ฟาซิโอลามีน

ฟาซิโอลามีน

ชื่อสามัญ Phaseolamin

ประเภทและข้อแตกต่างของฟาซิโอลามีน

ฟาซิโอลามีน (Phaseolamin) จัดเป็นไกลโคโปรตีน (glycoprotein) ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ ซึ่งสารฟาซิโอลามีน (Phaseolamin) นี้ถูกค้นพบครั้งแรกจากถั่วแดงหลวง (kidney bean) เมื่อปี ค.ศ.1975 และสำหรับประเภทของสารฟาซิโอลามีน (Phaseolamin) นั้น จากการศึกษาค้นพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของฟาซิโอลามีน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าสารฟาซิโอลามีน (Phaseolamin) สามารถพบได้ในธรรมชาติโดยค้นพบครั้งแรกในถั่วแดงหลวง (kidney bean) แต่ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยพบว่า ฟาซิโอลามีน ยังพบได้ในถั่วขาว (Phaseolus vulgaris) หรือ ที่ชาวตะวันตกเรียกกันว่า Whaite kidney bean ซึ่งในถั่วขาวนี้พบว่ามีปริมาณสารฟาซิโอลามีนมากกว่าในถั่วแดงหลวงหลายเท่า ดังนั้นในปัจจุบันจึงนิยมสกัดเอาสารดังกล่าวจากถั่วขาวมาใช้ประโยชน์มากกว่าถั่วแดงหลวง

ฟาซิโอลามีน

ฟาซิโอลามีน

ปริมาณที่ควรได้รับจากฟาซิโอลามีน

สำหรับขนาดและปริมาณ ของสารฟาซิโอลามีน (Phaseolamin) ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้น ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการกำหนดถึงขนาดและปริมาณรวมถึงเกณฑ์ในการใช้ปริมาณสารดังกล่าวอย่างชัดเจนแต่อย่างใด แต่ได้มีการศึกษาวิจัยถึงขนาดและปริมาณของสารฟาซิโอลามีนที่สกัดได้จากถั่วขาว พบว่า จากการศึกษาโดยใช้สาร Phaseolamin Phase 2 ตั้งแต่ 500 ถึง 3,000 mg/day ทั้งรับประทานครั้งเดียวและแบ่งรับประทาน ไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่พบผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารซึ่งพบน้อยมากและสามารถหายเองได้เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุผลการศึกษาไว้ว่า หนูทดลองที่ได้รับตัวอย่างสารฟาซิโอลามีน 100, 500 และ 1,500 มก./กก. (น้ำหนักตัว)/วัน ไม่แสดงสัญญาณทางกายภาพของความเป็นพิษที่เกิดจากสารสกัด และไม่มีการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการรักษา นอกจากนี้ยังไม่มีอาการของการสะสมของแป้งในลำไส้ที่ก่อให้เกิดอาการท้องร่วงแต่อย่างใด นอกจากนี้คณะกรรมการอาหารและยาของไทยยังได้มีการกำหนดให้การใช้สารสกัดถั่วขาวในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สามารถสกัดได้โดยวิธีบดผงและสกัดด้วยน้ำ จากเมล็ดของถั่วขาว โดยให้มีขนาดการใช้ปริมาณสารสกัดไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน อีกด้วย

ประโยชน์และโทษของฟาซิโอลามีน

ในปัจจุบันได้มีการสกัดเอาสารฟาซิโอลามีน (Phaseolamin) มาใช้ในรูปแบบสารสกัดและรูปแบบสารที่มีอยู่ในแหล่งของอาหาร (ถั่วขาว) เช่น มีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ขนมอบ เค้ก คุกกี้ และแป้งสาลี ที่ให้พลังงานสูบ ส่วนในรูปแบบสารสกัดนั้นก็มีการนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งในรูปแบบสารเดี่ยวและนำมาใช้เป็นส่วนผสมกับสารสกัดอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งที่มีการนำสารฟาซิโอลามีนมาใช้ประโยชน์ในลักษณะนี้นั้นก็เนื่องด้วยมีผลการศึกษาวิจัยพบว่า สารดังกล่าว สารฟาซิโอลามีน (Phaseolamin) ที่สามารถพบได้ในถั่วขาว (Phaseolus vulgaris) มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha amylase ที่มีหน้าที่ย่อยคาร์โบไฮเดรต และเมื่อแป้งไม่ได้รับการย่อยเป็นน้ำตาลจะไม่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ จึงเป็นการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตจากอาหารที่รับประทานและลดอัตราการสูงขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารได้ โดยกลไกลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อไมเลสนั้น ส่งผลทำให้อาหารประเภทแป้งที่เราบริโภคเข้าไปไม่เปลี่ยนเป็นสภาพน้ำตาลทั้งหมด โดยสารฟาซิโอลามีน ในถั่วขาว มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการย่อยแป้งเป็นน้ำตาลถึง 66% จึงทำให้แป้งที่เราบริโภคเข้าไปไม่ถูกดูดซึมสู่ร่างกายทั้งหมด และเมื่อร่างกายได้รับพลังงานลดลงจึงดึงเอาไขมันเก่าที่สะสมไว้มาเผาผลาญซึ่งทำให้ไขมันในร่างกายลดลง นอกจากนี้สารฟาซิโอลามีนยังสามารถปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างให้ไม่เหมาะกับการทำงานของเอนไซม์อัลฟาอะไมเลส จากค่าความเป็นกรด-ด่างที่ 6.6–7.6 ให้กลายเป็น 5.5 ซึ่งหากเอนไซม์อัลฟาอะไมเลสถูกยับยั้ง โดยการปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง แป้งจะไม่ถูกย่อยและดูดซึมที่ผนังลำไส้เล็ก แต่จะคงสภาพเดิม เคลื่อนที่สู่ลำไส้ใหญ่ เป็นกากใยและถูกขับถ่ายจากร่างกายไปในที่สุด

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของฟาซิโอลามีน

มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารฟาซิโอลามีน จากถั่วขาวดังนี้

           ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟาอะไมเลส มีการศึกษาวิจัยพบว่า สารฟาซิโอลามีน (Phaseolamin) มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha amylase แบบ noncompetitive และปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ให้ไม่เหมาะกับการทำงานของเอนไซม์ alpha amylase (เอนไซม์ alpha amylase จะมีความเสถียรและทำงานได้ดีที่สุดที่ค่า pH 6.6-7.6) โดยสารดังกล่าวจะปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ที่ pH5.5 ซึ่งสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha amylase ได้ดีที่สุด

          ฤทธิ์ลด ควบคุมน้ำหนัก มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าการให้รับประทานสาร Phaseolamin Phase 2 ตั้งแต่ 500-3,000 mg/day สามารถทำให้น้ำหนักลดลง และช่วยลดอัตราการสูงขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารให้ช้าลงโดยไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรงและมีอีกการทดลองหนึ่งโดยให้ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเล็กน้อยประมาณ 5-15 กิโลกรัม จำนวน 60 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน กลุ่มแรก รับประทานสารสกัดจากถั่วขาว อัดเม็ดน้ำหนัก 445 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด ก่อนรับประทานอาหารเที่ยงที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น พาสต้า ข้าว มันฝรั่ง ขนมปัง ผลไม้สด และ กาแฟใส่น้ำตาล เป็นต้น อีกกลุ่มให้รับประทานยาหลอกซึ่งไม่มีสารสกัดจากถั่วขาวแล้วรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงเช่นกัน โดยควบคุมอาหารทุกๆ มื้อของผู้ทดสอบทั้ง 2 กลุ่มให้เหมือนกัน การทดลองดำเนินอย่างต่อเนื่องนาน 30 วัน โดยตรวจติดตามค่าน้ำหนักตัว น้ำหนักไขมัน และส่วนที่ไม่ใช่ไขมันในร่างกาย ความหนาของผิวหนัง ระยะรอบเอว สะโพก และต้นขา พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับสารสกัดจากถั่วขาวมีค่าที่ถูกตรวจติดตามทุกค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยส่วนที่ลดลงเป็นผลมาจากไขมันที่ลดลงเท่านั้น ส่วนของกล้ามเนื้อยังคงเดิม นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆ อีก เช่น จากการวิเคราะห์ปริมาณของสารยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อัลฟาอะไมเลสของพืชตระกูลถั่ว (Phaseolus vulgaris) พบว่า ถั่วขาวมีปริมาณของสารยับยั้งนี้สูงที่สุด รองลงมาคือ ถั่วแดงและถั่วดำตามลำดับ และมีการศึกษาวิจัย เปรียบเทียบการบริโภคถั่วขาวต้มสุกกับการบริโภคขนมปังขาวซึ่งเป็นแหล่งอาหาร สำคัญแหล่งหนึ่งในปริมาณ 100 กรัม เท่ากัน พบว่า ถั่วขาวให้พลังงาน 142 กิโลแคลอรี่ ซึ่งมาจากคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 74 โปรตีนร้อยละ 22 และไขมันร้อยละ 4  ส่วนขนมปังขาวซึ่งทำจากแป้งสาลีเป็นหลัก พบว่าขนมปังขาวให้พลังงาน 266 กิโลแคลอรี่ มีคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 78 โปรตีนร้อยละ 11 และไขมันร้อยละ 11 ซึ่งจากการเปรียบเทียบดังกล่าวเชื่อว่า การที่ถั่วขาวให้พลังงานน้อยกว่าเนื่องจากมีสารฟาซิโอลามีนเป็นส่วนประกอบ

โครงสร้างฟาซิโอลามีน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยระบุว่าสารฟาซิโอลามีน (Phaseplamin) สามารถยับยั้งเอนไซม์อัลฟาอะไมเลส ที่เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล ซึ่งทำให้เกิดเป็นพลังงานและไขมันสะสมได้ แต่ทั้งนี้ ในการใช้สารดังกล่าวก็ควรคำนึงถึงหลักต่างๆ ดังนี้

  1. ก่อนซื้อควรอ่านฉลากปริมาณของสารสกัดฟาซิโอลามีน จากถั่วขาวที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ หากหวังผลด้านลดน้ำหนัก ปริมาณที่ได้รับจากการบริโภคต่อวัน ต้องมีปริมาณ 500 มิลลิกรัม ขึ้นไป
  2. จุดเด่นของสารสกัดฟาซิโอลามีนจากถั่วขาวคือ สกัดการย่อยอาหารกลุ่มแป้งซึ่งได้แก่ ข้าว ขนมปัง และก๋วยเตี๋ยว ส่วนผู้ที่บริโภค ขนมหวาน น้ำตาล ไขมัน เนื้อสัตว์ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากสารดังกล่าว
  3. ควรคำนึงถึงช่วงระยะเวลาการบริโภค โดยช่วงที่จะเกิดประโยชน์มากที่สุด ควรบริโภคก่อนอาหารมื้อหลัก พร้อมน้ำ ที่อุดมไปด้วยแป้ง โดยควรบริโภคก่อนอาหารอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง อีกทั้งการบริโภคสารสกัดสารฟาซิโอลามีน จากถั่วขาว จะพบผลข้างเคียงได้น้อยกว่าการบริโภคถั่วขาวโดยตรงซึ่งส่วนมากผลข้างเคียงดังกล่าว ที่พบมักเกิดจากสารเลคติน (lectin) สารซาโปนิน (Saponins) สารไฟเตท (Phytates) และสารยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทริปซิน (Trypsin) หรือผู้บริโภคมีประวัติแพ้โปรตีนถั่วขาวหรือพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง ฟาซิโอลามีน
  1. บุศรินทร์ จงเจริญยานนท์. คุณสมบัติเชิงหน้าที่ของถั่วขาวและการประยุกต์แป้งถั่วขาวในผลิตภัณฑ์ขนมอบ. วารสารเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยการสยาม ปีที่ 11. ฉบับที่ 1 มกราคม-ธันวาคม 2559. 12 หน้า
  2. ธนพร ศรีศุภชัยยา. ผลของการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพฤกษเคมีที่ประกอบด้วย สารตาเทชิน ฟาซิโอลามีน และกรดไฮดรอกซีซิตริก ต่อน้ำหนักตัวในผู้ที่มีน้ำหนักเกินและอ้วน. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พ.ศ.2562. 69 หน้า
  3. ประกาศคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง รายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560
  4. Mohhmod, R.J. (2010). Kinetics of alpha-amylase enzyme in human serum. Journal of Kerbala University, 8 (3), 237-244.
  5. Jaffe, W.G. and Vega Lete, C.L. (1968). Heatlabile growth-inhibiting factors in beans (Phaseolus vulgaris). The Journal of Nutrition. 94(2): 203-210.
  6. Barrett, M. L., & Udani, J.K. (2011, 17 March). A proprietary alpha-amylase inhibitor from white bean (Phaseolus vulgaris): A review of clinical studies on weight loss and glycemic control. Nutrition Journal, 10 (24).
  7. Celleno, L., Tolaini, M.V., D'Amore, A., Perricone, N.V. and Preuss, H.G. (2007). A dietary supplement containing standardized Phaseolus vulgaris extract influences body composition of overweight men and women. International Journal of Medical Sciences. 4(1): 45–52.
  8. Marshall, J.J., & Lauda, C.M. (1975,25 October). Purification and properties of phaseolamin, an inhibitor of alpha-amylase, from the kidney bean, Phaseolus vulgaris. The Journal of Biological Chemistry, 250 (20), 8030-8037.
  9. Kumar, S., Verma, A.K., Das, M., Jain, S.K., & Dwivedi, P.D. (2013,12 Feb). Clinical complications of kidney bean (Phaseolus Vulgaris L.) consumpsion. Nutrition, Epub.