ส้มลม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ส้มลม งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ส้มลม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เครือส้มลม (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aganonerion polymorphum Pierre ex spire
วงศ์ APOCYNACEAE
ถิ่นกำเนิดส้มลม
ส้มลม จัดเป็นไม้เถาที่เป็นพืชพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคอินโดจีน ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งมักจะพบตามป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง และตามชายป่าต่างๆ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป สามารถพบได้ทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ประโยชน์และสรรพคุณส้มลม
- แก้ลม
- แก้ช้ำใน
- แก้ไข้
- ช่วยขับเสมหะ
- ช่วยขับโลหิต
- แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้โรคกระเพาะ
- ช่วยขับลม
- แก้ท้องอืดเป็นยาระบาย
- แก้ตกขาวในสตรี
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้โรคม้ามโต
- แก้จุดเสียด ท้องอืด ท้องเพ้อ
- แก้ลมวิงเวียน
- แก้อาการคันตามร่างกาย
ส้มลม ถูกนำมาใช้เป็นอาหารตั้งแต่ในอดีตแล้วโดย ผลมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเล่นได้ส่วนยอดอ่อน ใบอ่อน ใบแก่ มีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ลาบ ป่นปลา ก้อย แทนใบมะขาม ใบการประกอบอาหารประเภท ทำต้มส้มต่างๆ เช่น ต้มกบ ต้มปลา ต้มไก่ เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้ช่วยขับลม แก้โรคกระเพาะ แก้จุดเสียด ท้องอืด ท้องเพ้อ ขับปัสสาวะ แก้โรคม้ามโต แก้ตกขาวในสตรี แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง แก้ช้ำใน แก้ไข้ แก้ลม ขับเสมหะ และโลหิต โดยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้กษัย โดยนำรากส้มลมกับต้นเล็บแมว ต้มกำแพงเจ็ดชั้น ต้นตับเต่าโคก ต้นมะเดื่ออุทุมพร ต้นมะดูก ต้นกำจาย ต้นกล้าน้อย หรือ ต้นเปล่าใหญ่ และต้นกระเจี๊ยบมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ลมวิเวียน คลื่นเหียนอาเจียน หน้ามืดตาลาย แก้กระหายน้ำ โดยนำลำต้นของส้มลมมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ใบสดมาเคี้ยวกลืนน้ำ
- ใช้แก้ท้องอืด เป็นยาระบายโดยนำส่วนของยอดอ่อนส้มลม ต้มน้ำดื่ม
- ใช้แก้อาการคันตามร่างกาย โดยใช้ได้ทั้งต้นนำมาต้มแล้วเอาน้ำมาอาบ
ลักษณะทั่วไปของส้มลม
ส้มลม จัดเป็นไม้เถา เลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นๆ แต่ไม่มีมือเกาะ ลำต้นมีสีเขียวขนาดเล็ก และเรียบกลม มีน้ำยางเหนียวสีขาว กิ่งอ่อนมีขนละเอียด ส่วนกิ่งแก่มีช่องอากาศกระจายอยู่ทั่วไปใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือ รูปใบหอก โคนใบมนเว้าเข้าหากัน ปลายใบแหลม เป็นติ่ง หรือ อาจจะกลม ขอบใบเรียบ มีขนาดกว้าง 2-5 เซนติเมตร และยาว 4-9 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียวเข้ม และมักมีปื้น หรือ จุดสีแดงกระจาย ค่อนข้างบางเรียบ เป็นมันมันวาว หรือ หลังใบด้านบน เรียบส่วนท้องใบด้านล่าง มีขน สั้นนุ่มตามซอกเส้นแขนงใบ และจะมีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 3-6 เส้น ส่วนก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5-3.2 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ บริเวณปลายกิ่ง แบบช่อเชิงหลั่น โดยช่อดอกยาว 3-9 เซนติเมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร ทรงกลม ปลายแหลม จำนวนมาก (ประมาณ 20-30 ดอก) ลักษณะกลีบดอกเป็นสีชมพู หรือ สีบานเย็น มี 5 กลีบ ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมเป็นหลอดสีเขียวแกมขาว ปลายแยกกัน บิดเวียนขวา หลอดกลีบยาว 3.5-5 มิลลิเมตร ปากหลอดมีขนสั้นนุ่ม มีก้านดอกยาว 1-3 เซนติเมตร และมีเกสรเพศผู้ยาว 3-4 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ห้อง แยกกัน มีขน รังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ผลออกเป็นฝักคู่ ส่วนโคนฝักติดกัน ฝักมีลักษณะกลม ผิวเกลี้ยง ปลายแหลม ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ฝักสดเป็นสีเขียว เมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และแตกออกตามยาวเป็นตะเข็บ ด้านในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะเมล็ดเป็นสีน้ำตาล เรียวยาว ประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนกระจุกเป็นปุยสีขาวยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์ส้มลม
ส้มลมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด สำหรับขยายพันธุ์ของส้มลม ส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ กล่าว คือ เมล็ดของส้มลมที่แตกออกจะปลิวตกไปในสถานที่ต่างๆ แล้วตกลงสู่พื้นดิน จนเจริญเติบโตเป็นเถาใหม่ต่อไป แต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีการนำเมล็ดส้มลมมาเพาะเป็นเถาชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี จากส่วนต่างๆ ของส้มลม ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์หลายชนิดอาทิเช่น β-carotene, citric acid, tartaric acid, malic acid, oxalic acid, tocopherol, riboflavin และ ascorbic acid เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของส้มลม
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ส้มลม ระบุว่า ส้มลมสดมีปริมาณวิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินอีในช่วง 1360.0.89.0.16-0.01, 0.84-0.16 µg/dm และ 1.01-0.31mg/100g ตามลำดับ และเมื่อนำส้มลมไปต้มพบว่าปริมาณวิตามินซีน้อยลง แต่ไม่พบวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินอี ส่วนวิตามินเอ ไม่พบทั้งในส้มลมสด และส้มลมต้ม นอกจากนี้ยังพบกรดออกซาลิก กรดแอซิติก กรดซิตริก กรอมาลิก และกรดทาร์ทาริกอยู่ในช่วง 424.67-234.00, 0.93-0.00,0.22-0.00, 0.95-0.00 และ 4.74-0.00 g/100 g ตามลำดับ ส่วนปริมาณธาตุ Na, P, S, K, Ca, Mg, Fe, Mn, Zn และ Cu พบอยู่ในช่วง 460-0.00 mg/100 g ปริมาณ และสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดพบอยู่ในช่วง 32.6667-1.5000 ppm และมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระโดยมี DPPH assay มีค่า IC50 161.9620-2634.0910 ppm อีกทั้งยังมีการศึกษาสารต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมดในดอกไม้กินได้จำนวน 15 ชนิด ได้แก่ ดอกแค (Sesbania grandiflora (L.) Desv.), ดอกผักพาย (Limnocharis flava Buch.), ดอกกระเจียวแดง (Curcuma sessilis Gage.), ดอกกระเจียวขาว (Curcuma parviflora Wall.), ดอกแคนา (Dolichandrone serrulata (DC.) Seem.), ดอกขจร (Telosma minor Craib.), ดอกเสาวรส (Passiflora laurifolia L.), ดอกฟักทอง (Cucurbita moschata Decne.), ดอกข่า (Alpinia galanga (L.) Willd.), ดอกชมจันทร์ (Ipomoea alba L.), ดอกผักโขม (Amaranthus lividus L.), ดอกบวบ (Luffa acutangula (Linn.) Roxb.), ดอกมะรุม (Moringa oleifera Lam.), ดอกผักคออ่อน (Crassocephalum crepidioides (benth.) S. Moore.) และดอกส้มลม (Aganonerion polymorphum Pierre ex Spire.) จากการศึกษาพบว่าดอกกระเจียวแดงมีความสามารถในการยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH สูงที่สุดถึง 93.30 % ในขณะที่ดอกส้มลมมีปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมดสูงที่สุด คือ 16.83 mg GAE/100 g FW)
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยอื่นๆ ระบุว่า สารสกัดส้มลม มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดนิ่วในไต แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ปวด และอักเสบของกล้ามเนื้อ และมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของส้มลม
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ส้มลม เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ส้มลม
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “ส้มลม”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 173.
- สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. พรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2544 หน้า 47
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ส้มลม (Som Lom)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 284.
- เย็นหทัย แน่นหนา, ประโยชน์ของภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องสมุนไพรส้มลมในเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด. วารสารก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์ ปีที่14.ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2557.หน้า 213-227
- พัชรี สิริตระกูลศักดิ์, ประสิทธิ์ ชุติชูเดช, เบ็ญจวรรณ ชุติชูเดช, มาระตรี เปลี่ยนศิริชัย, และ เกรียงศักดิ์ บุญเที่ยง, “กิจกรรมสารต้านอนุมูลอิสระของดอกไม้กินได้ 15 ชนิด ในจังหวัดมหาสารคาม,” แก่นเกษตร, vol. 41, pp. 607–611
- เย็นหทัย แน่นหนา.(2555).การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของส้มลม. ก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์, 12(1):69-84.
- ส้มลม. ฐานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=112