ถั่วเหลือง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ถั่วเหลือง งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ถั่วเหลือง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ถั่วแระ, ถั่วพระเหลือง (ภาคกลาง), ถั่งเน่า (ภาคเหนือ), ถั่งเหลียง (ภาคอีสาน), เถ๊าะหน่อ (กะเหรี่ยง), เฮ็กตั่วเต่า, อึ่งตั๋วเต่า (จีน), โชยุ (ญี่ปุ่น)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Glycine max (L.) Merr.
ชื่อสามัญ Soybean FABOIDEAE
วงศ์ FABOIDEAE - LEGUMINOSAE

ถิ่นกำเนิดถั่วเหลือง 

ถั่วเหลืองจัดเป็นพืชที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลกโดยเชื่อกันว่ามีหลักฐานจารึกเกี่ยวกับถั่วเหลืองมากกว่า 5000 ปี มาแล้ว ในประเทศจีน บริเวณหุบเขาแม่น้ำเหลือง จากนั้นจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง และกระจายพันธุ์ไปในทวีปยุโรป และอเมริกาประมาณปี พ.ศ.2143 และปี พ.ศ.2347 ตามลำดับ สำหรับในประเทศไทย เชื่อกันว่าถั่วเหลือง ได้กระจายพันธุ์เข้ามาโดยชาวจีนอพยพในสมัยกรุงศรีอยุธยา (แต่ไม่มีบันทึกหลักฐาน) และในปี พ.ศ.2473 จึงมีการแนะนำให้เกษตรกรปลูกในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ในปัจจุบันถั่วเหลืองของไทยมีการปลูกกันมากในแถบภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน

ประโยชน์และสรรพคุณถั่วเหลือง

  • ใช้บำรุงโลหิต
  • แก้ปวดศีรษะ
  • ขับปัสสาวะ
  • แก้เหงื่อออกมา
  • ช่วยรักษาแผลเปื่อย แผลเน่า
  • ช่วยบำรุงเลือด
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยฟื้นไข้
  • ช่วยขับร้อน ถอนพิษ
  • แก้ตานขโมย
  • ใช้เป็นยาระบายหล่อลื่นลำไส้
  • แก้อาการร้อนวูบวาบในสตรีหมดประจำเดือน
  • แก้พิษเฉียบพลันในสตรีมีครรภ์
  • ใช้แก้รักษาเลือดออก
  • แก้แผลงูกัด
  • แก้พิษงู
  • ใช้รักษาต้อกระจก (ดอก)

           ถั่วเหลืองใช้เป็นอาหาร มีการนำเมล็ดถั่วเหลืองที่ไม่แก่ หรือ สุกเต็มที่มาต้มรับประทานที่เรียกกันว่าถั่วแระ ซึ่งจะให้รสชาดหวานมัน และมีประโยชน์อย่างมาก หรือ นำถั่วเหลืองที่แก่จัดมาใช้ทำเป็นอาหารคาวหวานต่างๆ เช่น ซุปถั่ว ทอดมันถั่วเหลือง ผัดถั่วเหลืองเต้าหู้เห็นหอม น้ำเต้าหู้ หม้อแกงถั่ว และขนมถั่วกวน เป็นต้น หรือ ถั่วบางพันธุ์มีเมล็ดโตใช้บรรจุกระป๋อง เมื่อเมล็ดสุกแล้วก็ใช้ทำถั่วงอกซึ่งให้ลักษณะต้นถั่วงอกคล้ายถั่วเขียว หรือ อาจใช้หมักทำเต้าเจียว เต้าหู้ ซีอิ้ว หรือ อาจใช้ผลิตเป็นแป้งแล้วปรับปรุงให้เป็นเนื้อคล้ายเนื้อสัตว์ซึ่งเรียกว่าเนื้อเทียม โดยอาจทำให้มีลักษะเป็นเนื้อไก่ วัว ไก่งวง แฮม เบคอน ฯลฯ ก็ได้ นอกนั้นแป้งถั่วเหลืองใช้ผสม หรือ ปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น ทำขนมต่างๆ อาหารทารก ฯลฯ นอกจากนี้ถั่วเหลืองยังมีน้ำมันซึ่งสามารถสกัดจากถั่วเหลือง ใช้เป็นน้ำมันในการปรุงอาหาร หรือ ทำมาการีน และน้ำสลัด เป็นต้น

           ใช้ในทางอุตสาหกรรม ถั่วเหลืองยังสามารถใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้ เช่น ผลิตกาว ใช้เป็นส่วนผสมยาฆ่าแมลง สี ปุ๋ย กระดาษ ผ้าฉนวนไฟฟ้า หมึกพิมพ์ สบู่ เครื่องสำอาง เบียร์ เส้นใย วิตามิน และยาต่างๆ ซึ่งถั่วเหลืองนั้นอาจเป็นส่วนสำคัญของผลิตภัณฑ์ หรือ เป็นส่วนประกอบที่ช่วยให้มีคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ดีขึ้น

           ในด้านเกษตรกรรม ถั่วเหลืองจัดเป็นพืชบำรุงดิน เมื่อไถกลบถั่วเหลืองลงไปในดินก่อนที่ถั่วเหลืองจะแก่ ก็จะเป็นปุ๋ยพืชสดที่ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และมีคุณสมบัติดี นอกจากนี้กากของถั่วเหลืองยังสามารถใช้เลี้ยงสัตว์ หรือ ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย

ถั่วเหลือง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้บำรุงเลือดบำรุงกำลัง ช่วยฟื้นไข้ ช่วยขับร้อน สลายน้ำ แก้ตานขโมย ใช้เป็นยาระบาย โดยใช้เมล็ดของถั่วเหลือง มาประกอบอาหารคาว-หวานรับประทาน ใช้ขับปัสสาวะ โดยใช้เมล็ดแห้ง 30-90 กรัม หรือ ใช้เปลือกเมล็ดแห้ง 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงโลหิต แก้ปวดศีรษะ แก้เหงื่อออกมาก โดยใช้เปลือกถั่วเหลือง แห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้เลือดออกโดยใช้สดมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้แผลงูกัด แก้พิษงู โดยใช้ใบสดมาตำพอกวันละ 3 ครั้ง บริเวณที่โดนกัด


ลักษณะทั่วไปของถั่วเหลือง
  

ถั่วเหลืองจัดเป็นไม้พุ่มแตกแขนงค่อนข้างมาก ลำต้นตั้งตรง และมีความสูงประมาณ 30-150 เซนติเมตร สีเขียว หรือ สีเขียวอมเหลืองมีขนปกคลุมอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ต้นถั่วเหลือง ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ชนิดทอดยอด คือ ประเภทที่ช่อดอกไม่เกิดที่ยอดของลำต้นแต่จะเกิดตามมุมของใบ และชนิดไม่ทอดยอด คือ ประเภทที่ช่อดอกเกิดเป็นกลุ่มที่ยอดของลำต้น ราก เป็นระบบรากแก้ว (tap root system) โดยอาจหยั่งลึกถึง 50-100 เซนติเมตร (แต่ทั่วๆ ไประบบรากจะอยู่ในความลึก 30-45 ซม. จากระดับผิวดิน) ซึ่งตามรากจะพบปม (nodule) ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียพวก Rhizobium japonicum เข้าไปอาศัยอยู่  ใบ เป็นแบบเรียงสลับ บนลำต้น แต่ใบจริงคู่แรกเป็นใบเดี่ยว (simple leaf) และใบที่เกิดต่อๆ มาเป็นใบรวม (compound leaves) มีขนาดรูปร่างต่างกัน มักเป็นแบบมีใบย่อย 3 ใบ มีก้านใบรวมยาว 5-10 ซม. ส่วนก้านของใบย่อย ใบกลางยาวกว่าก้านของใบย่อยอีก 2 ใบ ตรงโคนก้านใบทุกชนิดมีข้ออ่อนเรียก pulvinus ใบมีรูปร่างหลายแบบเช่นรูปไข่ (ovate) จนถึงเรียวยาว (lanceolate) ใบสีเขียวแต่จะมีขนสีเทา หรือ สีน้ำตาลปกคลุมอยู่ทั่วไป ส่วนมากใบจะร่วงเมื่อผลเริ่มแก่ และเมื่อผลถั่วเหลือง แก่เต็มที่ใบจะร่วงหมด ดอก ออกเป็นช่อ แบบกระจะโดยจะเกิดตามมุมของก้านใบ หรือ ที่ยอดของลำต้นดังได้กล่าวมาแล้ว ในช่อดอกหนึ่งๆมีดอกตั้งแต่ 3-15 ดอก มีวีขาวหรือสีม่วง และเมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 3-8 มม. ซึ่งดอกสีขาวจะเป็นลักษณะด้อย (recessive) ผลออกเป็นฝักซึ่งจะเกิดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-10 ฝัก ฝักเป็นรูปรีปลายแหลมสีเขียวมีความยาว 2-7 เซนติเมตร และมีขนสีเทา หรือ สีน้ำตาลปกคลุมอยู่ ในฝักมีเมล็ด 1-3 เมล็ด เมื่อฝักแก่จะมีสีน้ำตาล และมักตกอ้าออกซึ่งจะทำให้เมล็ดร่วงออกมาได้ เมล็ด เมล็ดมีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน โดยอาจมีรูปร่างตั้งแต่กลมรีจนถึงยาว และอาจมีสีเหลือง เขียว น้ำตาล และดำ

ถั่วเหลือง 

ถั่วเหลือง

การขยายพันธุ์ถั่วเหลือง

การเตรียมดิน ไถดินให้ลึกประมาณ 15-20 ซม. ตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ ปล่อยให้น้ำท่วมแปลงแล้วระบายน้ำออกตากหน้าดินไว้อีก 1-2 วัน แล้วไถพรวนซ้ำอีกครั้งก่อนปลูก เมื่อจัดหาเมล็ดพันธุ์ได้แล้วก่อนที่จะปลูกควรทำการทดสอบความงอกก่อน โดยวิธีการทดสอบความงอกแบบง่ายๆ คือ นำเมล็ดถั่วเหลือง 100 เมล็ด ปลูกในกระบะดิน ตรวจนับหลังจากปลูก 5-7 วัน ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีควรงอกไม่ต่ำกว่า 70 ต้น แล้วจึงทำการเลือกสายพันธุที่ผ่านเกณฑ์นี้ จากนั้นจึงทำการคลุกเชื้อไรโซเบียมโดยการใส่น้ำตาล 5 ช้อน แกงลงในกระป๋องนมข้น ใส่น้ำลงไปประมาณ 3 ใน 4 ของกระป๋องนมข้น คนน้ำตาลให้ละลายในน้ำจนหมดเติมน้ำลงไปให้เต็มกระป๋อง คนให้ทั่ว จากนั้นเทน้ำเชื่อมเจือจางจากกระป๋องนมข้นที่ได้ คลุกเคล้ากับเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง 15 กก. หรือ 1 ถัง เทไรโซเบียมลงบนเมล็ดพันธุ์ที่คลุกน้ำเชื่อมแล้ว ในอัตราไรโซเบียม 1 ถุงต่อเมล็ดพันธุ์ 15 กก. คลุกเคล้าเบาๆ ให้ทั่ว แล้วจึงนำไปผึ่งลมในที่ร่มให้แห้ง ประมาณ 20-30 นาที ผงไรโซเบียมจะติดกับเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือ ไม่หลุดร่วงง่าย นำไปปลูกได้แต่ทั้งนี้หลังจากคลุกไรโซเบียมเสร็จแล้วควรปลูกทันที  

           ส่วนวิธีการปลูกที่ให้ผลผลิตสูง มีอยู่ 2 วิธี คือ

  1. ปลูกเป็นหลุม โดยควรใช้ระยะห่างระหว่าหลุม 20-30 ซม. ระยะแถว 25-30 ซม. โดยปลูก หลุมละ 3-4 ต้น (ควรหยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ด เพื่อจะงอก 3-4 ต้น)
  2. ปลูกโดยโรยเป็นแถว โดยใช้เครื่องหยอด ซึ่งควรใช้ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 30 ซม. ให้มีจำนวนต้นประมาณ 20 ต้น ต่อระยะแถวยาวประมาณ 1 เมตร เพราะการใช้ระยะระหว่างแถว 30 ซม. จะสัมพันธ์กับการใช้เครื่องเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองแบบวางรายได้มีประสิทธิภาพ

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดถั่วเหลืองที่นิยมนำมาบริโภค ปรากฏว่าพบสารสำคัญๆ ดังนี้ พบสารกลุ่ม Isoflavones เช่น genistein, daidzein, glycitein

           นอกจากนี้ยังพบสารอื่นๆ อีกเช่น lecithin, globulin, phytic acid และ Sayasaponin I เป็นต้น ส่วนเมล็ดถั่วเหลืองยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

 คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดถั่วเหลือง ดิบ  (100 กรัม)

พลังงาน 446 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต 30.16 กรัม
น้ำตาล 7.33 กรัม
ใยอาหาร 9.3 กรัม
ไขมัน 19.94 กรัม
โปรตีน 36.49 กรัม
ทริปโตเฟน 0.591 กรัม
ทรีโอนีน 1.766 กรัม
ไอโซลิวซีน 1.971 กรัม
ไลซีน 2.706 กรัม
ฟีนิลอะลานีน 2.122 กรัม
อาร์จินีน 3.153 กรัม
ไทโรซีน 1.539 กรัม
ไกลซีน 1.880 กรัม
ซีรีน 2.357 กรัม
กรดแอสพาร์ติก 5.112 กรัม
โคลีน 115.9 มิลลิกรัม
โซเดียม 2 มิลลิกรัม
ลิวซีน 3.309 กรัม
เมทไธโอนีน 0.547 กรัม
ซิสทีน 0.655 กรัม
วาลีน 2.029 กรัม
ฮิสทิลีน 1.097 กรัม
อะลานีน 1.915 กรัม
กลูตามิก 7.874 กรัม
โพรลีน 2.379 กรัม
วิตามินA1 ไมโครกรัม
วิตามินB1 0.874 มิลลิกรัม
วิตามินB2 0.87 มิลลิกรัม
วิตามินB3 1.623 มิลลิกรัม
วิตามินB5 0.793 มิลลิกรัม
วิตามินB6 0.377 มิลลิกรัม
วิตามินB9 375 ไมโครกรัม
วิตามินC 6.0 มิลลิกรัม
วิตามินE 0.85 มิลลิกรัม
วิตามินK  47 ไมโครกรัม
แคลเซียม 277 มิลลิกรัม
เหล็ก 15.7 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 280 มิลลิกรัม
แมงกานีส 2.517 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 704 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 1,797 มิลลิกรัม
สังกะสี 4.89 มิลลิกรัม

 โครงสร้างถั่วเหลือง

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของถั่วเหลือง

ฤทธิ์ลดการสะสมไขมันในตับ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารไอโซฟลาโวน จากถั่วเหลือง (Glycine max L.) ช่วยลดการสะสมไขมันในตับที่ไม่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease: NAFLD) ซึ่งมีการทดลองในสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะไขมันในตับด้วยการกินอาหารไขมันสูง ทำการทดลองโดยแบ่งหนูแรท ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุมซึ่งได้รับอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว กลุ่มที่ 2 และ 3 ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองในขนาด วันละ 10 และ 20 มก./กก. ตามลำดับ ติดต่อกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าสารไอโซฟลาโวนสามารถลดการสะสมไขมันในตับได้ ทำให้ระดับเอนไซม์ตับชนิด alanine transaminase (ALT) ลดลง และปรับปรุงโครงสร้างของเซลล์ตับ (liver lobule structure) นอกจากนี้ยังมีผลลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างไขมันของร่างกาย ได้แก่ sterol regulatory element binding protein (SREBP1c) และ fatty acid synthase (FAS) ลง ร่วมกับเพิ่มระดับของ peroxisome proliferator activated receptor (PPAR) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมกระบวนการออกซิเดชันของกรดไขมันอิสระ โดยหากเกิดความบกพร่องของ PPAR จะทำให้กระบวนการออกซิเดชันของกรดไขมันเสียไป และเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ดังนั้นจากผลการทดลองจึงสรุปได้ว่าสารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองสามารถชะลอการเกิดภาวะไขมันพอกตับ โดยกลไกลดการสะสมไขมันผ่านการยับยั้งการสังเคราะห์ไขมัน และเพิ่มระดับ PPAR ซึ่งกระตุ้นการเกิดออกซิเดชันของกรดไขมันในตับ

          ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และลดภาวะดื้ออินซูลินในหญิงที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีการศึกษาผลของสาร oligosaccharides จากถั่วเหลือง (Glycine max (L.) Merr.) ต่อการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระ และภาวะดื้ออินซูลินในหญิงที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จำนวน 97 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสาร oligosaccharides จากถั่วเหลือง ขนาด 10 ก. ผสมในน้ำอุ่น 200-300 ซีซี ต่อวัน รับประทานก่อนนอน ร่วมกับการฉีดอินซูลิน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ และกลุ่มควบคุมที่ได้รับอินซูลินอย่างเดียว พบว่าสาร oligosaccharides จากถั่วเหลือง มีผลเพิ่มเอนไซม์ superoxide dismutase, catalase, glutathione peroxidase ลดระดับของ thiobarbituric acid reactive substance ลดระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลิน ค่า insulin resistance index, ค่า islet βcells function index และเพิ่ม adiponectin นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับสาร oligosaccharides จากถั่วเหลือง เวลาในการรักษาด้วยอินซูลินจะเพิ่มขึ้น แต่ขนาดของอินซูลินที่ใช้จะลดลง แสดงว่าสาร oligosaccharides จากถั่วเหลืองสามารถลดภาวะดื้ออินซูลินในหญิงที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ โดยเป็นผลมาจากฤทธิ์ในต้านอนุมูลอิสระของสารดังกล่าว

           ฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และฤทธิ์ต้านการอักเสบของเปปไทด์จากโปรตีนในถั่วเหลือง มีการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารเปปไทด์ที่แยกได้จากโปรตีนในถั่วเหลืองที่กำลังงอก (germinated soybean proteins) ซึ่งโปรตีนดังกล่าวจะถูกย่อยด้วยเอนไซม์ pepsin/pancreatin จนได้เปปไทด์ขนาดต่างๆ จากการศึกษาพบว่าเปปไทด์ในขนาดที่มากกว่า 10 kDa, ขนาด 5-10 kDa, และขนาดที่มากกว่า 5 kDa แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด Caco-2, HT-29, และ HCT-116 นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบภายในเซลล์ macrophages ชนิด RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสาร lipopolysaccharide อีกด้วย โดยเปปไทด์ที่มีขนาด 5–10 kDa แสดงฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และต้านการอักเสบได้ดีที่สุด หลังจากนำเปปไทด์ขนาดดังกล่าวไปทำให้บริสุทธิ์ด้วยเทคนิค semi-preparative chromatography และพิสูจน์โครงสร้างทางเคมีด้วยวิธี HPLC-MS/MS พบว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ β-conglycinin และ glycinin ซึ่งมีกรดอะมิโนชนิด glutamine อยู่เป็นจำนวนมาก จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าสารเปปไทด์ที่แยกได้จากโปรตีนในถั่วเหลืองที่กำลังงอกมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

           ฤทธิ์ต่อกระดูกและการเมตาบอลิซึมส์ของไขมัน จากการทดลองในหนูเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ และได้รับสารisoflavone 3 ชนิด ได้แก่ daidzin, genistin, glycitin จากถั่วเหลือง (Glycine max Linn.) โดยการกิน เปรียบเทียบกับ estrone (7.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม/วัน) ที่ให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังพบว่า สาร daidzin, genistin และ glycitin ในขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน สามารถป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก สาร daidzin และ glycitin ขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน มีฤทธิ์ป้องกันการฝ่อของมดลูก, ป้องกันการเพิ่มของน้ำหนักตัว, การสะสมของไขมันช่วงท้อง, ป้องกันการเพิ่มระดับโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด, ลดปริมาณการขับ pyridinoline และ deoxypyridinoline ในปัสสาวะได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับ estrone ส่วนสาร genistin สามารถป้องกันการฝ่อของมดลูกได้ในขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แต่ไม่มีผลต่อการเมตาบอลิซึมส์ของไขมันที่ผิดปกติ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากสาร genistin มีความจำเพาะต่อเอสโตรเจนรีเซปเตอร์ที่กระดูกมากกว่า เมื่อเทียบกับ daidzin และ glycitin

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีก เช่น การบริโภคถั่วเหลืองมีผลช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ (hot flashes) ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีระดับฮอร์โมน phytoestrogen ลดลง ยังช่วยลดระดับไขมันในเลือด และยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะมีผลช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีผลต่อการเรียนรู้และจดจำ และสำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของถั่วเหลืองต่อโรคมะเร็ง มีข้อมูลระบุว่าการบริโภคถั่วเหลืองมีผลลดการแบ่งตัวของจำนวนเซลล์มะเร็งเต้านม ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ก็มีบางงานวิจัยระบุว่าถั่วเหลืองมีผลเพิ่มความรุนแรงของมะเร็งได้เช่นกัน ทั้งนี้ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง และความรุนแรงของมะเร็งเต้านมอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน การดื่มแอลกอฮอล์ หรือ การสูบบุหรี่

การศึกษาทางพิษวิทยาของถั่วเหลือง

มีข้อมูลระบุว่า จากการศึกษาการทำงานของต่อมไทรอยด์ในผู้ที่รับประทานถั่วเหลือง พบว่า ต่อมไทรอยด์ถูกกดการทำงาน ทำให้เกิดคอพอกในหลายงานวิจัย และโปรตีนในถั่วเหลืองยังมีสาร Phytic acid สูงมาก ซึ่งเป็นตัวยับยั้งการดูดซึมเกลือแร่ในร่างกาย โดยเฉพาะกับแคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และสังกะสี นอกจากนี้ถั่วเหลืองมีสาร Hemagglutinin ที่ทำให้เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวจับตัวกันเป็นก้อน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดเสียไป

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในผู้ที่มีอาการแพ้ถั่วเหลือง ควรงดรับประทานเพราะอาจเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น  มีผื่นคัน ท้องอืด แน่นท้อง ท้องผูก เป็นต้น
  2. การรับประทานถั่วเหลือง เป็นประจำอาจทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroidism) โดยอาการที่พบได้บ่อยๆ ก็คือ เจ็บส้นเท้า มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง กินนิดเดียวก็อ้วน และอาจทำให้มะเร็งได้
  3. ถั่วเหลืองมีสารออกฤทธิ์ที่ทำให้เลือดแข็งตัว (วิตามิน K๗ ดังนั้นผู้ที่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ ยาช่วยต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ควรรับประทานถั่วเหลือง หรือ ไม่ควรรับประทานร่วมกัน)

เอกสารอ้างอิง ถั่วเหลือง
  • รศ.จิรภรณ์ อังวิทยาธร.ถั่วเหลืองถั่วขา.ธัญพืชมีประโยชน์. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  • ฤทธิ์ลดการสะสมไขมันในตับของสารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลือง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  • รัตนา เศวตาลัย. การปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งหลังการทำนา. กลุ่มพืชน้ำมันกองส่งเสริมพืชไร่นา. กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. กรกฎาคม 2540
  • ผลต้านอนุมูลอิสระและลดภาวะดื้ออินซูลินของสาร Gigosaccharides จากถั่วเหลือง ในหญิงที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  • ฤทธิ์ของถั่วเหลืองต่อกระดูก และการเมตาบิลิซึมส์ของไขมัน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  • นพพร สายัมพล, เรวัต เลิศฤทัยโยธิน, รังสฤษดิ์ กาวีต๊ะ และคณะ (บรรณาธิการ). พืชเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ: ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2542: 471 หน้า
  • ฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และฤทธิ์ต้านการอักเสบของเปปไทด์ที่แยกได้จากโปรตีนในถั่วเหลืองที่กำลังงอก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  • Moreira AC, Silva AM, Santos MS, Sardão VA. Phytoestrogens as alternative hormone replacement therapy in menopause: What is real, what is unknown. J Steroid BiochemMol Biol 2014;143:61-71.
  • Nechuta SJ, Caan BJ, Chen WY, Lu W, Chen Z, Kwan ML, et al. Soy food intake after diagnosis of breast cancer and survival: an in-depth analysis of combined evidence from cohort studies of US and Chinese women. Am J Clin Nutr 2012;96(1):123-32.
  • Tranche S, Brotons C, Pascual de la Pisa B, Macías R, Hevia E, Marzo-Castillejo M. Impact of a soy drink on climacteric symptoms: an open-label, crossover, randomized clinical trial. Gynecol Endocrinol 2016;32(6):477-82.
  • Messina M. Soy and health update: Evaluation of the clinical and epidemiologic literature. Nutrients 2016;8(12).
  • Moré MI, Freitas U, Rutenberg D. Positive effects of soy lecithin-derived phosphatidylserine plus phosphatidic acid on memory, cognition, daily functioning, and mood in elderly patients with Alzheimer's disease and dementia. Adv Ther 2014;31(12):1247-62.
  • Nahas EA, Nahas-Neto J, Orsatti FL, Carvalho EP, Oliveira ML, Dias R. Efficacy and safety of a soy isoflavone extract in postmenopausal women: a randomized, double-blind, and placebo-controlled study. Maturitas 2007;58(3):249-58.
  • Shike M, Doane AS, Russo L, Cabal R, Reis-Filho JS, Gerald W, et al. The effects of soy supplementation on gene expression in breast cancer: a randomized placebo-controlled study. J Natl Cancer Inst 2014;106(9).
  • Messina MJ, Loprinzi CL. Soy for breast cancer survivors: a critical review of the literature. J Nutr 2001;131(11Suppl):3095S-108S.
  • Albert A, Altabre C, Baró F, Buendía E, Cabero A, Cancelo MJ, et al. Efficacy and safety of a phytoestrogen preparation derived from Glycine max (L.) Merr in climacteric symptomatology: a multicentric, open, prospective and non-randomized trial. Phytomedicine 2002;9(2):85-92.
  • Wu AH, Spicer D, Garcia A, Tseng CC, Hovanessian-Larsen L, Sheth P, et al. Double-blind randomized 12-month soy intervention had no effects on breast MRI fibroglandular tissue density or mammographic density. Cancer Prev Res (Phila) 2015;8(10):942-51.
  • Dong JY, Qin LQ. Soy isoflavones consumption and risk of breast cancer incidence or recurrence: a meta-analysis of prospective studies. Breast Cancer Res Treat 2011;125(2):315-23.
  • Nishimura M, Ohkawara T, Sato Y, Satoh H, Takahashi Y, Hajika M, et al. Improvement of triglyceride levels through the intake of enriched-β-conglycinin soybean (nanahomare) revealed in a randomized, double-blind, placebo-controlled study. Nutrients 2016;8(8).