ทองกวาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ทองกวาว งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ทองกวาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จาก, ดอกจาน (ภาคอีสาน), ก๋าวต้น, กว๋าวต้น (ภาคเหนือ), ทองต้น, ทองพรหมชาติ, ทองธรรมชาติ (ภาคกลาง), จ้า (สุรินทร์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea monosperma (Lam.) Taub.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Butea frondooa Koen. Roxb.
ชื่อสามัญ Flame of the forest,Bastard teak, Bengal kino, Kino tree,
วงศ์ LEGUMINOSAE - PAPILIONACEAE

ถิ่นกำเนิดทองกวาว

ทองกวาว นับเป็นพืชพื้นเมืองดั้งเดิมของไทยอีกชนิดหนึ่ง เพราะมีถิ่นกำเนิดที่เขตร้อนในบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ เช่นใน ประเทศไทย พม่า กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ศรีลังกา เนปาล อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ สำหรับในประเทศไทย พบขึ้นทุกภาคโดยจะกระจายทั่วไปตามที่ราบลุ่ม และในป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 80-300 เมตร แต่มักจะพบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่นๆ

ประโยชน์และสรรพคุณทองกวาว

  1. ใช้บำรุงธาตุ
  2. ช่วยบำรุงประสาท
  3. แก้ท้องขึ้น
  4. แก้ท้องเฟ้อ
  5. ช่วยในการขับพยาธิ
  6. แก้ริดสีดวงทวาร
  7. แก้ตะคริว
  8. ช่วยถอนพิษไข้
  9. ช่วยขับปัสสาวะ
  10. แก้กระหายน้ำ
  11. แก้ตาแดง ตาแฉะ ตามัว ปวดเคืองตา
  12. ใช้แก้พิษฝี
  13. ช่วยสมานแผล
  14. แก้ฝี และสิว
  15. แก้ปวด
  16. ช่วยบำรุงกำลัง
  17. แก้ผิวหนังอักเสบ คัน และแสบร้อน
  18. แก้ท้องเสีย ท้องร่วง 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงธาตุ บำรุงประสาท แก้ท้องเฟ้อ ท้องขึ้น แก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงกำลัง แก้ท้องขึ้น แก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ถอนพิษไข้ แก้กระหายน้ำขับปัสสาวะ โดยใช้ดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ บดชงแบบชาก็ได้ ใช้ขับพยาธิไส้เดือน โดยใช้เมล็ดมาบุบพอแตกต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการตาแดง ระคายเคืองตา เจ็บตา ตามัว ตาแฉะ ตาฟาง โดยใช้ดอกมาบีบเอาน้ำหยอดตา ใช้แก้อาการคัน แสบร้อน เป็นผื่นแดง โดยใช้เมล็ดบดให้ละเอียดผสมกับน้ำมะนาว ทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้ตะคริวโดยใช้รากทองกวาว สดมาทุบแล้วใช้ประคบบริเวณที่เป็น ใช้แก้สิว แก้ฝี แก้แผลอักเสบ โดยใช้ใบสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของทองกวาว

ทองกวาว จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8-15 เมตร ลำต้นส่วนมากจะคดงอ เนื่องจากตอนต้นยังเล็กๆ จะมีลักษณะเป็นไม้กึ่งเลื้อย และแตกกิ่งต่ำ เมื่อยืนต้นได้จะแตกเรือนยอดแผ่กว้างไม่เป็นระเบียบ และมีเปลือกสีเทาคล้ำแตกระแหงเป็นร่องตื้นๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย สีเขียว และมองเห็นเส้นใบชัดเจนจำนวน 3 ใบ ออกสลับกันโดยออกจากปลายก้านเดียวกันคล้ายใบทองหลาง ส่วนใบย่อยที่ปลายเป็นรูปไข่ หรือ รูปป้อม โคนเบี้ยวปลายมนคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ส่วนใบย่อยด้านข้างทั้งสองจะไม่ค่อยเบี้ยว ขนาดของใบกว้างประมาณ 10-12 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ดอกทองกวาว ออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง และบริเวณกิ่งเหนือรอยแผลใบ โดยช่อดอกจะยาว 40-60 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยจะยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกมีสีแสด ลักษณะคล้ายดอกถั่ว หรือ ดอกแคขนาดใหญ่มี 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้มี 10 อัน ส่วนโคนก้านเชื่อมติดกันเป็นหลอด ฝักรูปร่างแบน เมื่ออ่อนจะมีสีเขียว และเมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีน้ำตาลเหลือง กว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ส่วนในฝักมีเมล็ดบริเวณปลายฝัก 1-2 เมล็ด

ทองกวาว

การขยายพันธุ์ทองกวาว

ทองกวาวสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในการขยายพันธุ์ในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด เพราะจะได้ต้นทองกวาว ที่มีระบบรากที่แข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนัก และยึดกับดินได้ดี เมื่อมีลมพายุพัด นอกจากนี้ทองกวาว ยังเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกง่ายทนแล้งได้ดี ชอบดินร่วนที่มีความชื้นปานกลาง สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกทองกวาวนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

ทองกวาว

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของดอกทองกวาว พบว่า มีสารสำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Glabrin, Butrin, Kaempferol, Sulfurein, sitosterol, Glabrosaponin, Isobutrin, coreopsin, Isomonospermoside, Isocoreopsin, monospermoside, Stearic acid, Palmitic acid และ Pongamin เป็นต้น

โครงสร้างทองกวาว

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของดอกทองกวาว

ฤทธิ์ลดความอ้วน คอเรสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และระดับน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ต้านความอ้วนของสารสกัดเมทานอลจากดอกทองกวาว (Butea monosperma (Lam.) Taub.) ในหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะอ้วนด้วยการป้อนอาหารไขมันสูง จากนั้นป้อนหนูแรทที่ถูกเหนี่ยงนำให้อ้วนด้วยสารสกัดเมทานอลจากดอกทองกวาวขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก./วัน เป็นเวลา 40 วัน จากนั้นทำการประเมินน้ำหนักตัวทุก 5 วัน ประเมินการสะสมไขมันในอวัยวะ ร่างกาย การเคลื่อนไหว และตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงน้ำตาลในเลือดในวันที่ 39 และ 40 ของการศึกษา ผลพบว่าการป้อนสารสกัดจากดอกทองกวาว ที่ขนาด 400 มก./กก./วัน สามารถลดน้ำหนักระดับคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ และระดับน้ำตาลในเลือด ร่วมกับมีผลในการเพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหว และอุณหภูมิร่างกายที่ลดลงจากภาวะอ้วนให้กลับสู่ค่าปกติ แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากดอกทองกวาวสามารถปรับปรุงดัชนีน้ำหนักและปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดเมทานอลจากใบ, ลำต้น และดอกทองกวาว ( Butea monosperma Kuntze) โดยแบ่งเป็นส่วนสกัดของเฮกเซน (n-hexane), เอทิล อะซีเตต (ethyl-acetate) และบิวทานอล (n-butanol) จากนั้นนำแต่ละส่วนสกัดไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อโดยวิธี disk diffusion ปรากฏว่าให้ผลดังนี้ ส่วนสกัดเอทิล อะซีเตตของใบมีฤทธิ์แรงในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ S. epidermidis และต้านเชื้อรา Trichophyton mentagrophytes และ Microsporium gypseum สารสกัดเมทานอล และส่วนสกัดเฮกเซนของดอกมีฤทธิ์แรงในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Klebsiella pneumoniae และต้านเชื้อรา Aspergillus niger ส่วนสกัดเฮกเซน และเอทิล อะซีเตต ของสารสกัดเมทานอลจากลำต้น แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย K. pneumoniae และต้านเชื้อรา M. gypseum, T. mentagrophytes และ Sporothrix schenckii.

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาของดอกทองกวาวในต่างประเทศพบว่า มีฤทธิ์รักษา และปกป้องตับ มีฤทธิ์รักษาโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคท้องเสียได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของดอกทองกวาว

มีผลการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดดอกทองกวาว ในหนูที่เป็นเบาหวานซึ่งทำการทดสอบพิษเฉียบพลันโดยการป้อนสารสกัดครั้งเดียวในขนาด 1,000 1,500 และ 2,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าสารสกัดทุกขนาดไม่ทำให้หนูทดลองตาย และไม่แสดงอาการความเป็นพิษหลังให้สารสกัดภายใน 24 ชั่วโมง สังเกตอาการต่อ 14 วัน และหนูทดลองทุกตัวมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่แตกต่างกัน (p<0.05) และมีผลการทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลันด้วยการป้อนสารสกัดดอกทองกวาว ขนาด 2,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แก่หนูทดลองทุกสองวัน เป็นเวลา 14 วัน ไม่พบหนูตาย หรือแสดงอาการความเป็นพิษใดๆ ส่วนค่าเคมีโลหิต พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดดอกทองกวาวในขนาดแตกต่างกันมีค่า  BUN, Cr, Ab, TP, TG และ ALP สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับหนูควบคุม และค่าโลหิตวิทยา ได้แก่ Het, Hb, RBC และ WBC พบว่าหนูทดลองทุกกลุ่มมีค่าโลหิตวิทยาไม่แตกต่างกัน ยกเว้น WBC ในกลุ่มหนูปกติที่ได้รับสารสกัดในขนาด 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม มีจำนวน WBC ต่ำกว่าหนูปกติควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และหนูทุกตัวมีน้ำหนักตัวไม่แตกต่างกัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ทองกวาว เป็นสมุนไพรเพราะในเมล็ดทองกวาวพบสาร Butin ที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิงโดยจะออกฤทธิ์ทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูก
  2. ในการใช้ทองกวาวเป็นสมุนไพรควรใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ควรใช้เกินขนาด และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากหลักฐานทางด้านความเป็นพิษยังมีอยู่น้อยมาก
  3. เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ทองกวาวเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

 

เอกสารอ้างอิง ดอกทองกวาว
  1. เดชา  ศิริภัทร. ทองกวาว:ความงามร้อนแรงแห้งฤดูกาล. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 301. พฤษภาคม 2547.
  2. กมลทิพย์ ประสมเพชร. 2554. คู่มือปฏิบัติการวิเคราะห์อาหารสัตว์. ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน, กรุงเทพฯ
  3. ฤทธิ์ต้านความอ้วนของสารสกัดจากดอกทองกวาว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. ฉันท์ชนก สิงหเสนา.(2555).ความเป็นพิษ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดดอกทองกวาวในหนูเบาหวาน. (วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา ชีววิทยาศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม)
  5. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของทองกวาว. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ทองกวาว.กลุ่มยาขับปัสสาวะ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herds/herbs_12_1.htm.
  1. Choedon, T., S.K. Shukla and V. Kumar. 2010. Chemopreventive and anti-cancer properties of the aqueous extracts of flowers of Butea monosperma. J. Ethnopharmacol. 129: 208-213
  2. Somani, R., S. Kasture and A.K. Singhai. 2006. Antidiabetic potential; of Butea monosperma in rats. Fitoterapia. 77(2): 86-90.
  3. Rana, F. and M. Avijit. 2012. Review Butea monosperma. IJRPC. 2(4): 1035-1039.