หางนกยูงไทย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หางนกยูงไทย งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หางนกยูงไทย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ชมพอ, ซำพอ, ส้มผ่อ, จำพอ, พญาไม้ผุ (ภาคเหนือ), หางนกยูง (ภาคกลาง), ขวางยอย (ภาคอีสาน), หนวดแมว (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia pulcherrima (L.)SW.
ชื่อสามัญ Peacock’s crest, Barbados pride, Flower fence, Dwarf poinciana
วงศ์ LEGUMINOSAE - CAESALPINIOIDEAE


ถิ่นกำเนิดหางนกยูงไทย

หางนกยูงไทย มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ หรือ อาจเรียกว่าแถบอเมริกาเขตร้อน เช่น กัวเตมาลา, เม็กซิโก, นิการากัว, เวเนซุเอลา, โคลัมเบีย, บราซิล และเอกวาคอร์ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบหางนกยูงไทย ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบตามสองข้างทางสวนสาธารณะต่างๆ หรือ ตามวัดวาอาราม เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณหางนกยูงไทย

  1. ใช้เป็นยาแก้วัณโรค
  2. ใช้ขับประจำเดือนในสตรี
  3. ใช้เป็นยาแก้บวมน้ำ
  4. แก้ใช้ปวดบวม
  5. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
  6. ใช้บรรเทาอาการปวดฟัน
  7. ใช้รักษาอาการท้องร่วง
  8. แก้ท้องเสีย
  9. แก้โรคบิด

           มีการนำหางนกยูงไทยมาใช้ประโยชน์หลายประการ เช่น ในอดีตตามชนบทมีการนำเนื้อจากเมล็ดในฝักของหางนกยูงไทย สามารถมารับประทานเล่น โดยแกะเอาเปลือกกับเมล็ดทิ้งแล้วนำเนื้อในเมล็ดมารับประทาน ซึ่งจะมีรสหวานมันเล็กน้อย ส่วนของดอกมีสีสันสวยงามจึงมีการนำมาใช้บูชาพระ ส่วนของใบมีการนำมาวางเพื่อป้องกันแมลงหวี่ โดยอาจนำมาวางตามห้อง หรือ ใกล้ตัว หรือ อาจจะใช้ใบแห้งจุดไฟให้มีควันก็สามารถไล่แมลงหวี่ได้เช่นกัน ส่วนในปัจจุบันพบว่ามีการนำหางนกยูงไทยมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะสองข้างทาง หรือ ตามสถานที่ราชการต่างๆ เนื่องจากหางนกยูงไทย มีดอกที่มีสีสันสวยงามปลูกง่าย และมีความทนทานต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ดี มีร่มเงา และปลูกได้ดีในดินทุกชนิด

หางนกยูงไทย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้วัณโรค ขับประจำเดือนในสตรี ใช้แก้บวมน้ำ ปวดบวม โดยนำรากหางนกยูงไทยมาต้ม หรือ ฝนกินกับน้ำ
  • ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ โดยนำเมล็ดแห้งหางนกยูงไทย มาทุบให้แตกต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ท้องร่วง ท้องเสีย แก้บิด โดยนำเนื้อไม้ต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดฟัน โดยนำดอกมาต้มกับน้ำใช้อมกลั้วปาก


ลักษณะทั่วไปของหางนกยูงไทย

หางนกยูงไทย จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็กมีความสูงของต้นประมาณ 1-2.5 เมตร เรือนยอดโปร่งเป็นทรงพุ่มกลม ลำต้นขนาดเล็กเปลือกต้นสีน้ำตาลมีหนาม หรือ อาจไม่มีก็ได้ แตกกิ่งก้านสาขามาก โดยกิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งแก่เป็นสีน้ำตาลเข้ม

           ใบหางนกยูงไทย เป็นใบประกอบลักษณะเป็นแผงๆ แบบขนนก 2 ชั้น โดยจะออกแบบเรียงสลับ ส่วนใบย่อยมักจะมี 6-12 คู่ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปไข่กลับ มีขนาดกว้าง 0.5-1.70 เซนติเมตร ยาว 1-2.5 เซนติเมตร โคนใบมนเบี้ยว ปลายใบมน ขอบใบเรียบ ผิวด้านหลังใบมีสีเขียว และจะเข้มกว่าด้านท้องใบ

           ดอกหางนกยูงไทย เป็นช่อ บริเวณซอกใบ ปลายกิ่งหรือปลายยอด โดยใน 1 ช่อดอก จะยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และจะมีดอกย่อยจำนวนมาก โดยดอกย่อยจะมีกลีบดอก 5 กลีบ มีหลายสีแยกไปตามสายพันธุ์ เช่น สีส้ม สีแดงสีแดงประขาว สีชมพู ขอบกลีบดอกมีสีเหลือง และมีขนาดไม่เท่ากัน หรือ ยับย่นเป็นเส้นลอน มีเกสรเป็นเส้นงอนอยู่กลางดอก ยาวโผล่พันเหนือดอก และมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เป็นเส้นยาว เกสรเพศเมีย 1 อัน มีรังไข่เหนือฐานรองดอก โดยก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นสีแดงสดเหมือนก้านชูกับเรณู ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร

           ผลหางนกยูงไทย เป็นแบบฝักมีลักษณะแบน คล้ายฝักกิ่งถั่วแปบ โดยฝักมีขนาดกว้าง 1.5-2 เซนติเมตร และยาว 10-12 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อฝักแก่แล้วจะมีสีน้ำตาลดำ และจะแตกออก ภายในฝักมีเมล็ดลักษณะกลมแข็งสีดำ 8-10 เมล็ด

หางนกยูงไทย
หางนกยูงไทย

การขยายพันธุ์หางนกยูงไทย

หางนกยูงไทย สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การใช้เมล็ด และการตอนกิ่งเป็นต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การตอนกิ่ง เนื่องจากต้นไม้จะโตเร็ว และง่ายต่อการขยายพันธุ์ ส่วนวิธีการตอนกิ่งหางนกยูงไทย และการปลูก สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่ง และการปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากส่วนของดอกหางนกยูงไทย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์หลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากส่วนลำต้นพบสารอนุพันธ์ของสารกลุ่มไดเทอร์พีน ชนิดคาสเซน (cassane) เช่น pulcherrin A-C, neocaesalpin P,Q,R สารสกัดจากส่วนรากพบอนุพันธ์ของสารกลุ่มไดเทอร์พีน ชนิดคาสเซน เช่น pulcherrimin A-D, Neocae salpin E,F,G,7-keto-isovouacapenol C, Bondueellin, Isobonducellin, Dihydeobonducellin, 2’-Methoxydihydrobonducellin, (E)-7-methoxy-3-(4’-methoxybenzyidene) chroman-4-one และ (E)-7-hydroxy-3-(3’,4’,5’-trimethoxybenzylidene)chroman-4-one isobon ducellin) ส่วนสารสกัดจากใบพบสาร CaffeicAcid, Scopoletin, Quinic acid, Gallic acid, Quercetin 3-O-rhamnoside, Ellagic acid, p-coumaric acid, 4-Hydroxybenzoic acid, Quercetolglucoside, Quercitrin, Rosmarinic acid, Quercetin นอกสารนี้น้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้ยังพบสาร E-Thujone, α-Fenchol, E-Pinocarveol, E-Verbenol, α-Terpineol, Myrtenol, Verbenone,Eugenol, Germacrene-D, α-Muurolene, γ-Cadinene, α-Pinene, β-Pinene, Myrcene, Limonene, α-Copaene, E-Caryophyllene, Spathulenol, Caryophyllene Oxide, Globulol และ Viridiflorol เป็นต้น

โครงสร้างหางนกยูงไทย

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหางนกยูงไทย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดหางนกยูงไทย จากส่วนต่างๆ ของหางนกยูงไทยระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ลดไข้ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทดลองในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีไข้สูงด้วยยีสต์ พบว่าเมื่อให้กินสารสกัดเอทานอล คลอโรฟอร์ม และปิโตเลียมอีเธอร์โดยวิธีการชง จากใบหางนกยูงไทย (Caesalpinia pulcherrima (L.) SW.) มีผลทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ซึ่งสารสกัดเอทานอลมีฤทธิ์แรงกว่าสารสกัดคลอโรฟอร์ม และปิโตเลียมอีเธอร์ ที่ขนาด 199 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดวัณโรค มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าเมื่อนำสารสกัดของหางนกยูงไทยด้วยไดคลอโรมีเทน มาแยกจนได้สารออกฤทธิ์ คือ furanoditerpenoid, 6beta-benzoyl-7beta-hydroxyvouacapen-5alpha-ol และ 6beta -cinnamoyl-7beta-hydroxyvouacapen-5alpha-ol มาทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ที่เป็นสาเหตุของการเกิดวัณโรค พบว่าสารออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อได้ดี โดยความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 6.25 มคก./มล. ส่วนสารออกฤทธิ์ต่ำ แต่อย่างไรก็ตามสารทั้งสองก็ให้ผลในการยับยั้งต่ำกว่ายารักษาวัณโรค isoniazide และ kanamycin sulfate ซึ่งมีค่า MIC เท่ากับ 0.040-0.090 มคก./มล. และ 2.0-5.0 มคก./มล. ตามลำดับ

           ยังมีรายงานว่าสารสกัดน้ำ และเมทานอลจากใบส่วนยอดของหางนกยูงไทย มีฤทธิ์ในการด้านการเจริญของแบคทีเรียทั้งในกลุ่มแกรมบวก เช่น Staphylococcus epidermidis, Bacillus subtillis และกลุ่มแกรมลบ เช่น Pseudomonas pseudoalcaligenes, Proteus vulgaris และ Salmonella typhimurium อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสารสกัดจากต้นหางนกยูงไทย ด้วยตัวทำละลายเมทานอล มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราโดยเฉพาะเชื้อ A.flavus ที่ความเข้มข้น 500 µg/disc โดยมีค่าเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับ 10 มิลลิเมตร เปรียบเทียบกับยา Amphotericin B ความเข้มข้น 100 unite/disc

           อีกรายงานหนึ่งระบุว่าสารสกัดน้ำตากส่วนดอกและต้นของหางนกยูงไทย สามารถมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส herpes simpiex virus (HSV1) ได้โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 166.8 และ 202.8 ตามลำดับ ส่วนสำหรับสาร quercetin ที่สกัดได้จากส่วน ผล เมล็ด ลำต้น ใบ และดอก ของหางนกยูงไทยพบว่าสามารถยับยั้ง adenoviruses (ADV8) ได้โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 41.2 มิลลิกรัมต่อลิตร, 61.8 มิลลิกรัมต่อลิตร, 177.9 มิลลิกรัมต่อลิตรตามลำดับ

           นอกจากนี้ยังมีรายงานฤทธิ์ทางชีวภาพอื่นๆ เช่น ส่วนของเนื้อไม้พบว่าแสดงความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระส่วนของรากแสดงฤทธิ์ด้านวัณโรค ในส่วนของกิ่ง ส่วนเหนือดิน แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และฤทธิ์ต้านการอักเสบ เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหางนกยูงไทย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้หางนกยูงไทยเป็นยาสมุนไพร เนื่องจากส่วนของรากมีสรรพคุณขับประจำเดือนในสตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับบุคคลอื่นๆ ก็ควรระมัดระวังในการใช้หางนกยูงไทย เป็นยาสมุนไพร เช่นเดียวกับสมุนไพรเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง หางนกยูงไทย
  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช 2540. เภสัชกรรมไทยรวมสมุนไพร. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร. กรุงเทพฯพิมพ์ครั้งที่ 2
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “หางนกยูงไทย (Hang Nokyoong Thai)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 333.
  3. บุณยะประภัศร, นันทวัน และโชคชัยเจริญพร, อรนุช สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (2) บริษัทประชาชน จำกัด พิมพ์ครั้งที่ 1. 2542 หน้า 559-562.
  4. กาญจนา โมธินา, ณฐินี สุวรรณสิงห์, เปรมณัช ขุนปักษี, การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากต้นหางนกยูงไทยต่อเชื้อราก่อโรค.รายงานการวิจัย. 67 หน้า
  5. ฉัตรชนก กะราลัย และคณะ. องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ต้านการอักเสบ จากรากผักปู่ย่า และหางนกยูงไทย และประยงค์. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. กรกฎาคม 2555. 86 หน้า
  6. ฤทธิ์ลดไข้จากใบหางนกยูงไทย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดวัณโรคของหางนกยูงไทย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. Parekh J, Sumitra V, Chanda S.2005. Preliminary screening of some folklore medicinal plants from western India for potential antimicrobial activity. Indian Journal Pharmacol  37:408-409.
  9. Ragasa, C.Y., Hofilena, J.G., Rideout, J.A. 2002. New furanoid diterpenes from Caesalpinia pulcherrima. J. Nat. Prod. 65, 1107-1110.
  10. Srinivas KVNS. Koteswara RY, Mahender l, Biswanath D.2003. Flavanoids from Caesalpinia pulcherrima. Phytochemistry 63:789-793.
  11. Pranithanchai, W., Karalai, C., Ponglimanont, C., Subhadhirasakul, S., Chantrapromma, K. 2009. Cassane diterpenoids from the stem of Caesalpinia pulcherrima. Phytochemistry 70, 300- 304.
  12. Roach, J.S., McLean, S., Reynolds, W.F., Tinto, W.F. 2003. Cassane diterpenoids of Caesalpinia pulcherrima. J. Nat. Prod. 66, 1378-1381.
  13. Parekh J and Chands S.2008. In vitro Antimicrobial Activity of methanol extracts of some Indian medicinal plants against pathogenic yeast and moulds. African Joumal of Biotechnology 23:4349-4353
  14. Maheswara M, Siddaiah V. Rao CV.2006. “Two New Homoisoflavonoids from Caesalpinia pulcherrima” Chemical & Pharmaceutical Bullentin 54(8):1193-1195.
  15. Chiang LC, Chiang W, Liu MC, Lin CC.2003. In vitro antiviral activities of Caesalpinia pulcherrima and its related flavonoids. Journal of Antimicrobial Chemotherapy 52(2):194-198.