กรดซิตริก

กรดซิตริก

ชื่อสามัญ Citric acid, 2-hydroxy-1, 2, 3-propane tricarboxylic acid

ประเภทและข้อแตกต่างของกรดซิตริก

กรดซิตริก (citric acid) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พบในพืชหรือชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือ กรดมะนาว ซึ่งที่มาของชื่อนี้เพราะสกัดได้ครั้งแรกจากน้ำมะนาว โดยมีลักษณะทางกายภาพทั่วไป คือ มีลักษณะเป็นผงหรือผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสเปรี้ยว ละลายได้ดีในน้ำและแอลกอฮอล์ สำหรับประเภทของกรดซิตริก นั้น สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ กรดชนิดแอนไฮดรัส (citric acid anhydrous) หรือ ชื่อทางเคมี 2-hydroxy-1, 2, 3-propane tricarboxylic acid, anhydrous ซึ่งเป็นชนิดที่สกัดได้จากพืชธรรมชาติโดยมีสูตรโมเลกุล C6 H8 O7 มีน้ำหนักโมเลกุล 192.124 g/mol มีจุดหลอมเหลว 153 องศาเซลเซียส ส่วนอีกชนิด คือ กรดซิตริกชนิดโมโนไฮเดรต (citric acid monohydrate; hydrous citric acid) หรือ ชื่อทางเคมี 2-hydroxy-1, 2, 3-propane tricarboxylic acid, monohydrate ซึ่งเป็นชนิดที่สังเคราะห์จากน้ำตาลกลูโคสโดยมีสูตรโมเลกุล C6 H8 O7 H2 O มีน้ำหนักโมเลกุล 210.14 g/mol และมีจุดหลอมเหลว 100 องศาเซลเซียส

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของกรดซิตริก

กรดซิตริกเป็นกรดอ่อนที่มีแหล่งที่มาอยู่ 2 วิธี คือ การสกัดจากพืชที่เป็นวัตถุดิบในธรรมชาติที่มีรสเปรี้ยว ในอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและอาหารกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ เช่น น้ำมะนาวเทียม น้ำผลไม้ ลูกกวาด และเจลลี่ จะใช้กรดซิตริกป็นสารให้รสเปรี้ยว อีกทั้งยังใช้กรดซิตริกเป็นสารลดความฝาด ควบคุมความเป็น กรด-เบส ป้องกันการเน่าเสียของเครื่องดื่ม ป้องกันน้ำผลไม้ขุ่นและป้องกันการตกผลึกของน้ำผึ้ง อีกด้วย ซึ่งกรดซิตริกสามารถพบทั่วไปในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะนาว สับปะรด ส้ม องุ่น และ แอปเปิ้ล เป็นต้น โดยเฉพาะมะนาวจะมีกรดซิตริกประมาณร้อยละ 7-9 ซึ่งการสกัดวิธีนี้เริ่มจากการคั้นมะนาวออกมาเป็นน้ำมะนาว จากนั้นนำน้ำมะนาวที่คั้นได้ผสมแคลเซียม ออกไซด์เพื่อให้เกิดเป็นเกลือแคลเซียมซิเตรทแล้วจึงเติมกรดซัลฟิวริก เพื่อท้าให้กรดซิตริก แยกตัวออกมาจากสารละลาย แล้วจึงน้ามาเข้ากระบวนการตกผลึก และ อบแห้ง จะได้เป็นผลึกกรดซิตริกเพื่อนำไปใช้ต่อไป แต่ในปัจจุบันวิธีการสกัดวิธีนี้ นั้นไม่เป็นที่นิยม เพราะจะมีต้นทุนค่าจ่ายค่อนข้างสูง ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือ การสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคสผ่านวิถีไกลโคไลซีส (Glycolysis pathway) หรือการหมักโดยจุลินทรีย์ ซึ่งจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตและสะสมกรดมะนาวได้มีทั้งแบคทีเรีย (Corynebacterium sp. และ Arthobacter parafi neus) ยีสต์ (Candida lipolytica, Saccharomycopsis lipolytica) และเชื้อรา (Aspergillus niger, A. wentil, Mucor pirifomis) เป็นต้น จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการผลตกรดมะนาว คือ เชื้ราที่มีชื่อว่า Aspergillus niger ซึ่งนิยมใช้ในระดับอุตสาหกรรมปัจจุบัน ส่วนวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นแหล่งคาร์บอนในการหมักกรดซิตริก ส่วนใหญ่มักจะเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น แป้ง ไซรัปจากแป้ง (glucose syrup from saccharified starch) น้ำตาล กากน้ำตาลจาก หัวบีท (sugar beet molasses) และกากน้ำตาลจากอ้อย (sugar cane molasses) เป็นต้น

กรดซิตริก

ปริมาณที่ควรได้รับของกรดซิตริก

สำหรับกรดซิตริกซึ่งเป็นกรดที่มีการใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายและได้รับการยอมรับว่าเป็นสารเคมีที่ปลอดภัย และย่อยสลายได้ง่าย จึงสามารถเติมลงในอาหารได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดมาตรฐานปริมาณกรดซิตริก ที่ใช้กับอาหารบางชนิดตามตารางการใช้วัตถุเจือปนอาหารแนบท้ายประกาศสำนักคณะกรรมการอาหาร และยา เรื่องข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 ไว้ดังนี้ ตารางการใช้วัตถุเจือปนอาหาร แนบท้ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 ได้ดังนี้


ประโยชน์และโทษของกรดซิตริก

กรดซิตริกเป็นกรดอ่อนที่พบได้ในผักและผลไม้ดังนั้นจึงมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย และมีความปลอดภัยสูงโดยในปัจจุบันได้มีการนำกรดซิตริกมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง หรือในอุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมยา ดังนี้

           นอกจากนี้ยังมีการนำกรดซิตริก มาใช้เพื่อให้อาหารคงตัวดีและควบคุมความเป็นกรดด่าง เช่น การทำแยม เยลลี่ เพื่อให้อาหารมีสีตามต้องการ เช่น น้ำกระเจี๊ยบจะมีสีแดงสดเมื่อมีความเป็นกรดสูงพอดี ถ้าความเป็นกรดต่ำลง คือ มีความเป็นด่างมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน  เพื่อป้องกันการเกิดสีน้ำตาลในผักผลไม้ที่ปอกเปลือกหรือหั่นแล้ว ซึ่งเมื่อจุ่มหรือ แช่ผัก-ผลไม้ เหล่านั้นในสารละลาย กรดซิตริกหรือน้ำมะนาวจะป้องกันการเกิดสารสีน้ำตาลได้ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหารให้สามารถคงสภาพได้นานขึ้น และช่วยยับยั้ง การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ในด้านอุตสาหกรรมยาเนื่องจากกรดซิตริกมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ของเภสัชวิทยาแบบว่ามีสรรพคุณในการรักษา ควบคุมและป้องกันโรคต่างๆ เช่น นิ่วในไต ปัญหากระเพาะอาหาร และกรดซิตริกยังมีคุณสมบัติในการควบคุมความเป็น กรด-ด่าง จึงสามารถใช้เป็นสารเพิ่มรสชาติและใช้เป็นตัวทำละลายในยาเพื่อให้ยาเกิดการแตกตัวและกระจายตัวได้ดีขึ้น จึงนิยมนำมาผสมกับยาบางชนิด เช่น กรดซิตริกยังใช้เป็นส่วนผสมในยาต้านการแข็งตัว ยารักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น ในด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีการใช้กรดซิตริกผสมให้อยู่ในรูปของครีม โทนเนอร์ แผ่นมาร์กหน้า โดยกรอซิตริกจะช่วยในเรื่องรักษาปัญหาสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ ช่วยในการฟื้นฟูสภาพผิว ช่วยลดปัญหาการอุดตันของรูขุมขน ช่วยลดริ้วรอยและรอยแผลเป็น ช่วยขจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ มีฤทธิ์ทำความสะอาดผิวและช่วยรักษาริ้วรอยบนผิวได้ ส่วนในด้านอุตสาหกรรมการเกษตรจะนิยมนำกรดซิตริกมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมในปุ๋ยน้ำหรือฮอร์โมนพืช เพื่อละลายไขมันที่เคลือบผิวใบ ทำให้สามารถดูดซึมสารต่างๆ ผ่านใบได้มากขึ้น และใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหมักชีวภาพ สำหรับฉีดพ่น เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อราในพืช นอกจากนี้กรดซิตริกยังสามารถใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์หรืออาหารเสริมของสัตว์เพื่อเพิ่มเป็นกรดและช่วยยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของกรดซิตริก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้กรดซิตริกในอาหาร ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงคุณสมบัติของกรดซิตริกที่มีต่ออาหารชนิดต่างๆ ดังนี้ มีงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรได้ทำการวิจัยเรื่องผลของวัตถุกันเสียบางชนิด (Preservatives) ที่มีผลต่อการยืดอายุการเก็บรักษาลำไยส่ออก โดยการทดลองเบื้องต้นในปีแรก นั้นเป็นการนำวัตถุกันเสียมาทดลองดูผลต่อการลดการเกิดโรคผลลำไย สดในตะกร้าพลาสติกขนาด 3 กิโลกรัม โดยวิธีการจุ่มนาน 10 นาที ผึ่งให้แห้งและเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ 5oC ความชื้นสัมพัทธ์ 95% พบว่าเมื่อเก็บรักษาผ่านไป 10 วัน ผลลำไยที่จุ่มในวัตถุกันเสียทุกชนิดสีผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอย่างรวดเร็วกว่าชุดควบคุม (จุ่มในน้ำกลั่น) เนื่องจากอาการสะท้านหนาว และ phytotoxic ของสารกบผลลำไย ต่อมาได้คัดเลือกชนิดของวัตถุกันเสียมาทดสอบเพิ่มเติมที่อุณหภูมิห้อง โดยการจุ่มนาน 5 นาที และบรรจุใส่กล่องโฟมหุ้มด้วยฟิล์มพีวีซีหนาที่ 11 ไมครอนพบว่าภายหลังเก็บรักษาผ่านไป 3 วัน โซเดียมเบนโซเอตเข้มข้น 0.3% สามารถลดการเกิดโรคได้ดีแต่สีผิวก็ยังเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอย่างรวดเร็ว และการสูญเสียน้ำหนักก็มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าชุดควบคุม ต่อมาจึงทำการศึกษาสารเคลือบผิวไคโตซานที่ละลายด้วยกรดอินทรีย์คือ กรดซิตริกเข้มข้น 3% สามารถช่วยลดการเปลี่ยนสีน้ำตาลได้ดีเนื่องจากช่วยชะลอการสูญเสียน้ำหนัก และได้ศึกษาการนำมาใช้ร่วมกับโซเดียมเบนโซเอต เพื่อให้สามารถควบคุมได้ทั้งการเปลี่ยนสีน้ำตาลและการเกิดโรค พบว่าหลังสิ้นสุดปีแรกการใช้โซเดียมเบนโซเอตเข้มข้น 0.3% ผสมในไคโตซานที่ละลายด้วยกรดซิตริกเข้มข้น 3% สามารถใช้ชะลอการเกิดโรคและการเปลี่ยนสีน้ำตาลได้ และยังมีการศึกษาการทำผลไม้บรรจุกระป๋องโดยเติมกรดซิตริกเพื่อช่วยปรับกรดในผลไม้บรรจุกระป๋อง จากสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ได้ทำการศึกษาสูตรและกรรมวิธีการผลิตลำไยสอดไส้มะม่วงในน้ำเชื่อม และลำไยในน้ำส้มบรรจุกระป๋อง ได้กรรมวิธีที่เหมาะสม คือ สูตรน้ำเชื่อมที่ใช้ผลิตลำไยสอดไส้มะม่วงในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง ประกอบด้วยน้ำตาล ร้อยละ 27.65 กรดซิตริก ร้อยละ 0.35 และน้ำร้อยละ 72 ส่วนสูตรน้ำส้มปรุงรสที่ใช้ในการผลิตลำไยในน้ำส้มบรรจุกระป๋องประกอบด้วย น้ำส้มคั้น ร้อยละ 80 น้ำตาลร้อยละ 19.3 กรดซิตริก ร้อยละ 0.2 และเกลือ ร้อยละ 0.5 ส่วนระยะเวลาในการฆ่าเชื้อของผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิด ใช้น้ำอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียสขึ้นไป ในเวลา 25-30 นาที ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีคุณภาพด้านกายภาพและเคมี ประสาทสัมผัส จุลชีววิทยาและปริมาณโลหะหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกรดซิตริก ดังนี้ มีผลการศึกษาวิจัยระบุว่าน้ำมะนาวมีกรดซิตริกซึ่งช่วยลดระดับของแคลเซียมในปัสสาวะจึงสามารถ ป้องกันการเกิดนิ่วในไตได้ แต่ไม่ได้ช่วยรักษาโรคไต และการกินน้ำมะนาวหรือผลไม้พวกส้มปริมาณมากในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยมีการศึกษาผลของการใช้ผงมะนาว เป็นอาหารเสริมเพื่อช่วยบรรเทาอาการผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ป่วยโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ (urolithiasis) จำนวน 74 คน ทั้งเพศชายและหญิง โดยทำการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่ม และปกปิด 2 ทาง (randomized and double-blind clinical trial) ซึ่งได้ทำการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (36 คน, อายุเฉลี่ย 46.4±10.5 ปี) ให้รับประทานผงมะนาวเป็นอาหารเสริมวันละ 5 ก. [ประกอบด้วย ซิเตรต/กรดซิตริก 63 มิลลิอิควิวาเลนต์ (mEq) และโพแทสเซียม 21 mEq] นานติดต่อกัน 6 เดือน ส่วนกลุ่มที่ 2 (38 คน, อายุเฉลี่ย 46.2±9.0 ปี) ได้รับยาหลอก (placebo) ผลจากการศึกษาพบว่า การรับประทานผงมะนาวเป็นอาหารเสริมทำให้ค่า pH ของปัสสาวะเพิ่มขึ้น การขับซิเตรตและโพแทสเซียมออกมากับปัสสาวะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลลดระดับแคลเซียมและออกซาเลตในปัสสาวะ และลดปริมาณโปรตีนคาร์บอนิลในเลือด ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการตกผลึกของสารก่อนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ และเพิ่มค่าการต้านอนุมูลอิสระในปัสสาวะ (urinary total antioxidant status) และการรับประทานผงมะนาวยังทำให้ค่าดัชนีภาวะอิ่มตัวยิ่งยวดของปัสสาวะ (urinary supersaturation index) ซึ่งบ่งชี้ถึงการเกิดโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะมีค่าลดลง และไม่พบรายงานการเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ แสดงให้เห็นว่า การรับประทานผงมะนาวเป็นอาหารเสริมสามารถยับยั้งการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำได้

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยว่ากรดซิตริก (Citric acid) ในมะนาวซึ่งเป็นกรดที่มีรสเปรี้ยวจะกระตุ้นให้มีการขับน้ำลายออกมาซึ่งจะทำให้ชุ่มคอ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ ส่วนการศึกษาข้อมูลความเป็นพิษของกรดซิตริกนั้น มีการศึกษา ความเป็นพิษเฉียบพลัน (ทางปาก ทางผิวหนัง ทางการหายใจ) (Acutetoxicity) พบว่า citric acid มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่อ (low acute toxicity) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ Acute oral toxicity: มีค่า oral LD50 in rat = 3,000-12,000mg/kg มีค่า oral LD50 in mouse = 5,400 mg/k) มีค่า lowest lethal dose (oral) in rabbit = 7,000 mg/kg และเมื่อทดสอบด้วยการให้ citric acid ทาง subcutaneous (SC) พบว่า มีค่า LD50 in rat = 5,500 mg/kg มีค่า LD50 in mouse = 2,700 mg/kg และจากฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี (chemtrack) พบว่า citric acid มีค่า LD50 ในเยื่อบุช่องท้อง ดังนี้  มีค่า LD50 in rat = 290 mg/kg มีค่า LD50 in mouse = 903 mg/kg มีค่า LD50 ในหลอดเลือดดำ ดังนี้ มีค่า LD50 in mouse = 42 mg/kg มีค่า LD50 in rabbit = 330 mg/kg ส่วนการศึกษาในมนุษย์พบว่า เมื่ออาสาสมัครได้รับ potassium หรือ magnesium citrate ทางปากในขนาดเท่ากับ citric acid ประมาณ 4.7 g พบว่า citric acid ไม่ได้ก่อให้เกิด gastrointestinal effect อย่างชัดเจน และความเข้มข้นต่ำที่สุดที่มนุษย์ได้รับ citric acid ทางการสูดดมแล้วกระตุ้นให้เกิดอาการไอ จะอยู่ในช่วง 0.5-32 mg/ml นอกจากนี้ในการศึกษาวิจัยการก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cell mutagenicity) พบว่าจากข้อมูลผลการศึกษา genetic toxicity ทั้ง in vitro และ in vivo test พบว่า การศึกษาส่วนใหญ่ได้ผลเป็น negative กล่าวคือ citric acid ไม่ได้มีคุณสมบัติ mutagenic

กรดซิตริก

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่ากรดซิตริกจะเป็นกรดที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายและมีการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยระบุว่ามีความเป็นพิษต่ำมากแต่อย่างไรก็ตาม การใช้และบริโภคกรดซิตริกก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สารชนิดอื่นๆ และควรระลึกดสมอว่าการบริโภคทุกสิ่งที่พอเหมาะพอดีจะทำให้เราได้รับประโยชน์ ซึ่งหากบริโภคอาหารที่มีกรดซิตริก มากเกินไปก็อาจจะเกิดการจุกเสียดแน่นท้องเนื่องจากมีกรดในกระเพาะอาหารมาก และที่สำคัญกรดซิตริกไม่สามารถช่วยรักษาโรคไตได้อย่างที่ผู้ป่วยโรคไตหลายคนเข้าใจ ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตที่รับประทานน้ำมะนาว ที่หวังจะช่วยรักษาโรคไตควรหยุดการรับประทานเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

เอกสารอ้างอิง กรดซิตริก
  1. อภิษฐา ช่างสุพรรณ. กรดซิตริก: สารเคมีใกล้ตัวที่ควรรู้. วารสารวิทยาศาสตร์บริการ ปีที่ 57. ฉบับที่ 180 พฤษภาคม 2552. หน้า 7-10
  2. อุษา ภูคัสมาส. บทบาทของกรดซิตริก ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม. วารสารอาหารปีที่ 40. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2553. หน้า 282-288
  3. การใช้ผงมะนาวเป็นอาหารเสริมเพื่อบรรเทาอาการของโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. รายละเอียดข้อมูลสารเคมีชีวภาพ ประเภทกรดซิตริก (Citric acid). รายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ โดยการเพิ่มศักยภาพฐานข้อมูลอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. 11 หน้า
  5. นภพรรณ นันทพงษ์ 2543. วัตถุเจือปนอาหาร. โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. 192 หน้า.
  6. ศิวพร ศิวเวช. วัตถุเจือปนอาหาร เล่ม1.กรุงเทพมหานคร :มปท., 2546. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกรดซิทริก. มอก.464-2544.
  7. วราภา มหากาญจนกุล และปรียา วิบูลย์เศรษฐี 2548. ความปลอดภัยอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 114 หน้า.
  8. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) CITRIC ACID, ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี. Available from:http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=00566&CAS=&Name=
  9. Organization for Economic Co-operation and Development. OEDC SIDS Initial Assessment Report for 11th SIAM, CITRIC ACID. Available from: http://www. inchem.org/documents/sids/sids/77929.
  10. Dhillon, G. S., Brar, S. K., Verma, M., & Tyagi, R. D. (2011). Recent advances in citric acid bio-production and recovery. Food and Bioprocess Technology, 4(4) , 505-529.
  11. Fiume MM, Heldreth BA, Bergfeld WF, et al. Safety assessment of citric acid, inorganic citrate salts, and alkyl citrate esters as used in cosmetics. Int J Toxicol. 2014; 33(2):16-46.