รามใหญ่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
รามใหญ่ งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
ชื่อสมุนไพร รามใหญ่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พิลังกาสา (ทั่วไป), ทุลังกาสา (ชุมพร), ลังพิสา (ตราด), จ้ำก้อง (เชียงใหม่), ปือนา (นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ardisia elliptica Thunb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ardisia littoralis Ande.
ชื่อสามัญ Ardsia, Jet berr, Shoebutton ardisia
วงศ์ Myrsinaceae
ถิ่นกำเนิดรามใหญ่
รามใหญ่ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนบริเวณทวีปอเมริกาใต้ แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย เช่น ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และนิวกินี สำหรับในประเทศไทยมักพบมากทางภาคใต้ในบริเวณ ป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ ริมชายฝั่งทะเล หรือ ป่าดิบบนภูเขา ที่มีระดับความสูงไม่เกิน 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ประโยชน์และสรรพคุณรามใหญ่
- แก้ไข้
- แก้ซาง
- แก้ตานขโมย
- แก้ท้องเสีย
- แก้ธาตุพิการ
- แก้โรคหนองใน
- แก้ลมเป็นพิษ
- ช่วยถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษงู
- แก้ไอ
- แก้กามโรค
- แก้ลม
- แก้ตับพิการ
- ช่วยบำรุงธาตุ
- แก้ปอดพิการ
- ช่วยฆ่าเชื้อโรค
- แก้โรคเรื้อน
- ใช้เป็นฆ่าพยาธิผิวหนัง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ไข้ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้ตานซาง แก้ตานขโมย โดยใช้ผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปอดพิการ ตับพิการ บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้ลม โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไอ แก้ท้องเสีย แก้หนองใน แก้กามโรค โดยใช้รากแห้งต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ลมพิษ ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษงู โดยใช้รากมาตำกับสุราคั้นเอาน้ำรับประทานแล้วใช้กากปิดแผลที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย หรือ งูกัด
ลักษณะทั่วไปรามใหญ่
รามใหญ่ จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก โดยทั่วไปจะสูง 1-4 เมตร (แต่ในบางต้นอาจสูงได้ถึง 10 เมตร) ลำต้นตั้งตรงเปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกกิ่งก้านสาขาไปรอบๆ ต้นจำนวนมาก ลักษณะกิ่งก้านกลม สีน้ำตาลอมเทา ส่วนกิ่งอ่อนมีสีน้ำตาลแดง ใบออกหนาแน่นบริเวณยอด และปลายกิ่ง โดยจะออกเป็นใบเดี่ยว แบบเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปใบหอก หรือ รูปรีแกมขอบขนาน ปลายเป็นติ่งแหลม หรือ กลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร สีเขียวเมื่อใบแก่ เนื้อใบหนาเป็นมัน หลังใบ และท้องใบเรียบเกลี้ยง ดอกออกจากซอกใบ และปลายกิ่ง เป็นแบบช่อเชิงลดในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยช่อละ 4-8 ดอก โดยกลีบดอกมีสีขาวแกมชมพู ส่วนก้านดอกย่อยยาว 8-15 มิลลิเมตร เป็นที่โคนเป็นหลอดสั้นๆ ติดกันเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอก ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ผลมีเป็นรูปทรงกลมแป้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ปลายผลมีติ่งแหลมสั้นๆ เนื้อผลนุ่ม ผลอ่อนเป็นสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง และเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำคล้ายสีของมะเกี๋ยง ในผลมีเมล็ดมี 1 เมล็ด ลักษณะกลมแข็ง
การขยายพันธุ์รามใหญ่
รามใหญ่ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง โดยเป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทราย เป็นพืชที่ชอบแสงแดดแบบเต็มวันรวมถึงยังชอบความชื้นปานกลาง สำหรับวิธีการขยายพันธุ์รามใหญ่นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกับการใช้เมล็ด และการตอนกิ่งไม้ยืนต้น หรือ ไม้พุ่มอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของรามใหญ่ พบสาระสำคัญดังนี้ Bauerenol, α-amyrin, β-amyrin, Bergenin, syringic acid, quercetin, stillbene และ Isorhamnetin เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของรามใหญ่
มีผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของรามใหญ่ พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และยีสต์ ฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วง เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของรามใหญ่
มีการศึกษาด้านพิษวิทยา ของรามใหญ่ โดยการทดสอบพิษเฉียบพลันในหนู mice โดยการให้สารสกัดจากผลสุกของพิลังกาสา ในความเข้มข้น10 g/kg ทางปาก และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด
ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่ง โดยมีการทดสอบพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรโดยกรอกสารสกัด จากผลของรามใหญ่สองครั้งๆ ละ 2.5 ก./กก. พบว่าไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ และไม่ทำให้หนูเสียชีวิต ส่วนผลการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังในหนูแรทพันธุ์วิสตาร์ จำนวน 100 ตัว แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 20 ตัว (เพศละ 15 ตัว) โดยกลุ่มควบคุมสองกลุ่มได้รับน้ำกลั่น และสารละลายทรากาคานต์ ส่วนกลุ่มทดลอง 3 กลุ่มได้รับสารสกัดรามใหญ่ ขนาด 20 200 และ 2000 มก./กก./วัน ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 90 วัน พบว่า สารสกัดรามใหญ่ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว สุขภาพ น้ำหนักอวัยวะสัมพัทธ์ และค่าทางเคมีคลินิกแต่อย่างใด และการตรวจค่าทางโลหิตวิทยาพบว่า หนูเพศผู้กลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 200 มก./กก./ วัน มีค่า MCHC สูงกว่ากลุ่มควบคุมด้วยน้ำอย่างมีนัยสำคัญแต่ไม่สัมพันธ์กับขนาดที่ได้รับ และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 2000 มก./กก./วัน มีเซลล์นิวโทรฟิลลดลง แต่เซลล์อิโอสิโนฟิล เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมด้วยน้ำแต่ยังคงอยู่ในช่วงค่าปกติของหนูแรท
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้รามใหญ่ เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ความระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้รามใหญ่เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง รามใหญ่
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “รามใหญ่ (Ram Yai)”. หน้า 264.
- เมธิน ผดุงกิจ, พรพรรณ เหล่าวชิระสุวรรณ, บันลือ สังข์ทอง, สุนันทา สุวันลาสี, สีใส ปาละมี. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ขององค์ประกอบของผลสุกพิลังกาสา. วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคามปีที่ 34. ฉบับที่ 6. หน้า 602-609
- มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาดราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพร. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2514:12:36-65.
- นลินภัสร์ ศักดิ์ติยสุนทร และคณะ. พิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรังของรามใหญ่. เวชชสารสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปีที่ 42 ฉบับที่ 2. มิถุนายน 2555. หน้า 201-207
- พิลังกาสา.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=81
- Phadungkit M, Luanratana, O. Anti- Salmonella activity of constituents of ArdisiaellipticaThunb. Nat Prod Res 2006; 20: 693-696.