ชมพู่น้ำดอกไม้ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ชมพู่น้ำดอกไม้ งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ชมพู่น้ำดอกไม้
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะซามุด, มะห้าคอกลอก (ภาคเหนือ), มะน้ำหอม (ภาคอีสาน), ชมพู่น้า, ยาบู่ปะนาว่า (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium jambos (L.)Alston
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eugenia jambos Linn
ชื่อสามัญ Rose apple
วงศ์ MYRTACEAE
ถิ่นกำเนิดชมพู่น้ำดอกไม้
ชมพู่น้ำดอกไม้ จัดเป็นพันธุ์ไม้ ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์มาจากอินเดีย และเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศไทย โดยมีถิ่นกำเนิดกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทสไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณชายป่า หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป แต่ปัจจุบันมีการนำมาปลูกตามบ้านเรือน หรือ เรือกสวนไร่นามากขึ้น
ประโยชน์และสรรพคุณชมพู่น้ำดอกไม้
- แก้เบาหวาน
- แก้ท้องเสีย
- แก้โรคบิด
- แก้ท้องร่วง
- เป็นยาบำรุงหัวใจ
- ใช้เป็นยาชูกำลัง
- แก้ลมปลายไข้
- เป็นยาลดไข้
- แก้บิด
- แก้ตาอักเสบ
- ใช้ล้างแผลสด
- รักษาโรคผิวหนัง
- แก้ผื่นคัน
เนื่องจากชมพู่น้ำดอกไม้เป็นพืชพื้นถิ่นของไทย ดังนั้นจึงมีการนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยประโยชน์หลักๆ คือ การนำมารับประทานเป็นผลไม้ ซึ่งผลสุกของชมพู่น้ำดอกไม้ มีกลิ่นหอมและมีรสหวานกรอบ อีกทั้งยังมีสีสันสวยงามมาก อีกทั้งในปัจจุบันชมพู่น้ำดอกไม้ยังเป็นพันธุ์ไม้หายากที่มีการประกาศให้อนุรักษ์เอาไว้ จึงทำให้ผลและต้นกล้ามีราคาแพง จึงเริ่มมีการเพาะต้นกล้าจำหน่าย ในส่วนของเปลือกต้น นำมาสกัดเป็นสารที่ให้สีน้ำตาลได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้บำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาชูกำลัง โดยนำผลสุกมารับประทานสดๆ หรือ นำไปปรุงกับตัวยาชนิดอื่นก็ได้
- ใช้แก้เบาหวาน แก้ท้องเสีย ท้องร่วง แก้บิด โดยนำส่วนของเปลือกต้น หรือ เมล็ดมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาตากแห้งชงดื่มแบบชาก็ได้
- ใช้ลดไข้ โดยนำใบสดมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำใบสดมาตากให้แห้งแล้วจึงมาชงดื่มก็ได้
- ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน โดยนำใบสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้ล้างแผลสด โดยนำใบมาต้มกับน้ำแล้วนำน้ำที่ได้มาล้างแผล
ลักษณะทั่วไปของชมพู่น้ำดอกไม้
ชมพู่น้ำดอกไม้ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีอายุยืนยาว 20-40 ปี ทรงพุ่มทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 10 เมตร ลำต้นสูงตั้งตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบแตกกิ่งก้านมากพอสมควร โดยจะแตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ส่วนปลายต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่มเรียวแหลม
ใบชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นใบเดี่ยว (simple leaf) ออกเรียงตรงข้ามใบมีลักษณะเป็นรูปหอก (lanceotate) กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 12-17 เซนติเมตร โคนใบมนรีปลายใบแหลมค่อนข้างยาว (very acuminate) ขอบใบเรียบแผ่นใบหนาเป็นมันสีของใบด้านบนสีเขียว และจะมีสีคล้ำกว่าด้านล่าง เส้นใบเป็นแบบก้างปลา มี 10-17 คู่
ดอกชมพู่น้ำดอกไม้ ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะโดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อย 3-8 ดอก ขนาดของดอกย่อยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เซนติเมตร มีลงของกลีบเลี้ยง (corolla) สีขาว 4 อัน และมีเกสรตัวผู้สีขาวจำนวนมาก โดยเกสรตัวผู้วงที่อยุ่นอกสุดจะมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ส่วนแถวที่อยู่ด้านในยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร สำหรับก้านเกสรตัวเมีย ส่วนโคนจะเป็นสีเหลืองอ่อน ตอนปลายจะเป็นสีเขียวอ่อนยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่งหอมอ่อนๆ
ผลชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นผลสด โดยจะออกเป็นช่อในแต่ละช่อจะมีผลเป็นเดี่ยว มีลักษณะเกือบกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร ในส่วนของปลายผลจะมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 4 กลีบ ผลดิบเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่สุกแล้วจะเป็นสีเขียวอ่อน หรือ สีเหลืองทอง ภายในผลกลวงเนื้อด้านในบางกรอบเป็นสีขาวนวล หรือ สีเขียวอ่อน มีกลิ่นหอมคล้ายกับดอกกุหลาบ ดอกนมแมว มีรสหวานหอม เมล็ดอยู่ด้านในผลมีสีน้ำตาล โดยจะมีจำนวน 1-4 เมล็ดต่อผล มีลักษณะกลม สำหรับในผลที่มี 2 เมล็ดขึ้นไป จะมีลักษระต่างๆ กัน แต่จะรวมกันอยู่ในลักษระเมล็ดกลมดูคล้ายกับเป็นเมล็ดเดียว
การขยายพันธุ์ชมพู่น้ำดอกไม้
ชมพู่น้ำดอกไม้สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง โด่ยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งชมพู่น้ำดอกไม้ สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับพันธุ์ไม้อื่นๆ ส่วนวิธีปลูกนั้นควร ขุดดินให้ลึก กว้าง 50 เซนติเมตร ระยะห่าง 4x4 เมตร แล้วนำเมล็ด หรือ กิ่งตอนของชมพู่น้ำดอไม้ที่เตรียมไว้ลงปลูก เกลี่ยดินกลบ รดน้ำให้ชุ่ม แล้วใช้ฟางข้าว หรือ ใบตองมาปิดโคนตันเพื่อช่วยเก็บความชื้น หากเป็นกิ่งตอนให้ทำไม้ปักยึดผู้กับต้น เพื่อป้องกันการโค่นล้ม จากนั้นควรรดน้ำ 2 วัน ครั้ง ทั้งนี้ชมพู่น้ำดอกไม้เป็นไม้ผลที่ชอบน้ำ ดังนั้นจึงควรปลูกในที่ๆ ชุ่มชื้น เช่น ริมคลอง ริมหนอง
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี จากส่วนต่างๆ ของชมพู่น้ำดอกไม้ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น ส่วนผลพบสาร Quercetin, Rutin, Gallic acid, Cinnamic acid, Quercetin 3-O-glucuronide, Myricetin 3-O-glucoside ส่วนใบพบสาร Tellimagrandin, Limagrandin I, Strictinin, Casuarictin, Oleanolic acid, Betulinic acid, Friedelin, Jambone A-G, Kaempferol, Myrigalone B, Caffeic acid, Chlorogenic acid, Rosmarinic acid rhamnoside, Gallic acid, Cinnamic acid ส่วนเปลือกต้นพบสาร Asiatic acid, Arjunolic acid, Morolic acid 3-o-caffeate, Castalagin, Vescalagin, Phyllanthusiin G, Casuariin, Ellagic acid, B-Sitosterol, B-Amyrin acetate, Lupeol,Ursolic acid ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆ ของชมพู่น้ำดอกไม้พบสาร Phenylacetic acid, Hexanal, Geraniol, Citronellol, Hotrienol, Viridiflorol, Ledol, A-humulene, B-bisabolene, Neophytadiene นอกจากนี้ผลสุกของชมพู่น้ำดอกไม้ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของผลชมพู่น้ำดอกไม้สุก (100 กรัม)
- พลังงาน 25 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 5.7 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- โปรตีน 0.3 กรัม
- วิตามินA 17 ไมโครกรัม
- วิตามินบB1 0.02 มิลลิกรัม
- วิตามินB2 0.03 มิลลิกรัม
- วิตามินB3 0.8 มิลลิกรัม
- วิตามินC 22.3 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 29 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.07 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 5 มิลลิกรัม
- แมงกานีส 0.029 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 8 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 123 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.06 มิลลิกรัม
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของชมพู่น้ำดอกไม้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากเปลือกต้น ผลและน้ำมันหอมระเหยจากใบของชมพู่น้ำดอกไม้ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ ดังนี้
ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดอะซิโตน และน้ำจากเปลือกต้นของชมพู่น้ำดอกไม้ (Syzygium jambos ( L.) Alston พบว่า สารสกัดทั้ง 2 ชนิด แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus, Yersinia enterocolitica, Staphylococcus hominis, Staphylococcus cohnii และ Staphylococcus warneri โดยพบว่าสารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ในการต้านเชื้อต่างๆ ดังกล่าว คือ สารแทนนิน ที่มีปริมาณมากถึง 77% ในสารสกัดจากน้ำและ 83% ในสารสกัดจากอะซิโตน
ฤทธิ์ลดไขมัน มีรายงานการศึกษาทดสอบแยกสารและวิเคราะห์สารอนุพันธ์ alkylphenol จากผลชมพู่น้ำดอกไม้ (Syzygium jambos) ระบุว่าพบสารกลุ่ม cardanols และสารกลุ่ม alkylresorcinols จึงนำไปทำการทดสอบฤทธิ์ในการลดไขมันในระดับเซลล์ พบว่าสาร cardanols 1 และ 2 (ความเข้มข้น 10-40 ไมโครโมลาร์) มีฤทธิ์ยับยั้งการสะสมของไขมันและลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ HepG2 ที่มีการเพิ่มกรดไขมัน oleic (oleic acid-overloaded HepG2 cells) ผ่านการกระตุ้นการส่งสัญญาณวิถี AMPK/PPARα นอกจากนี้ยังทดสอบการกระจายตัวของสาร cardanols ในหนูเม้าส์ พบว่า compound 2 สามารถตรวจพบได้ในเลือด อุจจาระและเซลล์ไขมันของหนูเม้าส์ หลังจากให้สาร (80 มก./กก.นน.ตัว) ทางปากและจากการเตรียมสารสกัดมาตรฐานจากผลชมพู่น้ำดอกไม้ที่มีสาร alkylphenol ในปริมาณสูงพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ 2 ชนิด ได้แก่ compounds 1 และ 2 (95.9 และ 198.6 มคก./มก. ตามลำดับ)
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase มีรายงานการศึกษาวิจัยน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากใบของพืชในวงศ์ Myrtaceae จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ยูคาลิปตัส, แปรงล้างขวด, ฝรั่ง, เสม็ดขาว, หว้า และชมพู่น้ำดอกไม้ โดยนำมาศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากแปรงล้างขวด มีฤทธิ์ดีที่สุด (71.77±2.11%) รองลงมา คือ ยูคาลิปตัส (47.65±2.26%), ฝรั่ง (24.96±2.38%), เสม็ดขาว (21.18±0.54%), หว้า (19.97±1.10%) และชมพู่น้ำดอกไม้ (13.78±1.52%) ตามลำดับ
นอกจากนี้ในการศึกษาวิจัยในต่างประเทศยังระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของชมพู่น้ำดอกไม้อีกเช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเบาหวาน ต้านการอักเสบ ปกป้องตับ และช่วยเสริมสร้างระบบประสาทอีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของชมพู่น้ำดอกไม้
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับในการใช้ชมพู่น้ำดอกไม้เ ป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ชมพู่น้ำดอกไม้
- มนู โป้งสมบูรณ์ และ จุไรรัตน์ แสงสวัสดิ์. 2539. ชมพู่น้ำดอกไม้. เคหะการเกษตรปีที่ 20 ฉบับ 4 เมษายน น. 53-55.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ชมพู่น้ำดอกไม้”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 หน้า 242-243.
- กลุ่มเกษตรสัญจร. 2531. ชนิดของชมพู่. ชมพู่. สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม, 101/51 ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี. 11120. น.7-8.
- ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, พ.ศ.2549
- ฤทธิ์ต้านจุลชีพจากเปลือกต้นชมพู่น้ำดอกไม้. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ดารณี ปัญญาอเนกกูร. 2518. ศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ชมพู่บางพันธุ์. หนังสือไม้ผล. ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ น.24.
- ฤทธิ์ของผลชมพู่น้ำดอกไม้ต่อการลดไขมันในระดับเซลล์. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฐาปนา จันทรส, สิรภาพ วาปีกิจเจริญ. ชมพู่น้ำดอกไม้.ปัญหาพิเศษปริญญาตรี ภาควิชาพืชสวน คณะเทคโนโลยีการเกษตรสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. 2541. 28 หน้า
- ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase ของน้ำมันหอมระเหยจากพืชในวงศ์ Myrtaceae. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Lin, D. D., Liu, J. W., Li, W. G., Luo, W., Cheng, J. L., and Chen, W. W. (2014).Chemical Constituents from Stems of Syzygium Jambos Var. Jambos and TheirIn Vitro Cytotoxicity. Chin. Trad. Herb. Drugs 45 (17), 1993–1997.
- Musthafa, K. S., Sianglum, W., Saising, J., Lethongkam, S., and Voravuthikunchai,S. P. (2017). Evaluation of Phytochemicals from Medicinal Plants of MyrtaceaeFamily on Virulence Factor Production by Pseudomonas aeruginosa.Apmis 125(5), 482–490.
- Bonfanti, G., Bitencourt, P. R., Bona, K. S., Silva, P. S., Jantsch, L. B., Pigatto, A. S.,et al. (2013). Syzygium Jambos and Solanum Guaraniticum Show SimilarAntioxidant Properties but Induce Different Enzymatic Activities in theBrain of Rats. Molecules 18 (8), 9179–9194.
- Slowing, K., Söllhuber, M., Carretero, E., and Villar, A. (1994). FlavonoidGlycosides from Eugenia Jambos. Phytochemistry 37 (1), 255–258