ผักปลาบใบแคบ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักปลาบใบแคบ งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักปลาบใบแคบ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักปลาบ, ผักปลาบนา, ผักปลาบใบเรียว, หญ้ากาบผี, กินกุ้งน้อย (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Commelina diffusa Burm.f.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Commelina longcaulis Jacq.
ชื่อสามัญ Water grass, Climbing dayflower, Spreading dayflower, Frenchweed, Benghal dayflower
วงศ์ COMMELINACEAE


ถิ่นกำเนิดผักปลาบใบแคบ

ผักปลาบใบแคบ จัดเป็นพืชในวงศ์ผักปลาบ ชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้ อาทิเช่น ในประเทศบังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และเนปลาย ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนใกล้เคียง เช่น พม่า ไทย ลาย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมไปถึงในเขตร้อนของทวีปอื่นๆ ได้แก่ แอฟริกา และอเมริกาใต้ด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบผักปลาบใบแคบ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศโดยมักพบขึ้นในที่ชื้นแฉะที่มีร่มเงา หรือ ตามป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น หรือ บริเวณใกล้ใกล้ลำธาร ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 20-35 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณผักปลาบใบแคบ

  1. ช่วยเจริญอาหาร
  2. แก้ปวด
  3. แก้ไข้
  4. แก้ไอ
  5. ช่วยขับเสมหะ
  6. แก้ปวดหู หูอื้อ
  7. ใช้เป็นยาระบาย
  8. แก้ร้อนใน
  9. แก้พิษฝี
  10. ใช้ห้ามเลือด รักษาแผลสด
  11. รักษาโรคผิวหนัง
  12. แก้ผื่นคัน
  13. แก้ท้องเสีย
  14. บรรเทาอาการเจ็บคอ
  15. รักษาริดสีดวงทวาร
  16. รักษาลำไส้อักเสบ
  17. รักษาติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  18. รักษามาเลเรีย
  19. แก้หนองใน
  20. แก้คางทูม
  21. แก้ปวดตามร่างกาย
  22. ขับปัสสาวะ
  23. ช่วยลดน้ำมูก

           มีการนำ ต้น ยอดอ่อน และใบของผักปลาบใบแคบ ซึ่งมีรสหวานเย็นมาใช้รับประทาน เป็นผักแกล้มได้ทั้งแบบสดๆ หรือ ลวกให้สุกโดยใช้จิ้มกับน้ำพริกต่างๆ หรือ ใช้ แกงเลียง แกงส้ม แกงผักรวม หรือ นำมาแกงใส่ปลาก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการนำผักปลาบใบแคบ มาใช้เลี้ยงสัตว์ จำพวกวัว ควาย แพะ และแกะ เป็นต้น

ผักปลาบใบแคบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ช่วยเจริญอาหาร แก้ปวดหู หูอื้อ แก้ปวดตามร่างกาย แก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ใช้เป็นยาระบาย โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ลดน้ำมูก โดยใช้ทั้งต้นของผักปลาบใบแคบ ผสมกับกันน้ำจ้ำทั้งต้น รากสาบเสือ รากปืนนกไส้ และรากมะเหลี่ยมหิน นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาแผลสด แผลถลอก ใช้ห้ามเลือด โดยนำใบ หรือ ทั้งต้นน้ำมาตำพอกบริเวณที่เป็นแผล
  • แก้โรคผิวหนังผื่นคัน แก้พิษฝี แก้หูด แก้โรคเรื้อน โดยใช้ใบ หรือ ทั้งต้น นำมาตำคั้นเอาน้ำทา


ลักษณะทั่วไปของผักปลาบใบแคบ

ผักปลาบใบแคบ จัดเป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นแตกกิ่งก้านทอดเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน และจะชูส่วนยอดขึ้น มีสความสูงได้ประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้องรูปร่างกลมอวบน้ำไม่มีขน โดยจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และจะมีรากออกตามข้อ

           ใบผักปลาบใบแคบ เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ตามข้อปล้องลักษณะของเป็นรูปใบหอก หรือ รูปขอบขนานแกมใบหอก ใบมีขนาดกว้าง 1-3 เซนติเมตร และยาว 4-6 เซนติเมตร โคนใบสอบปลายใบแหลม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ผิวใบเรียบผิวหน้าใบไม่มีขนแต่เมื่อสัมผัสจะรู้สึกสากมือ ส่วนหลังใบนุ่มไม่มีขน หรือ มีขนน้อยมาก และมีกาบใบยาว 1.5-2 เซนติเมตร มีขนยาวขึ้นปกคลุม

           ดอกผักปลาบใบแคบ ออกเป็นช่อกระจุก บริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ใน 1 ช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกย่อย 1-3 ดอก ลักษณะของดอกจะมีกลีบดอกรูปหัวใจเป็นสีม่วงน้ำเงิน หรือ สีม่วงคราม 3 กลีบ และมีใบประดับสีเขียวหุ้มช่อดอก เอาไว้ด้านหลังใบประดับจะมีขนยาว ขึ้นปกคลุม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีสีเขียวอ่อนใสถึงสีม่วงอ่อนใสจำนวน 3 กลีบ อับเรณูมี 6 อัน ซึ่ง 4 อัน จะเป็นสีเหลืองสด ส่วนอีก 2 อัน จะเป็นสีม่วงคราม และยอดเกสรเพศเมียเป็นสีม่วงคราม ส่วนก้านเกสรเพศเมีย และก้านชูอับเรณูเป็นสีม่วงอ่อนใส

           ผลผักปลาบใบแคบ เป็นแห้งและแตก ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปไข่ปลายแหลม มีขนาดกว้าง 0.2-0.4 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออกตามพู หรือ ตามตะเข็บ ภายในผลมีช่อง 3 ช่อง แต่ละช่องมีเมล็ด 1-2 เมล็ด โดยเมล็ดจะเป็นสีน้ำตาลลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเมล็ดขรุขระ

ผักปลาบใบแคบ

ผักปลาบใบแคบ

การขยายพันธุ์ผักปลาบใบแคบ

ผักปลาบใบแคบ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการใช้ลำต้นปักชำ แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันไม่นิยมผักปลาบใบแคบมาขยายพันธุ์ เพราะผักปลาบใบแคบมีอัตราการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์รวดเร็วมาก จนกลางเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ส่วนการขยายพันธุ์ของผักปลาบใบแคบ ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ โดยอาศัยเมล็ด และการใช้ไหลขยายพันธุ์ตามธรรมชาติเท่านั้น


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินของผักปลาบใบแคบ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Phytol, Methyl stearate, Carbonic acid, Cyclopentaneundecanoic acid, Cyclopropanedodecanoic acid, Hexadecanoic acid, 1-Phenyl-2-butanone, hydrazide, Octadecanoic acid ส่วนสารสกัดเอทิลอะซิเตทจากต้นของผักปลาบใบแคบพบสาร lyratol F, 4-hydroxybenzoic acid, N-trans-feruloyltyramine, methyl gallate, N-trans-p-coumaroyl-3′,4′-dihydroxyphenylethylamine และ 1,2-dihydro-6,8-dimethoxy-7-hydroxy-1-(3,5-dimethoxy-4-hy-droxyphenyl)-N1,N2-bis-[2-(4-hydroxyphenyl)ethyl]-2,3-naphthalene dicarboxamide

โครงสร้างผักปลาบใบแคบ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักปลาบใบแคบ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดผักปลาบใบแคบ จากส่วนต้น ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดต้นผักปลาบ (Commelina diffusa Burm. f.) ในหลอดทดลองด้วยการทดสอบความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และ α-amylase พบว่าส่วนสกัดเอทิลอะซิเตทต้นผักปลาบใบแคบ มีฤทธิ์ดีที่สุด จึงคัดเลือกส่วนสกัดดังกล่าวมาทำการศึกษาวิเคราะห์สารสำคัญ พบสารสำคัญ 6 ชนิด ได้แก่ 4-hydroxybenzoic acid, methyl gallate, lyratol F, N-trans-feruloyltyramine, N-trans-p-coumaroyl-3′,4′-dihydroxyphenylethylamine และ 1,2-dihydro-6,8-dimethoxy-7-hydroxy-1-(3,5-dimethoxy-4-hy-droxyphenyl)-N1,N2-bis-[2-(4-hydroxyphenyl)ethyl]-2,3-naphthalene dicarboxamide และได้ทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และ α-amylase ของสารสำคัญทั้ง 6 ชนิด พบว่าสาร 1,2-dihydro-6,8-dimethoxy-7-hydroxy-1-(3,5-dimethoxy-4-hy-droxyphenyl)-N1,N2-bis-[2-(4-hydroxyphenyl)ethyl]-2,3-naphthalene dicarboxamide มีฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งเอนไซม์ทั้งสองชนิด ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 61.37±0.83 และ 38.23±1.04 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ และมีฤทธิ์ที่สูงกว่าสารมาตรฐานเปรียบเทียบกับ acarbose ซึ่งพบค่า IC50 ต่อเอนไซม์ทั้งสองชนิดเท่ากับ 210.43±2.78 และ 129.19±3.13 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ในต่างประเทศยังระบุว่าสำคัญต่างๆ ที่พบในผักปลาบใบแคบยังมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน, ขับปัสสาวะ, ลดคลอเรสเตอรอล, ลดไข้, แก้ปวด, แก้อักเสบ, ต้านอนุมูลอิสระ, ต้านการชัก, ฆ่าเชื้อโรค, ปกป้องตับ และต้านฮอร์โมนเอสโตเจนอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักปลาบใบแคบ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ผักปลาบใบแคบ เป็นยาสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ตามขนาด และปริมาณที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ผักปลาบใบแคบ
  1. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, ศุภชัย ติยวรนันท์ และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 6 เภสัชกรรม. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2555. หน้า 90-91
  2. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. “ผักปลาบ”. หน้า 78.
  3. ฤทธิ์ต้านเบาหวานของผักปลาบ, ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. Khan MAA, Islam MT, Sadhu SK. Evaluation of phytochemical and antimicrobial properties of Commelina diffusa Burm. f. Orient Pharm Exp Med. 2011; 11(4):235-241.
  5. Vogel AI (2000) Column and thin layer chromatography. In: MendhamJ, Denney RC (eds) Text book of quantitative chemical analysis,6th edn. Prentice Hall, New Jersey, pp 279–288
  6. Kumari P, Kumari C, Singh PS. Phytochemical Screening of Selected Medicinal Plants for Secondary Metabolites. Int. J Life. Sci. Scienti. Resm. 2017; 3(4):1151-1157.
  7. Karthikeyan AVP, Sudan I, Satheeshkumar R. In vitro regeneration of Commelina diffusa Burm. F. Using nodal explants. World Journal of Pharmaceutical Research. 2018; 7(3):978-986