สนทะเล ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สนทะเล งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สนทะเล
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กู (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Casuarina equisetifolia Linn.
ชื่อสามัญ Australian pine, False pine, Queenland swampoak, Seaoak, Beff wood
วงศ์ CASUARINACEAE


ถิ่นกำเนิดสนทะเล

สนทะเลจัดเป็นพืชประจำถิ่น บริเวณชายฝั่งทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมักพบขึ้นตามชายฝั่งตอนเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย พม่า เวียดนาม ปากีสถาน ศรีลังกา และในมาดากัสกา สำหรับในประเทศไทยพบสนทะเล ขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณหาดทรายชายทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ ภูเก็ต ระนอง พังงา ตรัง สงขลา และตามเกาะต่างๆ ทั้งในอ่าวไทย และอันดามัน ที่มีความสูงเท่ากับระดับน้ำทะเลไปจนถึงความสูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณสนทะเล

  • แก้ท้องเดินเรื้อรัง
  • แก้บิด
  • แก้ท้องร่วง
  • ช่วยขับประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
  • ช่วยสมานแผล
  • แก้โรคเหน็บชา
  • แก่นแก่อ่อนเพลีย
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • แก้ไข้
  • แก้อาการคลื่นอาเจียน
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้จุกเสียด
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้อาการปวดศีรษะ
  • ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก
  • แก้อักเสบ
  • แก้ปวดบวม

           มีการนำเนื้อไม้สนทะเลมาใช้ในงานก่อนสร้างต่างๆ ได้ เช่น ทำเสาบ้าน เสาไฟฟ้า ทำโครงนั่งร้าน รวมไปถึงใช้ทำเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ด้ามแจว ด้ามจอบ ด้านเสียม ด้ามมีด แอก และล้อเกวียน เป็นต้น โดยคุณสมบัติเนื้อไม้ เป็นสีแดงแกมสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม เสี้ยนไม้ตรง เนื้อไม้หยาบปานกลาง เลื่อยฝาตกแต่งได้ไม่ยาก มีความแข็ง หากนำมาใช้ในร่มได้ทนทานพอสมควร และยังมีการนำเนื้อไม้ มาใช้ทำเป็นกระดาษได้ อีกทั้งไม้สนทะเล ยังจัดเป็นไม้ที่ติดไฟได้ดี และให้ความร้อนที่สูง โดยให้ค่าความร้อนสูงถึง 7,410 แคลอรี่ต่อกรัม อีกด้วย ส่วนของเปลือกไม้สนทะเลจะมีน้ำฝาด และสีซึ่งมี Tannin อยู่ประมาณ 6-18% ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการฟอกหนัง โดยสีของหนังที่ฟอกได้จะเป็นสีน้ำตาลปนสีแดงอ่อนๆ และสามารถใช้เปลือกสนทะเลมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้ เช่นกัน อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการปลูกสนทะเล ตามชายหาดเพื่อช่วยป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเล และใช้เป็นแนวกันลมได้ดี รวมถึงนำมาใช้ปลูกในพื้นที่ที่ดินเสื่อมโทรม เพื่อบำรุงดิน แก้ปัญหาที่ดินเสื่อมโทรมก็ได้อีกด้วย

สนทะเล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาฝาดสมานเพื่อรักษาโรคท้องเดินเรื้อรัง แก้บิด แก้โรคท้องร่วง ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โรคเหน็บชา โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ไข้ แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน โดยนำแก่นสนทะเล ประมาณ 3-5 ชิ้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น
  • ใช้แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ แก้อาการจุกเสียด โดยนำใบมาต้ม หรือ ชงกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ แก้อาการจุกเสียด โดยนำใบมาต้ม หรือ ชงกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้อักเสบ โดยนำน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกต้นมาถูกนวดบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของสนทะเล

สนทะเล จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 10-20 เมตร ลักษณะทรงพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำ ปลายแหลม ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง กิ่งชะลูดขึ้นไปทางปลายยอด แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นร่องตื้นๆ และเป็นสะเก็ดเล็กๆ เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนกิ่งย่อยเป็นสีเขียวเรียวเล็กคล้ายรูปเข็มต่อกันเป็นปล้องๆ สำหรับกระพี้ จะแยกจากแก่นอย่างเห็นได้ชัด โดยเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนแก่นเป็นสีน้ำตาลแดง ใบเป็นใบประกอบแบบลดรูป มีขนาดเล็กแหลม ลักษณะคล้ายฟันเลื่อย และมีสีขาวแกมเขียว ติดอยู่รอบข้อของกิ่งย่อย โดยในหนึ่งมีข้อจะใบย่อย เรียงกันเป็นช่อกลม ลักษณะคล้ายหนามแหลม รูปสามเหลี่ยมซึ่งจะมีประมาณ 7 ใบ ส่วนของกิ่งย่อยมีสีเขียวเป็นเส้นแหลมๆ คือ มีหน้าที่สังเคราะห์แสง ดอกออกเป็นช่อ เป็นแบบแยกเพศบนต้นเดียวกัน และจะออกตรงส่วนยอดของลำต้น หรือ ที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก โดยช่อดอกเพศผู้เป็นแบบช่อเชิงลดห้อยลง ไม่มีก้านดอก และจะจัดเรียงตัวเป็นช่อรูปกระบองสีแดงเรียวๆ ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ส่วนใบประดับ ส่วนใบประดับมีสองอัน ตรงปลายเป็นติ่งหนาม มีขนสีขาวหนาแน่น สำหรับดอกเพศเมียจะอยู่ล่างช่อดอกเพศผู้ ลักษณะของดอกต่างกัน โดยดอกเพศเมียเป็นสีน้ำตาลแดง มีลักษณะเป็นลูกตุ้มเล็กๆ หรือ รูปไข่ หรือ รูปกระสวย มีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ทั้งนี้ดอกทั้งสองเพศจะอยู่บนกิ่งใหญ่กิ่งเดียวกัน ผลมีขนาดเล็ก แต่ละผลจะประกอบไปด้วยผลย่อยเรียงตัวแทรกอยู่ในผลใหญ่ ลักษณะเป็นลูกกลมๆ เรียงชิดกันเป็นรูปกรวย หรือ รูปรี มีขนาด 1-1.5 เซนติเมตร เปลือกผลแข็ง ผลอ่อนมีสีเขียวนวล เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และแตกออกตามรอย จนสามารถมองเห็นเมล็ดภายในเมล็ดจะมีลักษณะเป็นปีกบางๆ ซึ่งใน 1 ผล จะมีเมล็ดจำนวนมาก

สนทะเล

สนทะเล

การขยายพันธุ์สนทะเล

สำหรับการขยายพันธุ์สนทะเล สามารถทำได้หลายวิธีเช่นการเพาะเมล็ดจะใช้วิธีการขยายพันธุ์จากเมล็ด เนื่องจากเป็นวิธีการที่สะดวก และสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากๆ ซึ่งการเก็บผลมาเพาะเมล็ดนั้นควรเลือกเก็บผลที่แก่ โดยผลจะมีสีน้ำตาลเรื่อๆ ตรงส่วนปลายของผล และเมล็ดจะมีสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื่องจากจะให้เปอร์เซ็นต์การงอกดีกว่า จากนั้นนำผลที่เก็บได้มาผึ่งในที่ร่มประมาณ 3-5 วัน ผลจะแตกออก เมล็ดจะร่วงออกมา ส่วนการเพาะเมล็ดควรในแปลงเพาะโดยเลือกพื้นที่วางแปลงเพาะบริเวณกลางแจ้งที่มีลักษณะเป็นดินทราย หรือ ดินร่วน มีการระบายน้ำดี ควรยกร่องทำเป็นแปลงเพาะ ความสูงประมาณ 10-20 ซม. กว้างประมาณ 1 เมตร สำหรับความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับปริมาณกล้าที่ต้องการเพาะ หลังจากหว่านเมล็ดแล้วให้ใช้ดิน หรือ ขี้เถ้า แกลบโรยทับบางๆ แล้วใช้ฟางแห้ง หรือ หญ้าคาคลุมบางๆ เพื่อป้องกันเมล็ดสนกระเด็นเวลารดน้ำ และช่วยรักษาความชื้นในดิน จากนั้นควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ตอนเข้า และตอนเย็น โดยหลังจากเพาะประมาณ 3 วัน กล้าก็จะเริ่มงอก เมื่อกล้าไม้มีขนาดความสูงประมาณ 30 ซม. ก็ย้ายกล้าไปปลูกบริเวณที่ต้องการได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ เช่น ใบ เปลือกต้น ราก และผลของสนทะเล ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น afzelin, betulin, quercitrin, catechin, gallic acid, gentisic acid, glutinol, hyperoside, amyrin, kaempferol, leucine, lupenone, taraxerol,trifolin, gallicin, nictoflorin, quinic acid, germanicol,rutin, stigmasterol, hydroquinone, tannin, acetate, tryptophan และ lupeol เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าในน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกต้นของสนทะเล ยังพบสารออกฤทธิ์หลายชนิดดังนี้ Methyl salicylate, a-Zingiberene, (E)-Anethole, b-Bisabolene, b-sesquiphellandrene, ar-Curcumene, a-Isocomene, Nonanal, g-Himachalene, b-Santalene, b-Acoradiene, Borneol, a-Humulene, b-Elemene, 1,8-Cineole, Bornyl acetate, Linalool, Sesquisabinene, b-Chamigrene, (E)- g-Bisabolene

โครงสร้างสนทะเล

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสนทะเล

มีรายงานผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารสกัดสนทะเล จากส่วนต่างๆ ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น

           ฤทธิ์ยับยั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่มีรายงานผลการศึกษาทางเคมีเพื่อแยกองค์ประกอบที่เป็นสารสำคัญในรากสนทะเล (Casuarina equisetifolia) พบว่ามีสารในกลุ่ม cyclic diarylheptanoids จำนวน 10 ชนิด และเมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์ influenza A/WSN/33 (H1N1) พบว่า สาร (-)-(M)-11-Oxo-3,12R,17-trihydroxy-9-ene-[7,0]-metacyclophane มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ดี โดยมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 8.64 ไมโครโมลาร์ และการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ Madin-Darby canine kidney (MDCK) พบว่ามีค่าความเข้มข้นที่ทำให้เซลล์ตายครึ่งหนึ่ง (cytotoxic concentration; CC50) มากกว่า 100 ไมโครโมลาร์ อย่างไรก็ตาม สารดังกล่าวยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาต้านไวรัสมาตรฐาน ribavirin ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 2.22 ไมโครโมลาร์ ยังมีการศึกษาทดลองใช้สารสกัดจากส่วนเหนือดินของสนทะเล กับหนูถีบจักร พบว่า ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูถีบจักรได้  ส่วนสารสกัดจากแก่นสนทะเลมีรายงานว่ามีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านไวรัส ต้านเชื้อรา และยังมีรายงานระบุว่าสารสกัดจากรากของสนทะเล มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารต้านอนุมูลอิสระ และแบคทีเรียในหลอดทดลอง ส่วนสารสกัดจากเปลือกต้นสนทะเลมีฤทธิ์ต้านแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันเบาหวาน ลดไขมันในเลือด ป้องกันกล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง ต้านอาการท้องร่วง และปกป้องตับ มีรายงานว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบของสนทะเล มีฤทธิ์ต้านจุลชีพที่มีนัยสำคัญโดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งขั้นต่ำเท่ากับ 39-625 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร อีกด้วย

 


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสนทะเล

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาศาสตร์ของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของสนทะเลระบุว่า สารสกัดจากส่วนเหนือดินของสนทะเลด้วย 50% เอทานอล เมื่อนำมาฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่า ค่า LD50 มีค่าเท่ากับ 1 กรัมต่อกิโลกรัม เพื่อยืนยันความปลอดภัยทางชีวภาพของปริมาณ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของน้ำมันหอมระเหย จากเปลือกต้นสนทะเล โดยได้ทำการทดสอบความเป็นพิษ ของสารสกัดปริมาณทดสอบ 500, 1000, 1500 และ 2000 มก./น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) พบว่าไม่แสดงความเป็นพิษ และมีความปลอดภัยสูง โดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ น้ำหนักรวมถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และน้ำ กิจกรรมของการเคลื่อนไหว อีกทั้งยังไม่มีการตายของสัตว์ทดลองใน 14 วัน

 


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้สนทะเลเป็นยาสมุนไพรโดยเฉพาะ ในรูปแบบของการรับประทาน เนื่องจากส่วนของเปลือกต้นมีสรรพคุณ ขับประจำเดือน และบีบมดลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับบุคคลสุขภาพดี ก็ควรใช้ส่วนต่างๆ ของสนทะเล อย่างระมัดระวัง เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณ ที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง สนทะเล
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “สนทะเล”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 742-743.
  2. สนทะเล.พรรณไม้อุทยานหลวงราชพฤกษ์. หน้า 153
  3. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “สนทะเล”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 153-154.
  4. ฤทธิ์ยับยั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสาระสำคัญในรากสนทะเล. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. Al-Snafi AE. The pharmacological importance of Casuarina equisetifolia-an overview. Int J Pharmacol Screen. 2015;5(1):4-9.
  6. Rao OU, Eswaraiah MC. Single dose oral toxicity of ethanolic extract from infloresecense of Casuarina equisetifolia in Wistar rats. J. Drug deliv Ther. 2018;8(6):44-47
  7. Boland, D. J.; Brooker, M. I. H.; Chippendale, G. M.; McDonald, M. W. (2006). Forest trees of Australia (5th ed.). Collingwood, Vic.: CSIRO Publishing. p. 82.
  8. Essien EE, Newby JM, Walker TM, Ogunwande I, Setzer WN, Ekundayo O. Essential oil constituents anticancer and antimicrobial activity of Ficus mucosa and Casuarina equisetifolia leaves. Am J Essent Oils Nat Prod. 2016;4(1):01- 06.
  9. Vaidya SK, Colwala DK, Shrimanker MV, Patel DS, Sahoo S. Antioxidant and anti-arthritic potential of Casuarian equisetifolia fruit methanolic extract. Eur J Med Plants. 2020;31(1):42-53.