มะยมป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะยมป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะยมป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กะอวม, พูมารี, กระเบื้องถ้วย, ย้อมผ้าระนาม (ภาคกลาง), ยมป่า, น้ำผึ้งใหญ่ (ภาคอีสาน), เป้าขลิบทอง, กริง, คะนาง, ชะนาง, มะงัน (ภาคตะวันออก), ค้อนหมา, ชวนอ่วม, ทองฟ้า, ไพรสมอกอ, ยาโกรัง (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acronychia pedunculata (L.) Miq.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ C. pedunculata (L.) DC., Acronychia apiculata Miq., C. pedunculata (L.) Roxb., A. arborea Blume, A. barberi Gamble, A. elliptica Merr. & L.M.Perry, A. laurifolia Blume, A. resinosa (Lour.) J.R.Forst. ex Crevost & Lemari, Clausena simplicifolia Dalzell, Cyminosma ankenda Gaertn., C. chinensis G.Don, C. resinosa DC., Doerrienia malabarica Dennst., Gela lanceolata Lour., Jambolifera arborea (Blume) Zoll. & Moritzi, J. pedunculata L., J rezinosa Lour., Laxmannia ankenda Raeusch., Selas lanceolatum (Lour.) Spreng., Ximenia lanceolata .,Melicope conferta Blanco.
วงศ์ RUTACEAE

ถิ่นกำเนิดมะยมป่า

มะยมป่า เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีนตอนใต้ เช่น ในประเทศ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน และทางภาคใต้ของจีน สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าละเมาะป่าดิบแล้งตั้งแต่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 2,200 เมตร (แต่จะพบได้มากในระดับความสูง 700-1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล)

ประโยชน์และสรรพคุณมะยมป่า

  • แก้ไข้
  • บำรุงสตรีหลังคลอด
  • รักษากลากเกลื้อน
  • ใช้รักษาโรคกระเพาะ
  • แก้ติดเชื้อในลำไส้
  • ใช้ประคบลดอาการปวดเมื่อย
  • แก้หอบหืด
  • รักษาอาการปวด
  • แก้ท้องเสีย
  • รักษาโรคปวดข้อรูมาติก
  • แก้ไอ
  • รักษาแผล
  • รักษาผิวหนังตกสะเก็ด
  • ช่วยห้ามเลือด
  • ช่วยกระตุ้นกำหนัด
  • แก้ผดผื่นคัน
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • แก้โรคปวดข้อ

           มะยมป่าถูกนำมาใช้ประโยชน์หลักๆ 2 ประเภท คือ ประเภทแรกใช้เป็นอาหารโดยมีการนำผลสุกของมะยมป่า มารับประทานเป็นผลไม้ ซึ่งจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน ส่วนภาคอีสานบางพื้นที่ใช้ใบสดมากินกับหมากแทนใบพลู และมีรายงานว่าในอินเดียใช้ยอดอ่อนมะยมป่า หรือ ใบอ่อนมาใส่สลัดรับประทาน

มะยมป่า

มะยมป่า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะยมป่า

ใช้รักษาโรคกระเพาะและแก้ติดเชื้อในลำไส้ โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดเมื่อยตามตัว โดยใช้ใบมะยมป่า มาอังไฟแล้วนำมาประคบบริเวณที่ปวดเมื่อย ใช้บำรุงสตรีหลังคลอด แก้ไข้โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้คัน รักษากลากเกลื้อน โดยนำเปลือกต้นหรือใบมาต้มกับน้ำอาบ

ลักษณะทั่วไปของมะยมป่า

มะยมป่า จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง 4-8 เมตร แตกกิ่งต่ำใกล้โคนต้น เปลือกต้นสีน้ำตาลบางเรียบหรือมีรอยแตกตื้นๆ เปลือกชั้นในสีครีมอมชมพู ยอด และกิ่งอ่อนมีขนละเอียดประปราย ใบเป็น ใบเดี่ยว ดอกเรียงตรงข้าม เป็นรูปรี หรือ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือ รูปไข่กลับ กว้าง 3-8 ซม. ยาว 10-20ซม. โคนใบสอบปลายมน หรือ แหลมเล็กน้อย โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบบางเหนียวด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันส่วน ด้านล่างสีจางกว่า เมื่อส่องแผ่นใบดูกับแสงสว่าง จะมีเส้นร่างแหปรากฏชัดเจนทั้ง 2 ด้าน และจะปรากฏต่อมน้ำมันโปร่งแสงกระจัดกระจายทั่วไป มีเส้นแขนงใบข้างละ 8-12 คู่ ปลายเส้นโค้งขึ้นจรดกับเส้นขอบใบ ก้านใบยาว 1.5-4 ซม. ดอกออกเป็นช่อ และจะมีตามง่ามใบและปลายก้านยาว 4-10 เซนติเมตร ดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งมีกลีบดอก 4-5 กลีบ กลีบแคบ และแหลมเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาด 1-1.5 เซนติเมตร มีกลีบดอกบานออกไม่ซ้อนกัน เกสรตัวผู้ 8 อัน มีอับเรณูเป็นตุ่มสั้นกว่าก้าน ส่วนเกสรตัวเมียมีหมอนรองดอกจะมีขนหนาแน่นปกคลุม และมีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม 4 กลีบ กลีบดอกมีสีขาว สีขาวแกมเหลือง สีขาวแกมเขียว หรือสีเขียวหม่น โดยในแต่ละช่อย่อยจะมี 3 ดอก ดอกกลางบานก่อน ก้านดอกยาว 0.5 -2 เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ หรือ แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ผลเป็นผลสดลักษณะกลม หรือ รูปไข่กลับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.7-1.2 ซม. มีร่อง 4 ช่อง ส่วนด้านบนมี 4 สัน เช่นกัน ผลดิบสีเขียวสดผลสุกสีเหลืองอมเขียว รสเปรี้ยวอมหวาน ปลายผลมีติ่งเล็กน้อย ผลอ่อนมีขนสีเทาอมเหลืองหนาแน่น และจะร่วงไปเมื่อเจริญขึ้น ก้านผลยาว 0.8-1.6 ซม.

มะยมป่า

มะยมป่า

การขยายพันธุ์มะยมป่า

มะยมป่า สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และโดยส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติตามป่าเขา ซึ่งปัจจุบันมะยม ก็ยังไม่เป็นที่นิยมในการนำมาปลูกตามบ้านเรือน หรือ ตามเรือกสวนไร่นา การนำมาใช้ประโยชน์ก็จะเป็นการเก็บมาจากธรรมชาติมากกว่าการปลูกเพื่อใช้เอง


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของมะยมป่า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น เปลือกรากพบ สารกลุ่ม coumarin ได้แก่ bergaptene, สารกลุ่ม  triterpene ได้แก่ beta-amyrin, สารกลุ่ม acetophenonesได้แก่ 1-[20,40-dihydroxy-30,50-di-(300-methylbut-200-enyl)-60-methoxy] phenylethanone, acronylin, acrovestone ใบพบสารอัลคาลอยด์กลุ่มควิโนลีน ได้แก่ kokusaginine, evolitrine สารกลุ่ม aryl ketone ได้แก่ 1-[2',4'-dihydroxy-3'-(3''-methylbut-2''-enyl)-5'-(1'''-ethoxy-3'''-methylbutyl)-6'-methoxy] phenylethanone ผลพบสารกลุ่ม acetophenonesได้แก่ dimer demethylacrovestone และสารกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ carotenoid, ascorbic acid และ phenolic ลำต้นและเปลือกรากพบ acronyculatins A–F เปลือกต้นพบสารกลุ่ม aryl ketone ได้แก่ 1-[2',4'-Dihydroxy-3',5'-di-(3''-methylbut-2''-enyl)-6'-methoxy] phenylethanone, acrovestenol, acropyrone, acropyranol A and B, acrofoliones A and B ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินเมื่อกลั่นด้วยไอน้ำพบองค์ประกอบ 34 ชนิด โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ  alpha-pinene (57.4%) และ β-caryophyellene (13.6%) 

โครงสร้างมะยมป่า

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะยมป่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะยมป่า หลายฉบับระบุถึง ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเอาไว้ว่า สาร acrovestone ออกฤทธิ์ต่ำในการจับกับอนุมูลอิสระ DPPH (493 µM) และออกฤทธิ์ได้ปานกลางในการยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ที่ทำให้สีผิวหนังเข้ม (333 µM) ส่วนอีกฉบับหนึ่งระบุว่าสาร acrovestone และ acerovestenol ยับยั้งเซลล์มะเร็งชนิด A2058 melanoma cells ในหลอดทดลอง (เซลล์มะเร็งที่เกิดจากเม็ดสีผิวเข้มผิดปกติ) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.38 และ 2.8 µM ตามลำดับ ยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากในหลอดทดลอง มีค่า  IC50 เท่ากับ 0.93 และ 2.7 µM ตามลำดับ ส่วนสารกลุ่ม aryl ketone จากเปลือกต้น ชื่อ 1-[2',4'-Dihydroxy-3',5'-di-(3''-methylbut-2''-enyl)-6'-methoxy] phenylethanone ออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการอักเสบ cycloxygenase-2 (COX-2) ในหลอดทดลอง และน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดิน มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Salmonella enterica และ Staphylococcus epidermidis ในหลอดทดลอง


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะยมป่า

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้มะยมป่า มารับประทานในรูปแบบอาหารถือได้ว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากมีการรับประทานมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว ส่วนการนำมาใช้เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณตามที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานมะยมป่าในรูปแบบสมุนไพร เนื่องจากยังไม่มีงานศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยรับรอง


เอกสารอ้างอิง มะยมป่า
  1. สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. พรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2544 หน้า 225
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  3. มะยมป่า .ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=265
  4. S.K. Rodrigo, U.L.B. Jayasinghe and B.M.R. Bandara, 'Antifungal, Antioxidant and Cytotoxic Activity of Acronychia pedunculata and Adenanthera pavonina' in Proceedings of the Peradeniya University Research Sessions, Sri Lanka, Vol.12, Part I, 30thNovember 2007.
  5. 'The William Gardener Collection of Chinese Medicinal Plants,' Edited by Anthony C. Dweck,1995,pp.11–12.at http://www.dweckdata.com/Published_papers/William_Gardener.pdf(Accessed: 7.9.2010).
  6. Lesueur D, De Rocca Serra D, Bighelli A, Hoi TM, Thai TH, Casanova J., 'Composition and antimicrobial activity of the essential oil of Acronychia pedunculata (L.) Miq. from Vietnam,' in Natural Product Research: Formerly Natural Product Letters, 1478-6427, Volume 22, Issue 5, 2008, Pages 393 – 398.
  7. Ambasta SP (Ed.), ”The Useful Plants of India”, 1986. CSIR. New Delhi, pp 1-918.
  8. C. P. Li, Chinese Herbal Medicine, U.S. Department of Health, 1974, p.49.