กระถินเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระถินเทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระถินเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระถิน, บุหงาอินโดฯ, กระถินหอม (ภาคกลาง), คำใต้, ดอกคำใต้ (ภาคเหนือ), ถิน, บุหงา, สะมะนา, บุหงาละสมนา (ภาคใต้), บุหงาเซียม (มลายู), มอนคำ (ไทยใหญ่), เถากรึนอง (กะเหรี่ยง), จินเหอฮวง, ยาจ้าวซู่, อะเจ๋าฉิ่ว (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Acacia farnesiana (Linn) Willd
วงศ์ FABACAEAE-MIMOSOIDEAE

ถิ่นกำเนิดกระถินเทศ

กระถินเทศ จัดเป็นไม้ต่างถิ่น ซึ่งมีรายงานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของกระถินเทศ อยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยคาดว่า มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานมาแล้ว และในปัจจุบันได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วทุกภาคของประเทศแล้ว


ประโยชน์และสรรพคุณกระถินเทศ

  • เป็นยาอายุวัฒนะ
  • แก้วัณโรค
  • แก้ไอ
  • ช่วยทำให้ชุ่มคอ
  • แก้เจ็บคอ
  • ช่วยรักษาแผลในคอ
  • แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  • แก้ปวดฟัน
  • แก้อักเสบ
  • ช่วยทำให้อาเจียน
  • แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • แก้ฝีหนอง
  • แก้ไขข้ออักเสบ
  • แก้ปวดตามข้อ
  • ช่วยบรรเทาอาการระคายคอ
  • แก้แผลเรื้อรัง
  • แก้ปวดหลังปวดเอว
  •  แก้บิด 
  • แก้อาหารไม่ย่อย
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ปวดศีรษ
  • แก้เกร็ง
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • ใช้สมานแผล
  • ช่วยห้ามเลือด
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้ริดสีดวงทวาร

           กระถินเทศ ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายประการ เช่น น้ำมันหอมระเหยจากดอกกระถินเทศ (Cassie oil) ซึ่งมีกลิ่นหอมสามารถนำมาผสมในเครื่องหอมต่างๆ ฯลฯ อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้แต่กลิ่นอาหาร เครื่องดื่ม และขนมหวานได้  ฝักมีแทนนิน (tannin) ประมาณ 23% จึงมีการนำมาใช้เป็นสีย้อมแบบการใช้น้ำฝาด และใช้ทำหมึก โดยมักใช้ผสมในน้ำต้มสำหรับย้อมผ้า ซึ่งจะได้เป็นสีธรรมชาติมากขึ้น ส่วนยางจากลำต้น (สีเหลืองถึงสีน้ำตาลเข้ม) ที่เรียกว่า “กัมอะคาเซีย” (Gumacaia) สามารถนำมาใช้ทำกาว และใช้เป็นยาหล่อลื่นได้ ในต่างประเทศมีการปลูกกระถินเทศเพื่อนำดอกใช้ในอุตสาหกรรมทำน้ำหอม และอุตสาหกรรมเสริมความงามอีกด้วย

            นอกจากนี้ชาวมลายูยังมีการนำกระถินเทศมาใช้เป็นเครื่องหอม “บุหงา” อีกด้วย อีกทั้งยังมีการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากดอกกระถินเทศ มีกลิ่นหอมตลอดวัน โดยเฉพาะช่วงที่อาการเย็นจะหอมมาก

กระถินเทศ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้อาการปวดตามข้อ ไขข้ออักเสบ แก้อักเสบ ให้ใช้รากกระถินเทศ สดประมาณ 60 กรัม ตุ๋นกับเป็ด ไก่ หรือ เต้าหู้ อย่างใดอย่างหนึ่งกิน ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ทำให้ชุ่มคอ รักษาแผลในลำคอ โดยใช้ราก 30-60 กรัม หรือ รากแห้ง 15-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยนำเมล็ดมาบดให้เป็นผง หรือ คัวกินเป็นอาหาร ใช้แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน หรือ ปวดฟันให้ใช้เปลือกต้นประมาณ 1 ส่วนต่อน้ำ 20 ส่วน ผสมกับขิง สด 1 แง่ง ต้มให้เดือด กรองเอาน้ำใช้บ้วนปากทุกเช้าเย็น เป็นประจำ ใช้แก้ไอ แก้เจ็บคอ ช่วยทำให้คอชุ่ม โดยใช้ยางจากราก กินหรือเคี้ยว ทำให้อาเจียนโดยใช้รากสดมาเคี้ยวกิน แก้อาการอาหารไม่ย่อยโดยใช้ดอกแห้ง 15-30 กรัม มาชงกับน้ำร้อนดื่ม แช้แก้โรคบิดโดยนำฝักดิบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ท้องเสียโดยนำเปลือกต้นมาต้มเอาน้ำกินแทนน้ำชา ใช้สมานแผลห้ามเลือด โดยนำเปลือกต้นแห้งประมาณ 1.5-3 กรัม มาบดเป็นผงโรค หรือ พอกบริเวณบาดแผล หรือ บดให้ละเอียดต้มแล้วกรองเอาน้ำใช้ล้างแผล ใช้แก้ฝีมีหนอง โดยนำรากแห้ง 15-24 กรัม มาต้มแล้วกรองเอาน้ำล้างแผล หรือ นำมาตำให้ละเอียดแล้วเอามาพอกแผล ใช้แก้เยื่ออ่อนของอวัยวะภายในอักเสบ โดยใช้ยางจากต้นผสมกับยาผงปั้นเป็นเม็ดผสมกับยาอื่นกิน


ลักษณะทั่วไปของกระถินเทศ

กระถินเทศ จัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบ สูง 2-4 เมตร ลักษณะลำต้น และกิ่งเป็นสีน้ำตาล หรือ น้ำตาลเทา มีหนามแหลม มีช่องอากาศสีน้ำตาล หรือ สีนวลกระจายอยู่ทั่วไป กิ่งมักคดไปมาแต่จะยืดจนเกือบตรงเมื่อเจริญขึ้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกแบบเรียงสลับ มีก้านแกนกลางใบประกอบยาว 4-8 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาว 1-1.5 เซนติเมตร และมีต่อมบนก้านใบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร ส่วนช่อใบย่อยมี 4-7 คู่ แต่ละคู่ยาว 1.5-3 เซนติเมตร  ส่วนใบย่อย คล้ายในมะขาม มีประมาณ 10-20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปดาบมีสีเขียวเข้ม หรือ รูปขอบขนาน โคนใบตัด ไร้ก้าน ปลายใบแหลม เบี้ยว เป็นติ่ง ขนาดยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร ส่วนหูใบเป็นหนามแข็งยาว 3-5 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นช่อกระจุกบริเวณง่ามใบ มีลักษณะเป็นพุ่มกลม ใน 1 กระจุก จะมีดอกเดียวหลายดอกรวมกันเป็นช่อหลายช่อ โดยมีหลายช่อออกเป็นกระจุก ก้านช่อยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ช่อดอกทรงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ที่โคนช่อมีวงใบประดับขนาดเล็ก 4-5 ใบ ดอกย่อย มีใบประดับ 1 ใบ ยาว 1 มิลลิเมตร มีขน มีกลีบเลี้ยงเป็นหลอด ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ เป็นรูปสามเหลี่ยมเกลี้ยงขนาดเล็ก ส่วนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานขนาดเล็ก มีสีเหลืองสด และมีกลิ่นหอมมาก ผล ออกเป็นฝัก มีลักษณะกลมเป็นรูปทรงกระบอก โค้งเล็กน้อย โคนฝักสอบปลายฝักแหลม ยาวได้ประมาณ 4-9 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผิวฝักหนาเกลี้ยง ช่วงระหว่างเมล็ดผิวฝักจะคอดเข้าเล็กน้อย  ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 15 เมล็ด เรียงเป็น 2 แถว โดยเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี แบนเล็กน้อยมีสีน้ำตาลเป็นมันกว้าง 6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร

กระถินเทศ

กระถินเทศ

การขยายพันธุ์ของกระถินเทศ

กระถินเทศ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีเช่น การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือ การปักชำ แต่วีที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด เนื่องจากมีอัตราการรอดสูงและทำได้ง่าย สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด กระถินเทศ นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ การเพาะเมล็ดกระถินเทศต้องใช้เวลาเพาะนานถึง 2-3 เดือน กว่าเมล็ดจะงอก และจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและดินเหนียวที่สามารถอุ้มน้ำได้ดี และมีความต้องการน้ำปานกลาง รวมถึงต้องการแสงแดดทั้งวัน


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของกระถินเทศ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น kaempferol-7-galloyl0glycoside, benzoic aldehyde, pentadecanoic acid,  cresol, djenkolic acid, eugenol, tannin,  hydrocyanic acid, kaempferol, N-acetyl, sulfoxide, linamarin, anisaldehyde, palmitic acid, sitostrol, stigmasterol, triacontan-l-o, tyramine และchotesterol เป็นต้น

โครงสร้างกระถินเทศ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระถินเทศ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดกระถินเทศ ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้ ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย  มีการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดเอทานอล 70% จากเปลือกต้น และใบกระถินเทศ ต่อการต้านมาลาเรียจากเชื้อ Plasmodium falciparum ที่ดื้อต่อยาคลอโรควิน พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านมาลาเรียจากเชื้อดังกล่าว โดยความเข้มข้นที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าเท่ากับ 1.3±0.2 มคก./มล. ในขณะที่สารสกัดจากใบกระถินเทศไม่สามารถต้านมาลาเรียจากเชื้อดังกล่าวได้ นอกจากนี้สารสกัดเปลือกต้นกระถินเทศ ยังสามารถต้านมาลาเรียจากเชื้อ Plasmodium berghei ได้ 32±5% อีกด้วย และยังมีการศึกษาวิจัยสารสกัดแอลกอฮอล์จากใบกระถินเทศ (นำมาละลายในน้ำขนาด 20-80 มิลลิกรัมต่อกรัม) พบว่ามีฤทธิ์ทำให้หัวใจของกบที่ผ่าแยกออกจากตัวบีบตัวลดลงเป็นจังหวะ โดย ความแรงจากการบีบตัวลดลงชั่วคราวในช่วงแรก ต่อมาจะเพิ่มการบีบตัวขึ้น ส่วนความแรงของการบีบตัวของกระต่ายเมื่อใช้สารสกัดชนิดเดียวกัน พบว่าจะทำให้การบีบตัวในระยะแรกเพิ่มขึ้น ต่อมาก็จะลดลงเป็นจังหวะ

           นอกจานี้สารสกัดจากกระถินเทศยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิยาอื่นๆ อีก เช่น ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฤทธิ์ลดการอักเสบ ฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และฤทธิ์ขยายหลอดลม


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระถินเทศ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กระถินเทศเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ในการเก็บดอกของกระถินเทศ มาใช้ควรระมัดระวังในการเก็บเพราะเกสรจากดอกกระถินเทศหากเข้าตาแล้วอาจทำให้มีอาการเคืองตา และอักเสบได้


เอกสารอ้างอิง กระถินเทศ
  1. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “กระถินเทศ”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 50.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  3. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กระถินเทศ Sponge Tree, Cassie Flower”. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 29.
  4. ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา. (2549). พฤกษชาติสมุนไพร. หน้า 38.
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์. “กระถินเทศ ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 34.
  6. ปิยะ เฉลิมกลิ่น. หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย. บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กซ์เพรส จำกัด. 2546 กรุงเทพฯ 336 หน้า (7)
  7. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กระถินเทศ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 24-27.
  8. ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย จากสารสกัดเปลือกต้นกระถินเทศ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหิดล.
  9. Smitinand, T. and Larsen, K. 1985. Flora of Thailand (Vol.4: 2). Bangkok: TISTR Press.
  10. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001. 810 p. (3)