มะเดื่อชุมพร (มะเดื่อไทย) ประโยชณ์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
มะเดื่อชุมพร (มะเดื่อไทย) สรรพคุณ 19ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะเดื่อชุมพร
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเดื่ออุทุมพร,มะเดื่อไทย(ทั่วไป)ภาคกลาง,มะเดื่อเกลี้ยง,มะเดื่อดง(ภาคเหนือ),เดื่อน้ำ(ภาคใต้),หมากเดื่อ,เดื่อเลี้ยง(ภาคอีสาน),ถูแซ(กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus Racemosa Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ficus Glomerata Roxb.
ชื่อสามัญ Cluster Fig, Goolar Fig, Gular Fig
วงศ์ Moraceae (อยู่ในวงศ์ขนุน)
ถิ่นกำเนิดมะเดื่อชุมพร
พืชสกุลมะเดื่อมีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกาอินเดีย จีนตอนใต้ รวมถึงประเทศในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับสายพันธุ์มะเดื่อที่มีอยู่ในโลก ซึ่งทางนักพฤกษศาสตร์ได้มีการรวบรวมไว้นั้นระบุว่ามีประมาณ 600 สายพันธุ์เลยทีเดียว ส่วนถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะเดื่อชุมพร ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีนั้น ครอบคลุมเขตร้อนของทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดียถึงประเทศจีน โดยในไทยพบขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ซึ่งมักขึ้นตามริมลำธารที่ระดับความสูง 1,000-1,250 เมตร จากระดับน้ำทะเล และชื่อมะเดื่อชุมพรหรือมะเดื่ออุทุมพรสันนิษฐานว่ามาจากการรวมชื่อมะเดื่อกับชื่อในภาษาสันสกฤต คือ Udumbar เป็น มะเดื่ออุทุมพร
ประโยชน์และสรรพคุณมะเดื่อชุมพร
มะเดื่อชุมพรเป็นมะเดื่อสายพันธุ์พื้นบ้านของไทยจึงทำให้คนไทยรู้จักมะเดื่อชุมพรเป็นอย่างดี โดยได้มีการนำมาทำประโยชน์ต่างๆมากมาย เช่น นำมะเดื่อชุมพรมารับประทานเป็นผักและผลไม้ โดยส่วนที่นำมากินเป็นผัก คือ ช่อดอก (หรือที่คนไทยเรียกว่าผลหรือลูกมะเดื่อ) โดยใช้ช่อดอกอ่อนหรือดิบเป็นผักจิ้มหรือใช้แกง เช่น แกงส้ม ความจริงช่อดอก(ผล)ของมะเดื่อชนิดอื่น ก็สามารถใช้กินเป็นผักได้หลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ผลเล็กและรสชาติ ไม่ดีเท่าช่อดอกมะเดื่อชุมพร ช่อดอกแก่(ผลสุก)สีแสดแดง กินเป็นผลไม้
นอกจากนี้ประโยชน์ที่สำคัญของมะเดื่อชุมพรอีกด้านหนึ่งคือในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยไม้มะเดื่อถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะใช้ทำพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก นอกจากนั้น ยังใช้ทำหม้อน้ำและกระบวยตักน้ำมัน สำหรับกษัตริย์ทรงใช้ในพระราชพิธีอีกด้วย
- แก้ไข้ ไข้พิษ ไข้กาฬ
- แก้ร้อนใน ระงับความร้อน
- กระทุ้งพิษไข้
- กล่อมเสมหะ และโลหิต
- แก้ไข้หัวลม
- แก้ท้องร่ว
- ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
- ต้านเชื้อบิด
- ช่วยลดความดันโลหิตสูง
- ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ
- ต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส
- ช่วยลดไขมันในเลือด
- ช่วยแก้อาเจียน ธาตุพิการ
- แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง
- ช่วยห้ามเลือด
- ช่วยชะล้างบาดแผล สมานแผล
- แก้เม็ดผื่นคัน
- แก้ท้องร่วง
- เป็นยาระบาย
ลักษณะทั่วไปมะเดื่อชุมพร
มะเดื่อชุมพรจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 5-30 เมตร มีพูพอน เปลือกต้นสีน้ำตาลอมสีชมพู เรียบ เมื่อแตกเป็นรอยหยาบ มียางสีขาวนวล หูใบยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร มักติดแน่นในกิ่งอ่อน
ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปไข่กลับ รูปขอบขนานสั้น หรือรูปใบหอก กว้าง 3.5-8.5 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบแคบถึงโค้งกว้าง หรือรูปหัวใจ ขอบเรียบ เนื้อหนา เส้นใบมีข้างละ 4-8 เส้น ก้านใบยาว 1.5-7 เซนติเมตร สีน้ำตาล
ช่อดอก เกิดตามต้นและกิ่งใหญ่ๆ ที่ไม่มีใบ ช่อดอกยาวได้ถึง 25 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยรูปค่อนข้างกลมถึงรูปคนโท ช่อดอกย่อยแบบนี้เกิดจากฐานดอกพองออก ภายในกลวง ปลายโค้งเข้าหากันจนเกือบจรดกัน มีใบประดับ 5-6 ใบปิดอยู่ มีดอก 3 ประเภท ได้แก่ 1) ดอกเพศผู้มีกลีบรวมเป็นพู 3-4 พู สีแดง เกลี้ยง รังไข่ฝ่อ ไม่มีก้าน 2) ดอกเพศเมียเหมือนดอกเพศผู้ อยู่ระหว่างดอกปุ่มหูด รังไข่ไม่มีก้านหรือมีก้านสั้น มีจุดสีแดง ก้านเกสรเพศเมียมี 1 อัน 3)ดอกปุ่มหูดหรือดอกเพศเมีย แต่มีก้านชูยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก รังไข่สีแดงคล้ำ เกลี้ยง
ผล แบบผลมะเดื่อ รูปค่อนข้างกลมถึงรูปคนโท กว้าง 3.5-5 เซนติเมตร เมื่ออ่อนสีเขียว แก่สีแดงอมสีส้ม ผิวมักมีช่องอากาศแกมตุ่ม
เมล็ด รูปเลนส์ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เรียบหรือมีสันเล็กน้อย
การขยายพันธุ์มะเดื่อชุมพร
มะเดื่อชุมพรขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด ซึ่งมีวิธีการคือ นำผลสุกของมะเดื่อชุมพรไปแช่น้ำแล้วขยี้ล้างเอาแต่เมล็ดเล็กๆออกมานำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปเพาะในกระบะเพาะชำประมาณ 30-45 วัน มะเดื่อชุมพรจะงอกเป็นต้นอ่อน พอสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร แยกลงถุงเพาะชำ โดยผสมดินกับปุ๋ยคอกและเปลือกมะพร้าวสับปลูกเอาไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มขึ้นอยู่เสมอ และเมื่อต้นกล้ามะเดื่อชุมพรอายุ 6-12 เดือนและมีระบบลำต้นและรากแข็งแรงพร้อมที่จะปลูก ให้นำมาปลูกลงหลุมที่เตรียมไว้กลบดินให้เรียบร้อย แล้วปักไม้พยุงต้นไว้แล้วผูกเชือก ควรรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
สำหรับการเตรียมหลุมปลูกมะเดื่อชุมพรนั้น ควรขุดหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก มะเดื่อชุมพรเป็นไม้ยืนต้นใหญ่ ควรปลูกหายกัน 5-8 เมตร ทั้งนี้มะเดื่อชุมพรสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่นิยมปลูกในฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
องค์ประกอบทางเคมี
รากมะเดื่อชุมพร มีสาระสำคัญได้แก่ เบอร์แกปเทน (bergapten) และไฟรเดลิน (friedelin) รวมทั้งสารกลุ่มสเตียรอล(sterols) เช่น เดาโคสเตียรอล (daucosterol) และสทิกมาสเตียรอล (stigmasterol) และยังพบสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเปลือกรากมะเดื่อชุมพร ได้แก่สาร isocoumarin (bergenin), triterpenes ได้แก่ polypodatetraene, α-amyrin acetate, gluanol acetate, lupeol acetate, b-amyrin acetate, 24,25-dihydroparkeol acetate, α-amyrin octacosanoate, lanostane derivative, lanost-20-en-3b-acetate), สาร phytosteroids ได้แก่ (beta-sitosterol และ beta-sitosterol-beta-D-glucoside) และ long chain hydrocarbon (n-hexacosane) รากพบสาร cycloartenol, euphorbol, อนุพันธ์ hexacosanoate, taraxerone, tinyatoxin
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะเดื่อชุมพร
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
สำหรับการใช้ตามสรรพคุณเป็นยาภายในตามตำราไทยให้ใช้รากแห้งของมะเดื่อชุมพรมาต้มกับน้ำดื่ม อาหารต่างๆก็จะค่อยๆทุเลาลง ส่วนการใช้เป็นยาภายนอกใช้น้ำต้มรากแห้งของมะเดื่อชุมพรชะล้างบาดแผล หรือใช้ทาแก้เม็ดผื่นคัน ส่วนผู้ที่มีอาการปากเปื่อย ร้อนใน ใช้เปลือกต้นหรือผลมะเดื่อมาเคี้ยว แล้วอมไว้สักครู่วันละ 2-3 ครั้งจะช่วยสมานแผลแก้ร้อนในได้ และสำหรับตำรับยา 5 ราก หรือตำรับยาเบญจโลกวิเชียรที่มีรากมะเดื่อชุมพรเป็นส่วนประกอบนั้น มีข้อบ่งใช้ คือ ใช้บรรเทาอาการไข้ โดยมีขนาดและวิธีใช้ คือ เด็ก อายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์แก้ไข้ ศึกษาฤทธิ์แก้ไข้ของสารสกัดเอทานอลจากรากมะเดื่อชุมพร เปรียบเทียบกับยาแอสไพริน (acetylsalicylic acid) โดยใช้ lipopolysaccaride (LPS) และ brewer’s yeast ในการกระตุ้นให้หนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์มีไข้ (เมื่อให้ brewer’s yeast และ LPS อุณหภูมิที่ทวารหนักของหนูขาวจะเพิ่มขึ้น 2.24 °C และ 1.84°C ตามลำดับ) เมื่อฉีด LPS ในขนาด 50 μg/kg ที่กล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ป้อนสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรในขนาด 50-400 mg/kg หรือยาแอสไพริน 300 mg/kg ในหนูแต่ละกลุ่ม วัดอุณหภูมิทวารหนักก่อนการทดลอง 1 ชั่วโมง และวัดอีกครั้งหลังจากที่หนูได้รับการฉีด LPS ไปแล้ว 7 ชั่วโมง ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรทุกขนาด สามารถลดอุณหภูมิทวารหนักของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โดยมีฤทธิ์ลดไข้ได้เทียบเท่ากับยาแอสไพริน และเมื่อฉีด 20% brewer’s yeast ขนาด 10 ml/kg ทางชั้นใต้ผิวหนังของหนู หลังจากนั้น 18 ชั่วโมงผ่านไป ป้อนสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรในขนาด 50-400 mg/kg หรือยามาตรฐานแอสไพรินในหนูแต่ละกลุ่ม อุณหภูมิที่ทวารหนักจะถูกวัดหลังจากที่ให้สารสกัดรากมะเดื่อชุมพรไปแล้ว 7 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดจากรากมะเดื่อชุมพรทุกขนาดสามารถลดอุณหภูมิทวารหนักของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ค่า p<0.05 และสารสกัดจากรากมะเดื่อชุมพรขนาด 200 และ 400 mg/kg มีฤทธิ์ลดไข้เทียบเท่ากับยาแอสไพริน
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอลจากรากมะเดื่อชุมพร เพื่อประเมินฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย 4 ชนิด และเชื้อรา 4 ชนิด ที่ความเข้มข้นที่แตกต่างกัน โดยใช้วิธี disc diffusion โดยความเข้มข้นของสารสกัดที่เกิด clear zone สูงสุด ต่อเชื้อแบคทีเรีย E. coli, B. subtilis, P. aeroginosa, E. cloacae เท่ากับ 8 mg/disc มีความกว้างของ clear zone เท่ากับ 24.4, 7.2, 9.1 และ 16.1 มิลลิเมตร ตามลำดับ และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยความเข้มข้นของสารสกัดที่เกิด clear zone สูงสุดต่อเชื้อรา P. chrysogenum, A. niger, T. rubrum และ C. albicans เท่ากับ 8 mg/disc มีความกว้างของ clear zone เท่ากับ 15.4, 8.2, 16.5 และ 14.2 มิลลิเมตร ตามลำดับ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรมีฤทธิ์ต้านจุลชีพซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นยารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราได้
ฤทธิ์ด้านการอักเสบ สารสกัดใบมะเดื่อชุมพร ( Ficus racemosa Linn.)แสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อทดลองในหนูขาว เมื่อให้สารสกัดความเข้มข้น 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว สามารถลดการอักเสบได้ 30.4 , 32.2 , 33.9 , 32.0 % ในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้ขาหลังอักเสบด้วย carragenin , serotonin , histamine และ dextran ตามลำดับ กลไกการลดการอักเสบเกิดจากการยับยั้ง histamine และ serotonin ผลการลดการอักเสบเรื้อรังเมื่อทดลองโดยการฝังเม็ดฝ้ายใต้ผิวหนังหนูขาว พบว่าสามารถลดน้ำหนักของ granuloma ได้ 41.5% โดยกลไกเกิดจากการลดจำนวน fibroblast ลดการสังเคราะห์ collagen และ mucopolysaccharide
ฤทธิ์ปกป้องไตและระบบสืบพันธุ์เพศชายของมะเดื่อชุมพร การทดสอบโดยให้สารสกัดอะซีโตนของเปลือกไม้ต้นมะเดื่อชุมพร (Ficus racemosa ) ขนาด 250 มก./กก. (FR250) และ 500 มก./กก. (FR500) ทางปาก แก่หนูแรทเพศผู้ที่ถูกชักนำให้ไตและอัณฑะเกิดความเป็นพิษด้วยยา doxorubicin ซึ่งยาดังกล่าวทำให้ระดับโปรตีนและกลูตาไธโอนลดลง ในขณะที่ระดับ urea, creatinine, thiobarbituric acid reactive substances (TBARS) เพิ่มขึ้น พบว่าสารสกัด FR250และ FR500 มีผลช่วยให้ระดับ creatinine ลดลง 22.5% และ 44% ตามลำดับ และระดับ urea ลดลง 30.4% และ 58.8% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัด FR500 ยังช่วยลดปริมาณ TBARS ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเกิดกระบวนการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) และเพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนในไตและอัณฑะให้กลับสู่ระดับปกติ เมื่อทดสอบลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์ของไตและอัณฑะในหนูที่ได้รับสารสกัด FR500 พบว่ามีลักษณะที่ปกติ จึงสรุปได้ว่ามะเดื่อชุมพรมีฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษต่อไตและอัณฑะในหนูทดลองจากการได้รับยา doxorubicin ด้วยกลไกการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการเกิด lipid peroxidation
ฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระและปกป้องรังสี การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระทางเคมีในหลอดทดลองด้วยวิธีจับอนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhdrazyl) พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเปลือกราก แก่นราก และสารมาตรฐาน ascorbic acid สามารถจับอนุมูลอิสระ DPPH ได้โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 5.80, 4.49 และ 5.27 μg/ml ตามลำดับ โดยแก่นรากมะเดื่อชุมพรมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด และออกฤทธิ์ดีกว่าสารมาตรฐาน การทดสอบฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ด้วยวิธี FRAP เป็นการวัดความสามารถในการรีดิวซ์ Fe3+เป็น Fe 2+ซึ่งเป็นสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระในการให้อิเล็คตรอน พบว่าทุกความเข้มของสารสกัดแก่นราก (10-80 μg/ml) ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ascorbic acid
การศึกษาทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการนำผลมะเดื่อชุมพรมาใช้รับประทานต้องระวังน้ำยางของมะเดื่อชุมพร เพราะอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่แพ้น้ำยางได้
- ในการใช้ยาตำรับยา 5 ราก หรือยาเบญจโลกวิเชียรไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
- ในการใช้ยาตำรับยา 5 ราก หรือยาเบญจโลกวิเชียรหากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
- ในการใช้ยาตำรับยา 5 ราก หรือยาเบญจโลกวิเชียรไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่มีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน
เอกสารอ้างอิง
- เดชา ศิริภัทร.มะเดื่ออุทุมพร:ต้นไม้จากตำนานมาสู่สามัญชน.คอลัมน์ พืช-ผัก-ผลไม้ .นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่246.ตุลาคม 2542
- Joseph B, Raj SJ. Phytopharmacological properties of Ficus racemosa L. An overview. Int J Pharm Sci Rev Res. 2010;3(2):134-138.
- มะเดื่ออุทุมพร.สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุช.
- Jain R, Rawat S, Jain SC. Phytochemicals and antioxidant evaluation of Ficus racemosa root bark. Journal of Pharmacy Research. 2013;6:615-619.
- มะเดื่อชุมพร.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=190
- ตำรายา 5 ราก.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.madplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6719
- Goyal PK. Antimicrobial activity of ethanolic root extract Of Ficus racemosa L. Int J Chem Tech Res. 2012;4(4):1765-1769.
- Chomchuen S, Singharachai C, Ruangrungsi N, Towiwat P. Antipyretic effect of the ethanolic extract of Ficus racemosa root in rats. J Health Res. 2010;24(1):23-28.
- ฤทธิ์ ปกป้องไตและระบบสืบพันธุ์เพศชายของมะเดื่อชุมพร.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล