จันทน์ขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
จันทน์ขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ
ชื่อสมุนไพร จันทน์ขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จันทน์เทศ, จันทน์หิมาลัย, แก่นจันทน์, แก่นจันทน์เทศ, ไม้หอมอินเดีย (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Santalum album L.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sandalum album Rumph., Sandalum ovata R. Br., S. ovatum Miq., S. MyrtifoliumRoxb., Sirium myrtifolium L.
ชื่อสามัญ Sandalwood, Indian sandalwood, white sandalwood
วงศ์ SANTALACEAE
ถิ่นกำเนิดจันทน์ขาว
จันทน์ขาว จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณใต้เส้นศูนย์สูตรของทวีปเอเชีย ซึ่งอยู่ในบริเวณ อินโดนีเซีย และติมอร์เลสเต ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนในทวีปเอเชีย ปัจจุบันพบมีการปลูกจันทน์ขาว กันมากในทางตอนใต้ของอินเดีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบจันทน์ขาวได้ทุกภาคของประเทศแต่จะพบได้มาก บริเวณป่าโปร่งและป่าดิบแล้งทางภาคใต้
ประโยชน์และสรรพคุณจันทน์ขาว
- ช่วยบำรุงประสาท
- ช่วยบำรุงเนื้อหนังให้สดชื่น
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้เหงื่อตกหนัก
- แก้โรคตับ
- แก้โรคปอด
- แก้ดีพิการ
- ช่วยขับพยาธิ
- แก้ไข้
- แก้ดีกำเริบ
- แก้กระสับกระส่าย
- แก้ตาลาย
- แก้อาการกระหายน้ำ
- รักษาโรคหวัด
- รักษาหลอดลมอักเสบ
- ใช้รักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ใช้รักษาการอักเสบของปากและคอหอย
- แก้อาการผิดปกติของตับและถุงน้ำดี
- ใช้เป็นยาแก้คลื่นไส้
- ช่วยขับปัสสาวะ
เนื้อไม้และแก่นของจันทน์ขาว ถูกนำมาใช้แกะสลักเป็นเทวรูป พระพุทธรูป หรือ รูปเคารพต่างๆ และมีการนำมาใช้ทำของใช้ต่างๆ ในพิธีเผาศพของชนชั้นสูง นอกจากนี้ยังมีการนำ รากและแก่นของจันทน์ขาวมาทำกลิ่นด้วยไอน้ำ จะได้น้ำมันจันทน์ขาว หรือ ที่เรียกว่าน้ำมันจันทน์เทศ ซึ่งจะถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาในอินเดียและถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารเพื่อให้ กลิ่นและรสชาติในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มต่างๆ เช่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นม ขนมหวาน เบเกอรี่ เจลาติน ลูกอม และพุดดิ้ง โดยสามารถผสมผสานได้ดีกับผลิตภัณฑ์ส่วนในอุตสาหกรรมความงามก็ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอม โลชั่น ครีมอาบน้ำ แชมพู โดยสามารถผสมผสานได้ดีกับผลิตภัณฑ์ประเภทกุหลาบ ไวโอเล็ต ทุเบอโรส กานพลู ลาเวนเดอร์ โอ๊ตมอส และแล๊บดานัม
รูปแบบและขนานวิธีใช้
- สำหรับการใช้เนื้อไม้ หรือ แก่นจันทน์ขาว ตามสรรพคุณ เช่น บำรุงประสาท บำรุงเนื้อหนัง แก้ไข้ แก้โรคตับ โรคปอด ดีพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อ แก้ตาลาย กระสับกระส่าย ขับพยาธิ โดยนำเนื้อไม้ หรือ แก่นจันทน์ขาวมาฝนกินกับน้ำ หรือ นำมาสับเป็นชิ้นป่นให้ละเอียดชง กินกับน้ำร้อนก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการนำมาบดเป็นผงผสมในสูตรยาต่างๆ เช่น ตับรับยา อไภยสาลี และยาหอมต่างๆ
- ส่วนในอินเดียใช้เนื้อไม้แก่นจันทน์ขาว เป็นยาขม ยาเย็น ยาฝาดสมาน แก้ไข้ แก้อาการกระหายน้ำ และสำหรับน้ำมันไม้จันทน์ขาวใช้เป็นยารักษาโรคหวัด หลอดลมอักเสบ ไข้ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การอักเสบของปากและคอหอย อาการผิดปกติของตับและถุงน้ำดี ใช้เป็นยาแก้คลื่นไส้ ขับปัสสาวะ
ลักษณะทั่วไปของจันทน์ขาว
จันทน์ขาว จัดเป็นไม้ ยืนต้นผลิตใบขนาดเล็กถึงขนาดกลางสูงได้ 6-18 เมตร ลำต้นเมื่ออ่อนเกลี้ยง มีเหลี่ยม เมื่อแก่มีสีน้ำตาลปนเทารูปทรงกระบอก เปลือกแตก ขรุขระเป็นร่องตามแนวนอน กิ่งก้านเรียงยาวมักห้องลงมา
ใบจันทน์ขาว เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ใบมีลักษณะรูปรี หรือ รูปไข่กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร โคนมน หรือ สอบเรียว ปลายแหลม หรือ เรียวแหลมเล็กน้อย ขอบใบหยักเป็นคลื่น แผ่นใบสีเขียวค่อนข้างหนา คล้ายแผ่นหนังและเปราะหักง่าย ผิวใบสามารถมองเห็นเส้นแขนงใบนูนขึ้นทั้ง 2 ด้าน เส้นใบย่อยไม่โค้งจรดกัน ก้านใบเรียวยาว 8-9 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร
ดอกจันทน์ขาว ออกเป็นช่อกระจะแบบแยกแขนง มีก้านช่อดอกเรียวบิดไปมากว้าง 0.6 มิลลิเมตร ยาว 1-1.3 เซนติเมตร โดยจะออกบริเวณลำต้นหรือกิ่งอ่อน แต่มักพบตามปลายกิ่ง หรือ ซอกใบ ใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อย ที่เป็นดอกสมบูรณ์เพศประมาณ 9-15 ดอก ดอกจันทน์ขาว มีลักษณะตูมคล้ายรูปลูกข่าง เมื่อบานจะมีสีขาวนวล แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและสีม่วง มีกลิ่นหอม ส่วนฐานดอกกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 4-5 กลีบ เป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้าง 1-1.5 มิลลิเมตร ยาว 3-3.5 มิลลิเมตร โค้งพับลงมีเกสรเพศผู้ เท่ากลีบรวมและเรียงตรงข้ามกับกลีบรวม มีก้านชูอับเรณูกว้าง 0.3 มิลลิเมตร ยาว 2.5 มิลลิเมตร ด้านเกสรเพศเมียเป็นเหลี่ยมมียอด 3 พู ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร
ผลจันทน์ขาว เป็นผลสดมีเนื้อรูปทรงกลมหรือเกือบกลมมีขนาดผิวเกลี้ยง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 มิลลิเมตร ด้านในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด รูปกลม หรือ รูปไข่กลับ
แหล่งที่มาของภาพ www.gbif.org
การขยายพันธุ์จันทน์ขาว
จันทน์ขาว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ดส่วนวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกจันทน์ขาวนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ สำหรับในปัจจุบัน จันทน์ขาว จัดเป็นไม้เศรษฐกิจของออสเตรเลีย และอินเดีย เนื่องจากมีการปลูกเพื่อส่งออกในรูปแบบชิ้นไม้และน้ำมันที่กลิ่นจากเนื้อไม้จำนวนมาก
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเนื้อไม้ และแก่นของจันทน์ขาว ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ α-santalol, β-santalol, santene, α-santalene, β-santalene, santenone, Cyclohexylmethylsilane, Vanillin, Pyrazinamide, Benzyl alcohol, Methyl salicylate, Cinnamaldehyde, (E)-, n-Hexadecanoic acid, Hexanedioic acid, bis(2- ethylhexyl) ester, Pentanoic acid, 5-hydroxy-, 2,4- di-t-butylphenyl esters, Phthalic acid, butyl non-5-yn-3- yl ester
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของจันทน์ขาว
จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของน้ำมันจันทน์ขาว ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้
มีรายงานจากการศึกษาวิจัยแบบพรีคลินิกพบว่าน้ำมันจันทน์ขาวมีฤทธิ์ฝาดสมานและมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อในทางเดินหายใจทางเดินปัสสาวะ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ละลายเสมหะ ด้านเชื้อรา มีฤทธิ์ต้านไวรัสต้านมะเร็งและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของจันทน์ขาว
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้จันทน์ขาว เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง จันทน์ขาว
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร, ศุภชัย ติยวรนันท์ และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 6 เภสัชกรรม. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2555. หน้า 298-299
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพรรวมหลักเภสัชกรรมไทย (พิมพ์ครั้งที่ 1.). กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร
- คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. ตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย. เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง; 2552.
- เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. (2514). ไม้เทศเมืองไทย. สรรพคุณของยาเทศและยาไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เกษมบรรณกิจ.
- จันทน์ขาว. รายงานการวิจัยสมุนไพรในตำรับยาไทยที่ประเทศกำหนดให้เป็นตำรายาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่อนุญาตให้เสพเพื่อรักษาโรค หรือ การศึกษาวิจัยได้ ตามแนบท้ายกระทรวงสาธารณสุข. สำนักจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 120-124.
- กนกอร วัฒนพรชัย. การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของจันทน์เทศและจันทน์ขาวด้วยเทคนิคแก๊สโครมาโทรกราฟี-แมสสเปกโตรเมทรี. การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 13. มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 12 พฤษภาคม 2565. หน้า 828-835
- สุนันทา ศรีโสภณ,จันคนา บูรณะโอสถ,อุทัย โสธนะพันธ์. การพิสูจน์ชนิดทางพฤกษศาสตร์ ของเครื่องยาจันทน์ขาวและจันทนาด้วยวิธีโครมาโทกราฟีชนิดแผ่นบาง. วารสารไทยเภสัชและวิทยาการสุขภาพปีที่ 10 ฉบับที่ 1. มกราคม-มีนาคม 2558. หน้า 19-24.
- Department of Medical Sciences. Chan Khao. In: Thai herbal phamacopoeia 2019.Bangkok: The Agricultural Co-operative Federation of Thailand; 2019.
- Phongboonrod S. Foreign plants in Thailand: qualities of foreign traditional medicines and Thai traditional medicines. Bangkok: Krung Thon press; 1979. (in Thai)
- Brand JE. Genotypic variation in Santalum album. Sandalwood Research Newsletter 1994;(2):2-4
- Eiadthong W. Let’s know about MaiChan and custom of royal family’s funeral. J Forest Manag. 2008;2(4):29- 45. (in Thai)
- Sotanaphun, U., Srisopon, S., & Burana-osot, J. (2017). Botanical identification of Chan thet and Chan-hom crude drugs by thin layer chromatography. Journal of Thai Traditional and Alternative Medicine, 15(1), 3-13.
- Phonchan S. Standard specifications of Chan daeng (Pterocarpus santalinus L. f.), Chan khao (Santalum album L.), and Chan pha (Dracaena cochinchinensis (Lour.) S. C. Chen) [Thesis of Master of Science]. Khon Kaen: Khon Kaen University; 2009. (in Thai)
- Committee on Protection and Promotion of Thai Traditional Medicine, Department of Thai Traditional and Alternative Medicine, in cooperation with Department of Medical Sciences and the Food and Drug Administration, Ministry of Public Health. Reference book of Thai herbal medicines, volume 1. Bangkok. Amarin Printing and Publishing, 009. (in Thai)
- Picheansoonthon C, Chavalit M, Jeerawong W. The explanation of royal medicine from Narayana textbook (King Bhumibol Adulyadej’s Golden Jubilee 72 Years of Reign edition). Bangkok. Amarin and Wisdom Foundation, 2001. (in Thai)
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 1 น้ำกระสายยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2556. หน้า 28