกระบวนการกลไกของร่างกายที่ “ตับ“ โดยสารตั้งต้นที่ร่างกายใช้ผลิตเลซิติน ได้แก่ กรดไขมันจำเป็น วิตามินบี และสารอาหารสำคัญอื่นๆ และจากแหล่งธรรมชาติ ที่พบได้ทั้งในพืชและสัตว์ โดยจะพบมากในแหล่งอาหารต่างๆ ซึ่งแหล่งอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะให้โคเลสเตอรอลสูงตามไปด้วย
สารเลซิตินแหล่งที่พบและแหล่งที่มา
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าร่างกายสามารถผลิตเลซิติน ขึ้นมาเองได้ที่ตับ แต่หากร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเลซิตินไม่เพียงพอก็จะทำให้ไม่สามารถผลิตเลซิติน ได้มากพอที่ร่างกายต้องการ และเกิดภาวะขาดเลซิตินตามมา ดังนั้นร่างกายจึงจำเป็นต้องได้รับเลซิตินจากแหล่งอาหารธรรมชาติร่วมด้วย ซึ่งแหล่งอาหารในธรรมชาติที่มีเลซิตินอยู่ อาทิ เช่น ถั่วเหลือง ไข่แดง นมสด ชีส เนย ถั่วลิสง เนื้อวัว ปลา ตับ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก เมล็ดทานตะวัน เมล็ดดอกคำฝอย ข้าวโอ๊ต จมูกข้าวสาลี และเมล็ดธัญพืชอื่นๆ เป็นต้น
ปริมาณที่ควรได้รับสารเลซิติน
สำหรับปริมาณของเลซิตินที่ร่างกายต้องการต่อวันนั้น มีการศึกษาวิจัยพบว่าร่างกายของเราต้องการเลซิตินวันละ 6 กรัม แต่โดยมากแล้วในคนปกติที่มีการบริโภคอาหารครบ 5 หมู่ มักจะไม่พบว่ามีภาวะขาดเลซิติน แต่ปัจจุบันที่คนนิยมรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ จึงอาจจะทำให้เกิดการขาดสารเลซิติน ได้ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการผลิตเลซิตินในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกมาจำหน่ายโดยมีการกำหนดขนาดการรับประทานที่เหมาะสมของเลซิติน(Lecithin) ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพนั้นควรรับประทานดังนี้
- เพื่อเสริมความจำ ป้องกันสมองเสื่อม ควรรับประทาน 1,200-3,600 มิลลิกรัม/วัน
- เพื่อบำรุงตับ ลดการทำลายเซลล์ตับ ควรรับประทาน 1,200-3,600 มิลลิกรัม/วัน
- เพื่อลดไขมันโคเลสเตอรอล ป้องกันโรคสมองและหัวใจขาดเลือด ควรรับประทาน 3,600-7,200 มิลลิกรัม/วัน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเลซิตินจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่การรับประทานเลซิติน ที่มากเกินไป ก็อาจเกิดอาการข้างเคียง ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้และควรระมัดระวังในการใช้
ประโยชน์และโทษสารเลซิติน
เลซิตินเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผลการศึกษาวัยระบุว่าในร่างกายมนุษย์จะพบเลซิตินมากในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ตับ และไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมองจะพบเลซิตินเป็นส่วนประกอบมากถึง 30%
ทั้งนี้เลซิตินมีความสำคัญต่อสมองเนื่องจากในการส่งขอมูลระหว่างเซลล์สมองแต่ละเซลล์ และระหว่าสมองกับส่วนต่างๆ ในร่างกายต้องอาศัยสารที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (neurotransmitters) ซึ่งทำหน้าที่ในการถ่ายทอดข้อมูล และความรู้สึกเพื่อให้แสดงพฤติกรรมต่างๆ ได้ตามความต้องการของสมอง โดยสารที่สำคัญได้แก่อะซิทิลโคลีน (acetycholine) ที่ผลิตมาจากสารโคลีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลซิติน อีกทั้งในปัจจุบันแพทย์ยังใช้เลซิตินในการบำบัดโรคทางสมองต่างๆ เช่น tardive Dyskinesis ซึ่งเป็นโรคทางสมอง ที่เกิดจากเซลล์ประสาทของสาร acetylcholine รวมถึงยังใช้รักษาโรคพาร์กินสันและโรคความจำเสื่อมอีกด้วย
นอกจากนี้เลซิตินยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีก เช่น ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอลซึ่งการควบคุมไลโพโปรตีนที่ขนส่งโคเลสเตอรอล คือ “แอลดีแอล” (LDL) และ “เอชดีแอล” (HDL) ดังนั้นกลไกของเลซิตินต่อการควบคุมโคเลสเตอรอล คือ ลดการดูดซึมของโคเลสเตอรอลในทางเดินอาหารออกทางลำไส้ใหญ่ และขับถ่ายออกไปและเลซิตินยังมีส่วนในการสร้างไลโพโปรตีนและเร่งปฏิกิริยาการขนย้าย โคเลสเตอรอลออกจากกระแสเลือดช่วยในกระบวนการเผาผลาญไขมัน และนำไขมันไปใช้เป็นพลังงานให้ดีขึ้น เพราะเลซิตินเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างโมเลกุลที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกาย เช่น เอนไซม์ฮอร์โมนสารเคมีระบบภูมิคุ้มกันบางชนิด การแข็งตัวของเลือด เป็นต้น ช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันให้ดีขึ้นการรับประทานเลซิตินจะช่วยให้ร่างกายสามารถนำวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ดูดซึมและนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นองค์ประกอบของเยื่อบุผิวของเซลล์เพราะเลซิตินจะถูกใช้ในกระบวนการสร้างเยื่อบุผิวเซลล์ต่างๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือด เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ผิวหนัง รวมถึงเซลล์ของอวัยวะต่างๆ
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เลซิตินยังช่วยไม่ให้ไขมันในเลือดตกตะกอน โดยทำให้ไหลเวียนไปกับกระแสเลือด ช่วยให้เกิดการเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงาน ลดอันตรายจากโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว การเกิดนิ่วในถุงน้ำดี และลดความเสี่ยงโรคไขมันในตับอีกด้วย
สำหรับโทษของเลซิตินนั้นในคนสุขภาพดีที่รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ จะไม่พบภาวะขาดเลซิติน อีกทั้งภาวะขาดเลซิตินนั้นจะพบน้อยมาก หรือ แทบไม่พบเลย แต่จะพบภาวะการได้รับเลซิตินมากเกินไปโดยจะมีผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายหลั่งออกมาก เบื่ออาหาร เหงื่อออกมาก เป็นต้น
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของสารเลซิติน
มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเลซิตินกับการป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ หลายฉบับ อาทิเช่น เลซิตินกับการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดบทบาทของเลซิตินที่มีต่อการลดอัตราความเสี่ยงของโรคหัวใจ และหลอดเลือดจะอยู่ที่กลไกลที่มีผลต่อโคเลสเตอรอลมีการศึกษาวิจัย โดยการให้เลซิตินแก่ผู้ที่อยู่ในภาวะไขมันสูงภายใต้เงื่อนไข และระยะเวลาที่ควบคุมพบว่า ระดับไลโพโปรตีนชนิดแอลดีแอลลด ลงในขณะที่เอชดีแอลสูงขึ้น โดยกลไกลดังกล่าวสามารถอธิบายได้จากคุณสมบัติของเลซิติน คือ ช่วยลดการดูดซึมของโคเลสเตอรอลในทางเดินอาหาร และเลซิตินยังมีผลต่อการดูดกลับน้ำดีในทางเดินอาหารให้ลดลง โดยดึงโคเลสเตอรอลในเลือดที่เป็นองค์ประกอบการ สร้างน้ำดีมาใช้เพิ่มขึ้น ทำให้การขนส่งโคเลสเตอรอลจากเลือดไปสู่ตับเพิ่มขึ้น และเลซิตินยังส่งผลต่อไตรกลีเซอไรด์ในกระบวนการเร่งการสลายอีกด้วยทำให้ลดความเสี่ยงของโคเลสเตอรอล ที่จะเกาะตามผนังหลอดเลือดได้
เลซิติน กับภาวะโรคตับมีผลการศึกษาวิจัยในปี ค.ศ.1994 ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยลิงบาบูนที่มีปัญหาการสะสมไขมันในตับ และตับแข็งอันเป็น ผลมาจากแอลกอฮอล์ โดยให้ได้รับการเสริมเลซิตินชนิดที่มีฟอสฟาติดิลโคลีน ซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง สามารถบรรเทาอาการลงได้ นอกจากนี้การเสริมเลซิตินยังสามารถชะลอปัญหาการสะสมไขมันในตับของลิงบาบูน อันจะนำไปสู่ปัญหาตับแข็ง
นอกจากนี้ยังมีรายงานทางการแพทย์ในปี ค.ศ.2003 ซึ่งเป็นการศึกษาทั้งหมด 20 ศูนย์ในอเมริกา โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 789 ราย โดยผู้ป่วยจะได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน จากผลการตรวจชิ้นเนื้อของตับที่ 24 เดือน หลังจากการรักษาพบว่าผู้ป่วยโรคตับจากแอลกอฮอล์ที่ได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน มีแนวโน้มที่ดี และค่าเอมไซม์ของตับดีขึ้น
เลซิตินกับการลดความเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี มีการศึกษาวิจัยพบว่านิ่วในถุงน้ำดีมีสาเหตุมาจากในน้ำดีมีปริมาณของไขมันคอเลสเตอรอลสูงจนเกินไป และจากการทำงานของเลซิตินซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลายของน้ำดี จึงช่วยให้น้ำดีไม่จับตัวจนเป็นก้อนนิ่ว
เลซิตินกับโรคความจำเสื่อม โดยมีงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับประทานเลซิตินวันละ 25 กรัม เป็นเวลาหลายๆ เดือนติดต่อกัน และพบว่าการให้โคลีนเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะช่วยให้ความจำดีขึ้นได้ หรือ การให้โคลีนร่วมกับยาที่ใช้รักษา (Cholinesterase inhibitors) ก็ทำให้มีการพัฒนาความสามารถที่ต้องใช้ความจำด้วย
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติสารเลซิติน
หากรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อยู่เป็นประจำ ก็จะทำให้ร่างกายได้รับเลซิตินในปริมาณที่เพียงพอโดยที่ไม่ต้องรับประทานเลซิตินในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแต่อย่างใด แต่หากมีความจำเป็นต้องรับประทานเลซิติน ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรเลือกเลซิติน จากพืชเพราะเลซิตินจากพืช มีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หากซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเลซิตินจากแหล่งวัตถุดิบที่เป็นสัตว์ หรือ ไข่แดงอาจได้รับกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับโคเลสเตอรอลได้ นอกจากจะได้รับเลซิตินจากอาหารหรือ เลซิตินเสริมอาหารแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ก็จะช่วยเสริมและเพิ่มปริมาณเลซิตินให้กับกล้ามเนื้ออีกทางหนึ่งได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง เลซิติน
- เกษมศรี วงศ์เลิศวิทย์ (แปลและเรียบเรียง). Paul Simons (writer). ๒๕๓๘. เลซิติน สารมหัศจรรย์ละลายไขมัน (Lecithin: The cholesterol controller). เจริญวิทย์การพิมพ์. ๑๓๕ หน้า
- เลซิติน (Lecithin) รายงายความก้าวหน้าครั้งที่ 3.โครงการเพิ่มศักยภาพฐานข้อมูลอุตสาหกรรมยาทางชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.10 หน้า
- สิรีชัยเสรี, 2536, เลซิติน, อุตสาหกรรมเกษตร, ปีที่ 4, ฉบับที่ 1 หน้า 5-11
- บริษัทหมอมวลชน ๒๐๐๐ จำกัด. ๒๕๔๗. เลซิติน (Lecithin) สารมหัศจรรย์. วารสารยา. สมาคมร้านขายยา. ๒๓(๑):๕๐-๕๒.
- Marchesini G, Segato S, Stefani AL, Tenti S, Dorigo M, Gerardi G, Bernardini D, Andrighetto I. Lecithin: a by-product of biodiesel production and a source of choline for dairy cows, Italian J Anim Sci 2012;11 (2):203-207.
- Kullenberg, F,W, 1989, Lecithin in animal health and nutrition. Ch. 16.In "Lecithins: Sources,Manufacture & Uses,"Bernard F. Szuhaj(Ed.), pp. 237-252. American Oil Chemists’Society, Champaign, IL.
- Borsatti LS, Vieira L, Stefanello C, Kindlein L, Oviedo-Rondón EO. Apparent metabolizable energy of by-products from the soybean oil industry for broilers: acidulated soapstock, glycerin, lecithin, and their mixture, Poult Sci 2018;97(1): 124–130.
- Dashiell , G,L, 1989 , Lecithin in Food Processing applications. Ch. 14. In "Lecithins: Sources, Manufacture & Uses,’Bernard F. Szuhaj (Ed.) pp. 213-224. Americzn Oil Chemists’Society, Champaign, IL.
- Zhou PY, Li HL, Hossain MM, Kim IH. Effect of emulsifier (lysophospholipid) on growth performance, nutrient digestibility and blood profile in weaning pigs, Anim Feed Sci and Tech 2015;207:190-195.