พลับพลึงดอกขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
พลับพลึงดอกขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ
ชื่อสมุนไพร พลับพลึงดอกขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พลับพลึง, พลับพลึงขาว (ภาคกลาง), ว่านขน (ภาคอีสาน), ลิลัว (ภาคเหนือ), วิรงรอง (มาเลเซีย, อินโดนีเซีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Crinum asiaticum Linn.
ชื่อสามัญ Cape lilly, Crinum lilly, Spider lilly, Poison bulb.
วงศ์ AMARYLLIDACEAE
ถิ่นกำเนิดพลับพลึงดอกขาว
พลับพลึงดอกขาว เป็นพืชในวงศ์ (AMARYLLIDACEAE) ซึ่งเป็นวงศ์ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย โดยเชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของพลับพลึงดอกขาวอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะโปลินีเซีย สำหรับในประเทศไทยมีการบรรยาถึงพลับพลึงดอกขาว ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัตเล ฉบับ พ.ศ.2416 เอาไว้ว่า “พลับพลึง” คือ เป็นต้นหญ้าใหญ่อย่างหนึ่ง ต้นเป็นกาบชั้นๆ คล้ายต้นกล้วย ในปัจจุบันสามารถพบพลับพลึงดอกขาวได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณ บ้านเรือน สวนหย่อม หรือ ตามสองข้างทางที่มีความชื้นปานกลาง
ประโยชน์และสรรพคุณพลับพลึงดอกขาว
- ใช้ทำให้อาเจียนเป็นเสมหะ
- ใช้พอกแผล
- รักษาพิษยางน่อง
- ใช้เป็นยาระบาย
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
- ช่วยถอนพิษ
- แก้ปวดศีรษะ
- ช่วยลดไข้
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้โรคทางเดินปัสสาวะ
- แก้เคล็ดขัดยอก
- แก้อาการปวดบวม
- แก้ฟกช้ำดำเขียว
- แก้คลายเส้นคลายกล้ามเนื้อ
- แก้ปวดกระดูก ข้อเท้าแพลง
- ช่วยขับประจำเดือน
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
- ช่วยขับน้ำคาวปลา
- รักษาโรคไส้เลื่อน
ปัจจุบันมีการนำพลับพลึงดอกขาว มาใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม และมีกลิ่นหอม อีกทั้งยังมีการนำดอกพลับพลึงดอกขาวมาจัดแจกัน ทำกระเช้าดอกไม้ หรือ ทำเป็นช่อเดียวๆ แทนดอกลิลี่อีกด้วย ส่วนกาบใบของพลับพลึงดอกขาว มีสีเขียว มีความอ่อนคล้ายใบตอง สามารถนำมาใช้ทำเป็นงานฝีมือ หรือ งานประดิษฐ์กระทง และงานแกะสลักในพิธีต่างๆ ได้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ขับเสมหะ เป็นยาระบาย รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ใช้ถอนพิษ โดยนำใบพลับพลึงดอกขาวมาต้มกับน้ำดื่ม แต่หากรับประทานมากจะทำให้อาเจียนได้
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลังขับเลือดประจำเดือน ขับปัสสาวะ ใช้เป็นยาระบายโดยนำเมล็ดพลับพลึงดอกขาวมาทุบให้แตกชงกับน้ำร้อนดื่ม
- ใช้บรรจุอาการปวดศีรษะ ลดไข้ โดยนำใบพลับพลึงดอกขาว มาอังไฟแล้วใช้พันรอบศีรษะ
- ใช้แก้อาการปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว อาการเคล็ดขัดยอก ข้อเท้าแพลง คลายเส้น แก้ปวดกระดูก ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ขับน้ำคาวปลา โดยใช้ใบพลับพลึงดอกขาวนำมานึ่งไฟให้ใบอ่อนตัวลง แล้วนำมาพันรอบบริเวณที่เป็น
- ใช้รักษาโรคไส้เลื่อน โดยนำใบพลับพลึงดอกขาวมาลนไฟประคบบริเวณที่เป็น
- ใช้เป็นยาประคบคลายเส้น ด้วยการใช้ ใบมะขาม 12 บาท ใบพลับพลึงดอกขาว 8 บาท ไพล 4 บาท อบเชย 2 บาท เทียนดำ 1 บาท เกลือ 1 บาท นำมาตำห่อผ้าแล้วนึ่งให้ร้อน แล้วนำมาใช้ประคบเส้นที่ตึง
- ใช้แก้อาการปวดกระดูก โดยใช้ใบพลับพลึงดอกขาวตำผสมกับข่า ตะไคร้ นำไปหมกไฟแล้วนำมาพอกบริเวณที่ปวด
นอกจากนี้ยังมีการนำใบพลับพลึงมาใช้เป็นยาสำหรับสตรีหลังคลอด โดยเอาเกลือใส่ลงในหม้อดิน แล้วนำไปตั้งไฟให้ร้อน ใช้ใบบัวหลวง หรือ พลับพลึงดอกขาว 3 ใบ รองที่ก้นหม้อ นำไปวางที่หน้าท้อง จะช่วยให้มดลูกแห้งเร็ว เข้าอู่เร็ว
ลักษณะทั่วไปของพลับพลึงดอกขาว
พลับพลึงดอกขาว จัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกลักษณะเป็นกอ มีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นเป็นกาบใบที่หุ้มซ้อนเป็นชั้นๆ เป็นลำต้นเทียมมีลักษณะกลม สีขาวอวบน้ำเมื่อเติบโตเต็มที่ลำต้นจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12-15 เซนติเมตร 90-120 เซนติเมตร
ใบพลับพลึงดอกขาว เป็นใบเดี่ยวออกเรียงซ้อนกันเป็นวงลักษณะเป็นหอก ปลายแหลม กว้าง 10-12 เซนติเมตร ยาว 60-90 เซนติเมตร ใบมีสีเขียว แผ่นใบหนาอวบน้ำ ผิวใบ และขอบใบเรียบ
ดอกพลับพลึงดอกขาว ออกเป็นช่อมีขนาดใหญ่ โดยจะออกเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง หรือ ก้านที่ชูขึ้นมาจากกลางลำต้นใน 1 ช่อ ดอกจะมีดอกย่อย 10-30 ดอก ลักษณะของออกย่อยกลีบดอก จะเป็นสีขาวเรียวยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มี 6 กลีบ โคนกลีบเชื่อมกันเป็นหลอด ยาว 7-10 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ 6 ก้าน ตรงกลางดอก เมื่อดอกบานมีกลิ่นหอม
ผลพลับพลึงดอกขาว ลักษณะค่อนข้างกลมสีเขียวอ่อน
การขยายพันธุ์พลับพลึงดอกขาว
พลับพลึงดอกขาว สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ดและการแยกหน่อ โดยในปัจจุบันวิธีที่นิยม คือ การแยกหน่อ สำหรับวิธีการแยกหน่อ และการปลูกพลับพลึงดอกขาวนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการแยกหน่อและการปลูกไม้ล้มลุกประเภทหัวอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ พลับพลึงดอกขาว เป็นพืชที่ปลูกง่าย มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ชอบความชุ่มชื้นปานกลาง และขึ้นได้ดีในที่มีร่มเงา หรือ มีแสงรำไร่
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดและสารแอลคาลอยด์ที่แยกได้จากรากของพลับพลึงดอกขาว ระบุว่าพบว่าสาร berberine, coptisine, chelidonine, sanguinarine และ chelerythrine ส่วนในเหง้าหรือหัวพบสารพิษกลุ่มแอลคาลอยด์ เช่น lycorine, narciclasine, crinmine และ crinamine เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพลับพลึงดอกขาว
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากใบพลับพลึงดอกขาว ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวกับฤทธิ์ต้านการอักเสบ ดังนี้
มีรายงานว่าสารสกัดด้วยเอทานอล 70% จากใบพลับพลึงดอกขาวมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง prostaglandin ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบได้ในระดับต่ำ (26±4%) และอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่า เมื่อทดลงให้หนู ถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ กินสารสกัดด้วยเมทานอลและคลอโรฟอร์ม หรือ ส่วนสกัดด้วยคลอโรฟอร์มขนาด 50 มก./กก. สามารถลดอาการอักเสบได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานในต่างประเทศระบุว่าสาร berberine, chelidonine, chelerythrin ที่พบในสารสกัดพลับพลึงดอกขาว จากราก สามารถลดการหลั่ง TNF-a ได้ ส่วนสาร sanguinarine สามารถลดการหลั่ง IL-1b ได้ดี แต่มีผลในการเพิ่ม IL-8 และ TNF-a ส่วนสาร coptisine ก็สามารถลดการหลั่งไซโตไคน์ต่างๆ ได้เล็กน้อย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของพลับพลึงดอกขาว
มีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่าส่วนหัวของพลับพลึงดอกขาว มีความเป็นพิษ โดยพบสารพิษ เช่น lycorine, narciclasine และ crinamine ซึ่งหากรับประทานเข้าไปจะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และมีผลระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหาร
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
การใช้พลับพลึงดอกขาวเป็นยาสมุนไพรโดยเฉพาะรูปแบบรับประทานควรใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากมีรายงานว่าส่วนหัวของพลับพลงดอกขาวมีความเป็นพิษหากใช้โดยผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ และยังมีรายงานการเกิดพิษจากการรับประทานหัวของพลับพลึงดอกขาว ระบุว่ามีอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารอาเจียน ตัวสั่น ท้องเดินไม่รุนแรง เหงื่อออก น้ำลายออกมาก ถ้ามีอาการมากอาจเกิด paralysis และ collapse ส่วนวิธีการแก้พิษเบื้องต้น คือ ให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อเจือจางสารพิษ รับประทานยาระงับอาการคลื่นไส้อาเจียน เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่มากเกินไป จากนั้นควรนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เพื่อล้างท้อง เอาชิ้นส่วนพืชออกให้หมด
เอกสารอ้างอิง พลับพลึงดอกขาว
- ก่องกานดา ชยามฤต, นันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน. ลักษณะประจำวงศ์พรรณไม้ 3. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ; 2551.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมสมุนไพรไทย.
- เดชา ศิริภัทร. พลับพลึง ช่อหอมขนาดใหม่ที่ถูกลืม. คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 275. มีนาคม 2545.
- ศิริลักษณ์ กมลวรรณสิทธิ์, บังอร ประจันบาล, เอกรัฐ ดำเจริญ. ผลของสารสกัดจากหัวพลับพลึงเขาต่อฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสารชักนำการอักเสบ. วารสารวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หัวเฉียวเฉลิมพลเกียรติ ปีที่ 9 ฉบับที่ 1. มกราคม-มิถุนายน 2566. หน้า 28-43
- พลับพลึง. ฐานข้อมูลพืชพิษ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001. 810 p. (153)
- Udebunam S, Udegbunam R, Nnaji T, Anyanwu M, Kene R, Anika S. Antimicrobial and antioxidant effect of methanolic Crinum jagusbulb extract in wound healing. J Intercult Ethnopharmacol 2015;4(3):239-48.
- Refaat J, Kamel MS, Ramadan MA, Ali AA. Crinum; An endless source of bioactive principles: A review. Part V: biological profile. Int J Pharm Sci Res2013;4(4):1239-52.
- Rahman MdA, Sharmin R, Uddin MdN, Zaman MU, Rana S, Ahmed NU. Antinociceptive and anti-inflammatory effect of Crinum asiaticumbulb extract. Asian J Pharm Clin Res2011;4(3):34-7.
- Mahomoodally MF, Sadeer NB, Suroowan S, Jugreet S, Lobine D, Rengasamy KRR. Ethnomedicinal, phytochemistry, toxicity and pharmacological benefits of poison bulb-Crinum asiaticumL. S Afr J Bot 2021;136:16-29.
- Rahman MdA, Sharmin R, Uddin MdN, Rana MdS, Ahmed NU. Antibacterial, antioxidant and cytotoxic properties of Crinum asiaticumBulb extract. Bangladesh J Microbiol 2011;28(1):1-5.
- Doe P, Danquah CA, Ohemeng KA, Opare AE, Sharif A, Akua-Abora D, et al. Analgesic, anti-inflammatory, and anti-pyretic activities of Crinum pedunculatumR. Br. bulb extracts. Pharmacogn Res 2021;14(1):24-9.