แว่นแก้ว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
แว่นแก้ว งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ
ชื่อสมุนไพร แว่นแก้ว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักหนอก, ผักหนอกใหญ่, ผักหนอกน้ำ (ภาคเหนือ), บัวแก้ว, บัวบกเทศ (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hy drocotyle umbellata L.
ชื่อสามัญ Water pennywort
วงศ์ APIACEAE
ถิ่นกำเนิดแว่นแก้ว
แว่นแก้ว จัดเป็นพืชในวงศ์ผักชี (APISACEAE) ที่มีลักษณะคล้ายกับบัวบก มากที่สุด โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอเมริกาเหนือ ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบแว่นแก้ว ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบมากในภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งจะพบได้บริเวณที่ชื้นแฉะ หรือ ตามแอ่งน้ำที่มีน้ำขังในระดับตื้นๆ
ประโยชน์และสรรพคุณแว่นแก้ว
- ใช้แก้พิษไข้
- แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แก้ท้องเสีย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้บวม
- แก้อาการช้ำใน
- แก้อาการตาแดง
- ใช้แก้โรคตับ
- ใช้แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยทำให้อาเจียน
- ช่วยสมานแผล
แว่นแก้วถูกนำมาใช้ รับประทานโดยมีการนำไปแกง หรือ ใช้เป็นผักรับประทานจิ้มน้ำพริกรวมถึงใช้รับประทานกับลาบแบบสดๆ ก็ได้และยังมีการนำแว่นแก้ว มาปลูกเป็นไม้น้ำประดับในตู้ปลาและอ่างปลา หรือ ใช้ปลูกเป็นไม้กระถางประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ความสวยงามอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้พิษไข้ แก้อาการช้ำใน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้บวม โดยทำทั้งต้นแว่นแก้ว มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้อาการตาแดงโดยนำทั้งต้นแว่นแก้วมาต้มเอาน้ำมาล้างตา
- ใช้แก้โรคตับ และโรคเกี่ยวกับลำไส้ ขับปัสสาวะ ช่วยทำให้อาเจียนโดยนำรากแว่นแก้วมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้สมานแผลโดยนำรากแว่นแก้ว มาโขลกให้ละเอียดพอกบริเวณแผล
ลักษณะทั่วไปของแว่นแก้ว
แว่นแก้ว จัดเป็นพืชล้มลุกอายุยาวหลายปี มักจะออกบริเวณริมน้ำ หรือ โผล่เหนือน้ำ ในแอ่งน้ำขัง ลำต้นเป็นไหลกลมยาวเรียว อวบน้ำ ทอดเลื้อยไปตามพื้นดินที่ชุ่มแฉะ จะแตกรากและใบบริเวณข้อลำต้น โดยลำต้นมีความสูง 5-15 เซนติเมตร
ใบแว่นแก้ว เป็นใบเดี่ยว มีลักษณะกลมคล้ายกับใบบัวบก มีก้านใบสีเขียว ถึงม่วงแกมเขียวที่ยาวเรียวติดบริเวณกลางใบ ใบแว่นแก้ว มีสีเขียวสดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-6 เซนติเมตร ขอบใบเป็นหยักเว้า กว้างๆ ผิวด้านบนเรียบและเป็นมัน ผิวด้านล่างสีอ่อนกว่า
ดอกแว่นแก้วออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม บริเวณซอกโคนใบ มีก้านช่อดอกยาว ส่วนดอกย่อยจะแตกจากก้านช่อ โดยจะออกเป็นกระจุกช่อละ 2-3 กระจุก และในแต่ละกระจุกจะมีดอกย่อย 12-15 ดอก ซึ่งดอกย่อยจะมีขนาดเล็ก สีขาวขุ่น ถึงขาวอมเขียว มีขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร ดอกย่อยจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ และมีเกสรตัวผู้อยู่ 5 ก้าน
ผลแว่นแก้วเป็นผลแห้ง ลักษณะกลมสีดำ เมื่อผลแก่จะแตกเป็น 2 ซีก โดยในแต่ละซีกจะมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์แว่นแก้ว
แว่นแก้ว สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การแยกต้นอ่อนและการปักชำไหล แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ การแยกต้นอ่อนและการปักชำไหล เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายประหยัดเวลาและให้ผลสำเร็จได้ดี ส่วนวิธีการแยกต้นอ่อนและการปักชำไหลแว่นแก้ว นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการแยกต้นอ่อนและการปักชำไหล ไม้น้ำจำพวก ไม้ล้มลุก อื่นๆ ที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว ในบทความก่อนหน้านี้ เช่น "บัวบก "
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากทั้งต้นของแว่นแก้ว ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ quercetin, quercitrin avicularin, hyperoside hibalactone, neochlorogenic acid, hibalactone, limonene และ β-pinene เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแว่นแก้ว
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดแว่นแก้ว จากทุกส่วนของแว่นแก้ว ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท ของสารสกัดจากทั้งต้นของแว่นแก้ว ระบุว่า สามารถช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ประสาท ได้โดยสาร quercetin จะเข้าไปลดการ เกิดภาวะ oxidative stress ซึ่งสารดังกล่าวมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์ประสาทโดยจะเข้าไปลดภาวะเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันและการอักเสบของเส้นประสาท
นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความจำได้ เนื่องจากจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของสารสื่อประสาท acetylcholine ภายในสมอง ทำให้ปริมาณสารสื่อประสาทลดลงซึ่งเป็นสาเหตุของความจำเสื่อม โดยในการศึกษาทดลองพบว่าหนูทดลอง ที่ได้รับสารสกัดจากแว่นแก้ว จะมีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และความจำ อีกทั้งยังสามารถยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า สารสกัดเมทานอลจากส่วนใบของแว่นแก้ว สามารถยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกได้ 2 ชนิด คือ S.pyogenes กับ S.pneumoniae
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแว่นแก้ว
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ห้ามใช้แว่นแก้ว เป็นยาสมุนไพร ในผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ผักชี (APIACEAE) ในผู้ที่ต้องรับประทานยาแก้แพ้ หรือ ยานอนหลับและยาขับปัสสาวะ ไม่ควรใช้แว่นแก้วเป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน เนื่องจากจะเข้าไปเพิ่มฤทธิ์ให้เกิดอาการง่วงซึมและการขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น
เอกสารอ้างอิง แว่นแก้ว
- ราชันย์ ภู่มา สส, บรรณาธิการ. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช; 2557.
- มณิสร สุขสวัสดิ์, การจำแนกบัวบกออกจากพรมมิและแว่นแก้ว ด้วยลักษณะทางสัณฐานวิทยา ลายพิมพ์สารเคมีและลายพิมพ์ดีเอ็นเอ. ปริญญานิพนธ์หลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเภสัชภัณฑ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ปีการศึกษา 2566. 86 หน้า
- นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. คุณภาพเครื่องยาไทย จากงานวิจัยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ; 2551.
- ปราณี นางงาม, ชยพล ศรีพันนาม, ชนนิษฎ์ ชูพยัคฆ์. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในคนของสารสกัดหยาบพืชน้ำที่รับประทานได้. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 20 ฉบับที่ 1. มกราคม-เมษายน 2565. หน้า 118-130
- International Plant Names Index [Internet]. Surrey: The Royal Botanic Gardens, Kew, Harvard University Herbaria & Libraries and Australian National Herbarium; 2023
- Oliveira MGd, Almeida PHGd, Oliveira TLS, Silva LdS, Carvalho FSd, Alves SF, et al. HPLC-PDA method validated for the determination of hibalactone in Hydrocotyle umbellata subterraneous parts and its ultrasound-assisted extraction optimization. Revista Brasileira de Farmacognosia. 2019;29(2):162-70.
- Fagundes da Rocha F, Silva-Almeida C, Santos R, Santana S, Costa E, Paula J, et al. Anxiolytic-like and sedative effects of Hydrocotyle umbellata extract in mice. Revista Brasileira de Farmacognosia. 2011;21:115-20
- Barbosa CC, Rodrigues TC, Ataídes CFS, Santos ML, Ghedini PC, Dias Junior W, et al. Protective effects of Hydrocotyle umbellata var. bonariensis Lam. (Araliaceae) on memory in sleep-impaired female mice. Journal of Ethnopharmacology. 2019;245:112183.
- Hamdy SA, El Hefnawy HM, Azzam SM, Aboutabl EA. Chemical profiling, volatile oil analysis and anticholinesterase activity of Hydrocotyle umbellata L. aerial parts cultivated in Egypt. South African Journal of Botany. 2018;115:108-12
- Hamdy SA, Menze ET, El Hefnawy HM, Azzam SM, Aboutabl EA. In-vivo Antiinflammatory Activity of Hydrocotyle umbellata L. aerial parts and Isolation of the Main Phytochemicals. Iran J Pharm Res. 2020;19(3):34-44.
- Khan H, Ullah H, Aschner M, Cheang WS, Akkol EK. Neuroprotective Effects of Quercetin in Alzheimer's Disease. Biomolecules. 2019;10(1).
- Hamdy SA, El Hefnawy HM, Azzam SM, Aboutabl EA. Botanical and genetic characterization of Hydrocotyle umbellata L. cultivated in Egypt. Bulletin of Faculty of Pharmacy, Cairo University. 2018;56(1):46-53