พุดทุ่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พุดทุ่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พุดทุ่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พุดนา, โมกเตี้ย (ภาคกลาง), พุดป่า, โมกน้อย, โมกนั่ง, มูกน้อย, นมเสื่อ, นมราชสีห์ (ภาคเหนือ), น้ำนมเสือ (ภาคตะวันออก), พุดทอง, พุดน้ำ, หัสคุณเทศ, หัสคุณใหญ่, ถั่วหนู, สรรพคุณ (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Holarrdena curtisii King&Gamble.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Holarrhena densiflora Ridl, Holarrhena latifolia Ridl, Holarrhena similis Craib.
วงศ์ APOCYNACEAE


ถิ่นกำเนิดพุดทุ่ง

พุดทุ่ง จัดเป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นของไทยชนิดหนึ่ง โดยมีรายงานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของพุดทุ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริเวณประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และทางตอนใต้ของจีน สำหรับในประเทศไทยสามารพบพุดทุ่ง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ในบริเวณป่าผลัดใบทั่วไป ป่าชายหอด ริมถนนหนทาง หรือ ตมที่รกร้างว่างเปล่า ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลลึกไปจนถึง 400 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณพุดทุ่ง

  1. แก้ท้องเสีย
  2. แก้บิด
  3. แก้ถ่ายเป็นมูกเลือด
  4. แก้อาเจียน
  5. แก้ผิดสำแดง
  6. ใช้ขับเลือด
  7. ช่วยขับหนองให้ตก
  8. ช่วยขับลม
  9. ช่วยกระจายเลือดลม
  10. ช่วยขับพยาธิ
  11. แก้อาการท้องร่วง

           พุดทุ่งถูกนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือน สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ หรือ ตามโรงแรมที่พักต่างๆ เนื่องจากดอกมีสีขาวนวลสวยงาม และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ อีกทั้งยังมีทรงพุ่มที่ไม่สูง สามารถดูแลได้ง่าย และสำหรับประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของพุดทุ่ง คือ มีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร

พุดทุ่ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ขับลม ช่วยกระจายเลือดลม ขับเลือด และหนอง ขับพยาธิ โดยใช้ลำต้น และรากพุดทุ่ง มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย แก้บิด โดยนำเปลือกลำต้น และรากพุดทุ่ง มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด แก้ท้องเสีย แก้อาเจียน แก้ผิดสำแดง โดยนำรากพุดทุ่งมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ผิดสำแดง โดยนำรากพุดทุ่งผสมกับรากติ้วขน ต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาเจียน โดยนำรากผสมพุดทุ่งกับอ้อยดำ และข้าวสารเจ้า มาแช่กับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของพุดทุ่ง

พุดทุ่ง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูง 1-2.5 เมตร แตกกิ่งก้านไม่มาก โดยมักแตกกิ่งก้านในระดับต่ำเกือบติดพื้นดิน กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นเหลี่ยมมีขนปกนุ่มสั้นขึ้นปกคลุม เปลือกลำต้นมีสีเทา จนถึงน้ำตาลดำมักแตกเป็นสะเก็ด และจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นออกมา เมื่อหักตามลำต้น กิ่งก้านและใบ

           ใบพุดทุ่ง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม สลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ หรือ รูปรีแกมขอบขนาน มีขนาดกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร โคนใบมน หรือ เป็นรูปลิ่ม ปลายใบมน หรือ เป็นติ่งหนม ขอบใบเรียบ แผ่นใบคล้านแผ่นหนัง หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบด้านล่างมีสีเขียวแกมขาวนวล มีขนนุ่มสั้นสีขาว ทั้งสองด้าน สามารถมองเห็นเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 12-16 เส้น ได้ชัดเจน และมีก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร

           ดอกพุดทุ่ง ออกเป็นช่อแยกแขนงบริเวณซซองใบและปลายกิ่ง โดยจะออกเป็นกระจุก ซึ่งช่อดอกจะมีความยาว 3-12 เซนติเมตร และมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับถึงรูปรี ปลายกลม มีขนทั้งสองด้าน หนาสีขาว มีกลิ่นหอม มีขนาดกว้าง 0.4-0.8 เซนติเมตร ยาว 1.2-2 เซนติเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด โดยมีความยาว 0.8-1.5 เซนติเมตร ส่วนปลายกลีบแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ เรียงซ้อนเวียนไปทางขวาเหลื่อมกันเล็กน้อย และจะมีกลีบเลี้ยงรูปแถบกว้าง 0.8-1.2 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2.5-8 มิลลิเมตร 5 กลีบ ด้านนอกมีขนเล็กน้อย หรือ มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน และมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่ใกล้โคนหลอดดอก ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และเมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร

           ผลพุดทุ่ง ออกเป็นฝักคู่ มีลักษณะกลมยาวสีเขียว คล้ายดาบ มีขนาดกว้าง 1.5-5 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร ปลายผลชี้ขึ้น ซึ่งเมื่อฝักแก่จะมีสีน้ำตาล และจะแตกตะเข็บเดี่ยว ด้านในฝักมีเมล็ดสีน้ำตาล มีขนาด กว้าง 1 มิลลิเมตร ยาว 8-10 มิลลิเมตร มีกระจุกขนสีขาว คล้ายเส้นไหม ขึ้นปกคลุม

พุดทุ่ง

พุดทุ่ง

การขยายพันธุ์พุดทุ่ง

พุดทุ่ง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด นอกจากนี้พุดทุ่งยังเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบที่ชุ่มชื้น แต่ก็ชอบแสงแดดจัดเช่นกัน สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกพุดทุ่ง สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ชนิดอื่นๆ ในวงศ์ ตีนเป็น (APOCYNACEAE) เช่น “พญาสัตบรรณ ” ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

 

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนราก ใบ และเมล็ด ของพุดทุ่ง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากรากพบสาร pregnenolone และ stigmasterol สารสกัดจากใบพบสารกลุ่ม steroidal alkaloid เช่น holacurtinol, holamine, 15-α-hydroxyholamine, holacurtine, 17-epi-N-demethylholacurtine, N-desmethylholacurtine 17-epi-holacurtine, และ 3α-amino-14β-hydroxypregnan-20-one ส่วนสารสกัดจากเมล็ดพบสารกลุ่มไตรเทอริพินอย ได้แก่ squalene, β-amyrin acetate, α-amyrin acetate, lupeol acetate, lupeol, lanosta-7,24-dien-3β-ol, cycloeucalenol, oleanolic acid ursolic acid และ 3β-hydroxy-11α-hydroperoxyolean-12-en-28-oic acid และ 3β-hydroxy-11α-hydroperoxyursan-12-en-28-oic acid และสารกลุ่มไฟโตเลตอรอล ได้แก่ 24-methylenepollinastanol อีกทั้งยังพบสารกลุ่ม ฟลาโลนอยด์ ได้แก่ catechin และ gallocatechin เป็นต้น

โครงสร้างพุดทุ่ง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพุดทุ่ง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา ของสารสกัดพุดทุ่ง จากเมล็ด เปลือกลำต้น และส่วนใบ ของในต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้ มีรายงานว่าสารสกัดจากเมล็ดพุดทุ่ง มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ในหลอดทดลอง ซึ่งการยับยั้งเอนไซม์ชนิดนี้ จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่า สารสกัดจากเปลือกลำต้นของพุดทุ่ง มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และต้านอนุมูลอิสระได้ ส่วนสารสกัดจากใบพุดทุ่งมีรายงานว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งบางชนิดในหลอดทดลอง และมีฤทธิ์ต้านเชื้อก่อโรคลิชมาเนีย ได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของพุดทุ่ง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื่องจากพุดทุ่งเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) ซึ่งพันธุ์ไม้ในวงศ์นี้ส่วนมาน้ำยางจะมีความเป็นพิษต่อผิวหนัง และเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ตีนเป็ดน้ำ และลีลาวดี ดังนั้นจึงควรระวังน้ำยาง ของพุดทุ่ง เช่นเดียวกัน เพราะหากสัมผัสกับผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการแพ้ โดยมีควรระคายเคือง เป็นผื่นแดง และหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้


เอกสารอ้างอิง พุดทุ่ง
  1. องค์การสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์. ไม้ดอกไม้ประดับ. บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด; 2536.
  2. พงษ์ศักดิ์ พลเสนา. 2550. พืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์. งานพฤกษศาสตร์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, กรุงเทพฯ.
  3. นิจศิริ เรืองรังสี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. สมุนไพรไทย. กรุงเทพมหานคร: บี เฮลท์ตี้; 2547.
  4. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. 2549. สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา, นนทบุรี. 
  5. พุดทุ่ง, ฐานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpaye&pid=82
  6. Mishra, B.B., R.R. Kale, R.K. Singh and V.K. Tiwari. 2009. Alkaloids: future prospective to combat leishmaniasis. Fitoterapia 80(2): 81-90.
  7. Endress M.E, Bruyns PV. A revised classification of the Apocynaceae. Botanical Review 2000; 66: 1 56.
  8. สุดารัตน์ หอมหวล. 2553. พุดทุ่ง. แหล่งที่มา http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=82, 21 มีนาคม 2561.
  9. Middleton DJ. An update on the Apocynaceae in Thailand. Thai Forest bulletin (Bot.) SpeciaI issue 2009; 143-155.
  10. เมดไทย. 2560. พุดทุ่ง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพุดทุ่ง 9. แหล่งที่มา: https://medthai.com/พุดทุ่ง/, 19 มีนาคม 2561. 
  11. Kam, T.S., K.M. Sim, T. Koyano, M. Toyoshima, M. Hayashi and K. Komiyama. 1998. Cytotoxic and leishmanicidal aminoglycosteroids and aminosteroids from Holarrhena curtisii. Journal of natural products 61(11): 1332-1336.