พุดตาน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พุดตาน งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร พุดตาน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ดอกสามผิว, ดอกสามสี (ภาคเหนือ), พุดตาน (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus mutabilis  Linn.
ชื่อสามัญ Changeable Rose, Cotton rose, Confederate rose, Rose of Sharon, Dixie rosemallow.
วงศ์ MALVACEAE (วงค์เดียวกับ กระเจี๊ยบแดง)
 

ถิ่นกำเนิดพุดตาน

พุดตานมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน สำหรับชาวจีนจัดว่าต้นพุดตานเป็นไม้มงคล เป็นเพราะดอกพุดตานเปลี่ยนสีได้ถึง 3 สี ภายในวันเดียว ซึ่งเปรียบเสมือนวัฏจักรของชีวิตคน ส่วนในประเทศไทย เชื่อว่าต้นพุดตานอาจถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยช่วงที่ไทยมีค้าขายกับชาวจีนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นประมาณรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถพบพุดตาน ได้ในบริเวณทั่วทุกภาคของประเทศ


ประโยชน์และสรรพคุณพุดตาน

  • แก้บวมเจ็บ
  • รักษาแผลจากไฟไหม้ หรือ น้ำร้อนลวก
  • แก้ผื่นคัน
  • รักษาตาแดง ตาบวม เจ็บตา
  • รักษาแผลจากหกล้ม หรือ ถูกกระทบกระแทก
  • รักษาคางทูม
  • ใช้ถอนพิษ
  • รักษาโรคงูสวัด
  • แก้บวม
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้มีระดูขาว
  • แก้ฝีบวม ฝีหัวแก่ 
  • แก้ไอ
  • แก้หอบ
  • แก้ปวดเมื่อย
  • มีสารต้านอนุมูลอิสระ
  • แผลเน่าเปื่อยต่างๆ
  • รักษาคางทูม

           พุดตาน ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม มีทั้งกลีบดอกลา และกลีบดอกซ้อน หรือ ใช้ปลูกบังกำแพงเพื่อความสวยงาม เป็นต้น ผงบดละเอียดของเปลือก และรากใช้เป็นแป้งผัดหน้าของสตรีในอดีต และในปัจจุบันยังพบได้ตามชนบทต่างๆ

พุดตาน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

วิธีการเก็บพุดตาน มาใช้ในการใช้เป็นสมุนไพร คือ ดอก ให้เก็บดอกตอนเริ่มบานเต็มที่ ใบ จะเก็บตากแห้งหรือใช้สดก็ได้ ราก เก็บได้ตลอดปีจะตากแห้ง หรือ ใช้สดก็ได้ สำหรับวิธีการใช้มีดังนี้ ใช้ใบแห้ง หรือ สด บดเป็นผง ถู เช็ด หรือ ผสมพอกปิดแผลบวกอักเสบ จากแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ถูกกระแทกหกล้มและผดผื่นคัน ใช้ดอกแห้งหนัก 6-12 กรัม (หรือ ดอกสด 30-60) ต้มน้ำกิน แก้ไอ ขับพิษ อาเจียน เป็นเลือด แก้ปวดเมื่อย ส่วนอีกตำรายาหนึ่งระบุว่า 

  • แก้ผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้น ใช้ก้านและใบสด ปริมาณพอสมควร ต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
  • แก้ปวดเมื่อยเอว ใช้รากสด 15-30 กรัม หั่นเป็นฝอย ใส่รวมกับกระดูกหางหมู ใส่น้ำ และเหล้าอย่างละเท่าๆ กัน ปริมาณพอสมควร ตุ๋นกิน
  • แก้ฝีฝักบัว และแผลเน่าเปื่อยต่างๆ ใช้รากแห้ง 30 กรัม ต้มน้ำกิน
  • แก้แผลฟกซ้ำ เกิดจากการกระทบกระแทก ใช้รากสด 30 กรัม ใส่น้ำ และเหล้าอย่างละเท่าๆ กัน ปริมาณพอสมควรต้มกิน และใช้ก้านใบตำพอกบริเวณที่เป็นด้วย
  • รักษาคางทูม ใช้ใบแห้ง 10-15 ใบ บดให้ละเอียด เติมไข่ขาวผสมให้เข้ากัน เพื่อให้ยาจับกันเป็นแผ่น นำไปพอกปิดบริเวณที่บวมเป็นคางทูม เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะหายบวม ใช้ดอก อย่างแห้ง หนัก 3-12 กรัม ใบสด 30-40 กรัม ต้มน้ำรับประทาน ใช้ภายนอก บดเป็นผงผสม หรือ ใช้สดตำพอก
  • ใช้เป็นยาถอนพิษ รักษาแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ แผลมีหนอง ใช้ใบสด 3-4 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำมันพืช ใช้ทาแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ แผลมีหนอง
  • ยาแก้งูสวัด ใช้ใบสด 4-5 ใบ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด เติมน้ำซาวข้าว ใช้ทาบริเวณที่เป็น ทาบ่อยๆ หรือ ใช้ รากใช้เป็นยาทาภายนอก โดยตำพอก หรือ บดเป็นผงผสมพอก


ลักษณะทั่วไปของพุดตาน

พุดตานจัดเป็นไม้พุ่มสูง 2-5 เมตร ตามต้น และกิ่งมีขนสั้นๆ สีเทาลักษณะคล้ายดาวทั่วทั้งต้น ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ยาว 10-20 ซม. กว้าง 9-22 ซม. ลักษณะคล้ายมี 3-5 แฉก แต่ละแฉกมีปลายแหลม ฐานใบกว้างโค้งคล้ายหัวใจ มีเส้นใบใหญ่ออกจากโคนใบ ขอบใบมีรอยยักตื้นๆ ผิวใบด้านบน และด้านล่างมีขนลักษณะดาว ก้านใบยาว 4-10 ซม. โดยใบของพุดตาน มีใบคล้ายใบของพืชวงศ์เดียวกับอีกชนิดหนึ่ง คือ ฝ้าย (จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญว่า cotton rose) ดอก ออกเป็นช่อข้างใบ ก้านดอกยาว 7-10 ซม. เมื่อดอกแรกแย้มในตอนเช้ามีสีขาว ตอนสายสีดอกจะเข้มขึ้นเป็นสีชมพู ตอนบ่ายเป็นสีแดงเข้ม มีกลีบก่อนกลีบเลี้ยงเป็นเส้นปลายแหลม 8-10 เส้น ยาว 1.5-25 ซม. มีขน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ยาว 3-4 ซม. มีขน กลีบดอกใหญ่สวยงามมี 5 กลีบ บางครั้งอาจมีกลีบช้อนกัน 2 ชั้นก็ได้ ด้านนอกมีขน มีเกสรตัวผู้มาก ก้านเกสรตัวผู้รวมกันเป็นหลอดหุ้มรอบก้านเกสรตัวเมีย รังไข่มี 5 ห้อง ปลายก้านเกสรตัวเมียมี 5 เส้น ปลายเส้นมีแยกมาเป็นตุ้มกลม  ผล มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 2.5 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 5 กลีบ ในผลมีเมล็ด ลักษณะคล้ายรูปไต มีขนยาวสีขาว

พุดตาน

การขยายพันธุ์พุดตาน

พุดตานสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปักชำและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การปักชำ และการตอนกิ่งเพราะเป็นวิธีที่รวดเร็ว และได้ต้นพันธุ์แท้ ส่วนวิธีการปักชำ และการตอนกิ่งพุดตาน นั้นก็เหมือนกับการปักชำไม้พุ่มทั่วๆ ไป


องค์ประกอบทางเคมี

ในส่วนต่างๆ ของพุดตาน มีองค์ประกอบทางเคมี ดังนี้

  • ใบ มี Flavonoid glycosides, phenol, amino acid, tannin
  • ดอก มี Flavonoid glycosides เช่น flavones, flaronols, anthocyanins โดย Flavonoid glycosides จะมีปริมาณเปลี่ยนไปตามสีของดอกไม้เมื่อบานเต็มที่ สีแดงจะมี anthocyanin ในตอนที่ดอกมีสีแดงเข้ม จะมีปริมาณของ anthocyanin เป็น 3 เท่าของตอนที่มีดอกเป็นสีชมพู

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของพุดตาน

โครงสร้างพุดตาน 

 ที่มา : Wikipedia

 การศึกษาทางพิษวิทยาของพุดตาน

ผลึกสารที่ได้จากการสกัดด้วย ปิโตรเลียมอีเธอร์ (ช่วงจุดเดือด 60°- 80° ซ.) สามารถทำให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้หนูที่ตัดออกมาคลายตัว แต่ไม่สามารถยับยั้งการหดตัวของลำไส้หนู ที่ถูกเหนี่ยวนำมาจากอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ได้ แต่ได้ผลดีเมื่อถูกเหนี่ยวนำจากฮีสตามีน (Histamine) และแบเรี่ยมคลอไรด์ นอกจากนี้ยังมีผลทำให้หัวใจกบบีบเลือดออกได้มากขึ้น แต่มีผลไปกด (Depressent effect) หัวใจกบที่แยกออกมาทดลองและไม่มีผลต่อความดันเลือดและการหายใจของสุนัขทดลอง ที่ทำให้สลบด้วยฟีโนบาร์บิโทน และใบสดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ Micrococcus pyogenes var. aureus และ Escherichia coli ได้เช่นเดียวกับต้นหมอน้อย (Murraya koregiyn)

             นอกจากนี้ยังมีผลรายงานทางคลินิก คือ สารสกัดก้าน และใบสดของพุดตาน ใช้เป็นยาชาที่ผิวและยาชาเฉพาะที่ในการผ่าตัดใหญ่ และเล็กในคนไข้ 100 ราย ผลการทดสอบเบื้องต้นได้ผลดี ไม่มีผลข้างเคียง ในระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัด ความดันเลือด ชีพจร และการหายใจเป็นปกติ ไม่มีผลเสียต่อตับและไต หรือ ผลข้างเคียงอื่นๆ ไม่มีการตกเลือด บวมหรือทำให้เนื้อตาย และออกฤทธิ์ได้นาน และมีการใช้ทำเป็นยาชาภายนอก โดยใช้เป็นยาทา ในการผ่าตัดต่อมทอนซิล 108 ราย ได้ผลดี ซึ่งทายานี้แล้วไม่กี่นาที จะออกฤทธิ์ชา ทำให้รู้สึกปวดน้อยลง อาการชานี้ยู่ได้นานประมาณ 10 นาที


การศึกษาทางพิษวิทยาของพุดตาน

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื่องจากยังไม่มีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยา ดังนั้นในการนำพุดตาน มาใช้จึงต้องควรระวังทั้งในด้านขนาดการใช้ และระยะเวลาในการใช้โดยไม่ควรใช้ในปริมาณที่สูงเกินกว่าที่ตามตำรับยากำหนด และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป

เอกสารอ้างอิง พุดตาน
  1. ดร.ปิยรัตฎ์ เจริญทรัพย์.ดอกพุดตาน หรือ ดอกสามสี. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 369. มกราคม 2553
  2. พุดตาน.กลุ่มพืชถอนพิษ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด โดยการอนุรักษ์พันธุกรมมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://.www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_20_3.htm
  3. พุดตาน.คอลัมน์สมุนไพร น่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 5. กันยายน 2522