กล้วยตีบ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กล้วยตีบ งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กล้วยตีบ

ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  กล้วยตีบยา , กล้วยตีบคำ , กล้วยตีบราชบุรี(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์Musa (ABB group)  “ Kluai teep”

ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Musa ABB group (triploid) cv. “teep”

วงศ์ MUSACEAE

ถิ่นกำเนิด  กล้วยตีบจัดเป็นกล้วยลูกผสม ระหว่าง กล้วยตานีกับกล้วยป่า ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น ในประเทศพม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย โดยเป็นกล้วยกลุ่ม ABB ที่แม้จะไม่มีเมล็ดเหมือนกกล้วยตานี แต่ก็ยังมีแป้งมาก จึงทำให้เมื่อผลสุกเนื้อยังมีรสฝาด  สำหรับในประเทศไทย สามารถพบกล้วยตีบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบปลูกมากในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักจะปลูกไว้ตามบ้านเพ่อใช้ทำยา

ประโยชน์/สรรพคุณ  กล้วยตีบถูกนำมาใช้ปรุงเป็นอาหาร ในหลายๆภาค เช่น ในภาคเหนือนิยมนำลำต้นด้านในมาปรุงเป็นแกงหยวก ส่วนในภาคอีสานนำผลดิบมาปรุงเป็นแกงป่ากล้วยตีบใส่ไก่บ้าน หรือใส่เนื้อต่างๆ หรือบางแห่งอาจจะนำมาทำเป็นเมนูแกงกะทิกล้วยตีบ ซึ่งจะต้องแก้ยางและรสฝาด โดยการฝานผิวเปลือกผลกล้วยออบางๆ แล้วแช่น้ำเกลือ ส่วนเนื้อผลสุกของกล้วยตีบจะมีลักษณะเหมือนกล้วยน้ำว้าแต่เนื้อกล้วยตีบสุกจะเนียนละเอียด และมีรสหวานเย็นกว่ากล้วยน้ำว้า ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ สำหรับสรรพคุณทางยาของกล้วยตีบนั้น ตามตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ดังนี้ รากมีรสฝาดเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้โรคปากเปื่อย แก้ปวดตามข้อ และกล้ามเนื้อ แก้อุจจาระเป็นมูกเลือด แก้พิษภายนอก ใบใช้แก้ซางปากเปื่อย แก้ริดสีดวงจมูก ต้มอาบแก้ผื่นคันตามผิวหนัง แก้ปวดเมื่อยตามข้อและกล้ามเนื้อ ใช้ช่วยอยู่ไฟหลังคลอดในสตรี รากมีรสฝาดเย็นใช้แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ดับพิษในโลหิต

นอกจากนี้ตามพิกัดยาไทย ยังมีการใช้รากกล้วยตีบจัดอยู่ใน “พิกัดตรีอมฤต” ประกอบด้วยตัวยาสามอย่าง ได้แก่ รากกล้วยตีบ รากกระดออมและรากมะกอก ในปริมาณเท่ากัน มีสรรพคุณ แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร และในบัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยังมีการระบุการใช้รากกล้วยตีบในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” ที่กำหนดให้มีส่วนประกอบของรากกล้วยตีบร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้อีกด้วย

รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด แก้ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อแก้โรคปากเปื่อย โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ริดสีดวงจมูก โดยใช้ใบตองตีบแห้งมวนยาเส้น ผสมผงไม้ข่อย หรือดอกปีบสูบ
  • ใช้แก้ผื่นคันและแก้โรคภูมิแพ้ผิวหนังต่างๆ โดยใช้ใบตองแห้งมาต้มอาบหรือนำใบตอนตีบแห้ง ใบเตยและใบหม่อน มาต้มรวมกันใช้อาบก็ได้
  • ใช้อยู่ไฟหลังคลอดทั้งแม่และลูกอ่อน โดยนำใบตองกล้วยตีบแห้ง ใบมะขาม ใบหนาดหลวง ใบเปล้า มาต้มรวมกัน ใช้อาบ
  • ใช้แก้ปวดตามข้อ และกล้ามเนื้อ โดยนำใบสด กล้วยตีบ ตำพอละเอียด ทำเป็นลูกประคบห่อผ้าขาวบางอังไฟอ่อนๆใช้เป็นลูกประคบ
  • ใช้แก้ซางปากเปื่อย โดยนำใบแห้งผสมสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม

และในคัมภีร์ทิพย์มาลา ว่าด้วยฝีวัณโรคและฝีมะเร็งต่างๆ เพื่อแก้พิษฝีที่โคนลิ้น มีตำรับยาที่ใช้รากกล้วยตีบ กับรากกล้วยตานี บดผงละลายสุรา อมวันละ 3-4 เวลา

ลักษณะทั่วไป  กล้วยตีบมีเหง้าอยู่ใต้ดิน และจะแทงลำต้นเทียมสูงขึ้นมาบนดิน ลำต้นเทียมสูง 3-4 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 20 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีชมพูอ่อน ประสีน้ำตาล ส่วนกาบด้านในสีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว เป็นรูปขอบขนาน แกมรูปใบหอกกว้าง 25-35 เซนติเมตร ยาว 1-1.5 เมตร ด้านบนใบมีสีเขียวเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีนวลขาว เนื้อใบค่อนข้างหนา แต่ใบจะสั้นและเล็กว่าใบกล้วยตานี ดอกหรือปลีแทงออกบริเวณยอดของลำต้น มักมีก้านช่อดอกที่ไม่มีขน และใบประดับรูปไข่ค่อนข้างป้อม ปลายมน ม้วนขึ้นออกมาด้วย ส่วนดอกหรือหัวปลีมีสีแดงอมเทา มีนวลปานกลาง ด้านล่างสีแดง มีการจัดเรียงของใบประดับซ้อนนกันไม่มาก เมื่อใบประดับกางจะม้วนงอขึ้นข้างบนและมีเครือห้อยลง ผลเป็นผลรวม ออกรวมกันเป็นหวีรวมกันห้อยเป็นเครือลงมา ลักษณะผลคล้ายกล้วยทั่วไป แต่จะมีเหลียม 5 เหลียม ผลงอเล็กน้อย ปลายจุกใหญ่ เปลือกค่อนข้างหนา ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง รสชาติฝาดปนเย็น โดยกล้วยตีบเครือหนึ่ง จะมี 1-2 หวี แต่ละหวีจะมีผลประมาณ 7-8 ผล

การขยายพันธุ์  กล้วยตีบสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้หน่อ เมื่อหน่อขึ้นมาจะมีใบประมาณ 3-4 ใบ จึงสามารถแยกขยายพันธุ์ได้ สำหรับวิธีการขยายพันธุ์กล้วยตีบ เริ่มจากขุดหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร รองก้มหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยควรทำหลุมห่างกัน 3 เมตร เมื่อเตรียมหลุมเรียบร้อยแล้ว นำหน่อยกล้วยลงปลูก แล้วทำการกลบดินโดยไม่ต้องเต็มหลุมมากนัก เหยียบให้แน่น ตัดใบป้องกันการคายน้ำแล้วรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อกล้วยตีบอายุ 5-10 เดือน จะเริ่มออกปลี จากนั้นจะออกผลประมาณ 90-100 วัน ผลกล้วยก็จะแต่สามารถเก็บเกี่ยวกล้วยตีบได้

องค์ประกอบทางเคมี มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆของกล้วยตีบ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น pectin , amylase , anthraquinone , saponin , tannin , phlobatanin , phytic acid , palmitic acid , stearic acid , linoleic acid , linolenic acid, รวมถึงกรดอะมิโน เช่น histidine , leucine lysine , methionine และ valine เป็นต้น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเปลือกผล เนื้อผล และสารสกัดจากเนื้อผลกล้วยดิบ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

ฤทธิ์สมานแผลผ่าตัด   มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์สมานแผลของเปลือกกล้วยตีบ โดยใช้ยาเตรียมในรูปแบบเจลที่มีเปลือกกล้วยตีบผสมอยู่ 4% ในหนูแรทที่มีแผลผ่าตัดบริเวณหลังขนาด 4 x 4 ซม. จำนวน 120 ตัว โดยได้ทำการแบ่งหนูแรทออกเป็น 2 กลุ่ม (กลุ่มละ 60 ตัว) ล้างและทำความสะอาดแผลผ่าตัดของหนูทั้งสองกลุ่มด้วยน้ำเกลือเข้มข้น 0.9% ทุกวัน แล้วทาแผลด้วยเจลเปลือกล้วยหรือ natrosol gel สำหรับหนูกลุ่มที่ 1 และ 2 ตามลำดับ และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซที่สะอาด ในวันที่ 7, 14 และ 21 ของการทดลอง แบ่งหนูออกมาจากทั้งสองกลุ่ม (ครั้งละ 20 ตัว จากแต่ละกลุ่ม) ทำการชำแหละซาก แยกเก็บเนื้อเยื่อบริเวณแผลผ่าตัด เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้วยเทคนิคทางจุลกายวิภาคศาสตร์ ผลจากการทดลองพบว่า การทาเจลเปลือกกล้วยบนแผลผ่าตัดให้แก่หนูแรท มีผลเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด polymorphonuclear ในวันที่ 7 ของการทดลอง ลดการหดรั้งตัวของบาดแผล ลดการเพิ่มจำนวนเส้นเลือดบริเวณบาดแผล และเพิ่มจำนวน collagen fiber ในวันที่ 21 ของการทดลอง และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของรูปแบบโครงสร้างเนื้อเยื่อระหว่างหนูทั้งสองกลุ่ม แสดงให้เห็นว่าเจลเปลือกกล้วยตีบ 4% มีประสิทธิภาพในการช่วยสมานแผลผ่าตัดได้

ฤทธิ์ลดการสะสมไขมันในตับ  มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ของผงกล้วยตีบซึ่งอุดมไปด้วยแป้งที่ทนจากการย่อยด้วยเอนไซม์ (resisntant starch) ต่อการสะสมไขมันในตับและการสร้างกรดไขมันชนิดสายสั้น (short-chain fatty acids production: SCFAs) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะอ้วนจากการป้อนด้วยอาหารไขมันสูง โดยได้ทำการศึกษาด้วยการป้อนผงกล้วยตีบ ที่ความเข้มข้น 15% ร่วมกับการป้อนอาหารปกติ (standard banana green group: SB) หรือป้อนผงกล้วยตีบร่วมกับอาหารไขมันสูง (high-fat green banana group: HFB) หรือป้อนด้วยอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบว่าหนูเม้าส์กลุ่ม HFB มีดัชนีมวลกายลดลง 6% เมื่อเทียบกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว การสะสมไขมันในตับ (liver steatosis) และระดับของ triacylglycerol ของหนูกลุ่ม HFB มีค่าลดลง 28 และ 93% ตามลำดับ ผลจากการวิเคราะห์ Western Blotting analysis พบว่าระดับโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ไขมัน ได้แก่ AMPKp /AMPK, 3-hydroxy-3-methylglutarylcoenzyme A reductase (HMGCoA-r) และ fatty acid synthase (FAS) มีค่าลดลง และระดับของโปรตีน ABCG8 และ ABCG5 ที่ทำหน้าที่ขนส่งไขมันออกจากเซลล์มีค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าระดับของกรดไขมันสายสั้นในอุจจาระ ได้แก่ acetic acid, propionic acid และ butric acid ของกลุ่มที่ได้รับผงกล้วยตีบสูงกว่ากลุ่มทีได้รับอาหารไขมันสูงอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าแป้งที่ทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์ที่พบในผลกล้วยตีบมีผลต่อการทำงานของระบบเมตาบอลิสมของร่างกาย โดยเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเมตาบอลิสมไขมันในตับ

ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของสาร α-(1→6)-D-glucan ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ที่แยกได้จากสารสกัด 80% เอทานอลของเนื้อกล้วยสุก ในหนูเม้าส์ โดยแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นหนูปกติ (normal control), กลุ่มที่ 2 เป็นหนูที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน cyclophosphamide ขนาด 80 มก./กก. (ฉีดเข้าทางช่องท้อง) ในวันที่ 1-3, 18, 26 และได้รับน้ำกลั่นในวันที่ 4-17, 19-25, 27-33 (model control), กลุ่มที่ 3 เป็นหนูที่ได้รับยา cyclophosphamide ขนาด 80 มก./กก. (ฉีดเข้าทางช่องท้อง) ในวันที่ 1-3, 18, 26 และได้รับยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน β-(1→3)-D-glucan ขนาด 300 มก./กก. ในวันที่ 4-17, 19-25, 27-33 (positive control), กลุ่มที่ 4 และ 5 ได้รับยา cyclophosphamide เช่นเดียวกับ positive control แต่จะได้รับ α-(1→6)-D-glucan แทนยา β-(1→3)-D-glucan ในขนาด 50 มก./กก. (low dose) และ 300 มก./กก. (high dose) ตามลำดับ จากผลการทดลองพบว่าสาร α-(1→6)-D-glucan มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของหนู โดยเพิ่มการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวชนิด T cell, กระตุ้นกระบวนการกลืนกินเซลล์ (phagocytic function) ของ macrophage, เพิ่มระดับ CD3+ T cell, เพิ่มอัตราส่วนของ CD4+/CD8+, เพิ่มระดับของ Interleukin-6 (IL-6), Immunoglobulin G (IgG), Immunoglobulin M (IgM), Tumor necrosis factor (TNF)-α และ hemolysin antibody ซึ่งการออกฤทธิ์ดังกล่าว เหมือนกับการออกฤทธิ์ของยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน β-(1→3)-D-glucan และการให้ที่ขนาดเท่ากัน (300 มก./กก.) พบว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังพบว่า α-(1→6)-D-glucan ในขนาดที่นำมาทดสอบไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อสัตว์ทดลอง แสดงให้เห็นว่าสาร α-(1→6)-D-glucan จากกล้วยมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา  ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง สำหรับการนำส่วนต่างๆกล้วยตีบมารับประทาน หรือนำมาปรุงเป็นอาหารนั้น ถือว่ามีความปลอดภัยสูง แต่ในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังบในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

อ้างอิงกล้วยตีบ

  1. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 1 น้ำกระสายยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2556.หน้า 49 -50
  2. กล้วยตีบ.คู่มือการกำหนกพื้นที่ควรปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทยเล่ม1.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.กันยายน 2558.หน้า30-31
  3. วุฒิ วุฒิธรรมเวช.2540.สารานุกรมสมุนไพรรวมหลักเภสัชกรรมไทย.โอเอส.พริ้นติ้ง.เฮาส์.
  4. ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของสารในกลุ่มโพลีแซคคาไรด์จากเนื้อกล้วยสุก.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. ฤทธิ์ลดการสะสมไขมันในตับและเพิ่มกรดไขมันชนิดสายสั้นของผลกล้วยป่าดิบ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ฤทธิ์สมานแผลผ่าตัดของเปลือกกล้วยดิบ (Musa sapientum ).ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ฐานข้อมูลเครื่องยาไทย คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.กล้วยตีบ(ออนไลน์)แหล่งที่มา http://phar.ubu.ac.th/herb-DetailThaicrudedrug/197
  8. Cheirsilp, B. and Umsakul, K. Processing of banana based wine products using pectinase and alpha-amylase. Journal of Food Processing Engineering, 31 (1), 78-90, 2008
  9. Ganapathi, T.R., Suprasanna, P.S., Bapat, V.A., Kulkarni, V.M. and Rao, P.S. Somatic embryogenesis and plant regeneration from male flower buds of banana. Current Science, 76, 1128-1231, 1999.
  10. Stover, R.H. and Simmonds, N.W. Classification of banana cultivars. In: Stover RH and Simmonds NW (ed.) Bananas, 3rd edn. Wiley, New York, 1987, 97-103
  11. Khawas, P., Das, A.J., Dash, K.K. and Deka, S.C. Thin-layer drying characteristics of Kachkal banana peel (Musa ABB) of Assam, India. International Food Research Journal, 21 (3), 975- 982, 2014
  12. Emaga, T.H., Robert, C., Ronkart, S.N., Wathelet, B. and Paquot, M. Dietary fibre components and pectin chemical features of peels during ripening in banana and plantain varieties. Bioresource Technology, 99 (10), 4346-4354, 2008
  13. Yang, S.F. and Hoffman, N.E. Ethylene biosynthesis and its regulation in higher plants. Annual Review of Plant Physiology, 35, 155-189, 1984.