ตองแตก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ตองแตก งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตองแตก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ทนดี, ถ่อนดี เปล้าตองแตก(ภาคกลาง), ลองปอม, นางป้อม(เลย), ตองแต่(ประจวบคีรีขันธ์), หญ้าบูเวอ, หญ้าโบเว่อ(ไทยใหญ่), โทะโคละ, พอบอเจ๊าะ(กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Baliospermum monyanum (Willd.) Muell. Arg
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ถิ่นกำเนิดตองแตก
ตองแตกเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย อาทิเช่น ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างขวางซึ่งสามารถพบได้ใน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ ลงมาจนถึงพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมถึงคาบสมุทรมาเลเซีย เช่น เกาะสุมาตรา บอเนียว ชวา สุราเวศรี มาลูกู เลสเซอร์ และเกาะซานดร้า ส่วนในประเทศไทยสามารถพบ พืชชนิดนี้ในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและที่รกร้างทั่วไปที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 700 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณตองแตก
- ใช้เป็นยาถ่าย
- ใช่ถ่ายพิษพรรณดึก
- ช่วยถ่ายลม
- ช่วยถ่ายเสมหะเป็นพิษ
- แก้โรคริดสีดวงทวาร
- แก้โลหิตจาง
- แก้บวมน้ำ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ดีซ่าน
- ช่วยถอนพิษไข้
- แก้จุกเสียด
- แก้ม้ามอักเสบ
- แก้ตับอักเสบ
- ช่วยถ่ายพยาธิ
- แก้หอบหืด
- แก้ฟกบวมช้ำ
- แก้โรคกระเพาะ
- รักษาโลหิตจาง
- ใช้ขับเหงื่อ
- แก้ปวดตามข้อ
- แก้ร้อนใน
- แก้ปวดฟัน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ตองแตก
ใช้ถ่ายเสมหะพิษ ขับเสมหะ ขับลม ถ่ายพิษพรรดึก ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ตับอักเสบ ดีซ่าน ม้ามอักเสบ รักษาโลหิตจาง ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ถ่ายลมพิษ โดยใช้รากตองแตก 1 หยิบมือ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วย แล้วดื่มแก้หอบหืด เป็นยาระบาย แก้โรคกระเพาะอาหาร ถอนพิษไข้ ถ่ายพยาธิ แก้ร้อนใน ขับเหงื่อ โดยใช้ใบตองแตก 2-4 ใบ มาต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อยดื่ม ใช้แก้ปวดฟันโดยใช้ผลตองแตกมาทาที่ฟันซี่ที่ปวด ใช้พอกแผลห้ามเลือด แก้ฟกช้ำโดยใช้ใบตำให้แหลกแล้วนำมาพอกหรือประคบบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปตองแตก
ตองแตกจัดเป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูงได้ถึง 2 เมตร ต้นมักจะแตกแขนงจากรากหรือโคนต้นลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบรูปหอก รูปไข่ หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 8-12 เซนติเมตร ใบบริเวณโคนต้นมักมีขอบหยักเว้าเป็น 3-5 แฉก ปลายแฉกมน หรือแหลม ใบมีขนแข็งเอนทั้งสองด้าน ฐานใบมน ขอบใบจักฟันเลื่อย หรือหยักมน ดอก ออกเป็นช่อหรือช่อกระจะโปร่ง เล็กเรียว ออกตามซอกใบและปลายกิ่งเป็นแบบดอกแยกเพศร่วมต้น โดยช่อดอกจะยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยดอกเพศผู้มีหลายดอกจะอยู่ด้านบนของช่อมีลักษณะกลม ก้านดอกเล็กเรียว ไม่มีกลีบดอกแต่มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปกลมหรือรูปไข่ โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้มี 10-12 อัน ส่วนดอกเพศเมียมักจะออกที่โคนช่อมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม ขอบจักร ด้านนอกมีขนนุ่มสั้น มีรังไข่เหนือวงกลีบ ลักษณะกลมมี 3 พู แต่ละพูมีออวุล 1 เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 2 แฉก ลักษณะม้วนออก เป็นแบบผลแห้ง รูปร่างกลม ผลเป็นสีเขียว มีลักษณะเป็นพู 3 พู ปลายผลเว้าหรือบุ๋ม มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผล 2 อัน โคนผลกลมมีลักษณะเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.3 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ขั้วผล เมื่อแก่แล้วจะแตกออกตามยาวที่กลางพู แต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเล็ก รูปไข่หรือรูปขอบขนานมีสีน้ำตาล เนื้อคล้ายหินอ่อน มีจุกขั้ว
การขยายพันธุ์ตองแตก
ตองแตกสามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และการปักชำ แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบันคือการปักชำเพราะทำให้ขยายพันธุ์ได้เร็ว ไม่ยุ่งยาก ทำได้โดยการตัดกิ่งแก่ของตองแตก 8-10 นิ้ว ปักชำในถุงเพาะชำที่มีดินผสมกับขี้เถ้าแกลบเอาไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะออกต้นใหม่ เมื่อตองแตกที่ชำในถุงเพาะชำ อายุประมาณ 3-6 เดือน ลำต้นและรากเจริญเติบโตได้ดีก็สามารถนำลงปลูกได้ในหลุมที่เตรียมไว้ สำหรับการเตรียมดินและการปลูกมีวิธีการดังนี้ ขุดหลุมกว้าง 40 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักก็ได้ ระยะระหว่างหลุมให้ห่างกันประมาณ 1-5 เมตร จากนั้นจึงนำกล้าตอแตกปลูกลงไปแล้วกลบดินหลุมพูนโคนไม่ให้น้ำขัง ปักไม้ช่วยพยุงต้นและผูกเชือกรดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้ตองแตกสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง และมีอายุอยู่ได้นาน แต่ส่วนมากแล้วจะนิยมปลูกในฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม มากกว่า
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนรากของตองแตก ที่มีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรพบว่ามีสาระสำคัญในกลุ่ม phorbol ester หลายชนิด เช่นสาร montanin, axillarenic acid, baliospermin, 12-deoxyphorbol-13-polmitate, 12-deoxy-5β-hydroxyphorbal-13-myristate และ 12-deoxy-16-hydroxyphorbol-13-palmitate ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งพบว่าสารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์จากรากของตองแตกยังมีสาระสำคัญอีกหลายกลุ่มอาทิเช่น ไกลโคไซด์ (glycosides), ฟลาโวนอยด์ (flavonoids), แทนนิน (tannins), และไตรเทอร์พีนอยด์ (triterpenoids) เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตองแตก
มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาจากส่วนรากของตองแตกพบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้
ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ของสารกลุ่ม phorbol esters 5 ชนิด ที่แยกได้จากรากตองแตก ได้แก่ montanin, baliospermin, 12-deoxyphorbol-13-palmitate, 12-deoxy-16-hydroxyphorbol-13-palmitate และ 12-deoxy-5β-hydroxyphorbol-13-myristate พบว่าสารทั้ง 5 ชนิด ให้ผลต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว lymphocytic leukaemia P-388 ในหลอดทดลอง ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดในการยับยั้ง (ED50) เท่ากับ 0.06-3.4 µg/ml
ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับ มีการทดสอบฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับโดยใช้สารสกัด chloroform, alcohol และน้ำ จากรากตองแตก ทดสอบกับหนูทดลองที่ได้รับการกระตุ้นให้เซลล์ตับถูกทำลายด้วยการป้อนยาพาราเซตามอลทางปาก ขนาด 2 g/kg โดยให้สารสกัดกับหนูแรทเป็นเวลา 7 วัน ใช้ยา silmarin ขนาด 200 mg/kg เป็นสารมาตรฐาน จากการทดสอบพบว่าสารสกัด alcohol และน้ำ สามารถลดระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ serum enzyme aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT), alkaline phosphatase (ALP), γ-glutamyl transpeptidase และ lipid peroxidase ซึ่งแสดงถึงการลดการทำลายเซลล์ตับ และพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระที่ตับ ได้แก่ reduced glutathione (GSH) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาพาราเซตามอลเพียงอย่างเดียว ในขณะที่สารสกัด chloroform มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับได้ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน นอกจากนี้สารสกัด alcohol และน้ำ สามารถปกป้องเนื้อเยื่อตับจากการถูกทำลายโดยยาพาราเซตามอลได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน
ฤทธิ์ต้านปรสิต มีการทดสอบฤทธิ์ต้านปรสิตโดยใช้สารสกัดน้ำ และ alcohol จากรากตองแตกที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 10-100 mg/ml ทดสอบกับพยาธิตัวกลม Ascardia galli และพยาธิไส้เดือน Pheretima posthuma พบว่าสารสกัดจากตัวทำละลายทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ต้านปรสิตทั้งสองชนิดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับความเข้มข้น 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยทำให้ปรสิตสลบ (paralysis) และตาย โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน piperazine citrate (10 mg/ml)
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่า สารสกัดน้ำและสารสกัดแอลกอฮอล์ของรากตองแตกที่ความเข้มข้น100 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีฤทธิ์ถ่ายพยาธิและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์ของเนื้อเยื่อ (callus) ที่เพาะเลี้ยงจากใบตองแตก สามารถยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิด เช่น Staphylococcus aureus, Pseudomonas aeruginosa, และ Klebsiella aerogenes อีกด้วย อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับที่ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ จากส่วนรากของตองแตก เช่น มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตองแตก
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ตองแตกเป็นยาสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณของตำรายาต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้สมุนไพรดังกล่าวเช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ ด้วย โดยการใช้ควรใช้ในขนาดและปริมาณ ที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาสมุนไพรไทยต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกทั้งในส่วนของเมล็ดที่มีการระบุถึงสรรพคุณว่า ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรงนั้น เนื่องจากภายในเมล็ดมีน้ำมันที่มีฤทธิ์กระตุ้นทำให้ลำไส้ที่ทำให้ถ่ายท้องอย่างรุนแรง (รุนแรงเท่ากับสลอด) ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้เพียงลำพังเพราะอาจเกิดอาการขาดน้ำได้
เอกสารอ้างอิง ตองแตก
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ตองแตก”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 298-299.
- ตองแตก. ขอมูลการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข. กันยายน 2558. หน้า 125-127.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ตองแตก (Tong Taek)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 117.
- ธีระวัฒน์ บุญโสม, สุรพงษ์ เก็งทอง, ปันทพร สิริรัตนกูล, ณิชารีย์ ฤชาอุบล. ข้อกำหนดทางเภสัชเวทของใบและรากตองแตก. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 13. ฉบับที่2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2562. หน้า 200-212.
- ตองแตก. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid= 317
- Ogura,M., Koike,K., Cordell, et al. (1978). Potential anticancer agents VIII. Plan to medica, 33(2);128-143.
- Smitinan,T.(2001). Thai plant Name. Department of National Parks, Wildlife and plant conservation, Bangkok.
- Mali RG, Wadekar RR. Baliospermum montanum (Danti): Ethnobotany, phytochemistry and pharmacology- A review. International Journal of Green Pharmacy, 2008; 2(4):194-199.
- Johnson,M., Weaely,E.G., Hussain,M.Z.,& Selvan,N. (2010). In vivo and in vitro phytochemical and antibacterial efficacy of baliospermum montanum (Willd.). Mull Arg. Asian Pacific Journal of Tropical Medicine,3 (11), 894-897.
- Patil, K.S., Jalalpure, S.S., &Wadekar,R.R., (2009). Effect of Baliospermum montanum root extract on phagocytosis by human neutrophils. Indian journal of pharmaceutical sciences, 71(1);68.