กระทิง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กระทิง ประโยชน์และสรรพคุณ 23 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กระทิง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สารกีแนน(ภาคเหนือ), นอ(ภาคอีสาน), ทิง, ทึง, ถาทึง(ภาคใต้), กระทึง, กากะทิง, กากะทึง(ภาคกลาง), สารภีทะเล(ประจวบคีรีขันธ์),เนาวการ(น่าน), ไท่กว๋อโฮว่เขอ(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Calophyllum inophyllun Linn.
ชื่อสามัญ Alexandrian laurel, Indian laurel, Laurel wood, Berneo mahogany
วงศ์ CLUSIACEAE GUTTIFERAE
ถิ่นกำเนิดกระทิง
กระทิงจัดเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชียชนิดหนึ่งโดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณเอเชียใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศ อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่สามารถพบได้มากบริเวณภาคใต้ บริเวณชายป่าใกล้ทะเล และป่าดงดิบ ใกล้ชายฝั่ง
ประโยชน์และสรรพคุณกระทิง
- ช่วยขับปัสสาวะในโรคหนองใน
- แก้บวม
- เป็นยาระบาย
- ใช้ขับปัสสาวะ
- ใช้ทาแผล
- ใช่ขับอาเจียน
- ช่วยสมานพอกทรวงอกแก่วัณโรคปอด
- แก้แผลอักเสบเรื้อรัง
- แก้เมาเย็น
- แก้ตาแดง ตาฝ้า ตามัว
- แก้โรคริดสีดวงทวาร
- แก้ปวดข้อ
- แก้ผื่นคัน
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือน
- แก้หิด
- แก้เหา
- แก้อาการเคล็ดขัดยอก
- ใช้เป็นยาชูกำลัง
- แก้อาการหัวใจเต้นผิดปกติ
- แก้กลาก
- ช่วยบำรุงหัวใจ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้กระทิง
ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อาการหัวใจเต้นผิดปกติ ใช้เป็นยาชูกำลัง โดยใช้ดอกและใบแห้งมาปรุงเป็นยาหอม ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบายอย่างรุนแรง ขับปัสสาวะ อาเจียน โดยใช้ยางจากต้นมารับประทาน ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติและช่วยแก้อาการปวดประจำเดือน โดยใช้ดอกและใบแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ขับปัสสาวะในโรคหนองใน แก้บวม ใช้เป็นยาระบาย โดยใช้เปลือกต้นแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการตาแดง ตาฝ้า ตามัว โดยใช้ใบตำกับน้ำสะอาดล้างตา ใช้ชำระล้างบาดแผล โดยใช้เปลือกต้นหรือรากสด 20-30 กรัมมาต้มกับน้ำใช้ชำระล้างบาดแผล ใช้แก้อาการปวดข้อ แก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้บวมได้ โดยใช้น้ำมันจากเมล็ดมาทาถูนวดบริเวณที่เป็น ใช้แก้หิดและกลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนัง แก้หิด แก้เหา โดยใช้น้ำมันจากเมล็ดมาทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของกระทิง
กระทิงจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ แตกพุ่ม ไม่เป็นระเบียบ สูง 8-20 เมตร ลำต้นสั้น บิดแตกเป็นกิ่งใหญ่ๆ จำนวนมากทั้งในแนวตั้งและแนวนอน หรือห้อยลงเปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา หรือค่อนข้างดำ เมื่อลำต้นแก่จะแตกเป็นร่อง ภายในน้ำยางสีเหลืองใส จำนวนมากเปลือกในสีชมพู แก่นไม้สีน้ำตาลอมแดง ส่วนบริเวณตายอดเป็นรูปกรวยคว่ำ มีขนสีน้ำตาลแดงประปราย
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือรูปไข่กลับแกมขอบขนาน สีเขียวเข้ม กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนาและแข็งผิวใบเกลี้ยงเป็นมันเคลือบ ท้องใบเรียบสีเขียวอ่อน มีเส้นแขนงใบถี่ ส่วนเส้นกลางใบนูนเป็นร่องทางด้านหลังใบ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลและแห้ง มีก้านยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร
ดอก ออกเป็นช่อสีขาวมีกลิ่นหอม โดยจะออกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายกิ่ง ซึ่งจะมีดอกย่อยช่อละ 5-8 ดอก เมื่อดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร กลับดอกมี 4 กลีบรูปไข่กลับ หรือรูปช้อน ขอบงอ กว้าง 7-8 มิลลิเมตร ยาว 9-12 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้สีเหลืองจำนวนมาก รังไข่ค่อนข้างกลม สีชมพู ก้านเกสรเพศเมียยาว ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ยาว 2.7-10 มิลลิเมตร ชั้นนอกรูปร่างกลม ค่อนข้างหนา เกลี้ยง ชั้นในรูปไข่กลับคล้ายกลีบดอก
ผล เป็นผลสดค่อนข้างกลม และฉ่ำน้ำ ผิวผลเรียบปลายกิ่งเป็นติ่งแหลม ผิวผลหนา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลสดสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และแดงอมส้มแต่เมื่อผลแห้งจะย่นและเปลี่ยนเป็นสีออกน้ำตาลปนแดง ภายในมีเมล็ดขนาดใหญ่อยู่ 1 เมล็ด ซึ่งเมล็ดมีเปลือกแข็งหุ้มอยู่
การขยายพันธุ์กระทิง
กระทิงจัดเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งแต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ การเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดกระทิงนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้กระทิงเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบแสงแดดจัด ชอบดินที่มีการระบายน้ำได้ดี เช่น ดินร่วนปนทราย และชอบสภาพความชุ่มชื้นปานกลาง
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของกระทิงระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น รากพบสาร Caloxanthone A,B,C,E macluraxanthone และ 6-doxyjacareubin ลำต้นพบสาร calophyllolide ใบและกิ่งพบสาร calanolide A,B inophyllum B,P เมล็ดพบสารกลุ่ม แลคโตนชื่อ calophyllolide, calophyllic acid เปลือก พบสาร tannin และ inophyllic aicd นอกจากนี้พบสารออกฤทธิ์ในกลุ่มซาโปนินที่มีความเป็นพิษในใบของกระทิงคือ hydrocyanin acid อีกด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของระทิง
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของต้นกระทิงระบุว่า มีการศึกษาวิจัยสารสกัดชั้นน้ำและชั้นเมทานอลของใบและกิ่งต้นกระทิงพบว่า พบสารประเภท คูมินส์ 2 ชนิด คือ inophyllum B, P ที่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase ได้ ส่วนสารสกัดจากเปลือกรากของต้นกระทิงมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย แกรมบวกและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และสารสกัดจากลำต้นของต้นกระทิงพบว่ามีสาร calophyllolide ซึ่งเป็นสารจำพวก lactone มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัสจำพวก retovirus ได้อีกด้วย นอกจากนี้มีรายงานว่า การศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่าสารสกัดจากเปลือกต้นและเมล็ดมีฤทธิ์ต้านการปวดข้อในสัตว์ทดลองอีกด้วย และยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ป้องกันความดันโลหิตต่ำ สาร caloxanthone E, Caloxanthone C, Caloxanthone A, Caloxanthone B, Macluraxanthone, Caloxanthobe B, 6-doxyjacareubin methyl ether ที่สกัดได้จากรากกระทิง ขนาด 10 มก./กก. เมื่อให้หนูถีบจักรกินจะช่วยป้องกันการเกิดความดันโลหิตต่ำได้ โดยมีฤทธิ์ยับยั้ง platelet activating factor โดยสาร caloxanthone E, 6-dioxyjacareubin จะให้ผลในการยับยั้งสูงที่สุกมากกว่า 60%
การศึกษาทางพิษวิทยาของกระทิง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
กระทิงจัดเป็นพืชมีพิษชนิดหนึ่งดังนั้นในการใช้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษซึ่งมีรายงานว่า เมื่อรับประทานราก เปลือก และใบเข้าไปจะมีผลต่อหัวใจ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ยางจากต้นกระทิงมีพิษ มีฤทธิ์ทำให้อาเจียนและมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างรุนแรง ส่วนใบกระทิงมีสาร sponin เมื่อละลายน้ำ แล้วจะให้สาร Hydrocyanic acid ออกมา ซึ่งทำให้เป็นพิษต่อมนุษย์และปลา ดังนั้นในการใช้ควรใช้ในผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง กระทิง
- กระทิง (Kre thing). ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพรเล่มที่ 1. หน้า 28.
- ราชบัณฑิตยสถาน.2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กทม. เพื่อนพิมพ์.
- เศรษฐมนตรี กาญจนกุล. ไม้มีพิษ กทม. เศรษฐศิลป์ 2552.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. กระทิง. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้าที่ 36.
- กองโรคเอดส์ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณะสุข. 2544. แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพ ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พิมพ์ครั้งที่ 2 โรงพิมพ์การศาสนา กทม. 106 หน้า.
- พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ,รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังษี,อาจารย์กาญจนา ดีวิเศษ. กระทิง. หนังสือสมุนไพรอุทยานแห่งชาติ ภาคกลาง. หน้า 57.
- มณรดา ทองรวด และคณะ. พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน และเภสัชวิทยาพื้นบ้านของพืชสมุนไพรไทยจากตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จ.สงขลา. วารสารไทยไภษัยนิพนธ์ ปีที่ 16. ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2564. หน้า 141-164.
- Xabthones จากรากกระทิงป้องกันความดันโลหิตต่ำ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- คณะกรรมการโครงการพัฒนาระบบบริการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อ 2545. แนวทางการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง กองโรคเอดส์ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข 41 หน้า
- สารภีทะเล. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=116
- Perumal SS, Ekambaram SP, Dhanam T. In vivo antiarthritic activity of the ethanol extracts of stem bark and Calophyllum inophyllum in Freund's complete adjuvant induced arthritis. Pharm Biol. 2017;55(1):1330-6.