ส้มควาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ส้มควาย งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ส้มควาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ส้มพะงุน, มะขามแขก (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia pedunculata Roxb.ex Buch.-Ham
วงศ์ GUTTIFERAE
ถิ่นกำเนิดส้มควาย
ส้มควาย จัดเป็นพืชในวงศ์เดียวกับส้มแขก (Garcinia atroviridis Griffith ex. T. Anderson) คือ วงศ์ GUTTIFERAE ซึ่งมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณเอเชียใต้ได้แก่ ในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล และบังคลาเทศ ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังแถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลอันดามัน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบส้มควาย ได้บริเวณทางภาคใต้ของประเทสไทย ได้แก่ จังหวัดตรัง พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณส้มควาย
- รักษาอาการของโรคบิด
- แก้ท้องร่วง
- แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แก้ท้องผูก
- ใช้เป็นยาระบาย
- ใช้ขับปัสสาวะ
- ใช้ขับเสมหะ
- ใช้ฟอกโลหิต
- แก้ไอ
- แก้ดีซ่าน
- แก้ลักปิดลักเปิด
- ใช้บำรุงหัวใจ
- ใช้บำรุงผิว
- ช่วยลดน้ำหนัก
- ใช้แก้บิด
- ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อย
- ใช้ลดอาหารบวมของเท้า
- ใช้ดับกลิ่นเท้า
ส้มควาย ถูกนำมาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกันกับส้มแขก คือ เมื่อผลแก่จัด สามารถนำมาบริโภค หรือ นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารได้หลายชนิดอาทิเช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มปลา ต้มเนื้อ เป็นต้น และยังมีการนำส้มควาย ใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหาร โดยจะให้รสเปรี้ยวมากกว่าส้มแขกอีกด้วย นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการนำส้มควายมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำสมุนไพรส้มควาย ผสมน้ำผึ้ง แชมพูส้มควาย สบู่ขัดผิว และสครับขับผิว เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงผิว ระบายท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ดีซ่าน ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ฟอกโลหิต และลดน้ำหนัก โดยนำผลสุก หรือ เปลือกผลสุกส้มควาย มาตากแห้งต้มกับน้ำ หรือ บดเป็นผลกินกับน้ำอุ่นก็ได้
- ใช้แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ดีซ่าน แก้ลักปิดลักเปิด แก้ไอ โดยนำเปลือกต้นส้มควาย มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดอาหารบวมของเท้า และดับกลิ่นเท้า โดยนำผลส้มควาย มาบดให้ละเอียดผสมน้ำอุ่นแช่เท้า
ลักษณะทั่วไปของส้มควาย
ส้มควาย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูง ได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดแน่น ไม่ผลัดใบ ลำต้นเล็กเรียวแหลมบริเวณโคนมีพูพอนเล็ก เปลือกต้นสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลอมเหลือง มักแตกร่องเป็นแผ่นหนา เปลือกด้านในสีแดงขุ่น และมียางสีออกเหลืองอยู่บางๆ
ใบส้มควาย เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปไข่กลับ หรือ ขอบขนานแกมใบหอก มีขนาดกว้าง 7-12 เซนติเมตร ยาว 12-28 เซนติเมตร โคนเป็นรูปลุ่ม ปลายมนค่อนข้างกลม หรือ แหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวหนาเป็นมัน สามารถมองเส้นกลางใบนูนชัดเจน และมีเส้นแขนงใบมี 12-20 คู่ เรียงจรดกันใกล้ขอบใบ และมีก้านใบยาว 2-2.5 เซนติเมตร
ดอกส้มควาย เป็นแบบแยกเพศต่างต้นโดยดอกเพศผู้ มักจะออกเป็นช่อตั้งที่ปลายกิ่ง โดยแตกเป็นง่ามใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อย 8-12 ดอก ลักษณะดอกจะมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ยาว 8-10 มิลลิเมตร สีเขียวอ่อน หรือ สีเขียวอ่อนออกเหลือง รูปกลมโค้ง เนื้อนุ่มขอบบาง กลีบคู่ในแคบ กลีบดอกมี 4 กลีบ เป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาวพอๆ กับกลีบเลี้ยงแต่แคบกว่าและ เกสรเพศผู้จำนวนมาก สำหรับเกสรเพศเมียเป็นหมัน หรือ ไม่มีก้านดอกใหญ่ยาว 3.5-6 เซนติเมตร ตั้งตรง ส่วนดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยวมีความยาว 1.5 เซนติเมตร บางที่พบออกเป็นกลุ่ม 3-7 ดอก บริเวณปลายกิ่ง มีกลีบเลี้ยงคล้ายดอกเพศผู้ ส่วนกลีบดอกเป็นหลอด มีแฉกสั้นโค้งกลับ 4 แฉก ยาว 3 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 20-30 อัน รังไข่มี 8-12 ช่อง มียอดเกสรเพศศเมียใหญ่ 8-12 แฉก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ก้านดอกหนาเป็นสีเหลี่ยมยาว 2.7-4 เซนติเมตร
ผลส้มควาย เป็นผลสดทรงกลมขนาดใหญ่ ยาว 8-12 เซนติเมตร ผิวผลเกลี้ยงเป็นมันสีเขียวนวลมีร่องตื้นแนวตั้ง 6-8 ร่อง ปลายสอบด้านบุ๋ม เมื่อผลจะมีลูกสีส้มอมเหลือง เนื้อผลชุ่มน้ำ รสเปรี้ยว มีด้านผลใหญ่ยาว 2-4 เซนติเมตร มีก้านผลใหญ่ยาว 2-4 เซนติเมตร ด้านในมีเมล็ดรูปไตขนาดใหญ่ 6-10 เมล็ด
ที่มาภาพ www.bloggang.com BY ปลายแป้นพิมพ์
การขยายพันธุ์ส้มควาย
ส้มควายสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี เช่นเดียวกับส้มแขก คือ กระเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกส้มควาย นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและปลูกส้มแขก ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความ “ส้มแขก ”
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี ของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของส้มควาย โดยเฉพาะส่วนของผลพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Hydroxycitric Acid หรือ HCA, Dodecanoic Acid, Citric Acid, Octadecanoic acid, Pentadecanoic acid, Benzophenones, Garcinol, Cambogin, Oxalic acid, Garbogiol, HCAL (hydroxycitric lactone), Biflavanone GB-la, Malic acid, Oleanolic acid, Pedunculol, Tartaric acid, 2,4,6,3’,5’-Pentahydroxy-benzophenone, 1,3,6,7-Tetrahydroxyxanthone และ Vokensiflavone เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของส้มควาย
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดส้มควาย จากส่วนผล ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
มีรายงานว่าสารสกัดส้มควาย ที่ความเข้มข้น 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถกระตุ้นให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็ง (HeLa cells) ได้ และยังมีรายงานการศึกษาระบุว่าผลส้มควาย มีสาระสำคัญ ชื่อว่า Hydroxycitric Acid หรือ HCA หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “HCA” ที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมันจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต จึงทำให้มีผลต่อการลดน้ำหนัก และการนำพลังงาน จากคาร์โบไฮเดรตไป เป็นพลังงานสำรองในการเผาผลาญได้
นอกจากนี้ hydroxycitric acid ไม่เพียงแต่ยับยั้งการสร้างไขมันเท่านั้น แต่ยังสามารถลดความอยากอาหาร และช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันในร่างกายให้เป็นพลังงานได้อีกด้วย ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งระบุว่า สารสกัดจากเนื้อส้มควายสามารถต้านอนุมูลอิสระ I, I-diphenyl-2-picryllrydrayl(DPPH) และ H2O2 free radicals ได้ และยังมีความสามารถในการเป็น Reducing power ด้วยโดยมีรายงานว่าสารสกัดจากเนื้อส้มควายมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด Lipid peroxidation จากการเหนี่ยวนำของ Fe ascorbate ในตับหนู โดยประสิทธิภาพการยับยั้งขึ้นอยู่กับปริมาณของสารที่ได้รับ
นอกจากนี้เปลือกผล ลำต้น และเปลือกไม้ของส้มควาย ยังเป็นแหล่งของสารด้านอนุมูลอิสระด้วยเช่นเดียวกัน โดยไม้มีการตรวจสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเฮกเซน และคลอโรฟอร์มจากเปลือกผลส้มควาย โดยวัดความสามารถในการจับอนุมูลอิสระด้วยวิธี Phosphomolybdenum พบว่าสารสกัดเฮกเซน และคลอโรฟอร์มที่ 100 ppm มีฤทธิ์ในการจับอนุมูลอิสระเท่ากับ 1189±32.0 และ 1267±15.2 มิลลิโมลาร์สมมูลย์กรดแอสอร์บิก/กรัม ของสารสกัดตามลำดับ เช่นเดียวกันกับอีกงานวิจัยหนึ่ง ระบุว่าสารสกัดเฮกเซนและคลอโรฟอร์จากเปลือกผลส้มควายมีสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระจากการตรวจสอบด้วยวิธี β-carofene-linoleate model system พบว่าสารสกัดเฮกเซนและคอลโรฟอร์มที่มีความเข้มข้น 500 ppm มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ 60% และ 67% ตามลำดับ เมื่อตรวจสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ DPPH พบว่า สารสกัดเฮกเซน และคลอไรฟอร์มที่ความเข้มข้น 500 ppm มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH 45% และ 65% ตามลำดับ
อีกทั้งยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ระบุว่าสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของส้มควายยังมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ (antimicrobial) ต้านเบาหวาน (Anticliabetic) มีฤทธิ์ในการปกป้องเซลล์ตับจากสารพิษ (Hepatoprotective) และต้านการอักเสบ (Anti-imflammatory) อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของส้มควาย
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
มีรายงานว่าการใช้สารสกัดส้มแขกในการลดน้ำหนัก พบว่ามีอาการข้างเคียงเล็กน้อยอาทิเช่น ปวดศีรษะ และมีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นในการใช้ส้มควาย ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกันก็ควรระมัดระวังด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสาร HCA (hydroxycitric acid) อาจเข้าไปมีผลรบกวนการสร้าง acetyl CoA, fatty acid และ cholesterol จึงอาจมีผลรบกวนต่อการสร้าง Steroid hormone ดังนั้น สตรีมีครรภ์จึงไม่ควรใช้ส้มควายในปริมาณที่สูงเกินไป
เอกสารอ้างอิง ส้มควาย
- วุฒิ วุฒิธรรรมเวช. 2548. ย่อเภสัชกรรมไทยและสรรพคุณสมุนไพร (ครั้งที่ 2.) ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์. กรุงเทพฯ
- ไซมอน การ์ดาเนอร์, พินดา สิทธิสุนทร, ก่องกานดา ชนามฤต, ไม้ป่าภาคใต้-พิมพ์ครั้งที่ 1-กรุงเทพฯ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ 2559. 792 หน้า.
- ธนิตย์ หนูยิ้ม, สุวิทย์ ไทยนุกูล, อุบล รักษาศรี และอรดา เจราหวัง, 2543, ไม้ส้มแขก. ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร. ฉบับที่ 2 เมษายน 2543.
- วรดลด์ แจ่มจำรูญ. 2558. คู่มือการจำแนกชนิดพรรณไม้แบบลักษณะเด่นเฉพาะ โอเมก้า พริ้นติ้ง, กรุงเทพฯ
- นิธิยา รัตนาปนนท์, เคมีอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพฯ,โอเดียนสโตร์ 2557.
- อภันตรี มีบุญ. สมบัติทางการภาพ สมบัติทางเคมี และคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระที่มีผลมาจากระยาการเจริญของผลและการอบแห้ง แบบลมร้อนของส้มควาย และส้มแขก. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2560. 120 หน้า
- อรุณพร อิฐรัตน์. ถนอมจิต สุภาวิดา, ปราณี รัตนสุวรรณ และเบญจวรรณ ขวัญแก้ว. 2543.การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพและการศึกษาทางเภสัชเวทของสารสกัดจากผลส้มแขก Garcinia atroviridis. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
- Mundugaru, R., Varadharajan, M.C. and Basavaiah, R.2014b. Hepatoprotective activity of fruit extract of Garcinia pedunculata. Bangladesh. J. Pharmacol. 9:483-487
- Rao A.V.R., Sarma. M.R., Benkataraman K. and Yemul, S.S. 1974. A benzophenone and xanthone with unusual hydroxylation patterns from the heartwood of Garcinia pedunculata. Phytochemistry 13:1241-1244.
- Jayapradasha, G.K., Jena, B.S. and Sakariah, K.K. 2003. Improved liquid chromatographic method for determination of organic acids in leaves, pulp, fruits, and rinds of Garcinia. J. AOAC. Int. 86;1063-1068.
- Mudoi, T., Deka, D.C. and Devi, R.2012. In vitro antioxidant activity of Gercinia pedunclata, an indigenous fruit of North Eastem (NE) region of India Int. J. PharmTech. Res, 4: 334-342.
- Rathsarathy, U. and Nandakishore, O.P. 2014. A. study on nutrient medicinal compositions of selected Indian Garcinia species. Curr. Compd. 10:55-61.
- Xu, D., Lao., Y., Xu, N., H., Fu, W., Tan, H., Gu., Y., Song, Z., Cao., P. and Xu, H. 2015. Identification and characterization of anticancer compounds targeting apoptosis and autophagy from Chinese native Garcinia species Planta Med 81;79-89.
- Kichy, M., Makewska., T., Akter, K., Imchen, I., Harrington, D., Kohen, J., Vemulpad S.R., and Jamic, J.F. 2015 An ethnobotanical study of medicinal plants of Chungtia village, Nagaland, India. J. Eihnopharmacol. 166;5-17.