เห็ดเยื่อไผ่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เห็ดเยื่อไผ่ งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เห็ดเยื่อไผ่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เห็ดร่างแห, เห็ดร่างแหกระโปรงยาว, เห็ดร่างแหกระโปรงสั้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dictyophora spp. ซึ่งในประเทศไทยมีรายงานการพบ 5 สายพันธุ์ ได้แก่
           1. Dictyophora indusiata (Vent. ; Pers.) Fisch.
           2. 
Dictyophora duplicata (Bosc) Fisch.
           3. 
Dictyophora multicolor Fisch.
           4. 
Dictyophora multicolor var. Boome
           5. 
Dictyophora rubrovolvata Zang, & Liu
ชื่อสามัญ Basket stinkhorn, Bamboo mushroom, Bamboo fungus, Longnet stinkhorn, Veiled lady.
วงศ์ PHALLACEA

ถิ่นกำเนิดเห็ดเยื่อไผ่

เห็ดเยื่อไผ่ จัดเป็นจุลินทรีย์ในกลุ่ม fungi ที่มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งจะสามารถพบได้ในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย อเมริกา และทวีปแอฟริกา บริเวณป่าร้อนชื้น ที่ดินมีความอุดสมบูรณ์ และมีการทับถมของซากพืช หรือ อินทรียวัตถุสูง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ โดยจะพบได้ในป่าไผ่ สวนมะพร้าว สวนยางพาราและสวนมะม่วง เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณเห็ดเยื่อไผ่

  • เป็นยาบำรุงร่างกาย
  • แก้อาการอ่อนเพลีย
  • บำรุงสมรรถภาพทางเพศ
  • แก้อาการท้องเดิน
  • รักษาความดันโลหิตสูง
  • แก้ไขมันในเลือดสูง
  • รักษาตับอักเสบ
  • รักษาโรคเกี่ยวกับไต
  • รักษาโรคเกี่ยวกับตา
  • รักษาโรคเกี่ยวกับปอด
  • แก้หวัด
  • รักษาโรคลำไส้อักเสบ
  • ต้านอนุมูลอิสระ
  • ยับยั้งการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง
  • ช่วยผลัดเซลล์ผิว
  • เพิ่มภูมิต้านทาน

           ประเทศจีนมีการนำเห็ดร่างแหมาใช้ประโยชน์มานานกว่า 3,000 ปีมาแล้ว โดยนำมาเป็นอาหาร และนำมาเป็นส่วนผสมในยา ซึ่งในอดีตเห็ดเยื่อไผ่จัดเป็นหนึ่งในเจ็ดของยาอายุวัฒนะที่จัดเป็นเมนูเสวยให้กับฮ่องเต้ ต่อมาชาวจีนนิยมนำมาเป็นอาหารบำรุงร่างกาย โดยเมนูที่นิยมนำมาทำรับประทาน คือ ซุปเห็ดเยื่อไผ่ อีกทั้งยังมีการสกัดเอาสารสำคัญในเห็ดเยื่อไผ่มาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งยาเวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย ในปัจจุบันยังมีการเพาะเห็ดเยื่อไผ่จำหน่าย ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของจีน โดยมีราคาสูงถึง 3000-5000 บาท/กิโลกรัม

เห็ดเยื่อไผ่

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรตามตำรับยาจีนนั้นระบุว่า ใช้บำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย เสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ แก้หวัด แก้ตับอักเสบ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง แก้โรคปอด โรคตา โรคไต โดยการนำเห็ดเยื่อไผ่ มาประกอบอาหารรับประทาน ใช้บำรุงสมรรถภาพทางเพศ โดยนำเมือกที่แผ่นปลอกหุ้มด้านบนของดอกเห็ดมาดองกับเหล้าดื่ม และในปัจจุบันยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดจากเห็ดเยื่อไผ่ มีประโยชน์ และสรรพคุณทางยาอีกหลายประการ เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง ช่วยผลัดเซลล์ผิว ต้านการอักเสบและเพิ่มภูมิต้านทาน ฯลฯ

ลักษณะทั่วไปของเห็ดเยื่อไผ่

เห็ดเยื่อไผ่มีลำดับขั้นการพัฒนาในธรรมชาติตั้งแต่เป็นเชื้อรา แล้วจึงพัฒนาตัวราจนกระทั่งเปิดดอก โดยใช้เวลานานประมาณ 1 ปี จากนั้นใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการสร้าง rhizomorphs ที่ลักษณะคล้ายราก และสร้างดอกเห็ดตูมขนาดเล็ก ขยายขนาดเป็นดอกที่ใหญ่ และจะเข้าสู่กระบวนการเปิดดอก จากนั้น 1-2 วัน ปลายดอกจะปริออก และมีการเปิดดอกโดยก้านดอก หมวกดอก และกระโปรงเห็ดจะยืดออก ถึงจะเข้าสู่ระยะสมบูรณ์ ภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง ดอกเห็ดที่สมบูรณ์จะมีความสูงได้ถึง 25 เซนติเมตร ดอกตูมมีรูปร่างเหมือนไข่ และเมื่อบานจะมีรูปร่างทรงกรวย คล้ายระฆัง มีสีแตกต่างกันตามสายพันธุ์ตั้งแต่ขาว น้ำตาลอมเหลือง น้ำตาลอมแดง ถึงเทาอ่อน ยืดติดกับพื้นด้วยเส้นคล้ายรากขาว 1 เส้น ต่อมาด้านบนแตกออก ให้หมวกและก้านชูขึ้นมา เมื่อดอกเจริญเต็มที่จะมีโครงสร้างคล้ายตาข่ายห้อยลงมาจากขอบหมวกเห็ดเรียกว่า indusium ซึ่งอาจจะยาวถึงปลอกหุ้มโคนดอกเห็ด โดยแต่คาดว่าร่างแหอาจจะทำหน้าที่ช่วยล่อแมลงให้เข้ามาใกล้เพื่อช่วยแพร่กระจายสปอร์หมวกเห็ดมีขนาด กว้าง 25-35 มิลลิเมตร สูง 25-30 มิลลิเมตร รูประฆัง สีน้ำตาลอมเขียวหม่น มีรูเปิดเป็นวงขาวที่ยอดปกคลุมด้วยหลุมลึกเล็กๆ เต็มไปด้วยสปอร์ในน้ำเมือก มีกลิ่นเหม็น ก้านดอกเห็ดมีความยาว 100-150 มิลลิเมตร หนา 15-25 มิลลิเมตร รูปร่างทรงกระบอก ลักษณะคล้ายฟองน้ำกลวง มีสีขาว โคนใหญ่กว่าด้านบนเล็กน้อยรอบก้านมีร่างแหขาวยาว 100-120 มิลลิเมตร ห้อยลงมาจากใต้หมวก สปอร์ของเห็ดเยื่อไผ่ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีลักษณะเหนียว มีกลิ่นเหม็นเน่า เพื่อช่วยล่อแมลง ให้แมลงช่วยแพร่กระจายสปอร์ไปยังที่ต่างๆ สปอร์มีขนาด 4-4.5 x 1.52 ไมโครเมตร ทรงรี ผิวเรียบ ผนังบางน้ำตาลอมเขียวมะกอก

เห็ดเยื่อไผ่

เห็ดเยื่อไผ่

การขยายพันธุ์เห็ดเยื่อไผ่

สำหรับการขยายพันธุ์เห็ดเยื่อไผ่ นั้น มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน และจีนยังเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการเพาะเห็ดเยื่อไผ่เพื่อจำหน่าย

           โดยในประเทศจีนมีรายงานว่าพบเห็ดร่างแห 9 ชนิด แต่มีการเพาะเลี้ยง เพื่อจำหน่ายเพียง 2 ชนิด คือ เห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว (Dictyophora indusiata Fisch.) และเห็ดร่างแหกระโปรงสีแดง (Dictyophora echinovolvata Zang.) ใช้เวลาเพาะเลี้ยงนานประมาณ 60 วัน

           สำหรับขั้นตอนการเพาะเห็ดร่างแห มีดังต่อไปนี้

           เริ่มจากเตรียมวัสดุเพาะที่ประกอบด้วย ใบไผ่ ขุยมะพร้าว และแกลบดิน ในอัตราส่วน 1:1:1 (แต่ทั้งนี้ต้องนำใบไผ่ และขุยมะพร้าว แช่น้ำ 1 คืนก่อน) การเพาะเห็ดเยื่อไผ่ ขั้นแรกให้นำดินปลูกโรยในชั้นเพาะให้หนาประมาณ 3 เซนติเมตร แล้วนำใบไผ่มาปู จากนั้นนำก้อนเห็ดร่างแหที่มีเส้นใยเห็ดร่างแหเจริญเต็ม นำมาวางเป็นชั้นที่ 3 แล้วจึงนำวัสดุเพาะส่วนที่เหลือโรยทับก้อนเห็ดร่างแห ให้มีความสุขหนาประมาณ 3 เซนติเมตร แล้วทำการกลบหน้าด้วยดินปลูก หรือ แกลบ และคลุมด้วยใบไผ่อีกด้วย รดน้ำพอชุ่ม แล้วจึงคลุมด้วยพลาสติกดำเป็นเวลา 15-20 วัน เพื่อเป็นการบ่นเส้นใย เมื่อครบกำหนดจึงนำพลาสติกออก รดน้ำทุกเช้า-เย็นแล้วรอจนกระทั่งดอกเห็ดบาน (ประมาณ 60 วัน) จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของเห็ดเยื่อไผ่ ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดเช่น dictyaphorine A,B, allantoin, glycolic acid, hyaturonic acid, dictyoqinazol A, B, C และ hydroxy methyl furfural (HMF) เป็นต้น

           นอกจากนี้เห็ดเยื่อไผ่ ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีกรดอะมิโนถึง 16 ชนิด จากทั้งหมด 20 ชนิด โดยเป็นกรดอะมิโนจำเป็นถึง 7 ชนิด และยังมีวิตามิน B2 ค่อนข้างสูงอีกด้วย

โครงสร้างเห็ดเยื่อไผ่

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเห็ดเยื่อไผ่

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารต่างๆ ที่พบในเห็ดเยื่อไผ่ ดังนี้

          ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยพบว่าสาร Dictyophorine A และ B ที่พบในเห็ดเยื่อไผ่ มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง อีกทั้งสามารถช่วยในการปกป้องระบบประสาทไม่ให้ถูกทำลายจากสารพิษ ยังสามารถกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทและสมองได้ อีกทั้งยังสามารถชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่นได้หลายกระบวนการ และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้หลายโรค ส่วนในเมือกหุ้มดอกเห็ดที่มีลักษณะเป็นเจล พบว่ามีสาร allantoin และ hyaluronic acid ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ลดการระคายเคืองของผิว เพิ่มความชุ่มชื้นฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ ส่วนสาร glycolic acid ก็มีฤทธิ์ในการผลัดเซลล์ผิว กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน นอกจากนี้สารกลุ่ม pdysaccharides ที่พบในเห็ดเยื่อไผ่ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซนม์ไทโรซ์เนสที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดสีของผิวหนังได้อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของเห็ดเยื่อไผ่

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เห็ดเยื่อไผ่สามารถรับประทานเป็นอาหารได้โดยมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีการรับประทานมาอย่างช้านานแล้ว แต่ทั้งนี้ผู้ที่แพ้เห็ดไม่ควรรับประทานเห็ดเยื่อไผ่ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มเห็ดรา (fungi) เช่นเดียวกันกับเห็ดอื่นๆ ส่วนการเลือกซื้อเห็ดเยื่อไผ่ แบบแห้งนั้น ควรเข้าใจก่อนว่าสีธรรมชาติของเห็ดเยื่อไผ่แบบแห้ง หรือ อบแห้งจะมีสีน้ำตาล แต่หากพบเห็ดเยื่อไผ่แบบแห้งที่เป็นสีขาว ไม่ควรเลือกซื้อเกิดจากการรมควันด้วยสารฟอกขาว เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนสีของเห็ดเยื่อไผ่ไม่ให้เป็นสีน้ำตาล โดยสารฟอกขาวที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ sulphur dioxide ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือ ผู้แพ้สารนี้ โดยผู้ที่ได้รับสารนี้ในปริมาณมากจะมีอาการหายใจขัด คลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะ เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง เห็ดเยื่อไผ่ 
  1. จิราวรรณ หาญวัฒนกุล. (2549). เห็ดร่างแห หรือ เห็ดเยื่อไผ่. สำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
  2. ศิริลักษณ์ ชุมเขียว.การเปรียบเทียบ ปริมาณสารออกฤทธิ์ในวุ้นระยะไข่ของเห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์และจีน กระโปรงสั้นและยาว (สีขาว), รายงานการวิจัย สาขาวิชาชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, กันยายน 2564. 23 หน้า
  3. ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบรมราชินีนาถ. (2552). เห็ดป่าในหุบเขาลำพญา. ยะลา : มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. 156 หน้า.
  4. สุวลักษณ์ ชัยชูโชติ และคณะ. (2558). โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ 2558. สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ. กรมวิชาการเกษตร
  5. Snail ของเห็นเยื่อไผ่กับ Snail ของหอยทาก, กระดานถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medhidol.ac.th/user/repiy.asp?id=6588
  6. Chandrasrikul A., et al., (2011).Checklist of Mushrooms (Basidiomycetes) in Thailand. 1st ed. Office of Natural Resource and Environmental Policy and Planning (ONEP), Thailand. 448 p.
  7. Kawagishi H, Ishiyama D, Mori H., et al., (1997). Dictyophorines A and B, two stimulators of NGF-synthesis from the mushroom Dictyophora indusiata. Phytochem 45(6):1203– 1205. doi:10.1016/S0031-9422(97)00144-1
  8. Liu X., Chen Y., Wu L., Wu X., Huang Y. & Liu B. (2017). Optimization of polysaccharides extraction from Dictyophora indusiata and determination of its antioxidant activity. International Journal of Biological Macromolecules, 103, 175-181.
  9. Chang S.T. and Miles, P.G., (2004). Edible mushrooms and their cultivation (2nd ed). Boca Raton London New York Washington, D.C.
  10. Wang, Q., Wang, F., Xu, Z., Ding, Z., (2017). Bioactive Mushroom Polysaccharides: A Review on Monosaccharide Composition, Biosynthesis and Regulation. Molecules 22(6) 955.