ปอสา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ปอสา งานวิจัยและสรรพคุณ 38 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ปอสา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปอกระสา (ภาคอีสาน), สา (ภาคเหนือ), ฉำฉา, ชำสา (ภาคกลาง), ปอฝ้าย (ภาคใต้), หมอพี, หมูพี (ภาคตะวันตก), จูสิก, โกวสู้, ซู่ลือ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Broussonetia papyrifera (L.) L’Her.ExVent
ชื่อสามัญ Paper mulberry
วงศ์ MORACEAE


ถิ่นกำเนิดปอสา

ปอสามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชียบริเวณประเทศจีน และญี่ปุ่น จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตอบอุ่น และเขตร้อนอื่นๆ สำหรับในประเทศไทยมีการแพร่พันธุ์เข้ามาจากพม่าทางภาคเหนือ ปัจจุบันสามารถพบปอสา ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้มากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในป่าที่โปร่งและมีความชื้นสูง ที่อยู่ในระดับความสูง 50-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล


ประโยชน์และสรรพคุณปอสา

  • ใช้ขับปัสสาวะ
  • แก้ร้อนในตับ
  • แก้ร้อนในกระเพาะ
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้ตกเลือด
  • ขับปัสสาวะที่เป็นหนอง
  • แก้หูอื้น
  • แก้ตามัว หรือ ตาไม่สว่าง
  • แก้เลือดกำเดาไหลไม่หยุด
  • แก้พิษ
  • แก้แมลงกัดต่อย
  • ใช้ห้ามเลือด
  • รักษาแผลสด
  • รักษาแผลฟกช้ำ
  • รักษากลากเกลื้อน
  • ใช้บำรุงไต
  • แก้อ่อนเพลีบ
  • บำรุงสายตา
  • บำรุงกระดูก
  • บำรุงตับ
  • แก้ฝีหนองภายใน
  • ใช้แก้ไข้
  • แก้อาเจียน
  • ช่วยขับลม
  • แก้บวมน้ำ
  • แก้บิด บิดมูกเลือด
  • ใช้แก้ไอ
  • แก้ตาต้อ
  • ใช้เป็นยาชูกำลัง
  • บำรุงเส้นเอ็น
  • แก้อาการปวดศีรษะเวียนศีรษะ
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้ท้องผูก
  • แก้ปากขม
  • แก้หลังน้ำอสุจิยามนอนหลับ
  • แก้มีอาการปัสสาวะกะปริกระปรอย
  • แก้กระอักเลือด
  • ใช้รักษาอาการปวดจากตะขาบ งู แมงป่อง และแมลงที่มีพิษกัดต่อย

           ปอสา จัดเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อย่างกว้างขวาง อาทิเช่น ใบ หรือ ยอดอ่อนนำมาหั่นหยาบๆ ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น นำมาหั่นแล้วต้นผสมรำเป็นอาหารหมู หรือ ใช้ใบเป็นอาหารเลี้ยงวัว เลี้ยงปลาก็ได้ ส่วนของเนื้อไม้ใช้ทำสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้เช่น ตะเกียบ และไม้จิ้มฟัน น้ำมันจากเมล็ดใช้สำหรับทำเครื่องเขิน และสบู่ ส่วนของใบสามารถใช้เป็นแหล่งสีธรรมชาติ ในการย้อมผ้า โดยนำใบมาสกัดจะได้สีเหลือง เปลือก ลำต้น สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษชนิดต่างๆ โดยเฉพาะกระดาษสาที่มีคุณสมบัติดี คือ ทนทานไม่กรอบเปื่อยยุ่ย เก็บรักษาได้นาน ซึ่งในอดีตจะนิยมใช้ทำหนังสือ เนื่องจากตัวหนังสือจะไม่ซีดจางอยู่ได้นานกว่าร้อยปี ส่วนในปัจจุบันก็ยังสามารถใช้ทำประโยชน์ได้มากมาย เช่น กระดาษทำร่ม ดอกไม้ประดิษฐ์ โคมไฟ พัด ว่าว และบัตรอวยพรต่างๆ นอกจากนี้แกนของลำต้นที่เหลือจากการลอกเปลือกออกไปแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ทำเยื่อกระดาษ สำหรับอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษได้อีกด้วย

ปอสา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย บำรุงสายตา บำรุงกระดูก บำรุงตับไต บำรุงเส้นเอ็น แก้ฝีหนองภายใน โดยใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการปวดศีรษะเวียนศีรษะ กระหายน้ำ ท้องผูก ปากขม หลังน้ำอสุจิยามนอนหลับ หรือ มีอาการปัสสาวะกะปริกระปรอย ก็ให้ใช้ถั่วดำ ประมาณ 1 ถ้วยชา นำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้แช่กับผลปอกระสา แห้ง จากนั้นนำมาตากให้น้ำถั่วแห้ง ใส่เมล็ดเก๋ากี้ แล้วคั่วรวมกันให้เกรียม บดให้เป็นผงละเอียด ใช้รับประทานวันละ 15 กรัม
  • ใช้แก้ตาเป็นต้อ โดยนำเปลือกลำต้นมาเผาไฟให้เป็นเถ้าบดให้ละเอียดใช้แต้มตา หรือ จะใช้ผลแห้ง 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ บดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้
  • ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นแห้ง 6-9 กรัม มาบดให้ละเอียด หรือ ทำเป็นยาก้อนเล็กๆ รับประทาน หรือ ใช้เปลือกลำต้นแห้งต้มกับน้ำดื่มก็ได้
  • ใช้แก้อาการหูอื้อ ตามัว หรือ ตาไม่สว่าง ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดรับประทาน
  • ใช้แก้เลือดกำเดาไหลไม่หยุด กระอักเลือด ตกเลือด แก้อาเจียนเป็นเลือด โดยใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มแล้วคั้นเอาน้ำกิน
  • ใช้แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด สตรีตกเลือด ขับปัสสาวะ โดยใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียด หรือ ทำเป็นยาก้อนเล็กๆ หรือ ใช้ต้นเอาน้ำดื่มก็ได้
  • ใช้แก้อาการบวมน้ำ โดยใช้ใบสดปอกระสา 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะใช้รากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่มก็ได้
  • ใช้รักษาบาดแผลมีเลือด แผลสด ช่วยห้ามเลือดโดยใช้ใบตำพอกบริเวณที่เป็น หรือ จะใช้เปลือกกิ่งก้านอ่อนที่นำมาตำให้ละเอียด เอากากมาพอกบาดแผลที่มีเลือดออกก็ได้
  • ใช้แก้กลากเกลื้อน โดยใช้ยางสด 10 ส่วนผสมกับแอลกอฮอล์ หรือ วาสลิน 90 ส่วน ผสมให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษาอาการปวดจากตะขาบ งู แมงป่อง และแมลงที่มีพิษกัดต่อย ด้วยการนำใบมาต้มคั้นเอาน้ำ หรือเอากามาพอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของปอสา

ปอสา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร เป็นไม้ผลัดใบแตกกิ่งก้านโปร่งกว้าง กิ่งเปราะหักง่าย ลำต้นมีลักษณะกลมเปลือกลำต้นบางเรียบ สีน้ำตาลเข้ม  หรือ อาจมีลายดำหรือน้ำตาลดำแกมม่วง เมื่อตัดต้น หรือ กิ่งพบว่าระหว่างเปลือกกับแกนของลำต้น จะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมาก และตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีขาวขี้นปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับบริเวณข้อกิ่งและปลายกิ่ง ซึ่งใบปอสามี 2 ลักษณะ คือ ชนิดใบบนรูปร่างคล้ายรูปหัวใจ และชนิดใบที่เป็นแฉก 3-5 แฉก โดยในบางต้นอาจพบใบทั้งสองชนิดบนต้นเดียวกัน ลักษณะของใบจะเป็นรูปรีกว้างๆ ขนาดความกว้าง 6-12 เซนติเมตร ยาว 7-20 เซนติเมตร โคนมน หรือ เว้าลึกเล็กน้อย ขอบใบจักเป็นซี่ แผ่นใบมีขนอ่อนปกคลุมหลังใบมีสีเขียวแก่ ท้องใบสีเขียวอ่อนอมขาวสะท้อนแสง และมีก้านใบยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร ดอก ของปอสามี 2 ชนิด เป็นแบบแยกเพศต่างต้น โดยช่อดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อห้อยลงมาตามปลายกิ่ง หรือ ออกตามซอกใบ มีความยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร ใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมากเรียงตัวอัดกันหนาแน่น กลีบดอกย่อยมีสีขาว มี 4 กลีบ และมีกลีบรองดอกเป็นกาบสีน้ำตาล 4 กลีบ ส่วนช่อดอกเพศเมียจะออกเป็นช่อกลมบริเวณซอกใบมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร และมีดอกย่อยจำนวนมาก ใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อยที่มีสีเขียวอัดกันแน่นจำนวนมาก โดยมีกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ก้านเกสรเป็นเส้นฝอยยาวสีม่วง และมีหลอดรังไข่อยู่กลางดอก ผลเป็นผลรวมทรงกลมสีส้มแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ออกบริเวณซอกใบ ผลมีเนื้อนิ่มฉ่ำน้ำ มีเนื้อผลมาก ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะแบนสีน้ำตาลแดง มีขนาดเล็กโดยใน 1 ผลมีเมล็ดประมาณ 500 เมล็ด

ปอสา

ปอสา

การขยายพันธุ์ปอสา

  • ปอสาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งเมล็ดปอสาจากผลที่สมบูรณ์ และแก่จัดจะใช้ขยายพันธุ์ได้ผลดี ซึ่งจะมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงประมาณร้อยละ 80 อีกทั้งเมล็ดมีขนาดเล็ก จึงสะดอก และง่ายต่อการขยายพันธุ์จำนวนมาก
  • การขยายพันธุ์ด้วยราก หรือ ไหล โดยระบรากของปอสา จะกระจายแผ่กว้าง ซึ่งรากจะสามารถเจริญเป็นต้นอ่อนได้ มักเรียกรากเหล่านี้ว่าไหลในสภาพที่มีความชื้นเหมาะสม สามารถขุดนำไปชำเป็นกล้าปลูกได้ผลดี
  • การขยายพันธุ์ด้วยลำต้น หรือ กิ่งปักชำ ทั้งนี้ส่วนของลำต้น และกิ่งปอสาที่จะสามารถนำไปปักชำเป็นกล้าปลูกได้ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์กิ่งชำจึงจะเริ่มออกราก

           ทั้งนี้ปอสาจะเจริญเติบโตได้ดี และรวดเร็วในสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม กล่าว คือ ในพื้นที่ดินร่วนซุยมีความอุดมสมบูรณ์สูง สภาพอากาศมีความชื้นสูง


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของปอสา พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากส่วนรากพบสาร kazinol A, broussochalcone B, flavonol, papyriflavonol A, และ 3-(3-methylbut-2-enyl)-3,4,7-trihydroxy flavane สารสกัดจากส่วนใบพบสาร broussonetone A-C ส่วนน้ำมันจากเมล็ดยังพบ linoleic acid, Oleic acid และ carboxylic acid อีกด้วย

โครงสร้างปอกระสา

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของปอสา

มีรายงานผงการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา ของสารสกัดปอสา จากราก ใบ และเปลือกต้น ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้  

           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งกระเพาะปัสสาวะคนชนิด T24 และ T24R2 (เซลล์ที่ดื้อต่อยา cisplatin) ของสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น kazinol A, broussochalcone B, flavonol, papyriflavonol A, และ 3-(3-methylbut-2-enyl)-3,4,7-trihydroxy flavane ที่แยกได้จากรากปอกระสา พบว่าสาร kazinol A ที่ความเข้มข้น 20 ไมโครโมลาร์ มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งทั้งสองชนิดมากที่สุด และกลไกการออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสาร kazinol A คือ ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งในระยะ G0/1 โดยลดการแสดงออกของโปรตีน cyclin D1 ซึ่งเป็นโปรตีนที่สัมพันธ์กับการเกิด และเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง และเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน p21 (cyclin-dependent kinase inhibitor) รวมทั้งเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์ (apoptosis) และการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (autophagy) ที่ผิดปกติ

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสาระและยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดจากเมทานอลส่วนใบของปอกระสา (Broussonetia papyrifera (L.) Vent.) พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดเม็ดสี หรือ เมลานินในร่างกายได้เช่นเดียวกัน โดยพบสารสำคัญ ชื่อ broussonetones A-C ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าว

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการทาครีม 1% เปลือกปอสา (Paper Mulberry) 0.4% เปลือกทานาคา (Limonia acidissima L.) และ 0.4% เมล็ดลำไย (Dimocarpus longan L.) เทียบกับครีมอัลฟ่าอัลบูติน 2% (2% Alpha Arbutin Cream) ในการปรับสภาพผิวหน้าขาวผลการศึกษาพบว่าผู้เข้าร่วมวิจัย 34 คน ที่เข้าร่วมจนจบโครงการ มีค่าเฉลี่ยเมลานินลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งด้านที่ทาครีมสารสกัด 1% เปลือกปอสา 0.4% เปลือกทานาคา และ 0.4% เมล็ดลำไย กับครีมอัลฟ่าอัลบูติน 2% ค่าเฉลี่ยเมลานินระหว่างด้านที่ทาครีมสารสกัด 1% เปลือกปอสา 0.4% เปลือกทานาคา และ 0.4% เมล็ดลำไยกับครีมอัลฟ่าอัลบูติน 2% ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิต และไม่พบการระคายเคือง หรือ อาการข้างเคียงในกลุ่มอาสาสมัครแต่ด้านที่ได้รับการทาครีมจากอัลฟ่าอัลบูติน 2% อาสาสมัครมีผื่น และคันเล็กน้อย

           และยังมีรายงานว่ามีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง จำนวน 233 คน โดยการใช้เปลือกต้นปอสาสด หลังจากที่ขูดเอาผิวนอกออกแล้วประมาณ 30 กรัม นำมาต้มรวมกับพลูคาว สด 15 กรัม และต้นเสี้ยวหนี่อั้ง (Oldenlandia lancea (Thunb.) O.Ktze) สด 15 กรัม แล้วกรองเอาแต่น้ำกินวันละ 3 ครั้ง พบว่าหายขาดคิดเป็น 17.6% และมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คิดเป็น 27.4% และมีรายงานผลการรักษาผู้ที่เป็นโรคกลากเกลื้อน จำนวน 9 ราย โดยใช้น้ำยางสดมาทาบริเวณที่เป็น วันละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน พบว่ามีผู้หายทันทีจำนวน 4 ราย ส่วนที่เหลือจะหายขาดในเวลาต่อมา


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของปอสา

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ปอสา เป็นยาสมุนไพร มีข้อควรระวังดังนี้ ไม่ควรรับประทานผลปอกระสาในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้กระดูกอ่อน และอาจทำให้ท้องร่วงได้อีกด้วย อีกทั้งผู้ที่แพ้หม่อน  และขนุน ไม่ควรรับประทานผลสุกของปอสา เนื่องจากเป็นพืชในสกุลเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ และท้องร่วงได้


เอกสารอ้างอิง ปอสา
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ปอกะสา”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 454-457.
  2. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริ). “ปอกระสา”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 133.
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ปอกระสา”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 320.
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ปอกระสา (Po Kra Sa)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 187.
  5. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ปอกระสา”. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 52.
  6. มิ่งขวัญ ตันโชติกุล. (2555). การเปรียบเทียบประสิทธิผลของการทาครีมสารสกัดปอสา 5% กับครีมอัลฟ่าอัลบูติน 2% เพื่อปรับผิวหน้าขาวในอาสาสมัครชาวไทย (วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง.
  7. พิษต่อเซลล์มะเร็งของสาร kazinol A จากปอกระสา (Broussonetia papyrifera).ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. Ko H-H,Chang W-L,Lu T-M. Antityrosinase and antioxidant effects of ent-kaurane diterpenes from leaves of Broussonetia papyrifera. J Nat Prod 2008;71(11):1930-3.
  9. Zheng, Z. P., Cheng, K. W., Chao, J., Wu, J., & Wang, M. (2008). Tyrosinase inhibitors from paper mulberry (Broussonetia papyrifera). Food Chemistry, 106(2), 529-535