มะกอกน้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะกอกน้ำ งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะกอกน้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สารภีน้ำ (ภาคกลาง), สมอพิพ่าย (ทั่วไป, ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Elaeocarpus hygrophilus Kurz.
วงศ์ ELAEOCARPACEAE


ถิ่นกำเนิดมะกอกน้ำ

มะกอกน้ำ จัดเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีเขตการกระจายพันธุ์บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารพบได้ทั่วไปทุกภาคแต่จะพบได้มากในภาคกลางบริเวณที่ชุ่มชื้นใกล้แหล่งน้ำ ลำห้วย หรือ ตามป่าโกงกางทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณมะกอกน้ำ

  • ช่วยฟอกโลหิตหลังคลอด
  • แก้เสมหะในลำคอ
  • แก้กระหายน้ำ
  • ช่วยทำให้ชุ่มคอ
  • ช่วยในการระบาย
  • ใช้บำรุงธาตุ
  • แก้เสมหะในลำคอ
  • แก้พิษโลหิต
  • แก้พิษกำเดา
  • แก้ริดสีดวงในลำคอ
  • บำรุงร่างกาย

           นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ เพราะเป็นไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว เรือนยอดโปร่งเป็นทรงพุ่มกลมกว้าง ออกดอกดกขาวเต็มต้นดูสวยงาม ผลดิบและผลแก่ของมะกอกน้ำ มีรสเปรี้ยวอมฝาด สามารถนำมากินกับน้ำปลาหวาน หรือ นำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น ดองหวาน ดองเค็ม เชื่อม แช่อิ่ม เป็นต้น


รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะกอกน้ำ

ใช้ฟอกโลหิตหลังคลอด โดยนำเปลือกต้นแห้งมาชงกับน้ำดื่ม ใช้แก้เสมหะในลำคอ แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ โดยนำผลดิบ หรือ ผลสุกมะกอกน้ำ มารับประทานสดเป็นผลไม้ ใช้ช่วยในการระบายโดยนำผลมาดองรับประทาน ใช้บำรุงธาตุ แก้พิษโลหิต แก้พิษกำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ โดยนำดอกแห้งมาต้มน้ำดื่ม หรือ ชงน้ำดื่มก็ได้


ลักษณะทั่วไปของมะกอกน้ำ

มะกอกน้ำ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 3-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากโดยจะแตกเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบสีน้ำตาล มีรูอากาศเป็นแนวยาว และมีรอยแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามความยาวของลำต้น และตามกิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน ใบเป็นใบเดี่ยวลักษณะเป็นรูปไข่กลับ โดยจะออกแบบเรียงเวียนสลับ บริเวณปลายกิ่ง ใบมีสีเขียวมีความกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร โคนสอบแคบเรียวแหลมติดก้านใบ ปลายใบมน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ท้องใบและหลังใบเรียบ ใบแข็งและหนาเป็นมัน มีเส้นใบสีขาว และมีก้านใบสีแดงยาว 0.5-2 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบ โดยช่อดอกจะยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยสีขาว ประมาณ 10-20 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะห้อยลงคล้ายระฆังคว่ำ ขนาดประมาณ 4-8 มิลลิเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ กว้าง 3-4 มิลลิเมตร และยาว 5-8 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกจักเป็นฝอยเล็กๆ และมีกลีบเลี้ยงดอกสีเขียว 5 กลีบ ภายในดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 15-25 ก้าน มีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะทรงกลมรี หรือ รูปไข่มีสีเขียว กว้าง 1.5-2 เซนติเมตรและยาว 3-4 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเกลี้ยง ปลายผลเรียวแหลม เนื้อในอ่อนนุ่ม มีรสเปรี้ยวอมฝาด ผลสุกมีสีส้ม หรือ สีแดงเข้ม มีรสเปรี้ยวอมหวาน และฝาดเล็กน้อย ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด มีลักษณะรูปกระสวย หรือ รูปรี สีน้ำตาลอ่อนเมล็ดขรุขระ และแข็ง ปลายเรียวแหลม

มะกอกน้ำ

มะกอกน้ำ

การขยายพันธุ์มะกอกน้ำ

มะกอกน้ำสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง แต่วีที่เป็นที่นำยมในปัจจุบัน คือ การตอนกิ่ง เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย เติบโตเร็ว และให้ผลเร็วกว่าต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการตอนกิ่งมะกอกน้ำ นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่งไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้มะกอกน้ำเป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื่นสูง ดังนั้นการปลูกมะกอกน้ำควรคำนึงถึงสถานที่ปลูกที่มีความชุ่มชื้นสูง หรือ อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดมะกอกน้ำ จากใบ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Epigallocatechin gallate, Epigallocatechin, Chlorogenic acid, Dimethyl phthalate, Myricitrin, Luteolin-4’-O-glucoside, Kaempferol-3-O-glucoside, Quercitrin, Dihydroactinidiolide, Afzelin, Phenylethyl primeveroside, Prosopine, Phytosphingosine และ Oxophytodienoic acid เป็นต้น นอกจากนี้ผลของมะกอกน้ำยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

           คุณค่าทางโภชนการของมะกอกน้ำ (ผลดิบ) (100 กรัม)

พลังงาน                        8.6                   แคลอรี่

ไขมัน                            0.3                   กรัม

คาโบไฮเดต                  22.3                 กรัม

ใยอาหาร                      0.5                  กรัม

โปรตีน                           1                     กรัม

วิตามินA                        375                  หน่วยสากล

วิตามินB1                     0.09                 มิลลิกรัม

วิตามินB2                      0.05                 มิลลิกรัม

วิตามินB3                      0.4                   มิลลิกรัม

วิตามินC                       49                    มิลลิกรัม

แคลเซียม                      14                    มิลลิกรัม

ธาตุเหล็ก                       0.9                   มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส                    35                    มิลลิกรัม           

โครงสร้างมะกอกน้ำ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะกอกน้ำ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนใบของมะกอกน้ำ ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการเช่น มีฤทธิ์ต้านไวรัส (โดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza) มีฤทธิ์ปกป้องระบบประสาท ส่วนต่างๆ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะกอกน้ำ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้มะกอกน้ำเป็นสมุนไพร ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง มะกอกน้ำ
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “มะกอกน้ำ”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 147.
  2. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะกอกน้ำ ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 133
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “มะกอกน้ำ (Ma Kok Nam)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 212.
  4. อดิศักดิ์ จูมวงษ์, ภัทรศรี เนืองเสน, บุญมี นากรณ์. การศึกษาคุณภาพทางกายภาพและทางเคมีของผลมะกอกน้ำ. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตรปีที่ 49. ฉบับที่ 1 (พิเศษ). มกราคม-เมษายน 2561 หน้า 479-482
  5. มะกอกน้ำ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.[hargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=88
  6. Bindu TK, Udayan PS (2018) LC-MS Profiling of methanolic extract of Pueraria tuberosa (Roxb. ex Willd) DC. tubers. Int J Hortic Agric Food Sci 2:190-198
  7. Lee SY, Lee IK, Choi SU, Lee KR (2012) A new megastigmane glu-coside from the aerial parts of Erythronium japonicum. Nat Prod Sci 18:166–170
  8. Kasem P. 1996. Flooding Tolerant Fruit (Tree) (Elaeocarpus hygrophilus Kurz.). Sci. & Tech. J. 5: 1: 16-18.
  9. Glauser G, Grata E, Rudaz S, Wolfender J (2008) High-resolution profiling of oxylipin-containing galactolipids in Arabidopsis extracts by ultra-performance liquid chromatography/time-of-flight mass spectrometry. Rapid Commun Mass Spectrom Int J Devoted to Rapid Dissem up-to-the-Minute Res Mass Spectrom 22:3154–3160
  10. Saleem H, Htar TT, Naidu R etal (2019) Biological, chemical and toxicological perspectives on aerial and roots of Filago germanica (L.) huds: Functional approaches for novel phyto-pharmaceuticals. Food Chem Toxicol 123:363–373
  11. Athiya R. and S. Thanaboon. 2007. Effect of Spanish Plum (Elaeocarpus hygrophilus Kurz.) Maturity on Total Phenolics, Flavonoids and Antioxidant Activity. Agricultural Sci. J.38: 5(Suppl): 127-130.
  12. Singh S, Verma SK (2012) Study of the distribution profile of piperi-dine alkaloids in various parts of Prosopis juliflora by the applica-tion of Direct Analysis in Real Time Mass Spectrometry (DART-MS). Nat Products Bioprospect 2:206–209.