เสจ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

เสจ งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เสจ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เซจ (ไทย), sage, true sage, Garden sage, Common sage, Broad-leafedsage, Dalmatian sage (ทั่วไป/ต่างประเทศ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Salvia officinalis Linn.
ชื่อสามัญ Salviae folium
วงศ์ LABIATAE

ถิ่นกำเนิดเสจ

เสจ จัดเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์กะเพรา (LABIATAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง รวมถึงในยุโรป และอเมริกา ปัจจุบันพบการเพาะปลูกกันมากในแถบทวีปอเมริกา บริเวณทางตอนใต้ของแคลิฟอเนียไปจนถึงทางตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโก สำหรับในประเทศไทยยังไม่พบรายงานการนำมาปลูกอย่างแพร่หลาย พบเพียงนำมาปลูกเป็นไม้กระถางบ้างเล็กน้อยเท่านั้น


ประโยชน์และสรรพคุณเสจ

  • ใช้เป็นยาบำรุงเส้นผม และหนังศีรษะ
  • เพื่อช่วยแก้อาการคันหนังศีรษะ
  • แก้ปัญหารังแค
  • แก้ปัญหาหนังศีรษะแห้ง
  • รักษาอาการเบื่ออาหาร
  • แก้ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • แก้ลำไส้อักเสบ
  • ช่วยเหงื่อออกมากผิดปกติ
  • รักษาอาการปวดข้อ
  • รักษาอาการปวดหัวจากความดัน
  • แก้ลมหายใจเหม็น
  • รักษาอาการร้อนวูบวาบจากภาวะหมดประจำเดือน
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของความจำ
  • ช่วยยับยั้งการหลั่งน้ำนม 
  • ใช้รักษาโรคช่องปาก
  • รักษากล่องเสียง คอหอย และเหงือกอักเสบ
  • ใช้เป็นยาล้างแผล
  • รักษาผิวหนังอักเสบ

           เสจถูกชาวยุโรป และอเมริกานำมาใช้ประโยชน์มาอย่างเนิ่นนามแล้ว โดยมีการนำ ใบสด หรือ แห้งของเสจ มาใช้เป็นเครื่องเทศ หรือ ส่วนผสมของอาหารประเภทเนื้อ และปลา อีกทั้งชาวอเมริกันยังนิยมทำขนมปัง โดยใช้เสจเป็นส่วนผสม และใช้โรยลงบนเนย ยังใช้เสจเพื่อเพิ่มกลิ่น และรสของไวน์ หรือ น้ำส้ม รวมถึงนิยมใช้เป็นตัวเพิ่มกลิ่นรสให้กับไส้ขนมต่างๆ เช่นกัน และยังมีการนำน้ำมันจากดอกเสจ (Essential Oil) มาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางต่างๆ และใช้ในรูปแบบอโรมาเทอราปีในสปาอีกด้วย

เสจ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้รักษาอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ โดยนำใบเสจ แห้ง 20 กรัม มาลวกในน้ำร้อน 1 ลิตร แช่ไว้ 15 นาที จากนั้นแยกส่วนกากออก ดื่มส่วนที่เป็นน้ำครั้งละ 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ใช้ขับเสมหะและรักษาการอักเสบ ที่บริเวณเยื่อเมือกของทางเดินหายใจ แก้ลมหายใจเหม็น โดยผสมผงยาจากใบแห้ง 50 กรัม กับน้ำผึ้ง 80 กรัม รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ เช้า และก่อนนอน
  • ใช้ล้างแผล และสมานแผลที่เกิดจากการแพ้ หรือ แผลอักเสบ โดยการนำใบสด 100 กรัม มาต้มกับไวน์ขาว 0.5 ลิตร เป็นเวลา 1 นาที แล้วนำไปล้างแผล หรือ นำน้ำมันหอมระเหย 2-3 หยด มาผสมในน้ำ 100 มิลลิลิตร หรือ นำสารสกัดใบเสจที่สกัดจากแอลกอฮอล์ในปริมาณ 5 กรัม ลงในน้ำ 1 แก้ว แล้วนำไปล้างแผล


ลักษณะทั่วไปของเสจ

เสจ จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม หรือ กึ่งพุ่มขนาดเล็กที่พบในต่างประเทศ (ยุโรป และอเมริกา) ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 15-45 เซนติเมตร ลำต้นสีเทาใส ฉ่ำน้ำ มักจะแตกกิ่งก้านตรงข้ามกัน โดยในฤดูร้อนกิ่งก้านตอนบนจะออกดอก ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกยาวรี โคนใบกลม หรือ เป็นรูปกึ่งหัวใจ ปลายใบแหลม หรือ ทู่ ใบมีขนาดกว้าง 1-2.6 เซนติเมตร และยาว 2-10 เซนติเมตร ผิวใบด้านบน มีเส้นใบเล็กมาก สานเป็นร่างแห โดยใบจะมีสีเขียวอมเทามองคล้ายมีตุ่มอยู่ทั่วใบเนื้อใบนุ่ม มีเส้นกลางใบลึกเป็นร่อง ส่วนผิวใบด้านล่างเป็นสีเทา เมื่อขยี้ใบจะมีกลิ่นหอมมาก ใบมีรสหอมขม และมีก้านใบยาวได้ถึง 4.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายยอด และปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อยออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ประมาณ 5-7 คู่ ดอกมีลักษณะคล้ายกับดอกเทียน แต่จะมีสีม่วง-ฟ้า สีชมพู หรือ สีขาว ผลเป็นผลแห้งอยู่ในกระเปาะของดอกผลมีขนาดเล็กทรงกลมสีดำ

เสจ

เสจ

การขยายพันธุ์เสจ

เสจสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกดังนี้ ก่อนอื่นต้องเตรียมดินปลูกที่มีความร่วนซุย และระบายน้ำได้ดี เช่น ดินใบไม้หมัก หรือ ดอนขุยไม้ไผ่จากนั้นนำมาใส่ในกระถาง หรือ กระบะเพาะเมล็ด แล้วหยอดเมล็ดเสจลงไปแล้ว กลบบางๆ ประมาณ 0.5 เซนติเมตร รดน้ำพอชุ่ม จากนั้นนำไปวางในที่ร่มรำไร ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ซึ่งต้องคอยดูแลให้มีความชื้นอยู่เสมอ หลังจากนั้นเมล็ดจะเริ่มงอกโดยใช้เวลาประมาณ 14-28 วัน โดยช่วงแรกให้อนุบาลต้นกล้าเสจในที่แสงแดดรำไร อย่าให้โดนแสงแดดแรงๆ เมื่อต้นเริ่มแข็งแรงแล้ว จึงสามารถย้ายลงปลูกได้

           สำหรับวิธีการปลูกนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ส่วนการดูแลหลังการปลูกนั้น เนื่องจากเสจ เป็นพันธุ์ไม้ในยุโรป และอเมริกา ดังนั้นจะไม่ชอบแดดจัด ยังไม่ชอบดินที่ชุ่มแฉะจนเกินไป ต้องการดินที่มีการระบายน้ำได้ดี และต้องการอุณหภูมิที่ 10-30 องศาเซลเซียส


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ รวมถึงสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของเสจ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารกลุ่ม phenolic acids ได้แก่ caffeic acid, gallic acids, rosmarinic acid, feruric acid สารกลุ่ม diterpenes ได้แก่ carnosolic acidmpicrosalvin, rosmanol, safficinolide สารกลุ่ม triterpenoids ได้แก่ oleanolic acid, beta-sitosterol, ursolic acid สารกลุ่ม flavonids ได้แก่ genkwanin, genkwanin-6-methyl ether, apigenin-7-glucosides, luteolin-7-glucosides และสารกลุ่ม flavonoid glycosides, flavones, steroids และ tannias นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยยังพบสาร thujone, alpha-thujone, beta-thujone, camphors, cineole, 1,8-cineole, linalool, isobutyl acetate, camphene, bomeol, pinene, alpha-pinene, beta-pinene, salvin, viridiflorol, estrogenic compound, camosol camosolic acid, camosic acid, limonene, caryophyllene (humulene), alpha-caryophyllene และ beta-caryophyllene

โครงสร้างเสจ  

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเสจ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเสจ จากส่วนต่างๆ ในต่างประเทศหลายฉบับระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่า มีฤทธิ์ยับยั้ง lipid peroxidation และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ซึ่งสารสำคัญที่พบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ คือ สารในกลุ่ม phenolic diterpenes, camosol, rosmanol camosic acid โดยสารสกัด 90% เมทานอลในน้ำ (SOME) และสารสกัดน้ำ (SOI) จากส่วนเหนือดินมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ 50% (IC50) 13.5±0.5 และ 14.9±0.3 ไมโครกรัม/มิลลิตร ตามลำดับ เมื่อทดสอบกับ DPPH free radical และมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ HepG2 cell จาก tert-butyl hydro-peroxide โดยมีค่า IC50 7.6±0.5 และ 101.4±11.3 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ

           ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด มีการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลจากใบเสจ พบว่ามีฤทธิ์ต้านการเพิ่มขึ้นของ triglyceride ในหนูถีบจักรที่ได้รับอาหารไขมันสูง และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ pancreatic lipase โดยสารสำคัญที่พบ คือ camosic acid, camosol, royleanonic acid, 7-methoxyrosmanol และ oleanolic acid โดยค่า IC50 ของ caosic acid และ camosol ในการยับยั้งเอนไซม์ pancreatic lipase คือ 12 และ 4.4 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ และการให้หนูถีบจักรกิน camosic acid ขนาด 5-20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยังช่วยยับยั้งการเพิ่มขึ้นของ triglyceride ในหนูถีบจักรที่ได้รับอาหารไขมันสูง นอกจากนี้การให้หนูถีบจักรกิน camosic acid ขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ยังช่วยลดน้ำหนักตัว และลดการสะสมไขมันในร่างกายของหนูถีบจักรได้อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่า Sage มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อรา และเชื้อไวรัส โดยสาร a-thujone, 1,8-cineol, camphor, bormeol และ β-pinene จากน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus cereus, B. megatherium, B. subtilis, Aeromons hydrophila, A. sobria และ Klebsiella oxytoca โดยมีค่า minimum inhibitory concentration (MIC) อยู่ในช่วง 0.5-10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร เมื่อทดสอบด้วยวิธี broth microdilution susceptibility assay ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินมีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ดี โดยเฉพาะเชื้อราในกลุ่ม dermatophyte โดยมีค่า MIC และ minimum lethal concentration (MLC) เท่ากัน คือ 0.63 ไมโครลิตร/มิลลิลิตร

           ฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกัน มีรายงานว่าสารในกลุ่ม polysaccharides ของ Sage มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เมื่อทำการทดสอบในหลอดทดลองกัน comitogenic thymocyte test ซึ่งพบว่าสารดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด thymocytes ของหนูขาว ส่วนสารสกัดเมทานอล-คลอโรฟอร์ม (10:1 v/v) จากส่วนเหนือดิน ซึ่งมีสารในกลุ่ม polysaccharide complex (A), arabinose, galactose, 3-o-methyl-galactose, glucose, mannose, mannose, xylose, fucose, rhamnose, uronic acids, methoxy groups และ protein มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เมื่อทดสอบกับเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด thymocytes ของหนูตะเภา โดยใช้ในขนาด 1-300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร โดยสารสกัดดังกล่าวมีผลกระตุ้นการแบ่งตัวของ thymoctes

           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งผิวหนัง มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสาร manool ซึ่งเป็นสารที่พบได้มากในเสจ (Salvia officinalis L.) ในหนูเม้าส์เพศผู้สายพันธุ์ C57BL/6 ที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (murine melanoma cell) ชนิด B16F10 โดยหลังจากที่มะเร็งมีขนาด 100 มม. หนูจะได้รับยาต้านมะเร็งมาตรฐาน cisplatin ขนาด 5 มก./กก. หรือ สาร manool ขนาด 20 และ 40 มก./กก. ติดต่อกันนาน 5 วัน โดยเปรียบเทียบการให้ทางปาก, ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง, และฉีดเข้าทางช่องท้อง รวมทั้งทดสอบการให้สาร manool ทางปากขนาด 20 มก./กก. ร่วมกับการให้ยา cisplatin แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนังขนาด 5 มก./กก. จากผลการทดลองพบว่า การให้ยา cisplatin แบบให้ทางปาก, ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง, และฉีดเข้าทางช่องท้อง สามารถลดขนาดก้อนมะเร็งลงได้ 26.4%, 50.7%, และ 71.1% ตามลำดับ และการให้สาร manool ขนาด 20 มก./กก. แบบให้ทางปาก, ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง, และฉีดเข้าทางช่องท้อง สามารถลดขนาดก้อนมะเร็งลงได้ 62.4%, 38.8%, และ 48.5% ตามลำดับ ในขณะที่การให้สาร manool ขนาด 40 มก./กก. ยังให้ผลที่ไม่ชัดเจน ส่วนการให้สาร manool ร่วมกับยา cisplatin สามารถลดขนาดก้อนมะเร็งลงได้ 86.7% ซึ่งจะเห็นว่าการให้สาร manool ร่วมกับยา cisplatin มีประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งดีกว่าการให้สาร manool หรือ ยา cisplatin เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ได้รับยา cisplatin ทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับน้ำกระสายยา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาร manool ไม่สามารถลดความเป็นพิษของยา cisplatin ได้ ส่วนการศึกษากลไกการออกฤทธิ์เพิ่มเติมพบว่า สาร manool สามารถลดความถี่ของการเกิดกระบวนการ mitosis ของเนื้อเยื่อมะเร็งได้ และการออกฤทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับ caspase 3 cleaved pathway


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเสจ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของน้ำมันหอมระเหย และสารสกัดจากส่วนเหนือดินของเสจ ดังนี้

           มีการศึกษาทางพิษวิทยา พบว่าน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีสาร cis-thujone, -humulene, 1,8-cineolel, E-caryophyllene, bornrol เมื่อนำไปทดสอบความเป็นพิษกับเซลล์ตับของหนูขาว พบว่าในขนาดที่น้อยกว่า 200 นาโนลิตร/มิลลิลิตร ไม่พบความเป็นพิษ แต่ในขนาด 2,000 นาโนลิตร/มิลลิลิตร ตรวจพบ lactate dehydrogenase รั่วจากเซลล์ตับ และทำให้ glutathione ลดลงด้วย ซึ่งแสดงถึงการที่เซลล์ตับถูกทำลาย ในขณะที่การทดลองอีกงานหนึ่งที่ให้หนูถีบจักรที่ถูกชักนำให้ตับเป็นพิษด้วยสาร carbon tetrachloride ดื่มชาที่ชงจากส่วนเหนือดินของต้นเสจ พบว่าจะทำให้ตับถูกทำลายมากขึ้น โดยสังเกตได้จากการเพิ่มระดับของเอนไซม์ transaminase และสภาพของเนื้อเยื่อตับที่ถูกทำลาย ดังนั้น แม้ว่าชาชงของเสจจะไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษโดยตรง แต่ก็ควรใช้อย่างระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาที่ถูก metabolize ด้วยเอนไซม์ที่ตับ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้สมุนไพรเสจ มีข้อควรระวังในการใช้ดังต่อไปนี้

  • ไม่ควรใช้เสจเป็นสมุนไพรในระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งในระหว่างให้นมบุตร
  • ในการใช้สารสกัดแอลกอฮอล์ หรือ น้ำมันหอมระเหยในขนาดที่มากเกินไป หรือ ใช้เป็นเวลานานเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะไวต่อความร้อน หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ และอาจทำให้เกิดอาการชัก และเกิดอาการลมบ้าหมูได้
  • อีกทั้งการใช้สาร thujone ในขนาดสูง อาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อสมองได้ ดังนั้นควรระมัดระวังในการใช้น้ำมันหอมระเหยจากเสจ

เอกสารอ้างอิง เสจ
  1. มูลนิธิโครงการหลวง. 2542. พืชสมุนไพรเมืองหนาว. เอกสารเผยแพร่.สำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่.
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “Sage” หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 223-224.
  3. กฤติยา ไชยนอก. Sage. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 25.ฉบับที่ 2 มกราคม 2551. หน้า 10-15
  4. พรทวี ธนสัมปัณณ์. สารสกัดโรสแมรี่ เสจ และทาย์ม เพื่อยับยั้งการหืน. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. พฤศจิกายน 2548. 208 หน้า
  5. ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งผิวหนังของสาร manool จากเซจ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. Gruenwald J, Brendler T, Jaenicke C (eds.). PDR for Herbal Medicines. New Jersey: Medical economics company, 2000.
  7. Pinto E, Salgueiro  LR, Cavaleiro C, Palmeira A, Goncalves MJ. In vitro susceptibility to some species of yeasts and filamentous fungi to essential oils of Salvia officinalis. lndustrial Crops and Products 2007:26:135-41.
  8. Lima CF, Valentao PCR, Andrade PB, Seabra RM, Femandes-Ferreira M,Pereira-Wilson C, Wilson C,Water and methanolic extracts of Salvia officinalis protect HepG2 cells from t-BHP induced oxidative damage. Chemico-Biological lnteractions 2007;197:107-15.
  9. Blumenthal M (eds.).Herbal medicine expanded commission E monographs. Newton: lntegrative Medicine Communications,2000.
  10. Hohmann J, Zupko I, Redei D, Csanyi M, Falkay G, Mathe l, Janicsak G. Protective effects of the aerial parts of Salvia officinalis, Melissa Officinalis and Lavavdula angustifolia and their constituents against enzyme-dependent and enzyme-independent lipid peroxidation Planta Med 1999;65(6):576-8.
  11. Capek P, Vera H. Water-soluble polysaccharides from Salvia officinalis L.possessing immunomodulatory activity. Phytochemistry 2004;65: 1983-92.
  12. D’ Amelio FS. Botanicals: A phytocosmetic desk reference. New York:CRC Press LLC,1999.
  13. Ninomiya K. Matsuda H, Shimoda H, et al. Camosic acid, a new class of llpid absorption inhlbltor from Sage Bioorg Med chem Lett 2004;14(8):1943-6.
  14. Wang M, Shao Y, Li J, Zhu n, Rangarafan M, LaVoie EJ, Ho C-H. Antioxidative phenolic glycosides from Sage (Salvia officinalis) J Nat Prod 1999;62:454-6.
  15. Bone K. A Clinical guide to blending liquid herbs. Missouri: Churchill Livingstone,2003.