จิงจูฉ่าย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

จิงจูฉ่าย งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร จิงจูฉ่าย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ดอกแก้วเมืองจีน, ดอกไม้เมืองจีน (ไทย), ไป่เปาเฮา (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artemisia lactiflora Wall. Ex DC.
ชื่อสามัญ White mugwort, Duck food vegetable
วงศ์ ASTERACEAE


ถิ่นกำเนิดจิงจูฉ่าย

จิงจูฉ่าย จัดเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองของแถบตะวันตกของประเทศจีน (คาดว่าน่าจะอยู่ในมลฑลกุ้ยโจว) ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียงในปัจจุบันพบได้ในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือ บริเวณที่มีอากาศเย็นโดยมีการปลูกเป็นผักขายในเชิงพาณิชย์ทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณจิงจูฉ่าย

  • ใช้แก้ไข้
  • ช่วยบำรุงปอด
  • ช่วยฟอกเลือด
  • ช่วยขับพิษ
  • ช้วยทำให้เลือดไหลเวียนดี
  • ช่วยขับลมในกระเพาะ และลำไส้
  • แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยคลายเส้น
  • ช่วยคุมกำเนิด
  • ช่วยปรับสมดุลร่างกาย
  • ช่วยดับพิษ
  • ทำให้เลือดลมหมุนเวียนได้สะดวก
  • แก้อักเสบ
  • แก้ผิวหนัง เป็นฝี ตุ่ม
  • แก้ผดผื่นคัน
  • บำรุงเลือดลมสตรี
  • ช่วยประสะเลือด

           ในทางการแพทย์แผนจีนได้ระบุว่ามีฤทธิ์เป็นยาเย็น (หยิน) จิงจูฉ่าย เป็นที่รู้จักกันดี ในวงการอาหารเนื่องจากมีการนิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิดอาทิเช่น นิยมนำส่วนใบไปทำเป็นอาหารรับประทานในประเภทแกงจืด หรือ ผัดผัก แต่ส่วนใหญ่จะใช้ใส่ในต้มเลือดหมูเพื่อช่วยดับกลิ่นคาว หรือ นำไปทอดกรอบกินคู่กับหอยโข่งทะเล หมู และใช้ทำกระดูกหมู หรือ ลูกชิ้นปลาอีกด้วย และยังมีการนำส่วนใบ และดอกมาอบแห้งใช้ทำชาชงดื่มอีกด้วย

จิงจูฉ่าย

จิงจูฉ่าย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการใช้จิงจูฉ่าย เป็นสมุนไพรตามสรรพคุณที่ได้ระบุว่ามานั้น ส่วนมากจะใช้ทำเป็นอาหารรับประทาน แต่ก็มีบ้างที่นำใบราก และดอกมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำไปตากแห้งทำเป็นชาดื่ม เพื่อให้ได้สรรพคุณตามตำรายา

ลักษณะทั่วไปของจิงจูฉ่าย

จิงจูฉ่าย จัดเป็นไม้ล้มลุก หรือ ไม้พุ่มขนาดเล็ก ในสกุลโกฐจุฬาลัมพา มีราก หรือ เหง้าใหญ่มีขนาดลำต้นกระจายกว้าง สูง 0.5-1 ฟุต แตกกิ่งก้านหนาแน่นแผ่กว้าง ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบเป็นรูปรีกว้าง 1.5-9 เซนติเมตร ยาว 3-11 เซนติเมตร โคนใบสอบแหลมเล็กน้อย ปลายในแหลม ขอบใบหยักลึก 5 แฉก เป็นรูปฟันเลื่อย หรือ เป็นรูปนิ้วมือ เนื้อใบหนา สีเขียวสด มีกลิ่นหอม รสขมเล็กน้อย และมีก้านใบยาว ดอกออกเป็นช่อแตกแขนงตั้งตรงที่ปลายยอด หรือ ตามง่ามใบ ดอกมีลักษณะเป็นดอกขนาดเล็ก ยาว 3.5-5 มิลลิเมตร กลีบดอกมีต่อแบ่งเป็น 2 ชั้น โดยดอกวงนอกยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนดอกวงในโคนดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง กลีบดอกมีสีขาว โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อปลายหยักแฉก 2-3 แฉก กลางดอกมีเกสรโผล่พ้นกลีบดอกออกมา และดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลเป็นผลแห้ง มีขนาดเล็กมาก ส่วนเมล็ดมีขนาดเล็กเป็นรูปไข่ผิวเกลี้ยง

จิงจูฉ่าย

จิงจูฉ่าย

การขยายพันธุ์จิงจูฉ่าย

จิงจูฉ่ายสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การใช้เมล็ด การปักชำ และการแยกแขนงมาปลูก แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำเนื่องจากเป็นวิธีการสะดวก และประหยัดเวลา โดยมีวิธีการดังนี้

           เริ่มจากการเตรียมดินปลูกใส่ถุงดำ โดยใช้แกลบดิบ, แกลบดำ, ดินร่วน และปุ๋ยไส้เดือน อย่างละ 1 ส่วน จากนั้นนำต้นพันธุ์ที่เติบโตเต็มที่โดยการเลือกต้นที่มีขนาดสูงใหญ่ มีกิ่งก้านแตกจำนวนมากแล้วเลือกกิ่งที่มีขนาดใหญ่ และต้องมีตาอ่อนๆ หรือ ข้อใบ แล้วใช้กรรไกรตัดบริเวณเหนือโคนต้นขึ้นมา ประมาณ 1-2 เซนติเมตร จากนั้นเตรียมปักชำ โดยนำกิ่งที่ตัดออกมา วัดจากปลายส่วนที่ตัดขึ้นมาทางยอดประมาณ 10 เซนติเมตร ใช้กรรไกรตัดเหนือข้อใบเล็กน้อย ซึ่งเป็นส่วนที่จะแตกใบอ่อนออกมาได้ แล้วทำการริดใบอ่อนที่โคนแล้วตัดเฉลีบลเป็นปากฉลาม ปักลงดินปลูกที่เตรียมไว้ลึกพอให้กิ่งตั้งทรงได้ แล้วจึงกดดินกดดินรอบๆ แขนงที่ปักลงในดินปลูกให้แน่นใช้สเปรย์ฉีดน้ำให้ดินชุ่มชื้น เช้า-เย็น จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็จะเริ่มแตกกิ่งแขนงออกมาใหม่ และอีกประมาณ 1 เดือนต้นจิงจูฉ่าย ก็เติบโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี ของสารสกัดจิงจูฉ่าย จากรากลำต้นและใบ รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากส่วนของลำต้น และใบของจิงจูฉ่ายระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ สารสกัดจากส่วน ราก ลำต้น และใบ ด้วย เมทานอล และเอทานอล พบสาร balanophonin, artemisisnin, aurantiamide, aurantiamide acetate, isovitexin, kaempferol, kaempferol-3-O-b-D-rutinoside, rutin, quercetin, caffeic acid ethyl ester, methyl 3, 5-di-O-caffeoyl quinate, 7-methoxycoumarin, 7-hydroxycoumarin และ methyl 3, 4-di-O-caffeoyl quinate ส่วนลำต้นและใบมีน้ำมันหอมระเหยที่ประกอบไปด้วยสาร (E)-13-farnesene, limonene, apiin, selinene, nerolidol, spathulenol, caryophyllene oxide, (-) -lavandulol, germacrene D และ zingiberene  เป็นต้น

           นอกจากนี้จิงจูฉ่าย ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้  คุณค่าทางโภชนาการ ใบจิงจูฉ่าย (100 กรัม)

พลังงาน                        392                  กิโลแคลอรี่

โปรตีน                           18                    กรัม

ไขมัน                             25                    กรัม

คาร์โบไฮเดรต               41                    กรัม

วิตามินA                       52                    หน่วยสากล

วิตามินB6                      0.9                    มิลลิกรัม

วิตามินC                        17                    มิลลิกรัม

วิตามินE                         1                       มิลลิกรัม

โครงสร้างจิงจูฉ่าย

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของจิงจูฉ่าย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของจิงจูฉ่าย ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้  

           มีรายงานการศึกษาสกัดแยก และหาโครงสร้างสาร polyacetylene จากต้นจิงจูฉ่าย (Artemisialactiflora) โดยการนำส่วนเหนือดินของต้นจิงจูฉ่ายที่บดแห้ง น้ำหนัก10.00 กิโลกรัม มาสกัดโดยใช้เอทานอลเป็นตัวทำละลายได้สารสกัดหยาบ จากนั้นนำส่วนสกัดหยาบมาแยกองค์ประกอบทางเคมีด้วยเทคนิคคอลัมน์โครมาโทกราฟี และทินแลร์โครมาโทกราฟี (TLC) พบว่าได้สาร polyacetylene ชนิดใหม่ 1 ชนิดพบว่ามีโครงสร้างเป็น Artemisidiyne A จากนั้นได้ทำการศึกษาความเป็นพิษของสาร Artemisidiyne A โดยทดสอบกับเซลล์มะเร็งจำนวน 4 ชนิด คือ ลำไส้ใหญ่ (HCT-8), กระเพาะอาหาร (BGC-823), ปอด (A549) และเม็ดเลือดขาว (HL-60) ด้วยวิธี MTT method ผลการศึกษาพบว่า สาร Artemisidiyne A เป็นสารที่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง 3 ชนิด คือ ลำไส้ใหญ่กระเพาะอาหารและปอดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 7.5, 1.1, และ 4.6 µM ตามลำดับ

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสาร artemisinin sinin ที่พบในจิงจูฉ่าย ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าจิงจูฉ่ายมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ในการต้านการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง โดยเตรียมสมุนไพรทดสอบ 5 วิธี คือ

  1. น้ำคั้นจากใบ
  2. สารสกัดเอทานอล วิธีหมัก
  3. สารสกัดเอทานอล (เตรียมโดยวิธี Soxhlet apparatus)
  4. สารสกัดไดคลอโรมีเทน
  5. สารสกัดปิโตเลียมอีเทอร์

           จากนั้นนำสมุนไพรทดสอบมาศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH ผลการทดลองพบว่าสารสกัดสมุนไพร (1-4) มีค่าIC50 410.8 µg/ml, 278.2 µg/ml, 312.5 µg/ml, และ 982.3 µg/ml ตามลำดับ ส่วนสารสกัดสมุนไพร (5) ไม่มีฤทธิ์และการทดสอบฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์ด้วยวิธี MTT ในเซลล์มะเร็ง 3 ชนิด ที่ใช้ทดสอบได้แก่ เซลล์มะเร็งเต้านม, เซลล์มะเร็งรังไข่ และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ผลการทดลองพบว่าสารกสัดสมุนไพรทั้งหมด มีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเต้านม โดยมีค่า ED50 371.23 µg/ml, 394.47 µg/ml, 21.07 µg/ml, 122.54 µg/ml ตามลำดับ และมีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งรังไข่ ค่า ED50 ดังนี้ สารสกัดสมุนไพร (1) มีค่า 139.96µg/ml, สารสกัดสมุนไพร (2) มีค่า 205.1 µg/ml สารสกัดสมุนไพร (4) มีค่า 61.27 µg/ml, และสารสกัดสมุนไพร (5) มีค่า 111.49 µg/ml ส่วนสารสกัดสมุนไพร (3) ไม่มีฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งเต้านม


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของจิงจูฉ่าย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้จิงจูฉ่ายเป็นอาหารนั้นนับได้ว่ามีความปลอดภัยสูงในระดับหนึ่ง แต่ในการนำไปแปรรูป หรือ นำไปใช้ในรูปแบบอื่นๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง จิงจูฉ่าย
  1. เต็มสมิตินันทน์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
  2. อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. จิงจูฮวยช่าย-ดอกแก้วเมืองจีน: ผักมากสรรพคุณและจานเด่นของชาวแต้จิ๋ว ข้ามทะเลมาแต่เมืองจีน. ครัว. สิงหาคม 2558 หน้า 120 - 121
  3. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  4. พิธิยะภรณ์ อภิชาตยานนท์. การศึกษาพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพจากส่วนเหนือดินของจิงจูฉ่าย. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมีศึกษา คณะเภสัชวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.พฤษภาคม 2560. 51 หน้า
  5. ภาวิณี อารีศรีสมและคณะ. ผลการสภาวะ การอบต่อองค์ประกอบทางพฤษเคมีปริมาณสารประกอบฟินอลิกรวมและคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระในจิงจูฉ่าย. วารสารผลิตกรรมการเกษตร ปีที่ 4. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2565. หน้า 118-131
  6. ทศพล วรรักษ์กุลวงศ์ และสุรวิช วงศ์สวัสดิ์เวช, 2555. ฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดสมุนไพรจิงจูฉ่าย , โครงการพิเศษปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย,คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยามหิดล.
  7. ภาวิณี อารีศรีสม, นรินทร์ ท้านแก่นจันทร์, กอบลาภ อารีศรีสม.ผลของการพรางแสง ระหว่างปลูกต่อองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของจิงจูฉ่าย,วารสารเกษตรพระจอมเกล้า ปีที่ 38. ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2563. หน้า 139-145
  8. Nakamura, Y., Ohto, Y., Murakami, A., Jiwajinda, S., & Ohigashi, H. (1998). Isolation and identification of acetylenic spiroketal enol ethers from Artemisia lactiflora as inhibitors of superoxide generation induced by a tumor promoter in differentiated HL-60 cells. Journal of Agricultural and Food Chemistry, 46, 5031−5036.
  9. Lin, F.D., D.W. Luo, J. Ye and M.T. Xiao. 2014. Chemical constituents of Artemisia lactiflora (II). China Journal of Chinese Materia Medica. 39(13): 2531-2535.
  10. Xiao, M.-T., Luo, D.W., Ke, Z., Ye, J., & Tu, P.-F. (2014). A novel polyacetylene from the aerial parts of Artemisia lactiflora. Phytochemistry Letters, 8, 52-54.
  11. Jing, Z.W., Z. Su-ying and Y. Yuan-yi. 2011. Analysis  of  chemical components  ofvolatile oil from  Artemisia LactifloraWall in North Guizhou province of China. Medicinal Plant. 2(6): 59-61.