มะหาด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลวิจัย

มะหาด งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะหาด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หาดขนุน, ปวกหาด (ภาคเหนือ), หาด (ทั่วไป), ฮัด (ภาคตะวันตก), มะหาดใบใหญ่ (ตรัง), กาอย, ตาแป, ตาแปง (นราธิวาส, มลายู), เซยาสู้ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus lakoocha  Roxb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artocarpus lakoocha Roxb., Artocarpus lacucha Buch.-Ham. 
ชื่อสามัญ Monkeyjack, lakoocha, Monkey Fruit
วงศ์ MORACEAE

ถิ่นกำเนิดมะหาด

มะหาดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา และ บังคลาเทศ แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย เป็นต้น โดยทั่วไปแล้ว มักพบมะหาด ขึ้นทั่วไปในที่กึ่งโล่งแจ้งตามป่าดงดิบ ปาเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าหินปูน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,800 เมตร สำหรับในประเทศไทยมักพบมะหาดมาก ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ของประเทศไทย


ประโยชน์และสรรพคุณมะหาด
 

  1. เป็นยาขับพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือน
  2. ทาแก้ผื่นคัน
  3. แก้ท้องอืดเฟ้อ
  4. แก้กษัย
  5. แก้เส้นเอ็นพิการ
  6. แก้เบื่ออาหาร  
  7. ช่วยขับลม
  8. ช่วยขับโลหิต ละลายเลือด
  9. ขับปัสสาวะ
  10. แก้ไข้ต่างๆ
  11. แก้น้ำเหลืองเสีย
  12. แก้ประดงทุกชนิด
  13. แก้หอบหืด
  14. แก้เสมหะ
  15. แก้ตานขโมย
  16. ขับพิษร้อนใน
  17. ช่วยขับพยาธิ
  18. ทารักษาสิว
  19. ช่วยระบาย
  20. แก้ไข้
  21. แก้ผื่นคัน

           ในประเทศไทยผลสุกของมะหาด สามารถนำมารับประทานสด จะมีรสหวานอมเปรี้ยวส่วนเปลือกต้นมะหาดมีรสฝาด สามารถนำมาเคี้ยวกับหมากแทนสีเสียด ใยจากเปลือกต้นมะหาด มีความเหนียวสามารถนำมาใช้ทำเชือกได้ รากมะหาด สามารถนำมาสกัดเป็นสีสำหรับย้อมผ้า โดยจะให้สีเหลือง สำหรับเนื้อไม้มะหาดเป็นสีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน เสี้ยนสน เนื้อไม้หยาบ แข็ง มีความเหนียวและทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเสา สร้างบ้าน หรือ ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ได้และในปัจจุบันมีการนำสารสกัดมะหาดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ หรือ “ครีมมะหาด“,“โลชั่นมะหาด“,“เซรั่มมะหาด” เนื่องจากสารสกัดจากแก่นมะหาดนั้นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานิน จึงทำให้ผิวขาวขึ้นได้ 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ผงมะหาด เตรียมได้โดยการเอา แก่นมะหาดมาต้มเคี่ยวด้วยน้ำไปนานจนเกิดฟองขึ้น แล้วช้อนฟองขึ้นมาตากแห้ง จะได้ผงสีเหลือง นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ขนาดรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา (ประมาณ 3-5 กรัม) รับประทานกับน้ำสุกเย็น ก่อนอาหารเช้า หลังจากรับประทานยาปวกหาดแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ให้รับประทานดีเกลือ หรือ ยาถ่ายตาม เพื่อระบายท้อง จะช่วยให้ถ่ายพยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือนออกหมด สำหรับเด็กให้ใช้ในขนาดครึ่งหนึ่ง หรือ จะใช้ผงมะหาด 1 ช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ รับประทานครั้งเดียว อีก 2 ชั่วโมง ต่อมาให้รับประทานยาถ่ายตาม (ในผู้ใหญ่) สำหรับเด็ก ใช้ยาครึ่งช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ รับประทานครั้งเดียว อีก 2 ชั่วโมง ต่อมาจึงรบประทานยาถ่ายตามก็ได้

           เปลือกต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ ช่วยขับพยาธิ หรือ จะใช้รากสด หรือ แห้ง นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนในก็ได้ เช่นกัน ผงปวกหาด ใช้ละลายน้ำทาแก้ผื่นคันต่างๆ หรือ จะใช้แก่นมะหาด ต้มกับน้ำแล้วใช้ดื่ม แก้กษัย, เส้นเอ็นพิการ ขับโลหิต ขับปัสสาวะ แก้ประคบทุกชนิด


ลักษณะทั่วไปของมะหาด

มะหาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่ผิวจะหยาบ และแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลออกแดงหนาแน่น มีน้ำยางสีขาว ใบ เป็นเดี่ยวเรียงแบบสลับระนาบเดียว รูปไข่ หรือ รูปขอบขนานขนาด 25-30×15-20 ซม. ปลายใบมน ฐานใบมนหรือแหลมกว้าง อาจเบี้ยวไม่สมมาตร ขอบใบเรียบ หรือ มีซี่จักเล็กน้อย ใบแก่สีเขียวเข้ม เหนียวคล้ายหนัง ด้านบนมีขนหยาบเล็กน้อย ด้านล่างสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย เส้นใบข้าง 8-20 คู่ จรดกันที่ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนที่ด้านท้องใบ ก้านใบยาว 1.4-3.3 ซม. มีขนแข็งสีเหลืองหนาแน่น มีหูใบเล็กบาง ขนาด 4-5 ซม. รูปหอกซึ่งหลุดร่วงเร็ว และมีขนปกคลุมหนาแน่น กิ่งก้านค่อนข้างอ่อน อ้วน หนา 3-6 มิลลิเมตร ไม่มีรอยแผลวงแหวน ดอก ออกป็นช่อกลมแน่นสีเหลืองหม่นถึงชมพูอ่อนแบบช่อกระจุก ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกตัวผู้กลม ช่อยาว 0.8-2 ซม. ออกเป็นช่อเดี่ยวที่ซอก หรือ ช่วงล่างของกิ่งก้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมี 2 พู ลึก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกตัวเมียรูปไข่ หรือ รูปขอบขนาน มีสีเหลืองอ่อน ออกตามกลีบช่วงบน กว้าง 0.8-1.2 เซนติเมตร ยาว 1.2-2.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ก้านช่อยาว 2.5-3.5 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ผล เป็นผลรวมรูปร่างบิดเบี้ยว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-8 ซม. ก้านผลยาว 1.2-3.8 ซม. สีเหลืองอ่อน หรือ ส้ม ผลแก่สีเหลืองปนน้ำตาล รูปร่างบิดเบี้ยวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผิวนอกมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เนื้อในสีเหลืองเข้มถึงสีชมพู เมล็ดเป็นรูปขอบขนาน หรือ เกือบกลม สีน้ำตาลเทา มีจำนวนมากโดยมี ขนาด 1.2 ซม.

มะหาด

มะหาด 

การขยายพันธุ์มะหาด

มะหาด สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด โดยการเพาะเมล็ดและการปลูกก็เหมือนกับการเพาะเมล็ดพืช และปลูกชนิดอื่นๆ ทั่วไป เพียงแต่ก่อนปลูกต้องตากดิน 1-2 สัปดาห์ และใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนปลูก แล้วรดน้ำทุกวันจนกว่าต้นกล้าจะตั้งตัวได้ และควรปักหลักไม้ให้ยึดกับลำต้นของต้นกล้ารวมถึงควรทำที่บังแดดด้วย ทั้งนี้มะหาดจะใช้เวลาเจริญเติบโตและพร้อมที่จะให้ผลเมื่อมีอายุ 5 ปีขึ้นไป

องค์ประกอบทางเคมี

แก่นมะหาด พบสารสำคัญกลุ่มสติลบินอยด์ ได้แก่ resveratrol, 2,4,3',5'-tetrahydroxystilbene (oxyresveratrol), สารฟลาโวนอยด์ ได้แก่ artocarpin, norartocarpin, cycloartocarpin, norcycloartocarpin เปลือกราก พบฟลาโวนอยด์ เช่น 5,7-dihydroxyflavone-3-O-alpha-L-rhamnoside, galangin-3-O-alpha-L- rhamnoside, kaempferol-3-O-beta-L-xyloside, quercetin-3-O-alpha-L-rhamnoside, ไตรเทอร์ปีนอยด์ lupeol, ราก พบสติลบินอยด์ ได้แก่ lakoochin A, lakoochin B เปลือกต้น พบไตรเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ beta-amyrin acetate, lupeol acetate ต้น มี 5 - Hydroxy - 2 ,4,7 - trimethoxy flsvone - 2, 3, 4, 5, - Tetrahydroxystibene

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะหาด 

โครงสร้างมะหาด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะหาด

           ฤทธิ์ฆ่าพยาธิ ผงปวกหาดที่ใช้ในการรักษามี 4 รูปแบบ คือ เป็นยาชงละลายน้ำ ยาน้ำ ยาเม็ด และแคปซูล ซึ่งสามารถลดจำนวนไข่ของพยาธิทั้งในคน และสุนัข จากการศึกษาโดยแบ่งผู้ป่วยที่มีพยาธิตืดวัวให้รับประทานยาปวกหาดเปรียบเทียบกับยารักษาพยาธิที่ใช้ทั่วไป พบว่ายาปวกหาดบริสุทธิ์ ขนาด 3 กรัม ครั้งเดียว มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคพยาธิตืดวัวได้ดีเท่ากับยาพราซิควอนเตล ขนาด 300 มิลลิกรัม ครั้งเดียว และดีกว่ายานิโคลซาไมด์  ขนาด 2 กรัม ครั้งเดียว  

           สารสกัดด้วยน้ำจากมะหาด ในขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว สามารถกำจัดพยาธิใบไม้ขนาดเล็กในลำไส้หนูแรท (Stellantchasmus falcatus) ได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากป้อนสารสกัด

           สารสกัดด้วยน้ำของมะหาดที่ความเข้มข้น 0.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถฆ่าพยาธิใบไม้ชนิด Haplorchis taichui ในหลอดทดลองได้หมดในเวลา 12 ชั่วโมง และสารสกัดหยาบด้วยน้ำที่ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวของพยาธิตัวกลมชนิด Seteria labiato papillosa ที่พบในลำไส้วัวควายในหลอดทดลองได้ภายใน 3 ชั่วโมง หลังจากให้สารสกัด และทำให้พยาธิตัวแบนชนิด Fasciola gigantica, Paramphistomum cervi, Eurytrema pancreaticum และ Fishoederius cobboldi เคลื่อนไหวลดลงตามลำดับในเวลา 3-12 ชั่วโมง เมื่อนำพยาธิที่ทดสอบมาตรวจสอบสภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนพบว่า พยาธิตัวกลม Haemonchus placei มีผนังลำตัวแตกเป็นร่องลึก ในขณะที่พยาธิตัวแบนมีผนังลำตัวบวมเป็นกระเปาะ แตก และเกิดการหลุดลอกออก อย่างไรก็ตามสารสกัดมะหาดไม่มีผลต่อพยาธิตัวแบนชนิด Gigantocotyle explanatum, Cotylophoron cotylophorum และ Paramphistomum cervi นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดหยาบของมะหาดที่มี oxyresveratrol ร้อยละ 70 ยังสามารถยับยั้งการเคลื่อนไหว และฆ่าพยาธิตัวแบนชนิด Fasciola gigantica ทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อนได้เช่นเดียวกัน

           ฤทธิ์ต้านเมลานิน จากการทดสอบประสิทธิภาพในการลดเมลานิน ของสารสกัดจากแก่นไม้มะหาด โดยให้อาสาสมัครสตรี 20 คน ใช้สารสกัดจากแก่นไม้มะหาดความเข้มข้นร้อยละ 0.25 (น้ำหนัก/ปริมาตร) ในตัวทำละลายโปรปิลีนไกลคอล ทาต้นแขน 1 ข้าง และข้างที่เหลือทาตัวทำละลายโปรปิลีนไกลคอลเป็นข้างควบคุม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในขณะเดียวกันเปรียบเทียบกับอาสาสมัครอีก 2 กลุ่ม ที่ใช้สารสกัดชะเอมเทศ (licorice) ความแรงร้อยละ 0.25 และ kojic acid ความแรงร้อยละ 3 พบว่าสารสกัดมะหาดมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำให้ผิวขาว ให้ผลเร็วภายหลังการใช้เพียง 4 สัปดาห์ ตามด้วย Kojic acid (6 สัปดาห์) และสารสกัดชะเอมเทศ (10 สัปดาห์) ตามลำดับ เมื่อครบ 12 สัปดาห์พบว่าสารสกัดแก่นไม้มะหาดทำให้ผิวขาวมากสุด และจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหากนำมาเตรียมเป็นอีมัลชั่น อาสาสมัครที่ทาโลชั่นมะหาดความแรงร้อยละ 0.1โดยน้ำหนัก ที่ต้นแขนและแก้ม เป็นเวลา 2 และ 3 สัปดาห์ จะมีผิวขาวขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดมะหาดและ oxyresveratrol ซึ่งเป็นสารหลักในสารสกัดดังกล่าวสามารถยับยั้งเอ็นไซม์ mushroom tyrosinase ในหลอดทดลองได้ โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งฤทธิ์เอ็นไซม์ได้ครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 0.76 และ 0.83 กรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ

           สาร oxyresveratrol จากแก่นมะหาด เมื่อนำมาทำเป็นโลชั่นสารสกัดมะหาด ทาผิว (ความเข้มข้น 1% นน./ปริมาตร) แล้วนำโลชั่นสารสกัดมะหาดดังกล่าวไปทดสอบในอาสาสมัครหญิง อายุ 20 และ 23 ปี ที่มีสุขภาพผิวดี จำนวน 30 คน โดยทาที่แขนท่อนล่างวันละ 1 ครั้ง เปรียบเทียบกับแขนอีกข้างที่ทาโลชั่นที่ไม่มีสารสกัด (lotion base) นาน 6 สัปดาห์ แล้ววัดคะแนนผิวขาวด้วย skin-colors tone band โดยการวัดค่าเม็ดสี (melanin values) เปรียบเทียบก่อนใช้และหลังใช้โลชั่น พบว่าแขนข้างที่ทาโลชั่นมะหาดคะแนนผิวขาวเพิ่มขึ้น 2.84% ในสัปดาห์ที่ 4 และเพิ่มขึ้น 7.64% ในสัปดาห์ที่ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับแขนอีกข้างที่ทาโลชั่นที่ไม่มีสารสกัด จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า โลชั่นสารสกัดมะหาด 1% สามารถลดการสร้างเม็ดสีในอาสาสมัครที่มีสุขภาพผิวดีได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส สารสำคัญของมะหาด คือ oxyresveratrol มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริมได้แก่ HSV-1 และ HSV-2 ที่ผิวหนังของหนูไมซ์ ที่ความเข้มข้น 30 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร นอกจากนี้หากใช้ oxyresveratrol ร่วมกับ acyclovir จะเสริมฤทธิ์กัน ทำให้มีฤทธิ์ยับยั้ง HSV-1 ได้ดีขึ้น ถ้าให้หนูกิน oxyresveratrol 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมงต่อวัน จะช่วยชะลอการเกิดรอยโรคได้ หากทาครีมที่มี oxyresveratrol ร้อยละ 30 บริเวณที่ติดเชื้อวันละ 5 ครั้ง จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันชีวิตหนูได้    

           จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า oxyresveratrol ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในสารสกัดมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส HSV-1 และ HSV-2 และไวรัสเอสด์ (HIV-1/LAI) ได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สาร lakoochin A, lakoochin B จากราก มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรค Mycobacterium tuberculosis โดยมีค่า MIC 12.5 และ 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ


การศึกษาทางพิษวิทยาของมะหาด

การทดสอบความเป็นพิษ การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันโดยให้หนูแรท และหนูเม้าส์กินผงปวกหาด และสารสกัดด้วยอีเทอร์ของเนื้อไม้ต้นมะหาด ตามลำดับ พบว่ามีความเป็นพิษเล็กน้อย (10, 11) เมื่อป้อนสารสกัดด้วยอีเทอร์ของเนื้อไม้ต้นมะหาด ขนาด 40 และ 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสาร oxyresveratrol ขนาด 720 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ร่วมกับแมกเนเซียมซัลเฟต ให้กับหนูขาว และกระต่าย พบว่าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ที่ทำให้เกิดพิษหลังป้อนได้ 3 และ 7 วัน โดยที่ค่า blood urea nitrogen (BUN) ในเลือดเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดด้วยอีเทอร์ และสาร 2, 4, 3', 5' tetrahydroxystilbene แต่จะกลับคืนสู่สภาวะปกติภายใน 7 วัน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
  1. ห้ามรับประทานมะหาด กับน้ำร้อน เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ไซท้อง หรือ เกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรง
  2. ในผู้ใช้ผงปวกหาดบางราย อาจมีอาการแพ้ ผงปวกหาดโดยจะเกิดอาการ เช่น มีผื่นคันขึ้นทั้งตัว หน้าแดง ผิวหนังแดง คัน ตาแดง และมีไข้ ซึ่งอาการจะหายไปภายใน 1-2 วัน
  3. ไม่ควรใช้ผงปวกหาดในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้

 

เอกสารอ้างอิง มะหาด
  1. มะหาด.สมุนไพรที่มีการใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “มะหาด”. หน้า 643-645.
  3. ธนพล อยู่เย็น, ชโลบล วงศ์สวัสดิ์. ผลของมะหาดและรากขี้เหล็กต่อพยาธิใบไม้ขนาดเล็กในลำไส้หนูแรท. J Thai Tradit Altern Med 2008;6(Suppl 2):111.
  4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะหาด”. หน้า 57.
  5. กองวิจัยทางการแพทย์. สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข, 2526.
  6. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “มะหาด (Mahat)”. หน้า 240.
  7. ชโลบล วงศ์สวัสดิ์, พีระวุฒิ วงศ์สวัสดิ์. ผลของพืชสมุนไพรต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวพยาธิพยาธิใบไม้ด้วยเทคนิคจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Effect of anthelminthic plants on the tegumental surface changes of the trematode using scanning electron microscopy). The 31st Congress on Science and Technology of Thailand at Suranaree University of Technology, 18-20 October} Nakhon Ratchasima, 2005.
  8. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “มะหาด”. หน้า 60.
  9. สาร oxyresveratrol จากมะหาด ในการพัฒนาเป็นเครื่องสำอาง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. วีณา ศิลปอาชา. ตำรายากลางบ้าน. กรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเอง, 2529.
  11. มะหาด.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://222.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=187
  12. มะหาด. กลุ่มยาถ่ายพยาธิ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_daia/herbs/herbs_04_5.htm
  13.  Jagtap UB, Bapat VA. Artocarpus: a review of its traditional uses, phytochemistry and pharmacology. J Ethnopharmacology 2010;129:142–66.
  14.   Saowakon N, Chaichanasak P, Wanichanon C, Reutrakul V, Sobhon P. In vitro effect of an aqueous extract of Artocarpus lakoocha on the intestinal parasites in cattle. Planta Med 2010; 76:422.
  15.  Ngamwat W, Permpipat U, Sithisomwong N, et al. Toxicity of Puak-Haad extracts: The extracts from Artocarpus lakoocha  Roxb. wood (Ma-haad). การประชุม PRINCESS CONGRESS I, 10-13 ธันวาคม ณ โรงแรม แชงเกอรีล่า กรุงเทพฯ, 1987. หน้า 80.
  16. Charoenlarp P, Radomyos P, Bunnag D. The optimum dose of Puag-Haad in the treatment of Taeniasia. J Med Assoc Thai 1989;72(2):71-3.
  17.  Nilvises N, Panyathanya R, Wamnutchinda W. Toxicity test of Puag Haad (Artocarpus lakoocha). Bull Dep Med Sci 1985;27(1):49.